Ecce Homo Convent
Ecce
Homo Convent เป็นชื่ออารามของภคินีคณะพระมารดาแห่งศิโยน (The
Sisters of Notre Dame de Sion) เป็นสถานที่พักของพวกเราตลอด 6
วันที่เยรูซาเล็ม
จิตตารมย์ของคณะนี้คือการเป็นพยานถึงความรักของพระเจ้าต่อชาวอิสราเอลในพระศาสนจักรและในโลก
โดยการศึกษาพระวาจาของพระเจ้า และให้ความสนใจเรื่องการคืนดีกันระหว่างมนุษย์เป็นพิเศษ
อีกทั้งจัดหาอาจารย์และที่พักเพื่อการศึกษาพระคัมภีร์ ตามข้อตกลงที่ทำกับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
อาราม
Ecce
Homo ได้กลายเป็นสถานที่สำหรับการจาริกแสวงบุญตั้งแต่ปี 1860
ตั้งอยู่บนถนนสายมรรคาศักดิ์สิทธิ์ (Via Dolorosa) และเป็นสถานที่ 2 สำหรับการเดินรูป 14 ภาค เพราะตั้งอยู่บนป้อมอันโตเนียที่เคยเป็นจวนของปีลาต
เป็นที่ที่ปีลาตนำพระเยซูเจ้าที่ทรงมงกุฎหนามและเสื้อคลุมสีม่วงแดงออกมาและบอกกับประชาชนว่า
“Ecce Homo (นี่คือคนคนนั้น)”
ตามที่กล่าวถึงในพระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 19 ข้อ 5 และกลายมาเป็นชื่อของอาราม
วัดน้อยใน Ecce Homo ที่เคยเป็นซุ้มประตูชัยของโรมัน
การที่พระเยซูเจ้าทรงเสื้อคลุมสีม่วงแดง
ซึ่งเป็นสีสำหรับกษัตริย์ พระวรสารนักบุญมาระโกบอกว่าทหารทั้งกองมาพร้อมกัน
มีแต่เวลาจักรพรรดิเสด็จเท่านั้นที่ทหารทั้งกองมาพร้อมกัน
พระวรสารนักบุญมัทธิวบอกว่าพระองค์ถือคทาด้วย พระวรสารนักบุญยอห์นบอกว่าปีลาตบอกกับประชาชนว่า
“นี่คือคนคนนั้น” (ยน 19:5) เป็นการประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์
ผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการบอกว่าพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์จริงๆ
แต่ไม่ใช่อย่างที่พวกเขาคิด เป็นกษัตริย์แห่งการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เพื่อทุกคนด้วยความรัก
อาราม
Ecce
Homo ยังมีประตูโค้งที่เรียกว่า Ecce Homo Arch นี่เป็นส่วนที่เหลืออยู่ของประตูชัยที่สร้างในสมัยจักรพรรดิฮาเดียนปี 135 ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกด้านซ้ายเป็นวัดน้อยของ Ecce
Homo ส่วนประตูโค้งใหญ่เป็นส่วนที่ยื่นออกไปเหนือถนนมรรคาศักดิ์สิทธิ์
ตามธรรมเนียมโรมันเมื่อยึดครองที่ใดได้แล้วมักสร้างประตูชัย เพื่อต้อนรับจักรพรรดิเสด็จผ่าน
นอกนั้นธรรมประเพณีถือว่าที่นี่เป็นจุดที่ปีลาตประกาศว่า “นี่คือคนคนนั้น”
(ยน 19:5)
ลานศิลา (Lithostrotos) ชั้นล่างของ Ecce Homo
ที่ที่ปิลาทนำพระเยซูเจ้าออกมาและพิพากษา
ลานศิลา
(Lithostrotos)
บริเวณชั้นใต้ดินของอาราม
Ecce
Homo ยังมีทางเดินของโรมันโบราณที่เรียกว่า “ลานศิลา” (Lithostrotos)
ซึ่งประกอบด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่เรียงเป็นทางเดิน ระหว่างปี 1931-1937
คุณแม่โกลเดอร์แลนด์และคุณพ่อวินเซนต์ จากสถาบันศึกษาพระคัมภีร์แห่งคณะโดมินิกันได้ทำการขุดสถานที่นี้
และพบลานของป้อมอันโตเนีย ซึ่งนักบุญยอห์นได้เขียนไว้ว่า ปิลาตได้พาพระเยซูเจ้าไปข้างนอกและได้นั่งบนบัลลังก์ตรงที่เรียกว่า
“ลานศิลา” (ยน 19:13)
ดังนั้น
พื้นที่นี้เป็นสถานที่ปีลาตได้พิพากษาพระเยซูเจ้าต่อหน้าฝูงชน ที่โห่ร้องด้วยเสียงดังอยู่นอกป้อมอันโตเนีย
ได้แสดงพระเยซูเจ้าให้กับฝูงชนและกล่าวว่า “นี่คือคนคนนั้น” ได้สั่งให้เฆี่ยนพระองค์และได้ล้างมือด้วยการมอบพระองค์ให้ฝูงชนเอาไปตรึงกางเขน
พื้นที่นี้เป็นระดับพื้นเดิมของกรุงเยรูซาเล็มสมัยพระเยซูเจ้า ที่แสดงให้เห็นว่าเยรูซาเล็มในปัจจุบันเป็นเมืองที่สร้างขึ้นซ้อนเมืองโบราณ
ลานปูศิลาจึงมีความสำคัญทรงประวัติศาสตร์
ที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพระมหาทรมานสู่เนินกัลวารีโอ หินปูพื้นมีรอยขูดขีดเพื่อป้องกันมิให้ม้าลื่นไถล
และมีร่องเพื่อให้น้ำฝนไหลเข้าสู่บ่อที่ขุดลึกลงไป สามารถเก็บน้ำได้เป็นปริมาณมาก
พื้นผิวของหินบางก้อนมีรอยแกะสลักแสดงการเล่นเกมของเหล่าทหารเรียกว่า “เกมของกษัตริย์”
ซึ่งอาจเป็นเกมที่ทหารเล่นเพื่อเป็นการเยาะเย้ยพระองค์ (มธ 27:27-30, ลก 15:16-20)
การศึกษาพระวรสารนักบุญยอห์น ตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า
สวนเกทเสมนี
สวนเกทเสมนีเป็นเป้าหมายของการติดตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้าวันที่สอง
หลังจากได้ศึกษาพระวรสารนักบุญยอห์น
พวกเราได้ไปถวายพิธีบูชาขอบพระคุณที่ถ้ำซึ่งเป็นวัดน้อยในสวนเกทเสมนี
กล่าวกันว่าพระเยซูเจ้าน่าจะมาอธิษฐานภาวนาที่ถ้ำมากกว่าบนสวนซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคล
เชื่อกันว่าสวนแห่งนี้เป็นของมารดาของนักบุญมาร์โก ผู้นิพันธ์พระวรสาร ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามะกอกเทศ
ปัจจุบันยังมีต้นมะกอกเทศอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยของพระเยซูเจ้า
นักบุญยอห์นได้พูดถึงสวนเกทเสมนีซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของห้วยขิดโดรน
เป็นสถานที่พระเยซูเจ้าทรงชื่นชอบเป็นพิเศษ ทรงเสด็จไปอธิษฐานภาวนาบ่อยๆ (ลก
22:39) นี่เป็นสวนที่ทรงทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ในคืนสุดท้ายก่อนรับทรมานและสิ้นพระชนมบนไม้กางเขน
เป็นความทุกข์ที่นักบุญลูกาผู้เป็นหมอได้บันทึกว่า “พระองค์ทรงอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส...
พระเสโทตกลงพื้นดินประดุจหยดโลหิต” (ลก 22:44)
นี่เป็นอาการของคนที่ทุกข์หนักที่สุด
เพราะเห็นภาพล่วงหน้าของการทรมานและความตาย
เป็นความเจ็บปวดและทุกระทมอย่างที่สุดของพระเยซูเจ้า มากกว่าการตายจริงบนไม้กางเขนเสียอีก
ถึงขนาดที่ทรงร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้พ้นไป (ลก 22:42) จากนั้นยูดาสได้พาพรรคพวกของมหาสมณะมาจับกุมและทรยศต่อองค์ที่นี่
ส่วนอัครสาวกคนอื่นได้ละทิ้งพระองค์หนีไป ปล่อยให้พระองค์อยู่เพียงลำพัง
สวนเกทเสมนีที่พระเยซูเจ้าภาวนาและถูกจับกุม
กำแพงร้องไห้
กำแพงร้องไห้หรือกำแพงด้านตะวันตก
เป็นสักการสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิวที่ถือเป็นพระธาตุของพระวิหารหลังสุดท้าย
อยู่ทางด้านตะวันตกของเยรูซาเล็ม เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงที่กษัตริย์เฮโรดได้สร้างรอบพระวิหารหลังที่สอง
เมื่อปี 20 ก่อนคริสตกาล ปี 70 จักรพรรดิตีตัสได้ทำลายกำแพงส่วนนี้ที่สร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่
เพื่อแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของทหารโรมันที่สามารถำลายส่วนอื่นๆ ของพระวิหารได้
ในยุคที่ชาวโรมันปกครอง
ชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้มาที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่สมัยไบแซนตินพวกเขามาได้ปีละครั้งในวันระลึกถึงการทำลายพระวิหาร
เพื่อแสดงความทุกข์ต่อการกระจัดกระจายของชาวยิวและร่ำไห้เหนือซากของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ส่วนนี้ของกำแพงจึงได้ชื่อว่า “กำแพงร้องไห้” ธรรมเนียมการมาอธิษฐานภาวนาข้างกำแพงนี้ได้ถือปฏิบัติต่อกันมาหลายศตวรรษ
ตั้งแต่ปี
1948-1967 ชาวยิวไม่สามารถเข้าเยี่ยมสถานที่แห่งนี้ได้ เพราะอยู่ในส่วนของเยรูซาเล็มที่อยู่ภายใต้การปกครองของจอร์แดน หลังสงคราม 6 วัน กำแพงร้องไห้นี้ได้กลายเป็นสถานที่แสดงความชื่นชมยินดีระดับชาติ
อีกทั้งเป็นสถานที่นมันสการและอธิษฐานภาวนา มีการสร้างลานกว้างขนาดใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าร่วมอธิษฐานภาวนาครั้งละเป็นจำนวนมากอย่างไม่ขาดสาย
ตลอดแนวกำแพงมีช่องขนาดใหญ่ลึกเข้าไป เป็นที่เก็บหนังสือโตราห์และบทเพลงสดุดีที่ชาวยิวสามารถใช้อธิษฐานภาวนา
กำแพงร้องไห้ รากฐานของพระวิหารเดิมที่หลงเหลืออยู่
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
Ecce
Homo Convent, Jerusalem, ISRAEL
18 เมษายน 2018
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น