วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล

 พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล


บทนำ

เรื่องที่จะพูดในวันนี้คือ “พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เราอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร มีเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทันสมัย ทำให้โลกทุกวันนี้แคบลงเป็นเหมือนกับหมู่บ้านเดียวกัน (Global Village) สามารถติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันได้โดยง่าย อีกทั้ง สืบเนื่องมาจากมีคนเสนอให้เอารูปพระสงฆ์ของเราออกจากเว็บไซต์ของสังฆมณฑล ด้วยกลัวว่าคนอื่นจะรู้จักหน้าค่าตาและมาฆ่าทิ้ง อีกหน่อยจะไม่เหลือพระสงฆ์ทำงานในสังฆมณฑล ซึ่งเป็นความปรารถนาดีจากคุณพ่อของเราท่านหนึ่ง

ความจริงผู้เขียนตั้งใจจะเริ่มด้วยการให้พี่น้องสงฆ์ได้ฟังบทรำพึงของพระคุณเจ้าจำเนียร (สันติสุขนิรันดร์) ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นบทรำพึงที่ดีมาก หลายคนอาจจะไม่เคยฟัง แต่วันนี้ (4 ม.ค.) พระคุณเจ้าให้ข้อคิดยาวกว่าทุกวัน จึงเลิกล้มความตั้งใจด้วยกลัวว่าจะทำให้เวลาของการแบ่งปันยาวเกินไป นับว่าพระคุณเจ้ามีความเพียรมากที่เตรียมบทรำพึงทุกวัน ซึ่งมีประโยชน์สำหรับสัตบุรุษมาก ต้องขอชมเชยและยอมรับว่ามีแฟนคลับติดตามฟัง เพราะหากวันไหนผู้รับผิดชอบลืมเปลี่ยนบทรำพึง จะมีคนโพสข้อความหรือโทรมาบอกทันที

ในการประชุมพระสงฆ์เดือนที่ผ่านมา พระคุณเจ้ามีแนวความคิดจะตั้งสถานีวิทยุอีก 3 สถานี ผู้เขียนไม่ขัดข้อง แต่สื่อวิทยุเวลานี้ล้าสมัยไปแล้วและลงทุนสูงมาก สถานีวิทยุเกือบทุกแห่งต้องปรับตัว และนำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดในโลกดิจิตอล แค่คลิกเดียวก็ไปถึงทั่วโลก สัตบุรุษของพระคุณเจ้าในอีกซีกโลกหนึ่ง สามารถได้ยินเสียงของพระคุณเจ้าได้ และสามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ตลอด ซึ่งสถานีวิทยุทั่วไปทำไม่ได้

1. พยานในโลกดิจิตอล

เวลาที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ที่กรุงโรม ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ในหัวเรื่อง “การเป็นพยานในโลกดิจิตอล” (Testimoni Digitali) ทำให้ทราบถึงท่าทีและคำสอนของพระศาสนจักรต่อสื่อสมัยใหม่ พระศาสนจักรถูกเรียกมาให้บอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ สื่อออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นช่องทางที่ทรงประสิทธิภาพในการประกาศพระวรสาร

ความจริงพระสันตะปาปาและพระศาสนจักร ได้ให้ความสำคัญกับเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่เสมอมา สามทศวรรษก่อนหน้านี้ พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ออกสมณสาส์น Communio et Progressio โดยชี้ให้เห็นว่า “สื่อสมัยใหม่ช่วยให้ผู้คนได้พบกับข่าวดีแห่งพระวรสาร” (Communio et Progressio 128) พระองค์ยังตรัสว่า พระศาสนจักรจะรู้สึกผิดต่อองค์พระคริสตเจ้า หากไม่ใช้สื่อในการประกาศพระวรสาร (Evangelii Nuntiandi 45)

ปี ค.ศ. 2002 สมณกระทรวงฝ่ายสื่อสารสังคม ได้ออกเอกสาร “พระศาสนจักรและอินเตอร์เน็ต” (The Church and Internet) โดยชี้ให้เห็นว่า “พระศาสนจักรจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและใช้อินเตอร์เน็ต เป็นเหมือนเครื่องมือในการติดต่อสัมพันธ์ภายใน” (CI 6) สิ่งสำคัญคือ บุคลากรทุกระดับของพระศาสนจักรต้องใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้พันธกิจของพระศาสนจักรบรรลุถึงความสมบูรณ์ (CI 10)

เอกสารนี้ยังให้คำแนะนำกับผู้นำทุกภาคส่วนของพระศาสนจักร ที่จะต้องเข้าใจสื่อประเภทนี้และปรับใช้กับแผนงานอภิบาลด้านสื่อสารสัมพันธ์ พร้อมกับนโยบายที่เป็นรูปธรรมและโครงการที่เหมาะสมในการใช้สื่อประเภทนี้ (CI 10) พระสงฆ์ สังฆานุกร นักบวช และฆราวาสแพร่ธรรมต้องได้รับการศึกษาอบรม เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจถึงผลกระทบของการติดต่อสื่อสารต่อปัจเจกบุคคลและสังคม ด้วยการจัดทำเว็บไซต์เพื่อนำเสนอแนวคิดทางเทววิทยาและงานอภิบาล ซึ่งเว็บไซต์ในลักษณะนี้มีน้อยมาก เวลานี้สื่อออนไลน์มีข้อมูลทุกประเภทที่สามารถสืบค้นได้ แต่ข้อมูลทางเทววิทยาและคำสอนของพระศาสนจักรที่เป็นภาษาไทยสำหรับสืบค้นมีน้อยเหลือเกิน

2. พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล

หากเรายังจำได้สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้ตรัสชัดเจนในวันสื่อสารมวลชนสากล ครั้งที่ 44 เมื่อปีที่ผ่านมาในหัวเรื่อง “พระสงฆ์และงานอภิบาลในโลกดิจิตอล: สื่อใหม่เพื่อนำเสนอพระวาจา” พระสันตะปาปาตรัสกับเราพระสงฆ์โอกาสปีพระสงฆ์เป็นการเฉพาะว่า “พวกท่านได้รับเชิญให้ตอบสนองในด้านอภิบาล ด้วยการนำสื่อไปใช้ให้มีประโยชน์มากขึ้นในการประกาศพระวาจา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในฐานะประจักษ์พยานที่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระวรสาร”

ดังนั้น พระสงฆ์จึงควรใช้เครื่องมือต่างๆ ในโลกดิจิตอล เช่น ภาพ วิดีโอ บล็อก เว็บไซต์ ฯลฯ เพื่อการประกาศพระวรสารและการสอนคำสอน เครื่องมือเหล่านี้กำลังเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน และเป็นที่สนใจของบรรดาเยาวชนอย่างมาก ทำอย่างไรเราซึ่งเป็นบุคลากรของพระศาสนจักรจะรู้จักใช้สื่อออนไลน์เหล่านี้ในการประกาศองค์พระคริสตเจ้า หากนักบุญเปาโลเกิดในสมัยของเรา แน่ใจได้เลยว่าท่านต้องใช้ อีเมล (e-mail) เฟซบุ๊ก (facebook) ทวิตเตอร์ (twitter) ยูทูบ (YouTube) เพื่อประกาศข่าวดี ดังคำกล่าวที่ว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี” (1 คร 9:16)

ปลายเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2010) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัทวิจัยนีลเสน ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า สังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หรือแม้กระทั่งบล็อกต่างๆ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคทั่วโลกในการซื้อสินค้าและทางด้านการเมือง ทั้งนี้ในจำนวนเว็บไซต์ดังระดับโลก พบว่า เว็บเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ เฟซบุ๊ก วิกีพีเดีย และยูทูบ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ เฟซบุ๊ก วัย 26 ปี จะได้รับการยกย่องจากนิตยสาร “ไทม์” ที่ทรงอิทธิพลของสหรัฐให้เป็นบุคคลแห่งปี 2010 ในฐานะที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในโลก เป็นผู้ที่ทำให้คนทั่วโลกมากกว่า 500 ล้านคนสามารถเชื่อมโยงถึงกันและเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 30 ฉบับที่ 1584, 24-30 (ธันวาคม, 2553), หน้า 9)

เรื่องราวของเขาได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Social Network” และได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกาศผลของสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแองเจลิส (แอลเอเอฟซีเอ) ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกนั้น ยังได้รับรางวัลอีก 3 รางวัล (ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม)

ในสารวันสื่อสารมวลชนพระสันตะปาปายังตรัสด้วยว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และโลกดิจิตอลที่กว้างไกลขึ้น เป็นขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติโดยส่วนรวมและมนุษย์แต่ละคน และสามารถเป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้มีการพบปะและเสวนากัน แต่ความก้าวหน้าในเรื่องนี้นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้มีความเชื่อด้วย” ดังนั้น สื่อใหม่ๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสใหม่และกว้างไกลสำหรับงานอภิบาล ช่วยให้พระสงฆ์ได้สำนึกถึงพันธกิจสากลของพระศาสนจักร เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพที่กว้างไกลและเที่ยงแท้ และเป็นประจักษ์พยานแก่โลก

บทสรุป

เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า เยาวชนหรือวัยใสคืออนาคตของสังคมและพระศาสนจักร ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ที่ใช้อินเตอร์เน็ต การใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ถูกต้องคือการเตรียมพวกเขาให้มีความรับผิดชอบ ทั้งต่อสังคมและพระศาสนจักรในอนาคต อินเตอร์เน็ตไม่ใช่สื่อเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการประกาศพระวรสาร

ที่สุด ขอสรุปด้วยพระดำรัสของพระสันตะปาปาอีกครั้ง “พวกท่านได้รับเชิญให้ตอบสนองในด้านอภิบาล ด้วยการนำสื่อไปใช้ให้มีประโยชน์มากขึ้นในการประกาศพระวาจา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในฐานะประจักษ์พยานที่ซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระวรสาร” เราได้เป็นพยานในโลกดิจิตอลแล้วหรือยัง หรือยังเป็นแบบเดิมไม่เคยปรับเปลี่ยน ขณะที่โลกปัจจุบันแคบลง ใกล้ชิดกันมากขึ้น และเอื้อประโยชน์แก่เรามากในการแพร่ธรรม

พระสันตะปาปาได้เชิญชวนบรรดาพระสงฆ์ให้พยายามใช้สื่อต่างๆ ให้ดีที่สุด เพื่อบรรดาพระสงฆ์จะได้มีจิตใจที่ร้อนรนในการนำพระวรสารไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสื่อต่างๆ ในปัจจุบันได้เปิดให้ไปถึง ดังนั้น สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาจึงย้ำว่า ต้องทำให้เราพระสงฆ์มีความมั่นใจและกล้าเข้าไปอยู่ในโลกนี้ เพื่อเป็นเกลือ เชื้อแป้ง และแสงสว่างท่ามกลางโลก
เทศน์เข้าเงียบประจำเดือนให้คณะสงฆ์ ที่วัดน้อยประจำสำนักมิสซัง วันที่ 4 มกราคม 2011
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
สำนักมิสซังฯ สกลนคร
4 มกราคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น