25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
บทนำ
มองย้อนไปเมื่อเสาร์ที่ 23
มกราคม 1999 (2542) ณ อาสนวิหารนักบุญอันนา นครสวรรค์ คุณพ่อหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้รับการบวชเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ของสังฆมณฑลนครสวรรค์
โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ถือเป็นเวลาแห่งพระพรและวันแห่งความชื่นชมยินดีของบรรดาพระสงฆ์
นักบวช และคริสตชน ทั้งในสังฆมณฑลนครสวรรค์และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ซึ่งข่าวน่ายินดีนี้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น
ปอล ที่ 2 ได้ทรงประกาศตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน 1998 (2541)
เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 25 ปี จากพระสังฆราชสังฆมณฑลนครสวรรค์
สู่พระอัครสังฆราชแห่งท่าแร่-หนองแสง และพระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งท่าแร่-หนองแสงในปัจจุบัน
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร
สันติสุขนิรันดร์ ได้ทำหน้าที่นายชุมพาดูแลฝูงแกะของพระเยซูเจ้า และผู้สืบต่องานของบรรดาอัครสาวกอย่างซื่อสัตย์และรอบคอบ
ถือเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้าสำหรับพระศาสนจักรโดยแท้ โดยเฉพาะอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงที่มีนายชุมพาผู้ใจร้อนรน
ทุ่มเท และเสียสละ
ตลอด 25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช มีเรื่องราวมากมายและความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น
ที่หลอมรวมเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าดั่งหนังสือเรียนเล่มใหญ่
แต่เป็นหนังสือที่มีชีวิตมีเลือดเนื้อ ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งสำเร็จและล้มเหลว
ทุกหน้าของหนังสือชีวิตเล่มนี้จึงมากด้วยบทเรียนและคุณค่าในตัวเอง นี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้
เพื่อบอกเล่าเรื่องราว สิ่งดีงาม และคุณูปการใหญ่หลวงของพระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ที่ได้ทำเพื่อพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
1. พระสังฆราชองค์ที่สามแห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์
พระสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้ดำรงตำแหน่งประมุของค์ที่สามของสังฆมณฑลนครสวรรค์
ระหว่างปี 1999-2005 (2542-2548) สืบต่อจากพระสังฆราชยอแซฟ บรรจง
อารีพรรค โดยเลือกคติพจน์ “พระอาณาจักรจงมาถึง” (Adveniat
Regnum Tuum) พระคุณเจ้าได้มีส่วนสำคัญในการทำให้การบริหารงานในสังฆมณฑลฯ
เป็นระบบและไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะด้านการศึกษา มีการสร้างโรงเรียนหลายแห่งเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของสังฆมณฑลฯ
พระคุณเจ้าได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรด้วยการส่งพระสงฆ์ (คุณพ่อมีคาแอล
พิทักษ์ ศิลาโคตร และคุณพ่อเปาโล ธวัช สิงห์สา) ไปรับการศึกษาเพิ่มเติมที่กรุงโรม
ประเทศอิตาลี ศูนย์กลางของพระศาสนจักร อีกทั้ง ได้ให้ความสำคัญกับการแพร่ธรรม
ด้วยการเปิดเขตแพร่ธรรมและสร้างวัดใหม่หลายแห่ง ได้ให้การสนับสนุนการประกาศข่าวดีด้วยการพิมพ์หนังสือพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
สำหรับแจกทุกครอบครัวในสังฆมณฑลฯ และเดินทางไปเยี่ยมอภิบาล และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกเขตพื้นที่ด้วยความร้อนรน
กระแสเรียกและการอธิษฐานภาวนาคือหัวใจของสังฆมณฑลฯ
ด้วยเหตุนี้พระคุณเจ้าได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมบ้านเณรเล็กของสังฆมณฑลฯ “สามเณราลัยจอห์นปอล”
ซึ่งเริ่มสร้างปี 1998 (2441) โดยพระสังฆราชยอแซฟ บรรจง
อารีพรรค จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเปิดเสกอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 1999 (2542) อีกทั้งได้เชิญคณะคาร์เมลให้ไปเปิดอารามในสังฆมณฑลฯ
เพื่ออธิษฐานภาวนาสำหรับงานของสังฆมณฑลฯ มีพิธีเปิดเสกปี 2001 (2544) นับเป็นอารามหลังที่ 4 ในประเทศไทย หลังจากเข้ามาทำงานในไทย
74 ปี
นอกนั้น พระคุณเจ้ายังได้เชิญคณะนักบวชเข้ามาทำงานในสังฆมณฑลฯ
ได้แก่ ภคินีคณะนักบุญยอแซฟแห่งการประจักษ์ ปี 2002 (2545) คณะธรรมทูตแห่งมารีนิรมล (OMI) ปี 2003 (2546)
เพื่อทำงานอภิบาลแผนกภาษาอังกฤษโรงเรียนเซนต์นิโกลาส พิษณุโลก เขตแพร่ธรรมเข็กน้อย
เขตแพร่ธรรมเพชรบูรณ์ เขตแพร่ธรรมหล่มสัก และเขตแพร่ธรรมห้วยน้ำไซ และภคินีคณะธิดาเมตตาธรรมแห่งนักบญวินเซน
เดอ ปอล ปี 2004 (2547) เพื่อทำงานอภิบาลที่ค่ายผู้อพยพแม่หละ
ดูแลเด็กเร่ร่อนชาวมุสลิมในสลัมที่แม่สอด และผู้ป่วยเอดส์
2. พระสังฆราชองค์ที่ห้าแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์
ที่ 16 ให้เป็นพระอัครสังฆราชแห่งท่าแร่-หนองแสง
เมื่อศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2005 (2548) และมีพิธีเข้ารับตำแหน่งผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ
เมื่อเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2005 (2548)
พร้อมกับการแสดงกตัญญุตาพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร รักษาการผู้ปกครอง ปี 2004-2005 (2547-2548) นับเป็นพระสังฆราชลำดับที่ 5 ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
2.1
วิสัยทัศน์และนโยบาย
หลังเข้ารับตำแหน่งประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ได้ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายกับคณะสงฆ์ในการประชุมคณะสงฆ์ ประจำเดือนกันยายน พุธที่
7 กันยายน 2005 (2548) ณ ห้องประชุมสำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสงว่า “จะไม่ทำตามใจตนเอง
แต่จะยึดพระวาจาและน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นหลัก ให้พระองค์เป็นผู้นำ อีกทั้งไม่ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ แต่จะฟังทุกคน
พร้อมไปทุกแห่งที่มีปัญหาเพราะถือว่า บุคลากรของพระศาสนจักรสำคัญกว่าทุกสิ่ง”
พระคุณเจ้าได้ประกาศจุดยืนว่า
ไม่มีพรรคไม่มีพวก และไม่ส่งเสริมให้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนเป็นคนของพระคริสตเจ้า
ซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกันของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง อีกทั้งยังได้ขอบคุณพระสังฆราชทุกองค์ที่ได้สานต่องานที่บรรดาธรรมทูตได้เริ่มไว้
เป็นต้น พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
และพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร
ที่ได้ทำหน้าที่อย่างดี รวมถึงคุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม อุปสังฆราชที่ได้ทำหน้าที่เป็นเวลา
12 ปี และบรรดาพี่น้องสงฆ์ที่ได้สานต่องานในที่ต่าง ๆ หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนด้วยดีเช่นนี้ต่อไป
พระคุณเจ้าได้ย้ำกับคณะสงฆ์ว่า
ในการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ มีคำถาม 3 ข้อ ที่จะถามพระสงฆ์ และให้ทำเป็นการบ้านต่อไปตลอดชีวิตคือ
1) คุณพ่อได้ช่วยให้สัตบุรุษรักพระเจ้ามากขึ้นหรือไม่ ทั้งด้านพิธีกรรม
การประกาศพระวรสาร การสอนคำสอน, 2) คุณพ่อได้ช่วยให้คริสตชนรักกันและ
เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นหรือไม่ มีแผนการอะไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว และ
3) คุณพ่อได้ชี้ให้พวกเขาเห็นหน้าที่สำคัญคือการนำแสงสว่างไปสู่ผู้อื่น ตามที่พวกเขาได้รับในวันรับศีลล้างบาปหรือไม่
หลังจากช่วยให้สัตบุรุษเข้มแข็งในความเชื่อแล้ว
2.2
การก่อตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน (BEC)
กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน
หรือวิถีชุมชนวัด เป็นนโยบายเรือธงของพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ที่ปฏิบัติตามนโยบายของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเซีย
(FABC) ครั้งที่ 5 ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย (27
กรกฎาคม 1990) ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น
ปอล ที่ 2 ได้ยืนยันว่า “กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน (BEC)
เป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียว
และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด และในสังฆมณฑล และเป็นพลังอันแท้จริงในการประกาศพระวรสาร” (พระศาสนจักรในเอเชีย ข้อ 25; 6 พฤศจิกายน 1999)
พระคุณเจ้าได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน
ตั้งแต่เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลนครสวรรค์ และต่อเนื่องมายังอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ด้วยการส่งพระสงฆ์ นักบวช และผู้นำฆราวาสไปรับการอบรมแบบเข้มข้นในต่างประเทศ เพื่อกลับมาสร้างกลุ่มคริสตชนย่อยระดับวัดเพราะมองเห็นว่า
กลุ่มคริสตชนพื้นฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยคริสตชนตามวัดให้มีชีวิตชีวา และการช่วยเหลือกันเยี่ยงกลุ่มคริสตชนแรก
อีกทั้งได้ออกเยี่ยมกลุ่มย่อย ร่วมประชุมกลุ่ม และคณะกรรมการระดับต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
การเปิดกลุ่มคริสตชนพื้นฐานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
เริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อเสาร์ที่ 30 กันยายน 2006 (2549) ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ดังนั้นทุกปีโอกาสฉลองนักบุญหลุยส์ กษัตริย์ฝรั่งเศส
(25 สิงหาคม) ศาสนนามของพระคุณเจ้า อัครสังฆมณฑลฯ ได้จัดงานรวมพลังกลุ่มคริสตชนพื้นฐานจากทุกวัดในอัครสังฆมณฑลฯ
เป็นประจำทุกปี เพื่อรื้อฟื้นคำปฏิญาณ สร้างความเข็มแข็งให้กลุ่มย่อย และแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าโอกาสฉลองศาสนนาม
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
2.3
การเริ่มงานยุวธรรมทูต
ควบคู่ไปกับการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร
สันติสุขนิรันดร์ ได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มยุวธรรมทูตในอัครสังฆมณฑลฯ
เพื่อช่วยให้บรรดาเด็ก ๆ ตามวัดและโรงเรียนได้มีความเชื่อเข้มแข็งและฝึกฝนการเป็นธรรมทูต
ถือเป็นกระบวนการพัฒนาเด็กให้เติบโตขึ้นโดยมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในพระเยซูเจ้า
รักพระศาสนจักร พร้อมที่จะประกาศข่าวดีของพระเจ้า
และมีจิตใจกว้างในการช่วยผู้อื่นที่ลำบากมากกว่าตน
พระคุณเจ้าได้สนับสนุนให้ทุกวัดและโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลฯ
ได้ตั้งกลุ่มยุวธรรมทูตขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บรรดาเด็ก ๆ มีความเชื่อศรัทธาที่ลึกซึ้ง
ดำเนินชีวิตซื่อสัตย์ต่อความเชื่อ และแบ่งปันความเชื่อด้วยความยินดี ภายใต้คติพจน์
“เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยมีพันธกิจที่ชัดเจนคือ แพร่ธรรม สวดภาวนา และบริจาคเงิน
การจัดตั้งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ช่วยให้บรรดาเด็ก ๆ มีความรับผิดชอบและเข้ามามีส่วนในงานของพระศาสนจักร
และได้มีการจัดงานรวมพลังยุวธรรมทูตระดับอัครสังฆมณฑลฯ และระดับเขตเป็นประจำทุกปี
อนึ่ง
พระคุณเจ้ายังเป็นผู้เริ่มงานยุวธรรมทูตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ขณะเป็นผู้อำนวยการสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมในประเทศไทย (Pontifical Mission
Societies : PMS Thailand) ปี 1990-1995 (2533-2538) ด้วยการส่งผู้แทนไปสัมมนาและดูงานที่ประเทศศรีลังกา จากนั้นได้จัดแปลเอกสารยุวธรรมทูตต่าง
ๆ เป็นภาษาไทย เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ไปยังสังฆมณฑลและหน่วยงานต่าง ๆ
และได้มีการจัดประชุมเป็นครั้งแรกที่บ้านฟื้นฟูจิตใจของคณะซาเลเซียน หัวหิน แม้การเริ่มต้นจะไม่ได้รับการตอบรับและมีความเข้าใจผิดบ้าง
แต่ที่สุด งานยุวธรรมทูตได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นงานแพร่ธรรมในบรรดาเด็ก ๆ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม
2.4
การเริ่มใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อการประกาศข่าวดี
2.4.1
สถานีวิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่-หนองแสง
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร
ได้สานต่องานวิทยุของพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์
แสนพลอ่อน ด้วยการย้ายสถานีวิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่ จากหอมีคาแอลท่าแร่มาสร้างและตั้งใหม่ที่ศูนย์คาทอลิกท่าแร่ในชื่อ
“สถานีวิทยุมิสซังท่าแร่-หนองแสง” โดยออกอากาศทุกวันในระบบ F.M. ความถี่
104.50 Mhz ในเวลา 05.30-23.00 น. ภายใต้คำขวัญ “คลื่นดี มีสาระ และบันเทิง”
โดยพระคุณเจ้าได้ทำหน้าที่ให้ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน สำหรับนำไปออกอากาศทุกต้นชั่วโมง
ปัจจุบันสถานีวิทยุแห่งนี้ได้เป็นสถานีแม่ข่าย
ในการถ่ายทอดสดพิธีบูชาขอบพระคุณจากอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ และรายการต่าง
ๆ ผ่านช่อง Youtube,
วิทยุออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.genesis.in.th, ถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊คไลฟ์ของสถานี
รวมถึงการถ่ายทอดสดพิธีบูชาขอบพระคุณในงานพิธีสำคัญของอัครสังฆมณฑลฯ เช่น บวชพระสงฆ์
ฉลองบ้านเณร ฉลองสองคอน ฉลองบีอีซี ฉลองวัด งานประเพณีแห่ดาว ฯลฯ
2.4.2
การจัดทำเว๊บไซต์ของอัครสังฆมณฑลฯ
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย เพราะตระหนักว่า พระศาสนจักรปัจจุบันกำลังอยู่ในโลกยุคใหม่
ซึ่งเป็นโลกของข้อมูลข่าวสารที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
พระคุณเจ้าได้มอบหมายให้คุณพ่อดาเนียล ขวัญ
ถิ่นวัลย์ เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำเว๊บไซต์ของอัครสังฆมณฑลฯ ในชื่อ www.genesis.in.th เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของอัครสังฆมณฑลฯ
ถือเป็นช่องทางสำหรับการติดต่อสื่อสารกับประชาสัตบุรุษของพระคุณเจ้า
และเป็นช่องทางในการประกาศข่าวดีของพระเจ้า
2.4.3
การจัดทำสารอัครสังฆมณฑลฯ
ความพยายามที่จะทำ
“สารอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง” มีมานานแล้วแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เข้ารับตำแหน่งผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลฯ
ได้ดำริที่จะออกสารถึงสัตบุรุษให้ได้ โดยมอบหมายให้คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ เป็นบรรณาธิการ และได้ออกสารอัครสังฆมณฑลฯ
“ฉบับปฐมฤกษ์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนกันยายน
2005 (2548) ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สารอัครสังฆมณฑลฯ
ฉบับแรกนี้เริ่มด้วย
คำประกาศเจตนารมณ์และนโยบายของพระคุณเจ้าในการปกครองอัครสังฆมณฑลฯ
อนึ่ง
สารอัครสังฆมณฑลฯ ทุกฉบับจะมีสารจากพระอัครสังฆราชถึงประชาสัตบุรุษในปกครองของพระคุณเจ้าด้วยเสมอ
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1)
เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรม
และความเคลื่อนไหวของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
2)
เพื่อฟื้นฟูชีวิตคริสตชน ส่งเสริมความศรัทธา
และการมีส่วนร่วมในทุกระดับของอัครสังฆมณฑลฯ
3)
เพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติ
และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทัศนะของสัตบุรุษและบุคลากรของอัครสังฆมณฑลฯ
2.5
การพัฒนาและขยายโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟ
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้สานต่องานด้านการศึกษาที่พระอัครสังฆราชลอเรนซ์
คายน์ แสนพลอ่อน ได้เริ่มไว้ โดยกำหนดนโยบายให้โรงเรียนของอัครสังฆมณฑลฯ ไปในทิศทางเดียวกันและเป็นระบบมากขึ้น
ได้พัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่งให้ก้าวหน้า เช่น การซื้อที่ดินเพิ่มเติม การสร้างอาคารเรียนหลังใหม่
โถงอเนกประสงค์ สระว่ายน้ำ สนามกีฬา ปรับปรุงสถานที่และสภาพแวดล้อมให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้
เพื่อเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ในการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ
นอกนั้น
พระคุณเจ้าได้ขยายงานด้านการศึกษาของโรงเรียนในเครือ อีก 2 แห่ง ดังนี้
ปี 2018 (2561) ได้รับโรงเรียนสันตยานันท์จากคณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่มาบริหารงาน
เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเซนต์ยอแซฟนครพนม” และ ปี 2020 (2563) ได้ซื้อกิจการโรงเรียนอนุบาลนิคมน้ำอูน เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเซนต์ยอแซฟนิคมน้ำอูน”
เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศข่าวดีและให้การศึกษาแก่เด็กที่อยู่ห่างไกลได้รู้จักความรักของพระเจ้า
โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งทุนสร้างรายได้เลี้ยงอัครสังฆมณฑลฯ ในอนาคต
2.5.1
โรงเรียนคือสนามงานแพร่ธรรม
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้ย้ำกับผู้บริหารโรงเรียนเสมอว่า
“โรงเรียนคาทอลิกต้องเป็นสนามงานแพร่ธรรมและเป็นฐานแห่งการประกาศข่าวดี” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านสติปัญญาของนักเรียนให้รู้ถึงสิ่งที่เป็นความจริงและความดีงาม
ซึ่งองค์ความจริงและความดีงามสูงสุดคือพระเจ้า บนพื้นฐานของคุณค่าสำคัญสองประการคือ
“อิสรภาพและการรับใช้” เพื่อให้นักเรียนมีอิสรภาพในการเลือกและตัดสินใจทำสิ่งถูกต้องดีงามอย่างกล้าหาญและรับผิดชอบ
พร้อมออกจากตนเองเพื่อรับใช้ผู้อื่น ชุมชน และสังคมโลก
2.5.2
การสอนคำสอนในโรงเรียน
ในฐานะประธานสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาประจำปีของสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ในพิธีบูชาขอบพระคุณเปิดการสัมมนาเมื่ออังคารที่ 19 สิงหาคม 2014 (2557) พระคุณเจ้าได้เน้นย้ำกับผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิกให้เอาใจใส่การสอนคำสอนในโรงเรียน
เพื่อปลูกฝังให้เด็กนักเรียนที่อยู่ในความดูแลมีหลักยึดในชีวิต และมีคุณธรรมจริยธรรม
อันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของโรงเรียนคาทอลิก
พระคุณเจ้าได้ยกตัวอย่างหลุยส์
ปาสเตอร์ที่นั่งอ่านหนังสือพระคัมภีร์ในรถโดยสาร และมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมองดูด้วยความฉงน
ที่สุดเขาทนไม่ได้จึงลุกไปถามว่า “ลุงยังอ่านหนังสือพระคัมภีร์อยู่อีกหรือ
มันล้าสมัยแล้ว ทุกวันนี้เราล้ำหน้าพระคัมภีร์ไปเยอะ” หลุยส์ ปาสเตอร์ไม่พูดอะไร
พอถึงมหาวิทยาลัยได้กดกริ่งลง เด็กหนุ่มถามว่า “ทำไมลงที่นี่ละ” หลุยส์
ปาสเตอร์ตอบว่า “ผมสอนที่นี่ ชื่อหลุยส์ ปาสเตอร์” เด็กหนุ่มรู้สึกอายอย่างมาก
ที่ไปดูถูกนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกผู้ได้ความรู้และแรงบันดาลใจจากพระคัมภีร์
พระคุณเจ้ายังได้ชี้ให้เห็นว่า
พระศาสนจักรมีลักษณะพิเศษคือวางฐานอยู่บนพระคัมภีร์ ธรรมประเพณี และคำสอนของพระศาสนจักร
ซึ่งเป็นหลักยึดสำคัญของชีวิตคริสตชนและโรงเรียนคาทอลิก เพื่อเราจะได้ไม่ผิดหลง หรือออกนอกลู่นอกทาง
อีกทั้ง สามารถพบทางออก หรือแนวทางแก้ไขได้โดยง่ายเวลาเผชิญวิกฤตต่าง ๆ หากโรงเรียนคาทอลิกไม่สอนให้นักเรียนรู้ว่า
“พระเยซูเจ้าเป็นใคร สอนอะไร และได้ทำอะไรบ้าง พวกเขาจะมีหลักอะไรในชีวิต นี่คือกำไรแท้จริงของโรงเรียนคาทอลิกซึ่งไม่ได้อยู่ที่เงิน
แต่อยู่ที่การได้ถ่ายทอดความเชื่อให้กับนักเรียนของเรา”
2.6
การส่งเสริมกระแสเรียกและชีวิตนักบวช
2.6.1
การส่งเสริมกระแสเรียก
กระแสเรียกคือพระพรของพระเจ้าที่พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
โดยเฉพาะบ้านเณรเล็กซึ่งเป็นหัวใจของอัครสังฆมณฑลฯ ด้วยการเยี่ยมให้กำลังใจ และการเป็นผู้ให้การอบรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากพระคุณเจ้าเคยเป็นอธิการบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่มาก่อน
นอกนั้น
ในการเป็นประธานฉลองวัด หรือโอกาสสำคัญต่าง ๆ พระคุณเจ้าได้เทศน์และเน้นย้ำถึงความสำคัญของกระแสเรียก
เชิญชวนให้คริสตชนได้ส่งบุตรหลานเข้าบ้านเณร เข้าอาราม และอธิษฐานภาวนาเพื่อกระแสเรียกจะได้มีพระสงฆ์และนักบวชเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งได้สนับสนุนให้พระสงฆ์ในอัครสังฆมณฑลฯ ได้รับการอบรมต่อเนื่องและการศึกษาเพิ่มเติมด้านเทววิทยา
กฎหมายพระศาสนจักร พิธีกรรม และพระคัมภีร์
ทุกครั้งที่มีการบวชเป็นพระสงฆ์ในอัครสังฆมณฑลฯ
พระคุณเจ้าจะมีความชื่นชมยินดีมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้ร่วมงานเพิ่มมากขึ้น ตลอด 25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช พระคุณเจ้าได้บวชพระสงฆ์ทั้งสิ้นจำนวน 41 องค์ แยกเป็นสังฆมณฑลนครสวรรค์ 4
องค์, อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง 31 องค์ และพระสงฆ์นักบวช
6 องค์
2.6.2
การส่งเสริมชีวิตนักบวช
แม้จำนวนพระสงฆ์ในอัครสังฆมณฑลฯ
จะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร
สันติสุขนิรันดร์ ได้เชิญคณะนักบวชเข้ามาทำงานในอัครสังฆมณฑลฯ จำนวน 2 คณะ เพื่อเพิ่มจำนวนคนงานในเนื้อนาที่กว้างใหญ่ของพระเจ้าอย่างอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ในรูปแบบชีวิตแห่งการอธิษฐานภาวนาและการประกาศข่าวดีของพระเจ้า ในพื้นที่ที่ยังขาดพระสงฆ์ผู้อภิบาลและยังไม่เคยได้รับข่าวดี
1)
คณะซีโตแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้เชิญคณะซีโตแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
เฟื๊อกเซิน ประเทศเวียดนาม ให้เข้ามาเปิดอารามสำหรับอธิษฐานภาวนาเพื่ออัครสังฆมณฑลฯ
อังคารที่ 16
กันยายน 2014 (2557) นักพรตซีโต 6 องค์ ประกอบด้วยพระสงฆ์ 3 องค์ และบราเดอร์ 3
คน ได้เดินทางมาถึงอัครสังฆมณฑลฯ และเข้าประจำที่อารามชั่วคราวบ้านโคกสะอาด
ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ที่เคยเป็นศูนย์ Comunità Incontro (ศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด)
พระคุณเจ้าได้ทำหน้าที่ดูแล
ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือหมู่คณะนี้เป็นอย่างดี เพื่อให้พวกเขาได้ดำเนินชีวิตมอบตนเองทั้งครบแด่พระเจ้าในความสันโดษ
ความเงียบสงบ การอธิษฐานภาวนา และการพลีกรรม เพื่องานของพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลฯ
พร้อมกับก่อสร้างอารามจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเปิดเสกเมื่อเสาร์ที่ 19 ธันวาคม
2015 (2558) ภายใต้ชื่อ “อารามนักพรตซีโต แม่พระแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์
โคกสะอาด”
2)
คณะนักบวชโดมินิกัน (The Order of Preachers)
ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรไทย
คณะนักบวชโดมินิกันคือธรรมทูตชาวโปรตุเกสกลุ่มแรก ที่นำคริสตศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยสมัยอยุธยา
ปี 1567 (2110) ส่วนการเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งเกิดจากการสมัชชาของคณะ
ปี 2007 (2550) คณะนักบวชโดมินิกันที่เวียดนามได้เสนอขยายเขตแพร่ธรรม ต่อมาเมื่อ 19 มีนาคม
2009 (2552) คุณพ่อเจ้าคณะแขวงคณะโดมินิกันที่เวียดนามได้มาเยี่ยมพระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ขณะเป็นประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
เพื่อขออนุมัติการเข้ามาแพร่ธรรมในประเทศไทย พระคุณเจ้าเห็นดีด้วยและยินดีให้คณะมาทำงานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
คณะนักบวชโดมินิกันมีเสาหลักสำคัญสี่ประการคือ
ชีวิตหมู่คณะ การภาวนา การศึกษา และพันธกิจ ปี 2014 (2557) สมาชิกกลุ่มแรกเดินทางมาถึงอัครสังฆณฑลฯ พระคุณเจ้าได้ให้ไปอยู่ที่รองอาสนวิหารนักบุญอันนา
หนองแสง เพื่อเตรียมภาษา และบ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่ตามลำดับ กระทั่งพฤหัสบดีที่
29 มีนาคม 2018 (2561) พระคุณเจ้าได้มอบวัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ
หนองห้าง และวัดนักบุญหลุยส์ สมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมดูแลกลุ่มคริสตชนในเขตนั้นทั้งหมด
ต่อมาเมื่อพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2023 (2566) พระอัครสังฆราชอันตน
วีระเดช ใจเสรี ได้มอบวัดแม่พระฟาติมา ดอนตาล จังหวัดมุกดาหารให้คณะดูแล
2.7
การสร้างอาคารพักพระสงฆ์และทำนุบำรุงศาสนสถาน
2.7.1
การสร้างอาคารพักพระสงฆ์
อาคารพักพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักมิสซังที่สกลนครปัจจุบัน
เปิดใช้ตั้งแต่ 6 เมษายน 1982 (2525) และได้มีการปรับปรุงต่อเติมหลายครั้ง แต่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนพระสงฆ์ที่เพิ่มมากขึ้น
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร
สันติสุขนิรันดร์ เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างอาคารพักพระสงฆ์อีกหลังหนึ่ง ซึ่งอาคารหลังนี้ประกอบไปด้วยห้องพักพระสงฆ์
วัด ห้องประชุม ห้องพักพระสงฆ์อาวุโสและอาพาธ รวมถึงห้องรับรองด้วย
อาคารพักพระสงฆ์หลังใหม่มีชื่อว่า
“อาคารยอห์นบัปติสต์ โปรดม” เพื่อน้อมรำลึกพระคุณของพระสังฆราชยอห์นบัปติสต์
โปรดม ผู้บุกเบิกงานแพร่ธรรมและวางรากฐานมิสซัง และบรรดาธรรมทูตในอดีต โอกาสครบรอบ
130 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม 1883-2013 (2426-2556) ซึ่งพระคุณเจ้าได้ทำพิธีเสกและวางศิลารากฐานการก่อสร้างเมื่อเสาร์ที่
23 สิงหาคม 2014 (2557) แม้จะมีปัญหาด้านการก่อสร้างและงบประมาณบ้าง
แต่ที่สุด อาคารพักพระสงฆ์หลังใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์มีพิธีเปิดและเสกเมื่ออังคารที่ 6 มิถุนายน
2017 (2560)
2.7.2
การทำนุบำรุงศาสนสถาน
ศาสนสถาน
หรือวัดเป็นบ้านแห่งการอธิษฐานภาวนา ถือเป็นสถานที่สำคัญและศูนย์รวมจิตใจของชุมชน พระอัครสังฆมราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้ให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงศาสนสถานเป็นพิเศษ
เพื่อทุกคนที่เข้ามานมัสการ สรรเสริญ และอธิษฐานภาวนาจะได้มีความเชื่อในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น นอกนั้น พระคุณเจ้ายังใส่ใจพระสงฆ์ที่อยู่ประจำตามวัดเป็นพิเศษ
ด้วยการไปเยี่ยมเป็นประจำสม่ำเสมอ อีกทั้งได้สร้างบ้านพักที่เหมาะสมและปลอดภัยหลายหลังสำหรับลูก
ๆ ของพระคุณเจ้า
ตลอด
25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช โดยเฉพาะ 15 ปีในฐานะประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
พระคุณเจ้าได้ปรับปรุงและบูรณะวัดหลายแห่ง รวมถึงการสร้างวัดใหม่ด้วยการหาทุนและบอกบุญผู้มีจิตศรัทธาให้ช่วยสร้างวัด
ดังนี้
1)
วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ แก่งกะเบา เปิดเสก 6 กรกฎาคม
2006 (2544)
2)
วัดนักบุญปีโอ ที่ 10 ห้วยทราย เปิดเสก 2 กันยายน 2006 (2549)
3)
วัดนักบุญลอเรนซ์ ภูคำ เปิดเสก 12 พฤษภาคม
2007 (2550)
4)
วัดนักกบุญเทเรซา โคกก่อง เปิดเสก
12 เมษายน 2008 (2551)
5)
วัดแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล หนองหญ้าไซ เปิดเสก 14 ธันวาคม 2008
(2551)
6)
วัดนักบุญอันตน นาทัน เปิดเสก 9 พฤษภาคม 2009 (2552)
7)
วัดนักบุญยอแซฟ ห้วยหวด เปิดเสก 9 มกราคม
2010 (2553)
8)
วัดนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู วนาสามัคคี เปิดเสก
9 มกราคม 2011 (2554)
9)
บูรณะวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ เปิดเสก 21 เมษายน 2012 (2555)
10)
วัดพระนามเยซู นาคำ เปิดเสก 20 สิงหาคม
2013 (2556)
11)
วัดนักบุญฟรังซิสอัสซีซี โชคอำนวย เปิดเสก 6 ธันวาคม
2014 (2557)
12)
บูรณะอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เปิดเสก 2 พฤษภาคม 2015
(2558)
13)
วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ พรสวรรค์ เปิดเสก 28 กันยายน
2015 (2558)
14)
วัดแม่พระเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ นาโพธิ์น้อย เปิดเสก 14 เมษายน
2016 (2559)
15)
วัดแม่พระรับสาร หนองเดิ่น-ดอนขาว เปิดเสก 11 กุมภาพันธ์
2017 (2560)
16)
บูรณะวัดนักบุญเปโตร มุกดาหาร เปิดเสก 5
กุมภาพันธ์ 2019 (2562)
17)
วัดนักบุญหลุยส์ สมเด็จ เปิดเสก 3 สิงหาคม 2019 (2562)
18)
บูรณะวัดราชินีแห่งสันติภาพ กลาริส กาปูชิน เปิดเสก 7 เมษายน 2019 (2562)
19)
บูรณะวัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม เปิดเสก 19 ธันวาคม
2020 (2563)
3. พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งท่าแร่-หนองแสง
จันทร์ที่
30 ตุลาคม 2017 (2560) หลังการฉลองครบรอบ 75 ปี อันหมายถึงการครบเกษียณอายุตามประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร (มาตรา 401) พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้เขียนจดหมายลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครองต่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
แต่ยังคงทำหน้าที่ต่อมาอย่างแข็งขัน กระทั่งพุธที่ 13 พฤษภาคม 2020 (2563) เวลา 17.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงรับการลาออกของพระคุณเจ้า
และทรงแต่งตั้งคุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราชและเจ้าอาวาสสักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี
สองคอน อายุ 57 ปี เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
3.1
การฉลอง 50 ปีชีวิตสงฆ์
อาทิตย์ที่
17 พฤษภาคม 2020 (2563) เป็นวันครบรอบ 50 ปีชีวิตสงฆ์ของพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ นับเป็นเวลาแห่งพระพรของพระเจ้าที่ประทานแก่พระคุณเจ้า
ในฐานะผู้นำสารแห่งความรักของพระองค์ในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย
ตั้งแต่การเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสจนถึงประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
“ไม่ใช่ตำแหน่งที่ทำให้คนมีเกียรติ
แต่เป็นคนที่ทำให้ตำแหน่งมีเกียรติ” พระคุณเจ้าได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงนี้
ทั้งในฐานะพระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า และในฐานะพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก ผ่านทางงานอภิบาลเยี่ยงผู้เลี้ยงแกะที่ดี
ด้วยความร้อนรน ทุ่มเทเสียสละ และรับผิดชอบอย่างสูงยิ่ง ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
พระคุณเจ้าได้นำฝูงชุมพาให้รู้จักหนทางแห่งความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และได้ตระหนักถึงหน้าที่คริสตชนในการประกาศข่าวดี
ในโอกาสอันน่าชื่นชมและพระพรพิเศษนี้
อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ให้พระคุณเจ้า
และพิมพ์หนังสือ “พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ 50 ปีชีวิตสงฆ์
ค.ศ. 1970-2020” เพื่อร่วมโมทนาคุณพระเจ้าและกตัญญุตาต่อพระคุณเจ้า
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2020
(2563) มีพระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
3.2
พิธีบวชพระสังฆราชองค์ใหม่และส่งต่อตำแหน่งผู้ปกครอง
หลังทราบชื่อประมุของค์ใหม่
อัครสังฆมณฑลฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมงานทันที มีการประชุมและวางแผนงานกันอย่างรอบคอบ
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดกับทางภาครัฐเป็นระยะ
โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จนสามารถจัดงานบวชเป็นพระสังฆราชได้
โอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ 15 สิงหาคม 2020 (2563) ตามความประสงค์ของคุณพ่ออันตน
วีระเดช ใจเสรี พระสังฆราชผู้ได้รับเลือก
พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้เป็นประธานในพิธีบวชเป็นพระสังฆราชของคุณพ่ออันตน
วีระเดช ใจเสรี เมื่อเสาร์ที่ 15 สิงหาคม
2020 (2563) ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ โดยมีพระอัครสังฆราชปอล
ชาง อินนัม เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย และพระสังฆราชฟิลิป
บรรจง ไชยรา ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี เป็นผู้ช่วยพิธีบวชเป็นพระสังฆราช
มีพระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนจากทั่วประเทศร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
หลังพิธีบวชพระสังฆราชจบลง
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ได้จูงมือพระอัครสังฆราชอันตน วีระเดช
ใจเสรี ขึ้นนั่งบนบัลลังก์พระสังฆราช ซึ่งเป็นที่นั่งเฉพาะสำหรับพระสังฆราชผู้ปกครอง
สัญลักษณ์ของอำนาจ และสิทธิ์ของพระสังฆราชที่จะสั่งสอนสัตบุรุษในสังฆมณฑลของตน นับเป็นภาพแห่งความชื่นชมยินดี
และถือเป็นการส่งต่อตำแหน่งผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลฯ ให้ประมุของค์ใหม่อย่างเป็นทางการ
3.3
ชีวิตหลังเกษียณและการอธิษฐานภาวนาเพื่อพระศาสนจักร
ปัจจุบันพระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ในฐานะพระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งท่าแร่-หนองแสง
พักประจำที่บ้านเบธานีอย่างสุขสงบ ในบริเวณศูนย์คาทอลิกท่าแร่ที่อัครสังฆมณฑลฯ เตรียมไว้ให้
พระคุณเจ้ายังคงทำหน้าที่ผู้เลี้ยงแกะที่ดี ในการอธิษฐานภาวนาเพื่อพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลฯ
ทุกเช้าพระคุณเจ้าไปถวายพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดราชินีแห่งสันติภาพ
สำหรับภคินีกลาริส กาปูชิน ท่าแร่ หรือเป็นประธานฉลองวัดและโปรดศีลกำลังแทนพระอัครสังฆราชอันตน
วีระเดช ใจเสรี ตามโอกาสต่าง ๆ อีกทั้งคอยให้กำลังใจและต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยมด้วยรอยยิ้มและความยินดี
อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระคุณเจ้า
นอกนั้น
พระคุณเจ้ายังเดินทางไปเทศน์เข้าเงียบ หรือให้การอบรมตามหมู่คณะต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ความเชื่อและชีวิตฝ่ายจิตของพระคุณเจ้ากับพระสังฆราช
พระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนตามที่ต่าง ๆ เป็นการจุดไฟแห่งความรักในการรับใช้พระเจ้า
และประกาศพระวาจาของพระองค์ที่พระคุณเจ้าได้ทำมาตลอดชีวิต อีกทั้งยังเข้าร่วมการประชุมกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน
และการเข้าเงียบของคณะสงฆ์เป็นประจำทุกเดือน
บทสรุป
นับเป็นพระพรและแผนการของพระเจ้าที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด ตลอด 25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช พระอัครสังฆราชหลุยส์
จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้ทำหน้าที่นายชุมพาในการปกครอง
และพัฒนาพระศาสนจักรสืบต่อมาอย่างเต็มกำลังความสามารถ “หากอยากรู้ว่าผู้นำเป็นอย่างไร
ให้ถามผู้ตามระดับล่าง” ยิ่งทำให้ภาพความเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีของพระคุณเจ้าเด่นชัดขึ้น สิ่งที่พระคุณเจ้าได้ทำเพื่อพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลฯ
มีมากมาย ไม่สามารถนำมาบันทึกไว้ในที่นี้ได้ทั้งหมด
“รอยเท้าบนทะเลที่ไร้ร่องรอย” คือชีวิตและอุดมคติที่พระคุณเจ้าเป็นและพยายามเจริญชีวิตตลอด
25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช พระคุณเจ้าไม่ต้องการทิ้งร่องรอยใด
ๆ ให้ใครเห็นเหมือนรอยเท้าบนทะเล แต่ทุกคนที่สัมผัสรับรู้ถึงชีวิตแห่งการอุทิศตนด้วยความร้อนรน
ทุ่มเท และเสียสละเพื่อผู้อื่นของพระคุณเจ้า เป็น “ชีวิตที่มีเพื่อให้และหัวใจมีเพื่อรัก”
อย่างแท้จริง ไม่เก็บสิ่งใดไว้สำหรับตนเอง ทั้งนี้เพื่อทำให้ “พระอาณาจักรจงมาถึง”
(Adveniat
Regnum Tuum) ดังคติพจน์ที่พระคุณเจ้าได้เลือก
ขอร่วมโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระพรและความรักยิ่งใหญ่
ตลอด 25 ปีแห่งสังฆภาพพระสังฆราช
พระคุณเจ้าได้ทำหน้าที่นายชุมพาอย่างร้อนรน ทุ่มเทเสียสละ และอุทิศตนทั้งครบ ขอพระเยซูเจ้า
อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผ่านทางคำเสนอวิงวอนของพระนางมารีย์มารดาพระศาสนจักร และมารดามรณสักขีทั้งเจ็ดแห่งสองคอน
ได้ประทานพรอันอุดมแด่พระคุณเจ้า ให้มีสุขภาพแข็งแรง เปี่ยมด้วยปรีชาญาณ เพื่ออธิษฐานภาวนาและจุดไฟแห่งความรักในการรับใช้พระเจ้า
สำหรับพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลฯ ให้ลุกโชนสืบไป
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
ID LINE : dondaniele
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, สกลนคร
ฉลองนักบุญดาเนียล; 21 กรกฎาคม
2024
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น