ซีซารียาแห่งฟิลิป
ซีซารียาแห่งฟิลิป
(Caesarea
Philippi)
เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ก่อนถึงภูเขาเฮอร์โมน จักรพรรดิเอากุสตุสได้มอบเมืองนี้แก่กษัตริย์เฮโรด
และเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณเฮโรดได้สร้างพระราชวังสำหรับซีซาร์ เมื่อเฮโรดสิ้นพระชนม์พระโอรสที่ชื่อฟิลิปได้ปรับปรุงเมืองนี้เป็นเมืองหลวง
และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ซีซารียาแห่งฟิลิป”
ส่วนชื่อในปัจจุบันมาจากคำภาษากรีกโบราณ “ปานีอัส” (Panias) ในศตวรรษที่ 7 ที่เปอร์เซียครอบครองและไม่มีตัวอักษร
“P” ในภาษาอาหรับจึงออกเสียเป็น “บานีอัส” (Banias)
ในสมัยพระเยซูเจ้าเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป
เป็นเมืองที่เป็นแหล่งต้นน้ำและมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เต็มไปด้วยบ้านเรือน วิหาร
และถนนที่มีแนวเสาโรมันตั้งเรียงรายสองข้างตามแบบโรมัน
ถือเป็นจุดที่ไกลสุดที่พระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์เดินทางมาถึง และเป็นที่ที่พระเยซูเจ้าถามบรรดาศิษย์ว่า
“คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร”
และบรรดาศิษย์ทูลตอบว่าเป็นยอห์น บัปติสต์ เอลียาห์ เยเรมี
หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วพระเยซูเจ้าย้อนถามพวกเขาว่า “ท่านละคิดว่าเราเป็นใคร”
และเปโตรได้ประกาศความเชื่อของตน “พระองค์คือพระคริสตเจ้า
พระบุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ16:13-16)
ณ
ที่นี่เองที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งเปโตรให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร “ท่านเป็นศิลา
และบนศิลานี้ เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้”
(มธ 16:18)
เราเห็นชัดถึงความจริงข้อนี้ ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรต่างๆ
ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ที่สุดได้ถึงกาลเสื่อมสลาย
ขณะที่พระศาสนจักรที่พวกเขาเบียดเบียนยังคงอยู่และเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาถึงทุกวันนี้
พระเยซูเจ้ายังสัญญาจะมอบกุญแจพระอาณาจักรสวรรค์ให้เปโตร ซึ่งเป็นอำนาจในการยกบาป (มธ
16:19) มีแต่อำนาจที่ตั้งอยู่บนความรักและการให้อภัยเท่านั้นที่คงอยู่และถาวรนิรันดร
เมืองโคราซิน
โคราซิน
(Korazin)
เป็นเมืองของชาวยิวที่ได้รับการอ้างถึงในหนังสือตัลมูด (Tulmud:
Menahot 85/A) ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตข้าวสาลี
ในพันธสัญญาใหม่โคราซินได้รับการอ้างถึงว่าเป็นเมืองที่พระเยซูเจ้าทรงสาบแช่งพร้อมกับเมืองเบธไซดา
เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมกลับใจ “วิบัติจงเกิดแก่เจ้า เมืองโคราซิน
วิบัติจงเกิดแก่เจ้า เมืองเบธไซดา
ถ้าอัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นในเจ้าได้เกิดขึ้นที่เมืองไทระและเมืองไซดอนแล้ว
เขาเหล่านั้นคงได้นุ่งกระสอบนั่งบนกองขี้เถ้ากลับใจเสียนานแล้ว” (ลก 10:13,
มธ 11:21)
โคราซินที่เห็นในปัจจุบัน
ยังคงปรากฎความเสียหายจากภูเขาไฟสีดำในศตวรรษที่ 2 และถูกทำลายราบเป็นหน้ากลองจากแผ่นดินไหวในศตวรรษที่
3 โดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่ ได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรกโดยโคลห์และวัตซิงเกอร์ต้นปี
1900 ประมาณปี 1920 มหาวิทยาลัยอิสราเอลโดยความช่วยเหลือของรัฐบาลอังกฤษได้ทำการขุดค้น
และคณะโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลได้ทำให้สมบูรณ์ระหว่างปี 1962-1965
พระเยซูเจ้าคงได้กระทำอัศจรรย์หลายอย่างที่โคราซินและเบธไซดาอย่างแน่นอน
แต่พวกเขามิได้กลับใจ โคราซินในปัจจุบันจึงไม่ต่างจากเมืองไทระและไซดอนที่พระองค์ตรัสถึง
เหลือเพียงซากปรักหักพังของความรุ่งเรืองในอดีต ดังนั้น
การกลับใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับศิษย์พระคริสต์
เมืองมักดาลา
มักดาลาเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยเฮเลนิสต์
เป็นชุมชนที่ทำการประมงเป็นหลัก ตั้งอยู่บนเขาอาร์เบลตามเส้นทางการค้า Via
Maris ในอดีต และถูกฝังอยู่ใต้ดินร่วมสองพันปี กระทั่งปี 2009
จึงได้รับการค้นพบโดยบังเอิญจากพระสงฆ์คณะอาณาจักรพระคริสต์ (Legend
of Christ) จากประเทศเม็กซิโกที่ได้มาซื้อที่ดินบริเวณนี้เพื่อทำเป็นที่พัก
เมื่อเริ่มงานฐานรากสำหรับโรงแรมที่พัก เครื่องจักรไม่สามารถขุดลงไปได้เพราะเจอซากหินของเมืองโบราณ
ทำให้ต้องหยุดโครงการเพื่อการขุดค้นทางโบราณคดี
การค้นพบครั้งนั้นทำให้เมืองมักดาลากลับมามีชีวิตอีกครั้ง
หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบชี้ให้เห็นถึงการรักษาธรรมประเพณียิวของชาวมักดาลา ซึ่งพระเยซูเจ้าได้เสด็จไปเทศน์สอนและทำอัศจรรย์ทวีขนมปังเลี้ยงผู้คน
ทรงรักษาคนเจ็บป่วย รวมถึงมารีย์ชาวมักดาลาที่ทำให้เมืองนี้เป็นที่รู้จัก “พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี
ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร
ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน” (มธ 4:23; มก 1:39)
การค้นพบแท่นหินของศาลาธรรมแห่งมักดาลา
(Madala Stone) ทำให้ทราบว่าศาลาธรรมแห่งนี้เป็นศาลาธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในกาลิลี
รูปสลักเทียน 7 กิ่งและเสา 3 ต้นสื่อถึงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
และเป็นหนึ่งใน 7 ศาลาธรรมในศตวรรษแรกของอิสราเอล แท่นหินนี้เชื่อกันว่าเป็นที่วางหนังสือโตราห์และหนังสือประกาศกที่ใช้อ่านในศาลาธรรม
รวมถึงเหรียญที่ได้รับการค้นพบในศาลาธรรมย้อนกลับไปถึงปี 5-63 ซึ่งเป็นห้วงเวลาสมัยพระเยซูเจ้า
เมืองนาซาเร็ธ
นาซาเร็ธเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขาทางตอนใต้ของกาลิลี
เป็นสถานที่ที่อัครเทวดาคาเบรียลแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ว่าจะเป็นมารดาขององค์พระเจ้า
ทำให้พระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย (ยน 1:14) และเป็นสถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงเจริญวัย
(ลก 1:26-35) เหมือนเด็กชาวนาซาเร็ธทั่วไป ทรงใช้ชีวิตอย่างซ่อนเร้นตลอด 30 ปี ทำงานเป็นช่างไม้พร้อมกับยอแซฟ
ทำให้พระองค์ได้ชื่อว่าเป็น “ชาวนาซาเร็ธ” (มธ 2:23)
นาซาเร็ธเป็นเมืองเล็กๆ
มีชื่อเสียงที่ไม่ดีนัก เพราะนาธานาแอลชาวคานาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนาซาเร็ธ เมื่อได้ยินคนพูดถึงพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธได้อุทานว่า
“จะมีอะไรมาจากนาซาเร็ธได้รึ” (ยน 1:46)
พระเยซูเจ้าเองไม่ได้รับการต้อนรับในเมืองของพระองค์ (ลก 4:24) ชาวนาซาเร็ธได้พยายามประหารพระองค์
เมื่อได้ฟังพระองค์เทศน์สอน (ลก 4:28-29) ทำให้พระองค์ต้องออกจากนาซาเร็ธไปประทับอยู่ที่คาเปอรนาอุม
ในสมัยพระเยซูเจ้านาซาเร็ธเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของชาวยิว
ปี 66 นาซาเร็ธได้ถูกจักรพรรดิเวสปาเซียนทำลาย ศตวรรษที่ 4 ได้มีการสร้างวัดขึ้นในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูเจ้าและพระนางมารีย์
ปี 629 ชาวยิวถูกขับไล่จากนาซาเร็ธ เพราะไปเข้ากับพวกเปอร์เซีย สมัยครูเสดนาซาเร็ธได้รับการฟื้นขึ้นมาใหม่
มีการสร้างวัดและอารามขึ้นมาใหม่ ปี 1187
นาซาเร็ธถูกยึดจากซาลาดินทำให้กลายเป็นเมืองมุสลิม นาซาเร็ธปัจจุบันประกอบด้วยชาวมุสลิม
ยิว และคริสตชน
มหาวิหารการแจ้งข่าว
ตั้งแต่ศตวรรษที่
4 มีการสร้างวัดครอบถ้ำที่อัครเทวดาคาเบียลแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ และถูกชาวเปอร์เซียทำลายปี
614 สมัยครูเสดได้สร้างวัดและอารามขึ้นใหม่รูปทรงโรมันและถูกทำลายปี 1263 กระทั่งปี
1730 คณะฟรังซิสกันได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเล็กๆ ขึ้น ระหว่างปี 1960-1969 พวกเขาได้สร้างมหาวิหารที่สง่างามและใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง
ก่อนสร้างได้ทำการขุดค้นบริเวณโดยรอบทำให้พบซากกำแพงอาคารเดิม และฐานของเสาของวัดสมัยไบเซนทีนที่มีคำสลักเป็นภาษากรีกว่า
“วันทามารีย์”
มหาวิหารการแจ้งข่าว (Basilica
of the Annunciation) ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อโจวันนี
มูซิโอ (Giovanni Muzio) ที่ออกแบบเป็นวัดซ้อนกันเพื่อรักษาซากวัดเดิมและกำแพงโบราณ
ที่ธรรมประเพณีเชื่อว่าเป็นบ้านของพระนางมารีย์ ซึ่งได้รับการแจ้งข่าวจากทูตสวรรค์เรื่องการประสูติของพระเยซูเจ้า
(ลก 1:26-38) ที่ดูโดดเด่นมองเห็นแต่ไกลคือโดมของมหาวิหารที่สูงถึง 170 ฟุต รูปทรงคล้ายตะเกียง
ไม่ไกลจากมหาวิหารการแจ้งข่าว
เป็นวัดนักบุญยอแซฟ (The Church of St. Joseph) ที่สร้างครอบถ้ำซึ่งนักบุญยอแซฟใช้เป็นที่ทำงานช่างไม้
ธรรมประเพณีเชื่อว่าสถานที่นี้เป็นบ้านของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ เมื่อนักบุญยอแซฟพาครอบครัวกลับไปที่นาซาเร็ธ
“เมื่อโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ปฎิบัติตามที่ธรรมบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้ากำหนดไว้สำเร็จทุกประการแล้ว
ก็กลับไปที่นาซาเร็ธ เมืองของตนในแคว้นกาลิลี” (ลก 2:39)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา กรุงเทพฯ
6
พฤษภาคม 2018
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น