วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 37

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 37, วันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

 การฉลองความเชื่อประจำปี 2011

124 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม

บรรพบุรุษของชาวนาบัวอพยพมาจากเขมราฐและยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวที่อพยพมาครั้งนั้น ได้แก่ ครอบครัวพ่อแม่ของนายสา นาแว่น ต้นตระกูลนาแว่น ครอบครัวของหลวงไชยเพชร ต้นตระกูลวินบาเพชร ครอบครัวของนายทิดนนท์และนายสังข์ แพงยอด ต้นตระกูลแพงยอด ครอบครัวของนายเชียงบา จันสุนีย์ ต้นตระกูลจันสุนีย์ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูคำสอน เมื่อมาถึงบ้านนาบัว ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ปะปนกับชาวบ้านเดิมที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วคือครอบครัวของนายเชียงผง ทองใส ต้นตระกูลทองใส ครอบครัวของพ่อของนายน้อย พิมพา ต้นตระกูลพิมพา ครอบครัวของพ่อผู้ใหญ่เพีย พิมพ์นาจ ต้นตระกูลพิมพ์นาจ ครอบครัวของพ่อของนายบัวพา บัวขันธ์ ต้นตระกูลบัวขันธ์
การตั้งเสาไม้หน้าวัดไม้ และซุ้มประตูไม้ทางเข้าวัดด้านบ้านผู้ใหญ่ชาญชัย นาแว่น

หลังจากอยู่ที่นาบัวได้ระยะหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านร้างทางทิศใต้ของนาบัว ซึ่งเป็นหมู่บ้านขอมหรือข่า เนื่องจากเห็นว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำคือห้วยม่วง แต่เมื่อเห็นว่าบริเวณดังกล่าวทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของผีร้าย จึงได้พากันกลับมาอยู่ที่นาบัวเช่นเดิม กระทั่งทราบข่าวว่ามีหมอสอนศาสนาฝรั่งไม่กลัวผี ยิ่งกว่านั้นถ้าใครได้เข้ารีตกับฝรั่ง ผีไม่สามารถทำอันตรายหรือรบกวนได้เลย จึงเกิดความสนใจและส่งคนไปติดต่อกับคุณพ่อธรรมทูตที่บ้านกุดจอกใหญ่ ตำบลวาใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก
กว่าจะมาเป็นเสาไม้และซุ้มประตู

จากบันทึกประวัติวัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้ม นครพนม ของคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพบว่า คุณพ่อได้รับสมัครผู้กลับใจจากบ้านนาบัวและบ้านกุดจอกในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงแน่ใจได้ว่าคริสตศาสนาเข้ามาที่นาบัวในปีดังกล่าว บันทึกปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) บอกให้เราทราบว่าหมู่บ้านทั้งสองทำให้คุณพ่อรองแดล รู้สึกหนักใจมาก เพราะต้องเดินทางขี่ม้าจากบ้านคำเกิ้มเป็นเวลาสองวันกว่าจะถึง จึงอยากให้มีผู้อยู่ประจำสำหรับเอาใจใส่ดูแลบ้านทั้งสองนี้ ที่สุดได้ เปโตร จานพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุก่อน โดยมอบหมายให้จานพิมพ์ไปสอนคำสอนแก่ผู้กลับใจที่นาบัวและกุดจอก ดังบันทึกศีลล้างบาปแรกที่นาบัว ลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433)
การซ้อมใหญ่และเตรียมฉลองวัด 21 มกราคม

นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ชุมชนคริสตชนวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว มีอายุครบ 124 ปี จะฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมในอีกหนึ่งปีข้างหน้าคือ ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ข้อมูลวัดนาบัวปัจจุบัน: จำนวนคริสตชน 1,569 คน แยกเป็น ชาย 741 คน หญิง 828 คน, กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน 12 กลุ่ม, พลมารี 4 เปรสิเดียม, เด็กคำสอน 129 คน แยกเป็น ชาย 59 คน หญิง 70 คน, ครูคำสอน 5 คน, พระสงฆ์ลูกวัด 8 องค์ แยกเป็นอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง 6 สังฆมณฑลอุดรธานี 1 และคณะพระมหาไถ่ 1 องค์, ภคินี 4 รูป, สามเณร 15 คน แยกเป็น สามเณรใหญ่ 4 คน และสามเณรเล็ก 11 คน, ผู้ฝึกหัด 14 คน แยกเป็น คณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ 12 คน และคณะเซนต์ปอล เดอ ชาตร์ 2 คน
เอกวารเตรียมจิตใจก่อนฉลองวัด โดยคุณพ่อสุพล ยงบรรทม 21 มกราคม

ในรอบ 124 ปีที่ผ่านมา วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว มีพระสงฆ์เจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 30 องค์ ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพระสงฆ์เจ้าอาวาส คือมีพระสงฆ์เจ้าอาวาส 2 องค์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ได้แก่ พระสังฆราชแยร์แมง แบร์ทอลด์ แห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี เป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เป็นผู้ก่อตั้งคณะพลมารีที่นาบัว และพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) เป็นผู้รื้อฟื้นคณะพลมารีให้มั่นคงและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
คุณพ่อปีแอร์ โกลาส์ ผู้วางรางฐานด้านความเชื่อและสร้างวัดไม้ที่กำลังบูรณะ

24 ปีแห่งมรณกรรมของคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์

คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสคณะช่วยมิสซัง (SAM.) เป็นผู้ที่มีคุณูปการใหญ่หลวงสำหรับวัดนาบัว ในฐานะที่เป็นผู้วางรากฐานความเชื่อและนำความเจริญมาสู่นาบัวทุกด้าน โดยเฉพาะในการสร้างวัดไม้หลังที่สี่ ที่สร้างได้อย่างประณีต สวยงามมาก คุณพ่อเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือจากชาวนาบัวที่ร่วมแรงร่วมใจกันในการก่อสร้างอย่างเต็มที่จนแล้วเสร็จ กลายเป็นวัดไม้ที่สวยงาม ไม่มีเสากลาง ไม่มีการใช้ตระปูเหมือนอาคารไม้ทั่วไป แต่ใช้นอตและตระปูเกลียวขันทั้งหมด วัดไม้หลังนี้จึงแปลกกว่าวัดไม้อื่นทั่วไป อีกทั้งยังเป็นอนุสรณ์แห่งความเชื่อและความสมัครสมานสามัคคีของชาวนาบัวทั้งหมู่บ้าน นอกนั้นคุณพ่อยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักภคินี ที่ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
การต้อนรับพระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ โอกาสฉลองวัด 22 มกราคม

คุณพ่อโกลาส์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ที่ประเทศฝรั่งเศส บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 29มิถุนายน ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ในคณะธรรมทูตช่วยมิสซัง หลังจากนั้นสองปีคือ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ได้เดินทางมาเป็นธรรมทูตที่ประเทศไทย ภายหลังเรียนภาษาไทยจนสามารถใช้งานได้ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้มอบหมายให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวในช่วงปี ค.ศ. 1966-1978 (พ.ศ. 2509-2521) วัดแม่พระไถ่ทาส สองคอน ปี ค.ศ. 1978-1981 (พ.ศ. 2521-2524) วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย ปี ค.ศ. 1981-1884 (พ.ศ. 2524-2527) และวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ ปี ค.ศ. 1984-1986 (พ.ศ. 2527-2529) ตามลำดับ
พิธีมิสซาวันฉลอง และสัตบุรุษจากที่ต่างๆ ที่มาร่วมฉลอง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ คุณพ่อโกลาส์ ได้ล้มป่วย ทางอัครสังฆมณฑลได้ส่งไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ แพทย์ลงความเห็นว่าคุณพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิต กินอยู่แบบชาวบ้านทั่วไปในช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่สุด คุณพ่อได้ขอกลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส และมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าอย่างสงบท่ามกลางญาติพี่น้อง เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สิริอายุ 53 ปี ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่ญาติมิตรและมวลสัตบุรุษที่คุณพ่อเคยดูแล โดยเฉพาะชาวนาบัวที่มีความผูกพันกับคุณพ่อมาก เนื่องจากคุณพ่อได้ทำหน้าที่เทศน์สอนและสร้างคุณประโยชน์มากมายตลอดเวลา 12 ปีที่ทำหน้าที่เจ้าอาวาส
คณะสงฆ์ที่มาร่วมฉลองกว่า 40 องค์

ดังนั้นชาวนาบัวจึงเลือกที่จะฉลองความเชื่อประจำปีในปีนี้ ในวันที่คุณพ่อโกลาส์มอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้า คือวันที่ 22 มกราคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 24 ปีแห่งมรณกรรมของพ่อที่อยู่ในดวงใจของชาวนาบัวเสมอ นาม “คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์” ขอให้คุณพ่อได้รับการพักผ่อนนิรันดรกับพระเจ้า เทอญ
การแข่งขันฟุตบอลคู่พิเศษระหว่างทีมพระสงฆ์กับเยาวชนนาบัว

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องชาวนาบัวทุกกลุ่มทุกคุ้มที่ช่วยกันเตรียมฉลองวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 5

2) รายนามผู้ใจบุญประสงค์จะทำโรงทานโอกาสฉลองวัดวันที่ 22 มกราคม: (1) ครอบครัวนายประสิทธิ์-นางสุดใจ ช่วยลือไทย, (2) นางบำเพ็ญ ยอดคำอ่อน, (3) กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่ม, (4) แม่พินิจ คอมแพงจันทร์กับแม่สมร กุลนาม, (5) นางพรเพชร หาวงศ์

3) อารามรักกางเขนแห่งท่าแร่จะมาแผ่ข้าวที่วัดของเรา ในวันพุธที่ 26 มกราคมนี้ ขอให้พี่น้องได้สนับสนุนอารามด้วย
การแห่ต้นเงินของแต่ละคุ้มเพื่อนำมามอบให้วัด

4) ประกาศศีลสมรส ระหว่างนายพิพัฒน์ จิตรักษ์ อายุ 22 ปี บุตรนายบรักลี เมเนอร์-นางสุลักคณา เมเนอร์ จากบ้านรุ่งพนาไพร กับนางสาวมารีอา จิราวรรณ พลเสน บุตรีนายสมาน-นางเทิดนารี พลเสน จากวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว ทั้งคู่จะเข้าพิธีสมรสในวันเสาร์ที่ 29 มกราคมนี้ ประกาศครั้งที่ 3

5) ฉลองวัดในอาทิตย์นี้: (1) วันศุกร์ที่ 28 มกราคม เสก-เปิดศูนย์พหุวิทยา ร.ร.เซนต์ยอแซฟ กาฬสินธุ์ เวลา 09.00 น., (2) วันเสาร์ที่ 29 มกราคม ฉลองวัดนักบุญกาทารีนา ทุ่งมน มิสซาเวลา 10.00 น.

6) รายนามผู้บริจาคสมทบทุนโครงการบูรณะวัดไม้และหอระฆัง: (1) น.ส.กิรตรา ยอดคำอ่อน 10,000.- บาท, (2) ครอบครัวนายศรีอุดม-นางรำไพ เมาบุดดา 5,000.- บาท

7) เงินทานวันเสาร์ 371.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม ได้ 1,616.- บาท, รับเงินบริจาคซื้อดอกไม้จากเจ้ต่อม รัตนาภรณ์ พิมพการ 3,000.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 371.- บาท
บรรยากาศการแห่กันหลอน หลังวันฉลองวัด 23 มกราคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น