วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

จงมีใจเมตตาสงสาร

 

จงมีใจเมตตาสงสาร

อังคาร

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

1 คร 12:12-14, 27-31

ลก 7:11-17

บทอ่านแรก นักบุญเปาโลได้เปรียบเทียบร่างกายของมนุษย์ที่ประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน แต่รวมเป็นร่างกายเดียว เดชะพระจิตเจ้าและศีลล้างบาปที่เราได้รับ ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายของพระคริสตเจ้า แม้จะทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น เป็นอัครสาวก ประกาศก และครูอาจารย์ รวมถึงผู้มีอำนาจทำอัศจรรย์ ผู้รักษาโรค ผู้ช่วยเหลือ ผู้ปกครอง และผู้พูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ ทุกคนมีพระพรพิเศษที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ และต้องพยายามแสวงหาพระพรพิเศษยิ่งกว่านี้

นักบุญลูกาให้ความสนใจต่อชะตากรรมของหญิงม่าย ผู้สูญเสียบุตรชายเพียงคนเดียว ลำพังการเป็นม่ายสูญเสียสามีเป็นความทุกข์หนักอยู่แล้ว แต่หญิงม่ายยังมาสูญเสียบุตรชายคนเดียวที่หวังพึ่งอีก พระเยซูเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาสงสาร ทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดีถึงชะตากรรมที่หญิงม่ายได้รับ และตรัสกับนางว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย” (ลก 7:13) ลูกาใช้คำนี้กับพระเยซูเจ้ารวม 20 ครั้ง เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรความทุกข์ใหญ่หลวงของหญิงม่ายทรงรู้สึกสะเทือนพระทัย

“อย่าร้องไห้ไปเลย” เป็นความรู้สึกสงสารและเข้าใจหัวอกของคนสูญเสียของพระเยซูเจ้า ทรงปรารถนาซับน้ำตาทุกคนที่กำลังสูญเสียและเดือดร้อน และทรงทำให้ความรักของพระเจ้าปรากฏเป็นจริง ด้วยการปลุกบุตรชายของหญิงม่ายให้ฟื้นคืนชีพ “หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าจงลุกขึ้น” (ลก 7:14) แสดงให้เห็นว่า การกลับคืนชีพเป็นสิ่งเป็นไปได้ และข่าวที่พระองค์นำมาประกาศเป็นเรื่องจริง เราเชื่อในการกลับคืนชีพของร่างกายและชีวิตหลังความตายไหม

พระเยซูเจ้าทรงประสงค์ให้ศิษย์ของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้า ต่อผู้คนที่กำลังสูญเสีย เจ็บป่วย ชราภาพ ยากจน และกำลังต้องการความช่วยเหลือ ความรักของพระเจ้าปรากฏเป็นจริงผ่านทางความเมตตากรุณา ความใจดี และการช่วยเหลือซับน้ำตาคนที่กำลังเดือดร้อนรอบตัวเรา บางครั้งพวกเขาต้องการเพียงรอยยิ้ม คำพูดให้กำลังใจ และการฟังปัญหาอย่างอดทนและเข้าใจ “จงร่วมยินดีกับผู้ที่ยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” (รม 12:15)

การมีใจเมตตาสงสารเรียกร้องให้เราไปทุกที่ที่มีความเจ็บปวดและความทุกข์ร้อน เพื่อแบ่งปันความทุกข์ที่กำลังเผชิญ บรรเทาใจคนที่กำลังสิ้นหวัง และร้องไห้กับคนที่กำลังร้องไห้ ศิษย์พระคริสต์ต้องมีใจเมตตาสงสารต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์ใหญ่หลวง อยู่เคียงข้างและเป็นหนึ่งเดียวกับคนอ่อนแอ คนไร้ที่พึ่ง และคนชายขอบที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ

คุณพ่อขวัญ  ถิ่นวัลย์

ID LINE : dondaniele

วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, สกลนคร

16 กันยายน 2024

ที่มาภาพ : สื่อมวลชนสังฆมณฑลอุดรธานี, 130 ปีวัดแม่พระลูกประคำ เวียงคุก, หนองคาย; 2024-09-14

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567

แบบอย่างของนายร้อย

 

แบบอย่างของนายร้อย

จันทร์

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

1 คร 11:17-26

ลก 7:1-10

บทอ่านแรก นักบุญเปาโลพูดถึงปัญหาเรื่องการมาชุมนุมกินอาหารร่วมกัน ที่มิได้เป็นเหมือนการเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งท่านได้รับมาด้วยความเชื่อ ต่างคนต่างรีบกินอาหารของตน ทำให้คนมาทีหลังไม่ได้รับอาหาร และได้พูดถึงพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งถือเป็นหลักฐานเก่าแก่เกี่ยวกับพิธีนี้ ที่ทุกคนร่วมเป็นหนึ่งเดียวในบูชาขององค์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน “ทุกครั้งที่ท่านกินปังนี้ และดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 11:26)

พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้รับใช้ของนายร้อย และทรงยกย่องความเชื่อลึกซึ้งของเขา ที่รักผู้รับใช้ของตน ไม่ทำตัวเป็นนายอยู่เหนือคนอื่น แต่มองเห็นคุณค่าของคนเท่าเสมอกัน อีกทั้งเป็นคนดี มีหัวใจเปิดกว้างไปสู่ผู้อื่น ได้ทำสิ่งดีงามเพื่อชาวยิว แม้กระทั่งการสร้างศาลาธรรม “นายร้อยผู้นี้สมควรที่ท่านจะช่วยเหลือ เพราะเขารักชนชาติของเรา และได้สร้างศาลาธรรมให้เรา” (ลก 7:4-5) เราได้กระทำสิ่งดีงามและมองเห็นคนเท่าเสมอกันไหม

นายร้อยส่งเพื่อนไปทูนพระเยซูเจ้า เปิดเผยให้เราได้ทราบอุปนิสัยของเขาเป็นอย่างดี “ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจเอื้อมที่จะออกมาพบกับพระองค์ แต่ขอพระองค์ตรัสเพียงคำเดียว ผู้รับใช้ของข้าพเจ้าก็จะหายจากโรค” (ลก 7:6-7) นายร้อยไม่ไปทูลขอพระเยซูเจ้าด้วยตนเอง เพื่อไม่ทำให้พระองค์เป็นมลทิน แสดงถึงความเข้าใจธรรมประเพณียิว จิตใจที่ละเอียดอ่อน และความสุภาพถ่อมตนของเขา

พระเยซูเจ้าทรงยกย่องความเชื่อลึกซึ้งของนายร้อย “เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรายังไม่เคยพบใครมีความเชื่อมากเช่นนี้ในอิสราเอลเลย” (ลก 7:9) และพระศาสนจักรได้นำคำพูดของนายร้อยมาใช้ในพิธีกรรม เพื่อให้เราได้ตระหนักในความไม่เหมาะสมของตนก่อนรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาประทับอยู่กับข้าพเจ้า โปรดตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์”

ความเชื่อแท้ได้นำทุกคนให้มารวมกันโดยไม่แบ่งแยก ไม่ถือเขาถือเรา แต่จำนนต่อความรักของพระเจ้า วางใจพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม เปิดตาและหูของตนต่อความรักและพระประสงค์ของพระองค์ในทุกสิ่ง ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบนายร้อยชาวโรมัน ในความเชื่อลึกซึ้ง การเห็นคนเท่าเสมอกัน การมองเห็นความดีงามและเคารพธรรมประเพณีอื่น ความใจกว้างและความสุภาพถ่อมตน ที่ตระหนักในความบาปและความไม่เหมาะสมของตน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

ID LINE : dondaniele

วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, สกลนคร

15 กันยายน 2024

สารวัดดอนทอย-หนองสนุก, ปีที่ 2 ฉบับที่ 68

 สารวัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก

ปีที่ 2  ฉบับที่ 68  อาทิตย์ที่ 15  กันยายน 2024 (2567):  http.//dondaniele.blogspot.com

เลขที่ 103 หมู่ที่ 6 ตำบลสามัคคีพัฒนา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร 47170È086-231-3231

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา ปี B

การเยี่ยมคุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม พุธที่ 11 กันยายน 2024

พี่น้องที่รัก  ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจและการยอมรับซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์และเรียกเราจากการไม่มีอะไรมาสู่การเป็นอยู่ เพื่อมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระองค์ ด้วยการรักและรับใช้พระองค์ ในชีวิตของมนุษย์จึงมีทั้งความยินดีและความทุกข์ และมองเห็นการประทับอยู่ของพระเจ้าในทุกสถานการณ์

พระวรสารวันนี้อธิบายให้เราได้เข้าใจพื้นฐานความเชื่อของคริสตชน ในการยอมรับพระเยซูเจ้าในฐานะพระคริสต์เจ้า บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิตและพระผู้ไถ่ของเรา โดยบอกให้เราได้ทราบว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ให้รอดพ้น ผ่านทางพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ อีกทั้งได้วางเงื่อนไขสำหรับการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ นั่นคือ การเลิกนึกถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตนและติดตามพระคริสต์เจ้า

พิธีเสกและขึ้นบ้านใหม่คุณสุดใจ ชมภูจันทร์ อาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2024

        บทอ่านแรก
เป็นบทเพลงของผู้รับใช้พระยาเวห์บทที่สามซึ่งเป็นภาพล่วงหน้าถึงพระเยซูเจ้า ถือเป็นบทนำของพระวารสาร เกี่ยวกับความจำเป็นของการแบกไม้กางเขนของเรา และติดตามพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับทรมานและตายเพื่อเรา ประกาศกอิสยาห์ได้บอกเราว่า ใครที่รักษาความเชื่อในพระเจ้าย่อมไม่พรั่นพรึงต่อการทรมานและการทดลองใด ๆ

บทอ่านที่สอง จดหมายของนักบุญยากอบบอกเราว่า ความเชื่อในพระเจ้ามิใช่หลักประกันของการได้อาณาจักรสวรรค์ ความเชื่อต้องแสดงออกในกิจการแห่งความรัก ความเชื่อที่ไม่มีกิจการเป็นความเชื่อที่ว่างเปล่าและไร้ความหมาย วันนี้อัครสาวกยากอบได้เรียกเราให้กระทำแต่กิจการดี

พระวรสาร ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้าที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย เราต้องเชื่อและหมั่นมาหาพระองค์บ่อย ๆ ทางศีลศักดิ์สิทธิ์  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ และการอธิษฐานภาวนา เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และเพื่อนมนุษย์ ประการสำคัญ เราต้องเลิกนึกถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตน และติดตามพระองค์

การประชุมพลมารีย์ดอนทอย-หนองสนุก อาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2024

°
ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1.          แจ้งข่าว : คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม ได้มอบคืนดวงวิญญาณสู่การพักผ่อนนิรันดรในองค์พระเจ้า เสาร์ที่ 14 กันยายน 2024 เวลา 19.30 น.

2.          ขอบคุณพี่น้องที่ทำโรงทานและต้นเงินร่วมเปิดเสกวัดบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย ดอนถ่อน เสาร์ที่ 14 กันยายน 2024

3.          วัดได้จ่ายค่ารับเหมางาน โครงสร้าง คสล. งวดแรก จำนวน 1,597,247.- บาท  (หลังลงนามในสัญญา) เมื่อพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2024 ผู้รับเหมาจะเริ่มงาน 23 กันยายน 2024 นี้

4.          อังคารที่ 17 กันยายน 2024 ผู้นำกลุ่มคริสตชนพื้นฐานทุกกลุ่มเข้ารับการอบรมผู้นำวิธีชุมชนวัดที่สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน มุกดาหาร รวมตัวกันที่วัด ออกเดินทาง 6.00 น.

5.          พุธที่ 18 กันยายน 2024 พลมารีย์สัญจรเขตตะวันตก ที่วัดแม่พระมหาการุณ หนองบก เริ่มประชุมเวลา 8.30 น.

6.          เสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2024 เชิญร่วมฉลองบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ ทางบ้านเณรขอการแสดงต้อนรับพระสังฆราช และโรงทานจากวัดเราด้วย

7.          ศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2024 เชิญร่วมเปิดเสกวัดใหม่ วัดนักบุญยอแซฟ หนองแสง-ดงอี่บ่าง พิธีบูชาขอบพระคุณ 10.00 น.

8.          เงินทาน : เสาร์ 1,603.- บาท, อาทิตย์ 3,295.- บาท และยุวธรรมทูต 729.- บาท รายจ่าย : 1) ค่าอาหาร 4,000.- บาท, 2) ค่าตอบแทนซิสเตอร์ 2,000.- บาท, 3) ค่าปุ๋ย 1 กระสอบสูตร 15-15-15 จำนวน 1,030.- บาท

9.          ขอบคุณ กลุ่มเยาวชนที่รับผิดชอบพิธีกรรมและทำความสะอาดวัดสัปดาห์นี้ คุ้มที่รับผิดชอบสัปดาห์ต่อไป กลุ่มฆราวาสรักกางเขน

10.     เงินสมทบสร้างวัด  ตั้งแต่ 8-14 กันยายน 2024 ได้รับเงินที่พี่น้องทำบุญและเงินโอนเข้าบัญชีโครงการก่อสร้างวัด เป็นจำนวน 7,550.- บาท


บุตรหลานชาวดอนทอย-หนองสนุกได้รับศีลล้างบาปรวม 5 คน ศุกร์ที่ 13 กันยายน 2024

พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์

วัน

ที่

เวลา

ผู้ขอ/วันฉลอง

จุดประสงค์

อาทิตย์

15

06.30 น.

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

†สุขสำราญ พี่น้องดอนทอย-หนองสนุก

จันทร์

16

06.00 น.

ระลึกถึง น.คอร์เนเลียส และ น.ชีเปรียน

 

อังคาร

17

06.00 น.

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

 

พุธ

18

06.00 น.

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

 

พฤหัสบดี

19

06.00 น.

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

 

ศุกร์

20

06.00 น.

ระลึกถึง น.อันดรูว์ กิม เตก็อน น.เปาโล จง ฮาซัง

 

เสาร์

21

06.00 น.

ฉลอง น.มัทธิว อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร

 

 

พี่น้องดอนทอย-หนองสนุกร่วมเปิดเสกวัดใหม่ วัดบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย ดอนถ่อน 
เสาร์ที่ 14 กันยายน 2024







วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2567

คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม

คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม

(Rev. Fr. Andrew Samran  VONGSA-NGIEM)

1.         กำเนิด

คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม  เกิดเมื่อ 6 มิถุนายน 1938 (2481) (ถือตามหลักฐานราชการจากเอกสารการศึกษา) รับศีลล้างบาปที่วัดนักบุญเทเรซา สะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยคุณพ่อเปโตร  ฮัน เมื่อ 19 มิถุนายน 1939 (2482) คุณพ่อเป็นบุตรชายคนโตของ เปาโล เหงียน วัน  ซาง กับ เทเรซา เหงียน ธิ  เมา คริสตชนชาวเวียดนามซึ่งรับศีลสมรสที่วัดฝู กาม เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ปี 1935 (2478) แต่มาทำงานที่สะหวันนะเขต ประเทศลาว

ก่อนเดินทางกลับประเทศเวียดนาม บิดามารดาได้มอบบุตรชายให้อยู่ในความอุปการะของคุณพ่อเปาโล คำจวน  ศรีวรกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระนิรมลทิน บุ่งกะแทว อุบลราชธานี ทำให้คุณพ่อต้องพลัดพรากจากบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็ก เติบโตในประเทศไทย โดยอยู่ในความดูแลของภคินีรักกางเขนแห่งอุบลราชธานีและได้รับการอบรมบ่มเพาะในวัฒนธรรมอีสานแบบเด็กอีสานทั่วไป



         ครอบครัวของคุณพ่อที่ประเทศเวียดนาม เป็นครอบครัวที่มีความเชื่อมั่นคงและมีความศรัทธาแรงกล้า และเป็นบ่อเกิดแห่งกระแสเรียก โดยมีน้องชาย 1 คนเป็นพระสงฆ์ คือคุณพ่ออันดรูว์ เหงียน วัน  ฟุ๊ก และหลานอีก 2 คน เป็นพระสงฆ์ คือ คุณพ่อเปโตร ฟัม หงอก  ฮวา และคุณพ่อมีคาแอล ฟัม หงอก หาย (บุตรชายของอลีซาเบธ เหงียน ธิ  ลันห์ พี่สาว) คุณพ่อมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ดังรายนามต่อไปนี้

1)         นางอลีซาเบธ เหงียน ธิ  ลันห์        เสียชีวิต

2)         คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม (เหงียน วัน  ลันห์)

3)         คุณพ่ออันดรูว์ เหงียน วัน  ฟุ๊ก

4)         นางมารีอา เหงียน ธิ  เฮา

5)         นายมีคาแอล เหงียน วัน  กิ๊น

6)         นายอันดรูว์ เหงียน วัน  ติน

7)         นางมารีอา เหงียน ธิ  แซน

8)         นายเปโตร เหงียน วัน  กุ๊ย              เสียชีวิต



2.        
การศึกษา

2.1     ประถมศึกษา                      โรงเรียนอาเวมารีอา อุบลราชธานี               

2.2     มัธยมศึกษา                         โรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ สกลนคร

2.3     B.A. (Philosophy)              Pont. Universitas Urbaniana          1965 (2508)

2.4     M.A. (Philosophy)            Pont. Universitas Urbaniana          1966 (2509)

2.5     M. In Divinity (S.T.L.)      Pont. Universitas Urbaniana          1970 (2513)

2.6     M. In Liturgy (S.T.L.)       Pont. Universitas St. Anselmi       1975 (2518)



3.        
กระแสเรียก

3.1     บ้านเณรเล็ก          สามเณราลัยแม่พระฟาติมา ท่าแร่ สกลนคร   1950-1962 (2493-2505)

3.2     บ้านเณรใหญ่        Pont. Collegio Propaganda Fide, Rome, ITALY  1963-1970 (2506-2513)

3.3     บวชเป็นพระสงฆ์  เมื่อศุกร์ที่ 19 มีนาคม 1971 (2514) ที่วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง พร้อมกับคุณพ่อยอห์น บันลือ  เกียรติธาตรี โดย พระอัครสังฆราช มีคาแอล เกี้ยน  เสมอพิทักษ์

3.4        คติพจน์      “ความรักมั่นคงของพระองค์ ดำรงเป็นนิตย์” (สสด 118)



4.    
หน้าที่การงาน

v 1971-1972 (2514-2515)         อธิการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ดูแลวัดราชินีแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ จอมแจ้ง

v 1973-1975 (2516-2518)         ศึกษาวิชาพิธีกรรม ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

v 1975-1989 (2518-2532)         อาจารย์วิทยาลัยแสงธรรม, เหรัญญิก และรองอธิการสถาบันแสงธรรม

v  1975-1997 (2518-2540)         เลขาธิการคณะกรรมการพิธีกรรมแห่งประเทศไทย

v 1989-1993 (2532-2536)         อธิการและผู้จัดการโรงเรียนวรสารพิทยา กรุงเทพฯ

v 1993-2009 (2536-2552)         อุปสังฆราช

v  1993-1998 (2536-2541)         เจ้าอาวาสสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน

v 1994-1998 (2537-2541)         อธิการและผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ สกลนคร

v 17 มี.ค. 1996 (2539) หิรัญสมโภชการเป็นพระสงฆ์

v  1998-2003 (2541-2546)         เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

v 1998-2003 (2541-2546)         อธิการสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน

v  2000-2003 (2543-2546)         เจ้าอาวาสวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์

v 2003-2005 (2546-2548)         เจ้าอาวาสสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน, วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ แก่งกะเบา, วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน นิคมทหารผ่านศึกดงหมู และวัดนักบุญยอห์นอัครสาวก นาตะแบง

v 2004-2005 (2547-2548)         รักษาการเลขาธิการอัครสังฆมณฑล

v 2005-2008 (2548-2551)         เจ้าอาวาสวัดแม่พระที่พึ่งคริสตชน ดอนเชียงคูณ

v 2008-2013 (2551-2556)         เจ้าอาวาสวัดแม่พระแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ จอมแจ้ง

v 2013-2018 (2556-2561)         เจ้าอาวาสวัดแม่พระที่พึ่งคริสตชน ดอนเชียงคูณ

v 2018-2024 (2561-2567)         เกษียณอายุ พักประจำที่สำนักมิสซังฯ สกลนคร

v 19 มีนาคม 2021 (2564)          สุวรรณสมโภชการเป็นพระสงฆ์



5.        
การเจ็บป่วย

อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2019 (2562) คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม มีอาการเบาหวานขึ้นตาอย่างรุนแรง ทำให้มองไม่เห็น ทางสังฆมณฑลได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ ได้รับการรักษาเป็นการด่วนจนมีอาการดีขึ้น ได้กลับไปพักฟื้นที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา กรุงเทพฯ โดยอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์และภคินี และเข้ารับการตรวจรักษาตามนัดหมายอย่างใกล้ชิด กระทั่งอาการดีขึ้นได้เดินทางกลับมาพักที่สำนักมิสซังสกลนคร เมื่อศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2020 (2563)



6.        
วาระสุดท้าย

เดือนมิถุนายน 2024 (2567) คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เงี่ยม เริ่มร่างกายอ่อนแรงลง เดินไม่สะดวก ต้องใช้ไม้พยุง และไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของคณะสงฆ์ เช่น การเข้าเงียบ หรือการประชุมประจำเดือนเหมือนอย่างที่เคยทำได้ตามปกติ เดือนกันยายน 2024 (2567) หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร แพทย์ลงความเห็นว่า อาการโรคมะเร็งที่เคยเป็นได้กระจายไปทั่วร่างกาย เกินความสามารถของแพทย์ที่จะรักษา ต้องรักษาตามอาการ ทำให้คุณพ่อรับประทานอะไรไม่ได้ ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแรงลง ที่สุด คุณพ่อได้มอบคืนดวงวิญญาณสู่การพักผ่อนนิรันดรในองค์พระเจ้าเมื่อเสาร์ที่ 14 กันยายน 2024 เวลา 19.30 น. สิริอายุ 86 ปี



        คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม ถือเป็นผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อพระศาสนจักรในประเทศไทยด้านพิธีกรรม เคยเป็นอาจารย์สอนพิธีกรรมที่วิทยาลัยแสงธรรม ได้เขียนตำราเรียนพิธีกรรมจำนวน 5 เล่ม ถือเป็นอาจารย์คนแรกของวิทยาลัยแสงธรรมที่เขียนตำราเรียนในรายวิชาที่ตนเองสอน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจพิธีกรรมได้ศึกษาค้นคว้า ก่อให้เกิดความเข้าใจพิธีกรรมอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ รวมถึงการทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรมเป็นเวลา 22 ปี ได้แปลและจัดทำหนังสือบทอ่าน บทภาวนา และหนังสือพิธีต่าง ๆ สำหรับใช้ในพิธีกรรม เพื่อการสรรเสริญและเทิดเกียรติพระนามของพระเจ้าอย่างซาบซึ้งและมีชีวิตชีวา



       อีกทั้ง ได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องมรณสักขีทั้งเจ็ดแห่งสองคอน ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีจากสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่
2 เมื่อ 22 ตุลาคม 1989 (2532) และได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสสักการสถานมรณสักขีแห่งสองคอน ที่มีส่วนสำคัญในการวางผังและแผนแม่บทสำหรับสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขีสองคอนอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการจาริกแสวงบุญของคริสตชนจากทั่วประเทศ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดมุกดาหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ขอบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งสองคอนได้รับดวงวิญญาณของคุณพ่อเข้าร่วมในหมู่นักบุญ เทอญ