ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ
วันที่ 2 พฤศจิกายน
วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
|
รม 5:5-11
ยน 6:37-40
|
บทนำ
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2016
ที่ผ่านมา สมณกระทรวงพระสัจธรรมได้ประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับการฝังศพผู้ล่วงลับและการเก็บเถ้าอัฐิในกรณีที่มีการเผา
“Ad resurgendum cum Christo” มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจจึงขอนำบางประเด็นมาแบ่งปันในวันนี้
สืบเนื่องจากในหลายประเทศเริ่มมีการเผาศพผู้ล่วงลับมากขึ้น ด้วยเหตุผลด้านอนามัย
เศรษฐกิจหรือสังคม
คำแนะนำนี้บอกให้เราทราบว่า
“การเผาศพในตัวมันเองมิได้เป็นการปฏิเสธความเชื่อคริสตชนเกี่ยวกับความเป็นอมตะของวิญญาณ
และมิได้ปฏิเสธการกลับคืนชีพของผู้ตายด้วย” พระศาสนจักรนิยมการฝังศพเพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า
“เรารักผู้ล่วงลับ” แต่มิได้ห้ามการเผาศพ นอกเสียจากคนที่เลือกเผาศพเพราะต้องการปฏิเสธความเชื่อ
หรือเพราะความเกลียดชังศาสนาคาทอลิกและพระศาสนจักร อย่างนี้ทำไม่ได้ (กรณีปฏิเสธความเชื่อไม่ทำพิธีปลงศพให้)
ในกรณีที่เลือกการเผาศพ
ต้องเก็บเถ้ากระดูกของผู้ล่วงลับไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คือสุสาน ในวัดหรือในสถานที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ
(โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีปลงศพให้) ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ตายจะได้รับการอธิษฐานภาวนา
และระลึกถึงจากชุมชนวัดตามความเชื่อคริสตชน อีกทั้งเพื่อป้องกันการขาดความเคารพต่ออัฐิสำหรับชนรุ่นหลัง
และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมหรือผิดเพี้ยน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่อนุญาตให้เก็บเถ้าอัฐิไว้ที่บ้านหรือแบ่งให้กับสมาชิกในครอบครัว
อีกทั้งไม่อนุญาตให้โปรยเถ้าอัฐิของผู้ตายในอากาศ ทะเลหรืออย่างอื่น เพราะ “ร่ายกายของผู้ตายไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของญาติหรือของใคร
เขาเป็นบุตรของพระเจ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า
ประชากรของพระเจ้า ในพิธีฝังศพจึงไม่มีพิธีแบบส่วนตัว แต่เป็นพิธีแบบส่วนรวม”
(พระคาร์ดินัล เกอร์ฮาร์ด มุลเล่อร์)
1.
ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ
คำแนะนำนี้ได้ย้ำถึงความเชื่อคริสตชน
ซึ่งเป็นหัวใจของการประกาศสั่งสอนเรื่อยมาตั้งแต่แรกเริ่มของคริสตศาสนา นั่นคือ การเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธรรมล้ำลึกปัสกา อีกทั้งเป็นหลักและต้นตอแห่งการกลับคืนชีพของเราในอนาคตด้วย
ทำให้ความตายของเราคริสตชนมีความหมาย ความตายจึงมิใช่การจบสิ้นแต่รอคอยการกลับคืนชีพ
สำหรับเราคริสตชนการฝังศพจึงเป็นวิธีที่เหมาะสม
เพื่อแสดงถึงความเชื่อและความหวังในการกลับคืนชีพของร่างกาย นอกนั้น การฝังศพในสุสานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยังสอดคล้องกับความศรัทธาและความเคารพต่อร่างกายของผู้ล่วงลับ
ซึ่งอาศัยศีลล้างบาปเราได้กลายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า อีกทั้ง
ยังช่วยสมาชิกในครอบครัวและชุมชนคริสตชนได้อธิษฐานภาวนาและรำลึกถึงผู้ล่วงลับ
นี่คือเหตุผลที่เราพากันมาที่สุสานทุกปี
เพื่อแสดงความเคารพ สวดภาวนาและรำลึกถึงบรรพบุรุษของเรา
ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน ญาติสนิทมิสหาย
ที่เรารู้จักและมีพระคุณต่อเรา วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับจึงถือเป็นวันพิเศษ ที่เราคริสตชนระลึกถึงและภาวนาเพื่อคนที่เรารักซึ่งล่วงหน้าเราไปก่อน
โดยเฉพาะคนที่กำลังอยู่ในไฟชำระเพื่อรอการชำระให้บริสุทธิ์ก่อนไปอยู่กับพระเจ้า
เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) เราสมโภชนักบุญทั้งหลาย
เราแต่ละคนซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ (พระศาสนจักรที่กำลังต่อสู้)
เป็นหนึ่งเดียวกับบรรดานักบุญซึ่งได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์
(พระศาสนจักรที่ได้รับชัยชนะ) และวันนี้ (2 พฤศจิกายน)
เราเฉลิมฉลองความเป็นหนึ่งเดียวกับญาติพี่น้องที่อยู่ในไฟชำระ
(พระศาสนจักรที่กำลังทนทุกข์) ซึ่งความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวนี้รวมเรียกว่า “สหพันธ์นักบุญ”หรือ “ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์”
2. บทเรียนสำหรับเรา
การภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ ที่เราระลึกในวันนี้จึงมีความหมายสำหรับเราคริสตชน
และให้แนวปฏิบัติสำหรับเราหลายประการ
ประการแรก เราต้องเชื่อในการกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพจากความตาย
คือหลักประกันว่าเราเองจะได้รับการยกขึ้นสู่ชีวิต
พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตายแต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น (มธ 22: 31-33) พระองค์ทรงเป็นการกลับคืนพระชนม์ชีพและเป็นชีวิต
(ยน 11:25) เราจึงต้องดำเนินชีวิตเยี่ยงผู้กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์
ด้วยการรู้จักควบคุมความคิด ความปรารถนา คำพูดและความประพฤติของเราให้ถูกต้องชอบธรรมและสะอาดบริสุทธิ์
ไม่ปล่อยตัวตามกิเลสตัณหาและความโน้มเอียงไม่ดีต่างๆ
ประการที่สอง เราต้องรำลึกถึงญาติพี่น้องผู้ล่วงลับอยู่เสมอ ความตายมิใช่จุดจบ แต่เรายังเป็นหนึ่งเดียวกับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
ในสายสัมพันธ์แห่งความเชื่อและความรัก ที่สำคัญ วิญญาณที่อยู่ในไฟชำระไม่สามารถช่วยตนเองให้รอดได้
เป็นหน้าที่และมีเพียงเราเท่านั้นที่สามารถช่วยพวกเขาได้ผ่านทางการภาวนา การเดินรูป
14 ภาค การขอมิสซาและการพลีกรรมใช้โทษบาปในแต่ละวัน
เราจึงไม่ควรระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักของเราเฉพาะแต่ในวันนี้เท่านั้น
ประการที่สาม เราต้องตระหนักในชีวิตของเรา การมารวมกันที่สุสานต่อหน้าหลุมศพญาติพี่น้องของเรา เตือนใจเราว่า
ต่อไปเราต้องเป็นแบบนี้ ไม่มีใครหลีกพ้น นี่คือสัจธรรมแห่งชีวิต
ประการสำคัญ เราไม่รู้ว่าวันเวลาของเราจะมาถึงเมื่อไหร่
เราจึงต้องสร้างบุญสร้างกุศลและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
เพราะมีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่เราสามารถนำติดตัวไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในการดำเนินชีวิตในความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
พระเจ้าจะไม่ถามว่าเราได้ทำอะไรบ้าง แต่จะถามว่า “เราได้รักอย่างไร”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก วันนี้เราระลึกถึงพี่น้องของเราที่กำลังทนทุกข์ในไฟชำระเพราะผลของบาป
เป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างผู้เป็นกับผู้ตาย
ในสายสัมพันธ์แห่งความเชื่อและความรัก ให้เราได้ส่งคำภาวนาและอุทิศส่วนกุศลในพิธีบูชาขอบพระคุณแด่พวกเขา
มิใช่แต่เฉพาะในวันนี้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาและปลดปล่อยพวกเขาให้คู่ควรกับการอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์
ที่สุด
เราต้องตระหนักถึงพระพรแห่งชีวิตที่เราได้รับจากพระเจ้า มีคนเขาบอกว่า “วันเวลาในโลกนี้มีแค่
3 วัน คือ เมื่อวาน ใช้ไปแล้ว วันนี้ กำลังใช้อยู่ และวันพรุ่งนี้
ไม่รู้จะได้ใช้ไหม” เราไม่รู้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้สำหรับเราไหม “โชคดีแค่ไหนที่วันนี้ตื่นมา เรายังมีลมหายใจอยู่” ฉะนั้น
จงขอบคุณพระเจ้าเสมอและทำหน้าที่คริสตชนของเราในแต่ละวันให้ดีที่สุด ความตายจะต้องไม่ทำให้เราหวาดกลัว
แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้เจริญชีวิตอย่างดี ขอพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพ
ได้นำทางชีวิตเราและอวยพรเราทุกคน
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
1 พฤศจิกายน 2016
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น