วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เครื่องหมายแห่งรัก

เครื่องหมายแห่งรัก
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
ปี A
กจ 8:5-8, 14-17
1 ปต 3:15-18
ยน 14:15-21
บทนำ
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งจิมมี คาร์เตอร์กำลังรณรงค์เลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งคาร์เตอร์ได้เข้าไปนมัสการพระเจ้าที่โบสถ์แบ๊ปติสต์ในเมืองเพลนส์ รัฐจอร์เจีย เมื่อการนมัสการพระเจ้าสิ้นสุดลงคาร์เตอร์ได้ออกจากโบสถ์ มีกลุ่มผู้สื่อข่าวมากมายหลายสำนักกำลังรอสัมภาษณ์ ต่างคนต่างเตรียมคำถามเด็ดเพื่อถามผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
  ทันใดนั้น มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งตระโกนถามคาร์เตอร์ว่า “คุณคาร์เตอร์ หากท่านได้เป็นประธานาธิบดี แล้วอยู่ในสถานการณ์ที่กฎหมายของรัฐเป็นที่เข้าใจชัดว่าขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านจะเลือกกฎหมายของรัฐหรือบทบัญญัติของพระเจ้า” คาร์เตอร์หยุดครู่หนึ่ง เหมือนพระจิตเจ้าดลใจและตอบว่า “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า”
พระวรสารวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพระดำรัสหลังการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตที่พระเยซูเจ้าทรงอยู่กับบรรดาอัครสาวก พระองค์จะไม่อยู่กับพวกเขาอีกต่อไป แต่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับวันที่พระองค์จะต้องจากไป ทรงท้าทายพวกเขาให้ปฏิบัติตามพระบัญญัติ และพระองค์จะอยู่กับพวกเขาตลอดไปในองค์พระจิตเจ้า
1.        เครื่องหมายแห่งรัก
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นพระวรสารวันนี้ ด้วยการท้าทายบรรดาอัครสาวกและผู้ติดตามพระองค์ “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา” พวกศิษย์ต่างแน่ใจว่าพวกเขารักพระองค์ (ถ้าไม่รักพระองค์พวกเขาคงไม่อยู่กับพระองค์จนถึงวันนั้น) แต่สิ่งที่พระองค์หมายถึงคือ การยอมรับคำสั่งของพระองค์ที่ทรงสั่งพวกเขาต่อจากนั้นว่า “ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา” (ยน 14: 15)
เครื่องหมายที่บ่งบอกว่ารักพระเยซูเจ้าคือ การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระเจ้า บางคนอาจคิดว่าทำได้อยากเพราะความอ่อนแอที่ตนมี แต่การเรียกให้ปฏิบัติตามพระบัญญัติเป็นไปได้ อาศัยของประทานที่พระเยซูเจ้าจะประทานให้ พระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป แต่ได้สัญญาจะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง
พระเยซูเจ้าคือ ผู้ช่วยเหลือองค์แรกที่ทรงสอน นำทาง และปกป้องพวกเรา พระองค์ได้แสดงให้เราเข้าใจว่าพระเจ้าทรงรักเรามากเพียงใด “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16) และทรงขอให้เรารักซึ่งกันและกัน สิ่งนี้คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังพระบัญญัติของพระองค์ “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)
พระจิตเจ้าคือ ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพระบัญญัติแห่งความรักจะได้รับการปฏิบัติจากบรรดาศิษย์ของพระองค์ เราจึงต้องตอบสนองด้วยการรักซึ่งกันและกันเหมือนดังที่พระองค์ทรงรักเรา นำทาง ให้คำปรึกษา ปกป้องคุ้มครอง และทำให้เราเข้มแข็งด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าที่จะอยู่กับเราตลอดไป

2.        บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก ความนอบน้อมเชื่อฟัง พระเยซูเจ้าได้แสดงความรักของพระเจ้าให้เราได้เห็นประจักษ์ พระองค์ทรงนอบน้อมเชื่อฟังจนถึงที่สุดด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)  ความรักแท้จริงที่เรามีต่อพระเจ้า ต้องแสดงออกให้เห็นในความนอบน้อมเชื่อฟังเช่นเดียวกัน ด้วยการมองเห็นพระญาณสอดส่องและความรักของพระองค์ในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ตีโพยตีพายหรือด่าว่าพระเจ้า
ประการที่สอง ความรักต่อกัน เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15: 12) พระองค์ต้องการให้เรามองเห็นพระองค์ในผู้อื่น และรักพวกเขาเหมือนที่พระองค์ทรงรักเรา ความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้องจึงเป็นการพิสูจน์ว่า เรารักพระองค์และเป็นศิษย์แท้จริงของพระองค์ อีกทั้งยังเผยให้คนอื่นได้เห็นถึงความรักของพระเจ้า
ประการที่สาม การให้อภัยกัน  พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา “จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” (มธ 5:44) ทรงมอบแบบอย่างนี้แก่เราในการให้อภัยผู้ประหารพระองค์ เราถูกเรียกร้องให้ทำเช่นเดียวกัน เมื่อใครคนหนึ่งไม่ยอมให้อภัย เท่ากับว่าเขากำลังทำร้ายตัวเองมากกว่าทำร้ายคู่อริของเขา ดาบที่เราใช้ทำร้ายศัตรูความจริงได้แทงทะลุร่างของเราก่อน ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ใครที่คิดแก้แค้น เขากำลังขุดหลุมฝังศพคู่อริของเขาและตัวเขาเอง”

บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นถึงความรักของพระบิดาเจ้าในภาคปฏิบัติ ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังจนถึงที่สุดคือการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน อีกทั้ง ทรงวอนขอให้พระบิดาเจ้ายกโทษให้ทุกคน พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราดำเนินชีวิตในความรักนี้เช่นเดียวกัน ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ ซึ่งสรุปได้ใน ความรักที่มีต่อกัน การให้อภัยความผิดของกันและกัน และการปฏิบัติต่อกันด้วยความยุติธรรม
ขอให้เราดำรงชีวิตในความรัก การให้อภัย และความยุติธรรมนี้ โดยเริ่มจากในครอบครัวของเรา ก่อนที่จะขยายออกไปสู่ผู้อื่นในสังคมและหมู่คณะของเรา เป็นต้น คนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ใครที่ดำรงชีวิตในความรัก การให้อภัย และความยุติธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขารักพระเยซูเจ้า ใครที่รักพระเยซูเจ้าจะเป็นที่รักของพระบิดาเจ้าด้วย พระเยซูเจ้าจะทรงรักเขาและประทับอยู่กับเขาในองค์พระจิตเจ้า ตลอดไป
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanhinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
19 พฤษภาคม 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น