วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

100 ปี ชาตกาล พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์

 

100 ปี ชาตกาล

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์


บทนำ

การเกิดมาของคนคนหนึ่งเป็นความชื่นชมยินดีของบิดามารดาและญาติพี่น้องเสมอ แต่การเกิดมาของ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นดังของขวัญสุดประเสริฐที่พระเจ้าประทานแก่ครอบครัว พี่น้องชาวท่าแร่ และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ทั้งนี้เพราะชีวิตของพระคุณเจ้าเป็นเครื่องหมายแห่งพระพร ความรัก และความใจดีมีเมตตาของพระเจ้าอย่างแท้จริง

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เกิดมาในครอบครัวคริสตชนเมื่อ 18 ธันวาคม 1920 (2463) ที่บ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายชา-นางสอ เสมอพิทักษ์ เมื่อโตขึ้นได้เข้าบ้านเณร ได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อ 4 เมษายน 1948 (2491) และบวชเป็นพระสังฆราชมิสซังท่าแร่ เมื่อ 1 กรกฎาคม 1959 (2502) ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราช เมื่อ 18 ธันวาคม 1965 (2508)

โอกาส 100 ปี ชาตกาล พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ : 18 ธันวาคม 1920-2020 (2463-2563) ผู้สร้างคุณประโยชน์มากมากสำหรับชาวท่าแร่ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และพระศาสนจักรในประเทศไทย นับเป็นผู้มีคุณูปการยิ่งใหญ่ที่ชนรุ่นหลังต้องตระหนักและสำนึกกตัญญู และนี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้

พิธีบวชพระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ 1 กรกฎาคม 1959

1.        นายชุมพาผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้แต่งตั้งคุณพ่อมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ให้เป็นประมุของค์ใหม่ของมิสซัง เมื่อ 21 มีนาคม 1959 (2502) นับเป็นพระสังฆราชพื้นเมืององค์แรกของอีสานและชาวท่าแร่ ได้รับการบวชเป็นพระสังฆราช เมื่อ 1 กรกฎาคม 1959 (2502) โดยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย มีพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี และพระสังฆราชเปโตร คาแรตโต เป็นผู้ช่วยพิธีบวช ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน มิสซังท่าแร่ได้รับการยกฐานะเป็น สังฆมณฑล เมื่อ 25 มีนาคม 1960 (2503) และเปลี่ยนจาก มิสซังท่าแร่ เป็น สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง มีการเพิ่มชื่อ หนองแสง เข้ามาเพราะ หนองแสง เคยเป็นศูนย์กลางของมิสซังตั้งแต่ปี 1896 (2439) และเป็นที่ตั้งมิสซังลาวปี 1899 (2422) ถึงปี 1940 (2483) เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของหนองแสง ที่เคยเป็นศูนย์กลางของมิสซังในอดีต 

1.1  การสถาปนาพระฐานานุกรมอัครสังฆมณฑล

นับเป็นความชื่นชมยินดีของพระศาสนจักรในประเทศไทย ที่สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ประกาศสถาปนาพระฐานานุกรมศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เมื่อ 18 ธันวาคม 1965 (2508) โดยแบ่งเขตปกครองออกเป็น 2 ภาคคือ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯกับอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และประมุขของสังฆมณฑลคือ พระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระอัครสังฆราช” 

ขณะนั้นสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงมีจำนวนคริสตชนทั้งหมด 22,221 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,296,000 คน ใน 3 จังหวัดคือ จังหวัดสกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์  มีพระสงฆ์ จำนวน 26 องค์ แยกเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง 17 องค์ พระสงฆ์คณะช่วยมิสซัง (S.A.M.) 3 องค์ และพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) 6 องค์ และภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ จำนวน 72 รูป

1.2  การก่อสร้างอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

หลังได้รับการสถาปนาเป็นอัครสังฆมณฑล และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราช พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้สร้างอาสนวิหารใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมและคับแคบ มีพิธีเสกและวางศิลาฤกษ์เมื่อ 16 เมษายน 1968 (2511) และเริ่มลงมือก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ลักษณะรูปหัวเรือ เพื่อนำอัครสังฆมณฑลใหม่ฝ่าคลื่นลมไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง

อาสนิหารใหม่สะท้อนแพใหญ่ของคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ธรรมทูตผู้บุกเบิกที่นำบรรพบุรุษของชาวท่าแร่จากตัวเมืองสกลนคร ข้ามหนองหารไปขึ้นฝั่งที่ท่าแร่อย่างปลอดภัย การก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 16 เมษายน 1971 (2514)  โดยพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ พร้อมกับบรรดาพระสังฆราช คณะสงฆ์ และคริสตชนทั่วสังฆมณฑล

1.3 การก่อสร้างรองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง

เดือนมีนาคม ปี 1972 (2515) พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้อนุมัติให้สร้างวัดหลังใหม่ที่หนองแสงสำหรับใช้เป็นรองอาสนวิหาร มีพิธีวางศิลาฤกษ์วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ อาทิตย์ที่ 14 เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีชวด ปี 1972 (2515)  วัดหลังใหม่นี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่คล้ายอาสนวิหารหลังเดิมที่ถูกปืนใหญ่ทำลาย ช่วงเกิดกรณีพิพาทอินโอจีน ปี 1940 (2483)

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวหนองแสง ความช่วยเหลือจากทั่วประเทศ  และความสามารถของคุณพ่ออันตน เสงี่ยม ศรีวรกุล เจ้าอาวาส  ทำให้วัดหลังใหม่สำเร็จอย่างน่าสรรเสริญ ตั้งตระหง่าน สง่างามทั้งภายนอกและภายใน มีพิธีเสกและเปิดอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 18 เมษายน 1975 (2518) โดยพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเย ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี ธรรมทูตผู้มีบทบาทสำคัญในพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้

บน : พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เสกเปิดอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ 16 เมษายน 1971, ล่าง : พิธีเปิดเสกรองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง 18 เมษายน 1975

2.
        บิดาผู้ใจดี

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ใจดี ซึ่งเป็นภาพสะท้อนชวิตฝ่ายจิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ผ่านทางอธิษฐานภาวนาและการเฝ้าศีลมหาสนิท และความศรัทธาที่พระคุณเจ้ามีต่อพระนางมารีย์ผ่านการสวดสายประคำ ทำให้พระคุณเจ้าเป็นคนใจดีมีเมตตา ร่าเริงแจ่มใจ เข้าได้กับทุกคน สร้างความประทับใจแก่ผู้ได้พบและสัมผัส

2.1  กับพระสงฆ์

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นกันเองกับบรรดาพระสงฆ์ เข้าได้กับทุกคน เข้าใจปัญหาพระสงฆ์ด้วยกัน ใครมีปัญหาจะให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ปัญหา หากมีปัญหาเรื่องเงินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือต้องการให้ช่วยในเรื่องใด พระคุณเจ้าได้ให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ เพราะถือว่า “ศิษย์พระคริสต์ต้องรักกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และช่วยเหลือกันเสมอ”

2.2  กับสามเณรและผู้ฝึกหัด

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนกระแสเรียก ตระหนักว่าบรรดาสามเณรและผู้ฝึกหัดคือผู้ร่วมงานในอนาคต จึงให้ความสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษ คอยหาทุนช่วยเหลือ แวะเยี่ยม ถามไถ่ทุกข์สุข ร่วมสรรสรรค์ และให้กำลังใจ สร้างความเป็นกันเองกับลูกเณรและผู้ฝึกหัดเสมอ ใครขัดสน หรือมีความลำบากเรื่องใดได้ให้ความช่วยเหลือโดยทันที

2.3  กับสัตบุรุษ

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีดี เป็นกันเอง และเข้าได้กับทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน หรือนับถือศาสนาใด หากเห็นใครเดือดร้อนพร้อมให้ความช่วยเหลือ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระคุณเจ้าไปถวายพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดหนองบกช่วงฤดูหนาว มีคนจนคนหนึ่งมาหาบอกว่าไม่มีเสื้อผ้าใส่ พระคุณเจ้าบอกให้รอสักครู่ จากนั้นได้เข้าไปในห้องซาคริสเตีย สักพักเดินออกมาพร้อมกับเสื้อสูทและกางเกงอย่างดีมอบให้ชายคนนั้น เขาดีใจมากเพราะเป็นชุดที่ดีที่สุดในชีวิต แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือชุดที่พระคุณเจ้ากำลังใส่ โดยเปลี่ยนไปใส่กางเกงนอนและสวมเสื้อหล่อทับ

บน : พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ บวชคุณพ่อพิชิต ศรีอ่อน ปะรำพิธีวัดท่าแร่ 4 มกราคม 1965, ล่าง : บวชคุณพ่อธีระยุทธ อนุโรจน์ วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง 27 พฤษภาคม 1980

3.        นักการศึกษาผู้รอบรู้และมองกาลไกล

พระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ สำเร็จการศึกษาด้านเทววิทยาและกฎหมายพระศาสนจักร ที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกเมืองลีอองประเทศฝรั่งเสส และศึกษาด้านการศึกษาที่ดับบลิน ประเทศไอร์แลนด์ อีกทั้ง เคยศึกษาและดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเคยเป็นผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ปี 1957-1959 (2500-2502) จึงเป็นผู้มีความรอบรู้เรื่องการศึกษา และทำให้โรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ

3.1 การก่อตั้งโรงเรียนเซนต์แมรี่ดอนม่วย

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ มองเห็นความจำเป็นด้านการศึกษา ได้ตั้งโรงเรียนเซนต์แมรี่ดอนม่วย ขึ้นที่บ้านดอนม่วย โดยมอบหมายให้คุณพ่อปีโอ ไอศวรรย์ จันทร์ลือชัย เป็นผู้ดำเนินการปี 1960 (2503) เปิดทำการสอนระดับชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 นับเป็นการบุกเบิกและขยายงานด้านการศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี กิจการของโรงเรียนก้าวหน้าเป็นลำดับ

ปี 1962 (2505) คุณพ่อปีโอ ไอศวรรย์ จันทร์ลือชัย ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่อำเภอพังโคน ในที่ดินซึ่งนายดอ เดชภูมี บริจาค โรงเรียนแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานศึกษาสำคัญให้กับกุลบุตรกุลธิดาในเขตนี้ และเปิดทำการเรียนการสอนถึงปี 1971 (2514) เสียดายที่สังฆมณฑลขาดบุคลากรและไม่สามารถจัดการเรียนการสอนต่อไปได้ ซึ่งศิษย์เก่าจำนวนมากล้วนแต่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต

3.2  การก่อตั้งโรงเรียนวรสารพิทยา กรุงเทพฯ

พระคุณเจ้าเห็นปัญหาเรื่องที่พักของพระสงฆ์ นักบวช เมื่อต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อประชุม หรือทำธุระ  ได้ไปพูดคุยกับ นายมงคล-นางวร วังตาล ทั้งสองได้ยกที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวาให้สังฆมณฑล โดยตกลงว่า ให้มิสซังท่าแร่อุปการะบุตรสาวคนหนึ่งจนตลอดชีวิต  ที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในซอยทวีวัฒนา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เพียงพอสำหรับการสร้างบ้านพักและโรงเรียนได้ 

พระคุณเจ้าได้สร้างอาคารเรียนหลังแรกเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น และมอบหมายให้อาจารย์บุญถม หงษ์ทอง เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อ 23 เมษายน 1963 (2506) และให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนวรสารพิทยา เพื่อเป็นเกียรติแก่ นางวร วังตาล ภรรยาของ นายมงคล วังตาล ผู้ถวายที่ดิน และยังหมายถึง ข่าวดี (Gospel)  ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 2 ไร่เพื่อขยายโรงเรียนให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น  ปัจจุบันโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา”    

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เคยเป็นผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟท่าแร่ ปี 1957-1959 และทำให้โรงเรียนได้รับการรับรองวิทยฐานะ

4.       
นักแพร่ธรรมผู้มีหัวใจธรรมทูต

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นผู้ที่มีความร้อนรนในการแพร่ธรรมมาก  กล่าวได้ว่า งานแพร่ธรรมเกิดผลอย่างแท้จริงในสมัยของพระคุณเจ้า เพราะความเอาจริงเอาจังและคอยกระตุ้นเตือนพระสงฆ์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการแพร่ธรรมกับผู้นับถือศาสนาอื่น ได้ทุ่มเทกายใจและกำลังทรัพย์เพื่องานนี้ ด้วยการส่งครูคำสอนออกไปแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของพระสงฆ์ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ศาสนิกชนอื่นเกิดความเข้าใจและมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

4.1 การตั้งทีมแพร่ธรรม (Ad Gentes)

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ตั้งทีมแพร่ธรรม Ad Gentes ปี 1962 (2505) ภายใต้การนำของคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี ประกอบด้วยครูคำสอนที่ได้รับการอบรมพิเศษ เพื่อส่งไปแพร่ธรรมและสอนคำสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยเริ่มจากเขตนิรมัย ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ชุมชนวัดพระวิสุทธิวงศ์นิรมัยก่อตั้งเมื่อปี 1953 (2496) จากจุดเริ่มต้นนี้เองได้ขยายไปสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง ดังนี้

1)         บ้านหนองแซง ตำบลวังตามัว อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ประมาณปี 1952-1954 (2495-2497)

2)         บ้านวังม่วง ตำบลโคกสูง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ประมาณปี 1947 (2490)

3)         บ้านนกเหาะ ตำบลโคกสูง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ประมาณปี 1961 (2504)

4)         บ้านหนองหญ้าไซ  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  ช่วงปี 1952-1954 (2495-2497)

5)         บ้านกุรุคุ ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  ปี 1961 (2504)

6)         บ้านโชคอำนวย  ตำบลวังตามัว  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  ปี 1969 (2512) 

งานแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรกเกิดจากภาวะความแห้งแล้งกันดารครั้งใหญ่  ทำให้ชาวบ้านประสบความอดอยากและเดือดร้อน  พระคุณเจ้าได้ยื่นมือช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนฝ่ายกาย ควบคู่ไปกับการส่งตั้งทีมแพร่ธรรมและครูคำสอนออกไปประจำตามหมู่บ้านเหล่านั้น เพื่อสอนคำสอนแก่ผู้สนใจและแพร่ธรรมกับคนอื่นต่อไป

4.2  งานแพร่ธรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรีถึงแก่มรภาพ 3 มีนาคม 1963 (2506) พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้มอบหมายทีมแพร่ธรรมให้อยู่ในความดูแลของคุณพ่อยอแซฟ อินทร์ นารินรักษ์ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ขณะนั้น  ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้ร่วมงานแพร่ธรรมคนสำคัญของพระคุณเจ้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์

ความจริงจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ในแผนงานแพร่ธรรมตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อพระคุณเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ได้กำหนดเอาจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่เป้าหมายของการแพร่ธรรม  เห็นได้จากคติพจน์ที่ใช้ แสงสว่างในความมืด” (Lux in Tenebris) อันแสดงถึงความมุ่งมั่นนำแสงสว่างแห่งพระวรสาร ไปสู่ดินแดนที่ยังเต็มไปด้วยความมืดคือจังหวัดกาฬสินธุ์  ยังผลให้เกิดกลุ่มคริสตชนขึ้นในหลายหมู่บ้านในเวลาต่อมา ดังนี้

1)         บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มปี 1962 (2505)

2)         บ้านหนองอี่บุตร ตำบลหนองอี่บุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณปี 1968 (2511) 

3)         บ้านกุดบอด ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  ปี 1970 (2513) 

4)         บ้านน้ำคำ ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  ปี 1971 (2514)

5)         บ้านปลาขาว ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 1972 (2515)

6)         บ้านหนองแสง-ห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  ปี 1972 (2515)

7)         บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  

8)         บ้านดอนอุ่มรัว ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

9)         บ้านนาโก ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์   

บางคนมองว่า งานแพร่ธรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์ของพระคุณเจ้าล้มเหลว หรือไม่ประสบผลสำเร็จ จนต้องเรียกครูคำสอนกลับไปบุกเบิกและทำหน้าที่ดูแลกลุ่มคริสตชนใหม่ในจังหวัดนครพนม แต่อย่างน้อยเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารได้รับการหว่านและหยั่งรากลึกในจิตใจของชาวกาฬสินธุ์  จากการไม่เคยมีคริสตชนเลยได้มีกลุ่มคริสตชนเกิดขึ้นในหลายหมู่บ้าน  เช่น บ้านหนองห้าง

4.3  งานแพร่ธรรมหลังลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครอง

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักแพร่ธรรมตลอดชีวิต  แม้ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครองอัครสังฆมณฑล แต่ยังรับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระคริสตราชาช้างมิ่ง วัดพระนามเยซูนาคำ  และดูแลกลุ่มคริสตชนพังโคนและสว่างแดนดิน  ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหนักมากสำหรับคนสูงอายุ  อีกทั้งยังได้ส่งครูคำสอนไปสอนคำสอนที่บ้านนาทันและบ้านดงคำโพธิ์

หลังพ้นหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง  พระคุณเจ้าได้รับผิดชอบและเริ่มงานแพร่ธรรมอย่างเต็มตัว ด้วยการบุกเบิกวัดแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล สวนป่าพนาวัลย์ ปี 1986 (2529)  เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมและการอธิษฐานภาวนา  อันเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายงานแพร่ธรรมแ และก่อตั้งกลุ่มคริสตชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้

1)         บ้านวนาสามัคคี ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ปี 1991 (2534)

2)         บ้านดอนถ่อน ตำบลบ้านเอื้อง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม  ปี 1991 (2534)

3)         บ้านคำสว่างน้อย  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  ปี 1991 (2534) 

4)         บ้านโคกสง่า  ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม  ปี 1991 (2534) 

5)         บ้านพรสวรรค์ ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม  ปี 1993 (2536)

6)         บ้านโนนสวาท  ตำบลหนองซน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม  ปี 1993 (2536)

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ทำหน้าที่เป็น แสงสว่างในความมืด ดังคติพจน์ตลอดชีวิต จนถึงวาระสุดท้ายที่ทำงานไม่ได้ เมื่อ 23 สิงหาคม 1996 (2539) ที่ล้มป่วยเป็นอัมพาต นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระคุณเจ้าเป็นผู้มีวิญญาณแห่งการแพร่ธรรมอย่างแท้จริง ที่ตระหนักในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า ท่านทั้งหลายจงไปทั่วโลกประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทั้งมวล  (มก.16:15)

บน : พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เสกเปิดวัดหนองห้าง กาฬสินธุ์ ปี 1964, ล่าง : เสกเปิดวัดดอนถ่อน 10 พฤษภาคม 1990

5.        นักพัฒนาผู้ห่วงใยชาวบ้าน

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นนักพัฒนาที่ห่วงใยชีวิตชาวบ้านยากจนในพื้นที่ทุรกันดาร ด้วยการริเริ่มงานพัฒนาหลายหลายรูปแบบควบคู่ไปกับงานแพร่ธรรม  เพื่อช่วยชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

5.1   การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้สร้างระบบไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรกในท่าแร่ โดยการซื้อเครื่องทำไฟขนาดใหญ่เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชาวท่าแร่ประมาณปี 1960 (2503) กระทั่งรัฐบาลได้สร้างสนามบินที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และมีการเดินกระแสไฟฟ้าแรงสูงมาใช้ที่สนามบิน  พระคุณเจ้าได้ติดต่อขอใช้ไฟฟ้าโดยซื้อเสาและสายไฟฟ้าต่อจากสนามบินเชียงเครือมาที่ท่าแร่

พระคุณเจ้ายังได้จัดสร้างระบบประปาขึ้น บริเวณสนามหน้าอาสนวิหารด้านที่ติดกับหนองหาร เพื่อนำน้ำดิบจากหนองหารมาทำเป็นน้ำประปาให้ชาวท่าแร่ได้อุปโภคและบริโภค ต่อมาภายหลังได้โอนกิจการนี้ให้สุขาภิบาลท่าแร่ (เทศบาล) เป็นผู้ดำเนินการ นอกนั้นยังได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกในหลายหมู่บ้าน

5.2    การพัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพ

เนื่องจากหมู่บ้านหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องน้ำ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้จัดหาแหล่งน้ำด้วยการสร้างฝายน้ำล้น ขุดสระ และเจาะบ่อบาดาลขึ้นในหลายหมู่บ้าน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหมู่บ้านคาทอลิกเท่านั้น เมื่อมีน้ำชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านย่อมดีขึ้น ปัญหาทุกอย่างได้คลี่คลายลง  แหล่งน้ำดังกล่าวได้กลายเป็นที่เลี้ยงชีพและยังประโยชน์สำหรับชาวบ้านจนปัจจุบัน

พระคุณเจ้ายังตระหนักถึงความเดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน ได้จัดหาที่ดินทำกินสำหรับผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และผ่อนส่งตามกำลังของแต่ละครอบครัว  พร้อมกับส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ควบคู่ไปด้วย เช่น การทอเสื่อ การเย็บผ้า การปลูกพืชเศรษฐกิจ การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง เป็นต้น  ด้วยการให้ทุนกู้ยืม ภายใต้เงื่อนไขคืนทุนเพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้คนอื่นกู้ยืมต่อไป

5.3   การตั้งศูนย์สังคมพัฒนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ส่งพระสงฆ์ไปศึกษาแนวทางการพัฒนาตามจิตตารมณ์ เครดิตยูเนียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนำกลับมาใช้ในสังฆมณฑลและตามหมู่บ้านต่าง ๆ เน้นการพึ่งตนเอง การรวมกลุ่ม และช่วยเหลือกัน  ซึ่งแนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของงานพัฒนาแบบยั่งยืน  นำไปสู่การก่อตั้ง ศูนย์สังคมพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ขึ้นปี 1975 (2518)

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นนักพัฒนาที่ห่วงใยชาวบ้านยากจนในพื้นที่ทุรกันดาร ด้วยการริเริ่มงานพัฒนาหลายหลายรูปแบบควบคู่ไปกับงานแพร่ธรรม

6.       
ความผูกพันกับวัดป่าพนาวัลย์

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ อดีตประมุข ลำดับที่ 7 : 1959-1980 (2502-2523) นับเป็นผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ ในฐานะผู้บุกเบิกและก่อตั้งชุมชนวัดเมื่อ 22 พฤศจิกายน 1986 (2529)  ซึ่งพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ตระหนักและสำนึกพระคุณเสมอไม่เคยลืมเลือน กล่าวได้ว่าวัดป่าพนาวัลย์เป็นเหมือนกับชีวิตและลมหายใจของพระคุณเจ้า

6.1 ศูนย์การรำพึงภาวนา

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักแพร่ธรรมตลอดชีวิต แม้ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครอง แต่ยังรับหน้าที่เจ้าอาวาสทำหน้าที่อภิบาลเยี่ยงผู้เลี้ยงแกะที่ดี เมื่อพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสได้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมอย่างเต็มตัว ด้วยการบุกเบิกและสร้างวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ เพื่อเป็นศูนย์การรำพึงภาวนา พระคุณเจ้าได้สร้างวัดและถ้ำแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล โดยมุ่งหวังให้เป็นวัดป่าตามวิถีพุทธ เพื่อการรำพึงภาวนาท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติ อีกทั้งเป็นสถานภาวนาสำหรับชุมชน นักบวช และคริสตชนทั่วไป

6.2  สนามงานอภิบาล

วัดป่าพนาวัลย์ยังเป็นสนามงานอภิบาลของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ที่ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนชาวท่าแร่ที่อยู่รายรอบด้วยความเอาใจใส่เยี่ยงบิดาผู้ใจดี ดั่งผู้เลี้ยงแกะที่ดีในพระวรสาร ด้วยการเยี่ยมเยียน สอนคำสอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนใหม่นี้อย่างสม่ำเสมอและช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อน ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ

นับตั้งแต่วันเสกและเปิดวัด 22 พฤศจิกายน 1986 (2529) ถึง 23 สิงหาคม 1996 (2539) ที่พระคุณเจ้าได้ล้มป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ได้ทำทุกอย่างเพื่อชาวป่าพนาวัลย์ เรียกได้ว่าดูแลทั้งชีวิต ซึ่งทุกคนต่างเห็นประจักษ์และสัมผัสได้ถึงความใจดีมีเมตตา ความรัก ความห่วงใย และความปรารถนาดีของพระคุณเจ้า

6.3  ศูนย์กลางการแพร่ธรรม

วัดป่าพนาวัลย์ได้เป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ที่นำพาชาวป่าพนาวัลย์ไปแพร่ธรรม และก่อตั้งกลุ่มคริสตชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ชาวป่าพนาวัลย์ ได้มีส่วนช่วยให้งานแพร่ธรรมของพระคุณเจ้าก้าวหน้าและเกิดผล ด้วยการเป็นกำลังสนับสนุนในทุกที่ทุกแห่ง บ้างขับรถ สอนคำสอน ขัดขับร้อง นำการภาวนา ฯลฯ

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เสกเปิดวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ 22 พฤศจิกายน 1986

บทสรุป

พระศาสนจักรมิได้เติบโตขึ้นด้วยความบังเอิญ หากแต่ยั่งยืนมั่นคงขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อและชีวิตของบรรดามรณสักขีนับไม่ถ้วนในอดีต ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานอันมั่นคงของพระศาสนจักร  พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์  เป็นผู้หนึ่งที่สานต่องานของบรรดาธรรมทูตในอดีต ทำให้งานประกาศข่าวดีได้รับการประกาศอย่างต่อเนื่องและเกิดผลมากที่สุด ตลอด 50 ปีในฐานะพระสงฆ์ และ 21 ปีในฐานะผู้ปกครองสังฆมณฑล

ดังนั้น โอกาส 100 ปี ชาตกาล พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ จึงเป็นห้วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้าที่ทรงหลั่งพระพร ความรัก และความเมตตาของพระองค์ มายังชุมชนวัดป่าพนาวัลย์และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ผ่านทางชีวิตและงานของพระคุณเจ้า นกปกครองผู้มีวิสัยทัศน์ ผู้เลี้ยงแกะที่ดี และนักแพร่ธรรมผู้มีหัวใจธรรมทูต ควรที่คริสตชนรุ่นหลังจักสำนึกพระคุณและกตัญญู อีกทั้ง ร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้าในการสานต่อมรดกทางความเชื่อนี้ ให้วัฒนาถาวรสืบไป

คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์

http://dondaniele.blogspot.com/

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

18 พฤศจิกายน 2020

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น