วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

ตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า9



ภูเขามหาบุญลาภ
ภูเขามหาบุญลาภ (Mount of Beatitudes) เป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่าพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนครั้งสำคัญที่เรียกว่า “บทเทศน์บนภูเขา” เกี่ยวกับมหาบุญลาภและหลักการเจริญชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ คำสอนเรื่องมหาบุญลาภหรือความสุขแท้จริง (มธ 5:1-11) เป็นคำสอนแรกที่ทรงสอนในบทเทศน์บนภูเขา ตามพระวรสารของนักบุญมัทธิวที่แบ่งพระโอวาทของพระองค์ออกเป็น 5 หมวด เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นโมเสสคนใหม่ โตราห์ห้าเล่ม พระโอวาทห้าบท
พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นภูเขาซึ่งเป็นที่มาของธรรมบัญญัติ เปรียบเหมือนโมเสส พระองค์ประทับนั่งนั่นคืออำนาจ และบรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ ทรงเผยพระโอษฐ์ตรัสสอนความสุขแท้ 8 ประการ ซึ่งมีรากฐานอยู่บนความเชื่อ ความรัก และความหวัง “ความสุขแท้แก่ผู้มีใจยากจน” คือความเชื่อ, “ความสุขแท้แก่ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า” คือความรัก  และ “ความสุขแท้แก่ผู้มีใจอ่อนโยน” คือความหวัง ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของพระศาสนจักรแต่มองไม่เห็น และปูพื้นด้วยความหิวกระหายความชอบธรรมซึ่งเป็นเหมือนพื้นของพระศาสนจักร ก่อนจะปรากฎออกมาเป็นความเมตตา มีใจบริสุทธิ์ และเป็นผู้สร้างสันติซึ่งตรงกับฐานแรก และมุงหลังคาด้วยความยุติธรรม
ปี 1935 ได้มีการค้นพบวัดเดิมที่สร้างในสมัยไบเซนทีน ปี 1937 คณะฟรังซิสกันได้สร้างวัดบนภูเขานี้เรียกว่า “วัดมหาบุญลาภ” (The Church of the Beatitudes) โดยการออกแบบของอันโตนีโอ บาร์ลุซซี มีลักษณะเป็นแบบสมัยใหม่ รูปทรงแปดเหลี่ยมเพื่อหมายถึงบุญลาภแปดประการ มีคำจารึกบุญลาภที่พระเยซูเจ้าทรงสอนในแต่ละด้าน และรูปโมเซอิกบนพื้นประดับด้วยสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมที่ทรงเทศน์สอน พวกเราได้มีโอกาสถวายพิธีบูชาขอบพระคุณที่พระแท่นนอกวัดซึ่งทำไว้หลายจุด




Tabgha สถานที่ทวีขนมปัง
Tabgha เป็นชื่อที่มาจากคำภาษากรีก Heptapegon ซึ่งแปลว่า “เจ็ดน้ำพุ” ในอดีตเป็นจุดที่พบเจ็ดน้ำพุที่ไหลลงสู่ทะเลสาบกาลิลี และเชื่อกันว่าพระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงฝงูชน 5,000 คนที่มาฟังพระองค์ จากขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว (มก 6:3644, มธ 14:13-21, ยน 6:1-6) สถานที่นี้ได้มีการสร้างวัด 2 หลัง ในสมัยไบเซนทีนศตวรรษที่ 4 และ 5
ปี 1932 มีการค้นพบซากของวัดสมัยไบเซนทีนหลังหนึ่ง มีรูปโมเซอิกบนหินก้อนหนึ่งที่ใช้เป็นพระแท่น เป็นรูปตะกร้าขนมปังและปลา 2 ตัวอยู่ข้างๆ รวมถึงพื้นโมเซอิกสวยงามเป็นรูปนก ปลา สัตว์ และดอกไม้ของสมัยนั้น ปี 1982 มีการสร้างวัดใหม่แบบไบเซนทีนโดยคณะเบเนดิกตินจากประเทศเยอรมัน บริเวณหน้าวัดมีหินโม่ขนาดใหญ่ที่ใช้โม่แป้งและผลมะกอกในสมัยนั้น




คาเปอรนาอุม
คาเปอรนาอุม (Capernaum) เป็นเมืองด่านตามเส้นทางไปดามัสกัสและเป็นที่อาศัยของเจ้าหน้าที่โรมัน เป็นเมืองธุรกิจที่พวกพ่อค้านำผ้าไหม เครื่องเทศจากดามัสกัสมาแลกเปลี่ยนกับปลาแห้งและผลไม้จากที่ราบเยเนซาเร็ธ ในสมัยพระเยซูเจ้าคาเปอรนาอุมเป็นเมืองของชาวยิวที่ร่ำรวย เป็นที่ที่พระองค์ทรงพบและเรียกบรรดาศิษย์ ได้แก่ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ ยอห์น และมัธทิว ซึ่งเป็นชาวประมงและคนเก็บภาษี (มธ 4:18-20, ลก 5:1-11)
เนื่องจากชาวนาซาเร็ธไม่ยอมรับพระเยซูเจ้า พระองค์ได้มาอาศัยอยู่ในคาเปอรนาอุม ทรงปฏิบัติภารกิจสั่งสอนประชาชนและกระทำการอัศจรรย์มากมาย อาทิ ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม (มก 1:21, ลก 4:31-33) ทรงขับไล่ผีสิงออกจากชายคนหนึ่ง ทรงรักษาแม่ยายของเปโตร (มธ 8:14-17, มก 1:21-34, ลก 4:31-41) พระองค์ทรงรักษาผู้รับใช้ของนายร้อย (มธ 8:5-13, ลก 7:1-10) และคนง่อยที่ถูกหย่อนลงจากหลังคาบ้าน (มธ 9:1-8, 2:1-12, 5:17-20) พระองค์ทรงปลุกลูกสาวของไยรัสให้ฟื้นคืนชีพ (มธ 9:18-26, มก 5:22-43, ลก 8:41-56) ทรงรักษาหญิงที่เป็นโรคตกเลือด (มธ 9:20-22, มก 5:25-35, ลก 8:43-48) ทรงรักษาคนตาบอดสองคน (มธ 9:27-35) เป็นต้น
ปี 1905 นักโบราณคดี 2 คนจากเยอรมันได้เริ่มสำรวจสถานที่และคณะฟรังซิสกันได้สานต่องานของเขาจนสำเร็จปี 1926 การค้นพบที่สำคัญคือศาลาธรรมแห่งคาเปอรนาอุมที่สร้างขั้นในศตวรรษที่ 3 บนซากของศาลาธรรมที่สร้างโดยนายร้อยที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้รับใช้ของเขาให้หาย (มธ 8:5-13, ลก 7:1-10) บนก้อนหินมีสัญลักษณ์สลักไว้ทั้งของยิวและของโรมัน ไม่ไกลจากซากศาลาธรรม คณะฟรังซิสกันได้สร้างวัดสมัยใหม่รูปทรงแบบปลาบนสถานที่ที่ถือว่าเป็นบ้านของเปโตร ที่ยังคงรักษาสภาพเดิมที่ค้นพบสามารถมองเห็นได้จากข้างบนวัด และมีรูปปั้นของนักบุญเปโตรขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยมีทะเลสาบกาลิลีเป็นฉากหลัง





ทะเลสาบกาลิลี
ทะเลสาบกาลิลี (The Sea of Galilee) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิสราเอล มีความยาว 21 กิโลเมตร กว้าง 13 กิโลเมตร ลึก 43 เมตร ถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงประเทศอิสราเอลทั้งหมด ทะเลสาบนี้มีชื่อเรียกขานหลายชื่อ เช่น ทะเลสาบกาลิลี ทะเลสาบทิเบเรียส ทะเลสาบเยเนซาเร็ธ (kinneret) ซึ่งมาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “พิณ” เนื่องจากรูปทรงของทะเลสาบมีลักษณะคล้ายพิณของกษัตริย์ดาวิด ทะเลสาบนี้มีปลามากมายหลายชนิด มีน้ำที่ใสสะอาดและการบริหารจัดการน้ำที่ยอดเยี่ยม
ทะเลสาบกาลิลีเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น “ทะเลของพระเยซูเจ้า” เนื่องจากพระองค์ทรงบังคับลมและทะเล (มธ 8:23-27)  สามารถเดินบนผิวน้ำทะเล (มธ 14:22-23)  และสามารถทำให้บรรดาศิษย์จับปลาได้เป็นจำนวนมาก (ยน 21:4-14) แสดงถึงความยิ่งใหญ่เหนือทะเลแห่งนี้ อีกทั้งทรงใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยตามเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบทะเลสาบ ทรงเทศน์สอนและทำอัศจรรย์มากมายริมทะเลสาบแห่งนี้ (มธ 8:1-4, 15:29-31))
ทะเลสาบกาลิลีได้กลายเป็นดังอู่ข้าวอู่น้ำของผู้คนตั้งแต่อดีต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีผู้คนเป็นจำนวนมากมาตั้งหลักแหล่งรอบทะเลสาบ ทำให้แคว้นกาลิลีกลายเป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมและการค้า อีกทั้งมีทัศนียภาพที่สวยงาม จึงไม่แปลกที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำพันธกิจอย่างเปิดเผยที่แคว้นกาลิลีเป็นหลัก ทรงเรียกเปโตร อันดรูว์ ยากอบและอัครสาวกอื่นๆ ริมทะเลสาบนี้ (มธ 4:18-20, ลก 5:1-11) ซึ่งพวกเราได้สัมผัสบรรยากาศแบบนั้นด้วยการล่องเรือในทะเลสาบนี้ด้วย




คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
The Million Stone Hotel, Sultanamet, Istalbul, TURKEY
29 เมษายน 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น