วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

แสวงบุญเวียดนาม (จบ)

6. คารวะศพโฮจิมินท์


วันที่ 13 มกราคม เป็นวันสุกดิบก่อนเดินทางกลับ คณะของเรามีนัดหมายหลายที่ด้วยกัน เริ่มจากการเยี่ยมภคินีรักกางเขนแห่งฮานอยเพื่อร่วมถวายมิสซา โดยมีพระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์เป็นประธานเหมือนเช่นทุกวัน แต่ที่ต่างออกไปคือวันนี้ไม่มีสัตบุรุษ มีแต่ภคินีล้วนๆ ทำให้พระคุณเจ้าชูศักดิ์และบรรดาพระสงฆ์ดูตื่นเต้นเป็นพิเศษ เห็นได้จากพระคุณเจ้าเทศน์แบบต่อเนื่อง ไม่มีการแปลประโยคต่อประโยคเหมือนเช่นทุกวัน พร้อมทั้งพูดติดตลกว่า “ขอให้พระจิตเจ้าได้ทำงานในตัวคุณพ่อแอนโทนี เล ดึก (ล่ามประจำคณะของเรา) เพื่อจะได้เทศน์อย่างดีในต้อนท้าย” ดูเหมือนคุณแม่อธิการจะตื่นเต้นไม่แพ้กัน เวลารับมอบพระธาตุบุญราศีแห่งสองคอน จึงบอกสมาชิกในคณะว่า “นี่เป็นพระธาตุมรณสักขีแห่งเวียดนาม”

จากนั้น พวกเราได้ไปที่สุสานโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh’ s Mausoleum) ซึ่งเป็นไฮไลท์ของการเดินทางมาเวียดนามครั้งนี้ สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) บริเวณจัตุรัสบาดิงห์ (Ba Dinh) ที่โฮจิมินท์ใช้ประกาศอิสราภาพเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีระหว่าง ค.ศ. 1973-1975 (พ.ศ. 2516-2518) เพื่อใช้เก็บร่างของโฮจิมินท์ อดีตผู้นำและวีรบุรุษของชาวเวียดนาม ความจริงโฮจิมินท์ได้กำชับก่อนอสัญกรรมว่า ให้ทำพิธีศพของท่านอย่างเรียบง่ายและฌาปนกิจตามธรรมเนียมเหมือนคนทั่วไป แต่ทางการกลับเก็บร่างของท่านไว้และดำเนินการตามแบบของเลนินเพื่อให้สมเกียรติรัฐบุรุษ ในแต่ละปีจะปิดสุสานนี้ประมาณ 2 เดือน เพื่อนำร่างของท่านไปบำรุงรักษาที่ประเทศรัสเซีย (ปัจจุบันทีมแพทย์เวียดนามสามารถทำเองได้)

สุสานแห่งนี้เป็นอาคารหินอ่อนและหินแกรนิต รวมถึงไม้เนื้อดีจากทั่วประเทศ มีความโดดเด่น สง่างามและเป็นสัญลักษณ์ของฮานอย ต้องขอบคุณการประสานงานของไกด์และบริษัทนำเที่ยว ที่นำพวกเราเข้าชมวีดิทัศน์ประวัติการต่อสู้ของโฮจิมินท์ และคารวะร่างอันไร้วิญญาณของท่านในฐานะ “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” จากประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องเข้าคิวยาวเป็นกิโลเมตรเหมือนคนอื่นทั่วไป มีทหารในเครื่องแบบเต็มยศ 4 นายนำพวกเราเดินแถวตอนเรียงสองเข้าวางพวกมาลาประหนึ่งผู้นำประเทศ และเดินขึ้นบันไดไปยังห้องโถงที่มีร่างของท่านนอนอยู่ มีแสงไฟสีนวลส่องให้พวกเรายืนโค้งคำนับทำความเคารพ ทำให้ผู้เขียนถึงกับขนลุกซู่ด้วยความปลื้มปีติที่ครั้งหนึ่งได้มาคารวะมหาบุรุษคนหนึ่งของโลก ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของท่าน ในการต่อสู้และความเสียสละเพื่อประเทศชาติ

ไม่ไกลจากสุสานคือตึกเหลือง ซึ่งเคยเป็นบ้านพักข้าหลวงและกองบัญชาการของฝรั่งเศสสมัยยึดครองอินโดจีน หลังประกาศอิสรภาพโฮจิมินท์ ได้ใช้ตึกเหลืองนี้เป็นบ้านพักรับรองแขกบ้านแขกเมือง ส่วนตัวท่านไปอาศัยบ้านไม้สองชั้นที่เคยเป็นเรือนคนรับใช้ของข้าหลวง โฮจิมินห์ มีชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ถือเป็นวีรบุรุษที่อยู่ในหัวใจของชาวเวียดนามตลอดกาล เพราะวีรกรรมในการปลดปล่อยเวียดนามจากการยึดครองของฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นผู้รวมเวียดนามเหนือ-ใต้ให้กลายเป็นเวียดนามหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ ในการทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร แม้ว่าท่านจะมิได้อยู่ชื่นชมชัยชนะในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เนื่องจากถึงแก่อสัญกรรมตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ท่านประกาศอิสรภาพเมื่อ 34 ปีก่อน และเป็นวันชาติของประเทศเวียดนาม แต่นั่นคือความปรารถนาสุดท้ายของท่าน

ปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ประกาศว่าโฮจิมินห์ เสียชีวิตในวันที่ 3 กันยายาน 1969 (พ.ศ. 2512) เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศในการเฉลิมฉลองวันชาติ และผลการประชุมใหญ่คณะกรรมการพรรคในวันที่พวกเราไป ได้ลงมติแต่งตั้ง นายเหวียน เติ๋น หยุง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่สอง ต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน ได้เปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดี โดยนายเหวียน ฝู จ็องได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคและนายเจือง เติ๋น สั่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ตามลำดับ

7. เยี่ยมบ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ

หลังคารวะศพลุงโฮและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้ว พวกเราได้ไปเยี่ยมบ้านเณรใหญ่นักบุญยอแซฟ และรับประทานอาหารเที่ยงที่นั่น โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระอัครสังฆราชเปโตร เหงียน วัน โยน คณะผู้ให้การอบรมและบรรดาสามเณรใหญ่ระดับเทววิทยา มีการขับร้องเพลงและการแสดงวิธีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยเหล้าตามธรรมเนียมเวียดนาม พิธีการเริ่มด้วยพระคุณเจ้าเหงียนกล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ การกล่าวรายงานเกี่ยวกับบ้านเณรของอธิการ และการกล่าวตอบของพระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ พร้อมกับมอบของที่ระลึกคือพระธาตุบุญราศีแห่งสองคอนและปัจจัยที่พวกเราเรี่ยไรกัน

พระคุณเจ้าเหงียน ได้กล่าวขอบคุณพระศาสนจักรไทยที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และช่วยเหลือคริสชนชาวเวียดนามที่อพยพหนีภัยสงครามไปตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยและประเทศที่สาม พระคุณเจ้าชูศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณในการต้อนรับอันอบอุ่นและกล่าวถึงจุดประสงค์ในการเดินทางมาครั้งนี้ รวมถึงสภาพความเป็นจริงของพระศาสนจักรไทย ซึ่งมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสะดวกสบายมากกว่า แต่คริสตชนมีความร้อนรนน้อยกว่าพระศาสนจักรเวียดนามมาก อีกทั้งได้กล่าวแนะนำบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้อพยพชาวเวียดนามในการเดินทางไปประเทศที่สามและการส่งเงินกลับประเทศ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีคือ คุณพ่อประยูร นามวงศ์ จากสังมณฑลนครราชสีมา

บ้านเณรนักบุญยอแซฟ เป็นบ้านเณรใหญ่ระดับเทววิทยาของ 8 สังฆมณฑลทางภาคเหนือของเวียดนาม มีสามเณรใหญ่ 160 คน และผู้ให้การอบรม 12 คน ส่วนบ้านเณรใหญ่ระดับปรัชญาซึ่งอยู่ห่างออกไป 15 กิโลเมตร มีสามเณรใหญ่ 150 คน รวมบ้านเณรสองแห่งนี้มีสามเณรกว่า 300 คน ผู้ให้การอบรม 20 องค์ และบรรดาอาจารย์จากส่วนต่างๆ ของประเทศ 20 ท่าน ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการที่เป็นพระสังฆราชองค์หนึ่ง

พระคุณเจ้าซึ่งเป็นอธิการได้กล่าวว่า นับเป็นพระพรของพระเจ้าและงานที่หนักในการอบรมผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์เหล่านี้ เพื่อให้พร้อมสำหรับทำงานประกาศพระวรสารกับชาวเวียดนามอีก 93% ที่ยังไม่ได้รับข่าวดี รวมถึงคริสตชนชาวเวียดนามที่ต้องการการประกาศพระวรสารใหม่อีกครั้งหนึ่ง ข่าวที่น่ายินดีคือปลายปีการศึกษานี้จะมีพิธีบวชสังฆานุกรมากถึง 70 องค์ มีพระสงฆ์ประมาณ 400 องค์ซึ่งเป็นผลผลิตจากบ้านเณรแห่งนี้

จากนั้นพวกเราได้เดินทางกลับเมืองวิงห์ เมื่อเดินทางถึงที่พัก ได้มีการจัดงาน Family Night เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการแสวงบุญในครั้งนี้ มีการกล่าวรายงานของ คุณพ่อณัฐพล ศรีมะณี เลขาธิการหน่วยงานสงฆ์อีสาน จากนั้นคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราชของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้มอบธงให้คุณพ่อสมนึก สุทธิ ตัวแทนสังฆมณฑลอุดรธานี เพื่อเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป วันรุ่งขึ้น (14 มกราคม) คณะของพวกเราได้ไปถวายมิสซาที่วัดอีกแห่งหนึ่ง มีคริสตชนชาวเวียดนามมาร่วมพิธีล้นวัดเหมือนวันแรก เป็นความประทับใจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ก่อนจะเดินทางออกจากเวียดนามผ่านประเทศลาวกลับสู่ประเทศไทย

บทส่งท้าย

“ทัวร์แสวงบุญ 5 วัน 4 คืน ณ ประเทศเวียดนาม” ได้เดินทางมาถึงวันสุดท้าย พร้อมกับข้อเขียนตอนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จและความประทับใจบางส่วนของคณะพระสงฆ์สี่สังฆมณฑลอีสาน กับอีกหลายอย่างในใจที่ไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ อย่างน้อย คงทำให้ผู้อ่านและพี่น้องคริสตชนไทยได้เห็นถึงความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนของพี่น้องคริสตชนเวียดนาม ในอันที่จะช่วยให้เราย้อนมองดูตัวเองและหาทางช่วยคริสตชนและพระศาสนจักรไทย ให้มีความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนเช่นพระศาสนจักรเวียดนามบ้าง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราคงไม่ปล่อยให้โอกาสและความสะดวกสบายที่มีพร้อมทุกอย่างทำลายพระศาสนจักร แต่ต้องช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นและอุทิศตนมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรของพระศาสนจักรอย่างเราพระสงฆ์ ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการจัดทัวร์แสวงบุญครั้งนี้ โดยเฉพาะคริสตชนและพระศาสนจักรเวียดนามที่ช่วยจุดประกายความหวังให้บังเกิดขึ้น เพื่อว่าคริสชนและพระศาสนจักรไทยจะได้ไปถึงความเชื่อที่เติบโตเช่นนั้นบ้าง “ตามเบียดเวียดนาม” (ลาก่อน เวียดนาม)
Don Daniele ภาพ/เรื่อง
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
24 มกราคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น