กัลวารีโอ
บ่อเกิดแห่งความเชื่อ
พระวรสารของนักบุญยอห์นเป็นพระวรสารลึกซึ้งที่สุด
เต็มไปด้วยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ นักบุญยอห์นประกาศตั้งแต่เริ่มต้นว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร”
พระเยซูเจ้าเป็นพระวจนาตถ์และเป็นพระเจ้า “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว
พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า” (ยน 1:1) ยอห์นบันทึกพระวรสารได้ล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะยอห์นอายุยืนที่สุดผ่านการไตร่ตรองมาทั้งชีวิต
และยอห์นอยู่กับพระนางมารีย์ผู้ที่ใกล้ชิดพระเยซูเจ้ามากที่สุด
พระนางมารีย์อยู่กับยอห์นแทบเชิงกางเขน
และพระเยซูเจ้าตรัสกับพระมารดาว่า “หญิงเอ่ย นี่คือลูกของท่าน
แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า นี่คือแม่ของท่าน ตั้งแต่เวลานั้น
ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน” (ยน 19:26-27) พระเยซูเจ้าตรัส “หญิงเอ่ย” เพียง 2 ครั้งในพระวรสารคือที่หมู่บ้านคานาและแทบเชิงกางเขน
ซึ่งหมายถึงพระนางมารีย์เป็นมารดาของพระศาสนจักรและมารดาของเราทุกคน
ดังนั้น ศิษย์พระคริสต์ทุกคนต้องรับพระนางมารีย์เป็นมารดาของตน
แต่ในเชิงประวัติศาสตร์พระนางมารีย์ได้ไปอยู่กับยอห์นที่เอเฟซัส
ขณะที่กำลังจะสิ้นพระชนม์
“พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า ‘เรากระหาย’ พระคัมภีร์ตอนนี้จึงเป็นจริงด้วย”
(ยน 19:28) พระเยซูเจ้าทรงกระหายพระประสงค์ของพระเจ้าคือการกอบกู้มนุษยชาติ ซึ่งบรรลุถึงความสมบูรณ์บนไม้กางเขน
ดังนั้น ไม้กางเขนจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อของเราคริสตชน “พระองค์ทรงเอนพระเศียรและสิ้นพระชนม์”
(ยน 19:30) ในภาษาต้นฉบับพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์แต่ทรงส่งพระจิตเจ้า
และเมื่อทหารใช้หอกแทงสีข้าง “โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:34) ไม่มีที่ไหนยิ่งใหญ่กว่าบนเนินกัลวารีโอที่พระจิตเจ้า น้ำ
และพระโลหิตอยู่ด้วยกัน พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนคือความเชื่อของเรา
เนินกัลวารีโอ
เนินกัลวารีโอในปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
(The
Church of the Holy Sepulcher) สภาพเดิมเป็นเนินหินลาดกว้างใหญ่
มีความสูง 45 ฟุต จากบริเวณพื้นโดยรอบ เรียกว่า “เนินหัวกะโหลก” อาจเป็นเพราะมีลักษณะคล้ายหัวกะโหลก
“เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขนที่นั่นพร้อมกับนักโทษอีกสองคน อยู่คนละข้าง
พระเยซูเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง” (ยน 19:17) นี่คือบัลลังก์กษัตริย์ที่พระองค์ทรงประทับ
ไม่ใช่อย่างกษัตริย์ที่ทรงอำนาจ แต่ทรงเป็นลูกแกะพระเจ้าที่ทรงมอบชีวิตเพื่อไถ่มนุษยชาติ
บนเนินกัลวารีโอมีวัดน้อย
2 แห่ง แห่งแรกเป็นที่ถอดพระภูษาและตรึงพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน เป็นกรรมสิทธิ์ของคาทอลิก
และแห่งที่สองเป็นที่ปักกางเขนเป็นกรรมสิทธิ์ของกรีกออโธดอกซ์ หินที่ใช้ปักไม้กางเขนยังสามารถเห็นได้ใต้พระแท่นที่สร้างถวายแด่แม่พระมหาทุกข์
และชั้นล่างสุดมีวัดน้อยของอาดัมที่เชื่อกันว่าถูกฝังไว้ที่นี่
โลหิตและน้ำของพระเยซูเจ้าได้ไหลชโลมแผ่นหินตามรอยแตก เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์
ได้ชำระบาปของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่อาดัมมนุษย์คนแรก
พระคูหาว่างเปล่า
พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ
เราได้ไปดูวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าหลายครั้ง
ทั้งเวลาเปิดและเวลาปิด โดยเฉพาะเวลาเปิด
ทุกคนไปออที่ประตูเพราะอยากเป็นเหมือนมารีย์ชาวมักดาลาที่เข้าไปที่พระคูหาเป็นคนแรก
นางพบพระคูหาว่างเปล่า
พระคูหาของพระเยซูเจ้าต่างจากหลุมศพหรือสุสานของบุคคลสำคัญของโลกที่มีร่างฝังอยู่ พระคูหาของพระองค์ว่างเปล่าเพราะพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
พระองค์ได้ทรงกระทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่
ทรงฝืนกฎธรรมชาติและพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า
การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นความเชื่อพื้นฐานของเราคริสตชน
ถือเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมและการฉลองทั้งหลายตลอดปี ความเชื่อ ความรัก และความหวังแห่งชีวิตคริสตชนอยู่ที่การกลับคืนพระชนมชีพนี้
ดังที่นักบุญเปาโลเขียนเอาไว้ว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน”
(1 คร 15:14)
มารีย์ชาวมักดาลาหลังจากพบพระคูหาว่างเปล่า
ได้วิ่งกลับไปบอกซีโมนเปโตรและศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก “ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน
แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน” (ยน 20:4)
เราพบความจริงว่าความรักเป็นพลังผลักดันทำให้ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร
ความรักวิ่งเร็วกว่าความเชื่อ เปโตรเป็นตัวแทนของความเชื่อ
ศิษย์ที่ทรงรักเป็นความรัก และมารีย์ชาวมักดาลาเป็นสตรีแห่งความหวัง การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าทรงเป็นความเชื่อ
ความรัก และความหวังของพระศาสนจักร
พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกเรื่องพระศาสนจักรที่หน้าพระคูหา
“อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา
แต่จงไปหาพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเรา
และพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย”
(ยน 20:17)
ศิษย์ของพระคริสต์ถูกเรียกว่า “พี่น้องของเรา”
ทุกคนที่เชื่อในพระเยซูเจ้าเป็นพี่น้องของเรา การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
ทำให้เราเป็นพี่น้องกัน ทำให้เราเป็นลูกของพระบิดา และทำให้เราเป็นบุตรของพระเจ้า
วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างครอบเนินกัลวารีโอที่พระพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงและพระคูหาซึ่งใช้เป็นที่วางพระศพ
สร้างขึ้นตามคำสั่งของจักรพรรดิคอนสแตนตินหลังสังคายนาที่นีเชอาปี 325 เมื่อพระนางเฮเลนาเดินทางไปเยรูซาเล็ม และได้ค้นพบพระคูหาของพระเยซูเจ้าในความฝัน
ปี 614 วัดหลังนี้ได้ถูกพวกเปอร์เซียทำลาย ต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่แต่มีขนาดเล็กกว่าเดิม
ที่สุด ได้ถูกทำลายอีกครั้งจากกาลิบฮาเก็มปี 1009
การทำลายวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์และวัดต่างๆ
ในเยรูซาเล็มได้ก่อให้เกิดสงครามคูเสด
เพื่อกอบกู้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์จากการรุกราณของมุสลิม ภายหลังที่ยึดเยรูซาเล็มได้พวกครูเสดได้สร้างวัดอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง โดยอยู่ในความดูแลของหลายฝ่ายถึง 6 หมู่คณะ ตามที่ผู้ปกครองชาวเติร์กได้ตกลงกันเมื่อปี
1852 ในสมัยพระเยซูเจ้าสถานที่แห่งนี้อยู่นอกกำแพงเมือง
เนื่องจากชาวยิวมีธรรมเนียมฝังศพนอกกำแพงเมือง
ภายในวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
มีแผ่นหินที่ใช้ชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า
เมื่อพระนางมารีย์ได้รับพระศพที่ปลดลงจากไม้กางเขน
พระศพของพระเยซูเจ้าได้รับการพันด้วยผ้า
พร้อมกับใส่เครื่องหอมตามประเพณีฝังศพของชาวยิว (ยน 19:38-40)
สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ 13 สำหรับการเดินรูป
14 ภาค ส่วนพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
เดิมทีเดียวเป็นคูหาขุดใหม่ยังไม่เคยใช้ฝังผู้ใดเลย (ยน 19:41-42)
ปัจจุบันสร้างเป็นหินอ่อนโดยรอบ
ด้านหน้าเหนือทางเข้าพระคูหามีภาพเขียนพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ
ประดับด้วยโคมไฟ 42 ดวงที่จุดทั้งวันทั้งคืน 13
ดวงสำหรับจารีตลาติน, กรีกออโธดอกซ์
และอาเมเนียน กับอีก 4 ดวงสำหรับพวกคอบติกส์
นับเป็นพระพรของพระเจ้าที่พวกเราได้มีโอกาสตื่นเฝ้าในวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งคืน
ได้มีเวลาการอธิษฐานภาวนาและไตร่ตรองชีวิตของตน
อีกทั้งได้ร่วมกันถวายพิธีบูชาขอบพระคุณที่พระแท่นใกล้กับที่ปักกางเขนของพระเยซูเจ้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
The
Club Hotel & Resorts, Tiberias, ISRAEL
23
เมษายน 2018
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น