วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สงฆ์ของพระคริสต์ ในวิสัยทัศน์ของพระสันตะปาปาฟรังซิส

สงฆ์ของพระคริสต์ ในวิสัยทัศน์ของพระสันตะปาปาฟรังซิส
คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล SJ. พระสงฆ์ผู้เทศน์ในการเข้าเงียบประจำปี
1.         มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า เป็นหลักยึดและหลักชัยแห่งชีวิต
ข้าพเจ้าเชื้อเชิญคริสตชนแต่ละคนในวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือสถานที่ใด ให้ฟื้นฟูการพบกับพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว หรืออย่างน้อยให้ตัดสินใจที่จะพบและแสวงหาพระองค์เสมอในแต่ละวัน (EG 3)
พระองค์ทรงให้เราเงยหน้าขึ้นและเริ่มต้นใหม่ ด้วยความรักอันอ่อนโยนที่ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง และทำให้เรามีความชื่นชมยินดีเสมอ ขอให้เราอย่าหนีไปจากการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า อย่าปล่อยให้ตนเองเป็นผู้พ่ายแพ้ ไม่มีสิ่งใดสำคัญยิ่งไปกว่าชีวิตของพระองค์ที่ทรงผลักดันเราไปข้างหน้า (EG 3)
ความเหนื่อยล้าของเราเป็นสิ่งที่มีค่าในสายพระเนตรของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงโอบกอดเราและอุ้มชูเรา... ขอให้เราอย่าลืมว่ากุญแจสำคัญในการทำงานอภิบาลในฐานะพระสงฆ์ให้บังเกิดผลอย่างอุดมนั้น ขึ้นกับว่าเรามีการหยุดพักอย่างไร และเรามองวิธีการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดการความเหนื่อยล้าของเราอย่างไร... การเรียนรู้ว่าจะพักอย่างไรนั้นยากเพียงไร ที่กล่าวมานี้เกี่ยวข้องกับความวางใจและความสามารถในการรับรู้ว่าเราเองก็เป็นลูกแกะ เราต้องการความช่วยเหลือจากผู้เลี้ยงแกะ (Chrism homily in 2015)
2.         มีชีวิตดังชุมพาบาลที่เมตตาและใกล้ชิดผูกพันกับพระชากรของพระเสมอ
ที่ใดก็ตามที่ประชากรของพระเจ้ามีความปรารถนาหรือความต้องการ ที่นั่นจะมีพระสงฆ์ ผู้รู้ว่าจะรับฟังอย่างไร และสำนึกถึงคำสั่งแห่งความรักของพระคริสต์เจ้า ผู้ทรงส่งท่านมาเพื่อสนองความต้องการนั้นด้วยเมตตาธรรม หรือเพื่อส่งเสริมความปรารถนาดีเหล่านั้นด้วยเมตตาธรรมอันอุดมสมบูรณ์ (Chrism Mass, April 17, 2014)
พ่อรู้สึกรำคาญใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นตารางเวลาในวัด “จากเวลานั้น ถึงเวลานี้” และเมื่อไรเล่า? ไม่มีประตูที่เปิดอยู่ ไม่มีพระสงฆ์ สังฆานุกรหรือฆราวาส ที่จะต้อนรับสัตบุรุษเหล่านั้น สิ่งนี้ไม่ดีเอาเลย (Jubilee for deacons, May 29, 2016)
ณ จุดนี้ พ่ออยากให้เราหยุดพักสักครู่เพื่อถามตนเองว่า: เพื่อเห็นแก่ความรักของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ไม่ทรงเหนื่อยล้ากับการให้ความเมตตา ได้โปรดเถิด (Ordination of priests, May 11, 2014)
3.         มีชีวิตที่สมถะเรียบง่าย เป็นบุคคลที่พร้อมเสมอสำหรับทุกคน
สัตบุรุษให้อภัยต่อความผิดพลาดของพระสงฆ์ ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินทอง สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเงินทองเองมากนัก แต่เกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่า เงินทองทำให้เราสูญเสียขุมทรัพย์แห่งเมตตาธรรม (Jubilee for priests, June 2, 2016)
ข้าพเจ้าปรารถนาพระศาสนจักรที่ยากจนสำหรับคนยากจน (EG 198)
 บรรยากกาศการเข้าเงียบ ณ ห้องประชุมอัครสังฆมณฑล 8 พฤศจิกายน 2016
4.         เป็นผู้รู้จักรักและให้ความรัก แบ่งปันความสุขร่าเริงกับทุกคน
เรายังรำลึกถึงวันแห่งความสุขในพิธีบวชเป็นพระสงฆ์ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเจิมเราในพระคริสตเจ้าด้วยน้ำมันแห่งความปีติยินดี และการเจิมนี้เชื้อเชิญให้เรายอมรับและชื่นชมกับพระพรยิ่งใหญ่: ความปีติยินดีแห่งความเป็นพระสงฆ์ (Chrism Mass, April 27, 2014)
ผู้ประกาศพระวรสารจึงต้องไม่ปรากฏให้เห็นใบหน้าที่เหมือนไปงานศพอยู่ตลอดเวลา (EG 10)
เราต้องไม่ปล่อยให้ความชื่นชมยินดีแห่งการประกาศพระวรสารถูกขโมยไป (EG 83)
พ่อวอนขอองค์พระเยซูเจ้าให้รับรู้ยิ่งขึ้นถึงความชื่นชมยินดีแห่งการเป็นสงฆ์ของเรา แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยว่าสิ่งนั้นคือความชื่นชมยินดีแห่งไม้กางเขน... ขอให้ท่านตระหนักถึงความชื่นชมยินดีแห่งการส่งต่อคบเพลิง ความชื่นชมยินดีแห่งการมองเห็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกทางวิญญาณของท่าน และต้อนรับคำสัญญาจากแดนไกล ยิ้มรับอย่างสงบในความยากลำบากอย่างไม่ท้อแท้สิ้นหวัง (Chrism Mass, April 17, 2014)
5.         อุทิศปฏิญาณตัวแก่การประกาศพระวาจาอย่างกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา
คุณลักษณะอีกประการหนึ่งคือ การใช้ภาษาในทางบวก แทนที่จะพูดถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ ผู้เทศน์ควรนำเสนอสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีมากกว่า... บทเทศน์ที่ดีจะให้ความหวังเสมอและนำไปสู่อนาคต โดยไม่ปล่อยให้เราเป็นนักโทษของความคิดทางลบ (EG 159)
6.         ยอมรับในความจำกัดและความอ่อนแอของตนเองแต่ก็ไม่ละทิ้งหนทางแห่งความครบครัน
ความเป็นมนุษย์ของเราเป็นดั่ง “ภาชนะดินเผา” ซึ่งรองรับขุมทรัพย์ของพระเจ้า ภาชนะที่เราต้องหมั่นดูแลรักษาเพื่อส่งต่อสิ่งเลอค่าที่บรรจุอยู่นั้น (Conference on Priesthood, November 20, 2015)
 การเฝ้าศีลมหาสนิทและอวยพรศีลมหาสนิทหลังการเทศน์ ณ วัดน้อยมารดาพระสงฆ์
7.         เมื่อต้องการใช้อำนาจบทบาทของผู้เป็น “สงฆ์” จงกระทำด้วยความเมตตาและรอบคอบ
1)         โรคของผู้ที่คิดว่าตนเอง “เป็นอมตะ” “มีภูมิคุ้มกัน” หรือ “สำคัญมาก” ... คือโรคของทุกคนที่แปลงตนเองเป็นเจ้านาย และรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าทุกคน มิใช่เป็นผู้รับใช้ทุกคน
2)         โรคมาร์ธานิยมหรือโรคบ้างาน ซึ่งเป็นโรคของผู้ที่จมปลักอยู่กับงานและย่อมละเลย “ส่วนที่ดีที่สุด” นั่นคือการนั่งอยู่แทบพระบาทของพระเยซูเจ้า
3)         โรคความคิดและจิตวิญญาณแข็งตัว เป็นโรคของผู้ที่มีหัวใจกลายเป็นหิน และ “คอแข็ง”... หลบซ่อนตนเองอยู่เบื้องหลังแฟ้มเอกสารต่างๆ
4)         โรคการวางแผนมากเกินไปและติดอยู่กับระบบมากเกินไป... ตกอยู่ในการประจญที่จะปิดกั้นหรือจำกัดอิสรภาพของพระจิตเจ้าซึ่งยังคงยิ่งใหญ่อยู่เสมอ พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าแผนการทุกอย่างของมนุษย์
5)         โรคขาดการประสานงานที่ดี เมื่อขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันในระหว่างสมาชิก... ก็จะกลายเป็นเหมือนวงออเครสตร้าที่ส่งเสียงดังวุ่นวาย เพราะบรรดาสมาชิกในวงไม่ร่วมมือกัน
6)         โรคอัลไซเมอร์ทางจิต ซึ่งหมายถึงการลืม “ประวัติศาสตร์แห่งความรอด” หรือ “เรื่องราวส่วนตัวของเรากับองค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือลืม “รักที่เคยมีแต่ก่อน” (วว 2:4)
7)         โรคการแข่งขันและการโอ้อวด ... เราลืมคำกล่าวของนักบุญเปาโลที่ว่า “อย่ากระทำการใดเพื่อชิงดีกันหรือเพื่อโอ้อวด แต่จงถ่อมตนคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายดี จงเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย” (ฟป 2:3-4)
8)         โรคจิตเภทที่ออกจากความเป็นจริง เป็นโรคของผู้ที่ตีสองหน้า... เขาเอาสิ่งที่เขาสอนอย่างจริงจังแก่คนอื่นๆ วางทิ้งไว้ข้างๆ และเริ่มดำเนินชีวิตซ่อนเร้นและบ่อยครั้งนอกลู่นอกทาง
9)         โรคของข่าวลือ การติฉินนินทาและการซุบซิบ ... ในหลายๆ กรณีกลายเป็น “การฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น” ทำลายชื่อเสียงของผู้ร่วมงานและเพื่อนพี่น้องของตน โรคนี้เป็นโรคของผู้ที่ขลาดกลัว ไม่มีความกล้าพอที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับพูดลับหลัง
10)    โรคการยกย่องเทิดทูนบรรดาผู้นำ ... เป็นบุคคลที่รับใช้โดยคิดถึงแต่สิ่งที่พวกเขาจะได้รับ แต่มิใช่สิ่งที่พวกเขาต้องให้
11)    โรคการเมินเฉยต่อผู้อื่น ...เมื่อเราเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างและเก็บไว้กับตนเอง แทนที่จะแบ่งปันแก่ผู้อื่น โรคความอิจฉาริษยาและเล่ห์เหลี่ยมทำให้เรายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นล้มลง แทนที่จะช่วยเหลือเขาให้ลุกขึ้นหรือให้กำลังใจเขา
12)    โรคใบหน้าเหนื่อยหน่ายเศร้าหมอง ...คิดว่าการเป็นคนจริงจังต้องสวมหน้ากากของความเศร้า ความเข้มงวดจริงจัง และปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ด้อยกว่าด้วยความแข็งกระด้างและเย่อหยิ่ง... เราจงอย่าสูญเสียจิตตารมณ์แห่งความชื่นชมยินดีที่รู้จักมีอารมณ์ขันและแม้แต่รู้สึกขำตัวเอง
13)    โรคการสะสม สานุศิษย์ที่แสวงหาการเติมเต็มช่องว่างในหัวใจของเขา โดยการสะสมทรัพย์สินวัตถุซึ่งมิใช่เป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่ก่อให้ความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัย
14)    โรคปิดกั้นแวดวง เมื่อการเป็นสมาชิกกลุ่มเล็กๆ กลับมีพลังมากกว่าการเป็นสมาชิกในพระกายทิพย์... การ “ยิงเพื่อน” พี่น้องด้วยอาวุธเช่นนี้เป็นอันตรายมากที่สุด เป็นความชั่วร้ายที่โจมตีจากภายใน ดังที่พระคริสตเจ้าตรัสว่า “อาณาจักรใดแตกแยกภายใน อาณาจักรนั้นย่อมพินาศ” (ลก 11:17)
15)    โรคผลประโยชน์ทางโลกและชอบอวดอ้าง ... เป็นโรคร้ายของสานุศิษย์ที่เปลี่ยนการรับใช้ให้เป็นอำนาจและต่อรองอำนาจของเขาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางโลก หรือมีอำนาจมากขึ้น
พี่น้องที่รัก โรคร้ายและการประจญต่างๆ เหล่านี้เป็นอันตรายสำหรับคริสตชนทุกคนและสำหรับสันตะสำนัก หมู่คณะ คณะนักบวช เขตวัด รวมทั้งองค์กรต่างๆ ในพระศาสนจักร โรคร้ายเหล่านี้สามารถโจมตีเราทั้งในระดับส่วนตัวหรือหมู่คณะ (Address to the Roman Curia, Christmas, 2014)
8.         หมั่นช่วยเหลือทะนุบำรุงความเลื่อมใสศรัทธาที่ลึกซึ้งในบรรดาบุตรของพระเจ้า
จากความศรัทธาของท้องถิ่น เราจึงเข้าใจได้ว่าความเชื่อที่ได้รับนั้นเกิดขึ้นในวัฒนธรรมหนึ่งอย่างไรและยังคงถ่ายทอดต่อไปอย่างไร ในช่วงระยะเวลาหนึ่งความศรัทธานี้ถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจ แต่แล้วก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าอีกครั้งหนึ่ง (EG 123)
9.         ให้ความสนใจเป็นลำดับต้นๆ แก่พี่น้องที่อยู่ชายขอบของสังคม
ในฐานะพระสงฆ์ พวกเราเป็นประจักษ์พยานถึงและทำงานอภิบาลแห่งเมตตาธรรมอันอุดมของพระบิดาที่เพิ่มทวียิ่งขึ้น เรามีงานแห่งการให้และการปลอบโยนแห่งเมตตาธรรมซึ่งมองเห็นได้ อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ พระผู้ “เสด็จผ่านไปที่ใด ทรงกระทำความดีและทรงรักษาทุกคน” (กจ 10:38) ด้วยวิธีการนับพันเพื่อที่พระองค์จะได้สัมผัสกับทุกคน (Chrism Mass, March 24, 2016)
เราจะต้องปล่อยตัวเองให้เคลื่อนไปตามสถานการณ์เฉพาะของสัตบุรุษ ซึ่งบางครั้งก็เป็นผลจากการกระทำของบุคคลเหล่านั้นเอง ผู้ทรงดำเนินไปท่ามกลางสายตาประชากรและปัญหาของพวกเขา (Jubilee for Priests, June 2, 2016)
10.   คิด พูด และกระทำ ดังศิษย์แท้ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสตเจ้า
ข้าพเจ้าจินตนาการถึง “ทางเลือกเชิงธรรมทูต” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้เพื่อว่าความเคยชิน วิถีการดำเนินชีวิต ตารางเวลาและโครงสร้างของพระศาสนจักรทุกประการ จะกลายเป็นช่องทางเหมาะสมสำหรับการประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน (EG 27)
การปฏิรูปโครงสร้างซึ่งเรียกร้องการกลับใจเชิงอภิบาลนี้ จะเป็นที่เข้าใจได้ในความหมายที่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นธรรมทูตมากขึ้น และงานอภิบาลทั่วไปในหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องขยายและเปิดกว้างมากขึ้น โดยให้หน่วยงานอภิบาลมีทัศนคติของ “การออกไป” อยู่เสมอ และส่งเสริมการตอบรับเชิงบวกต่อมิตรภาพที่พระเยซูเจ้าทรงมองให้ทุกคน (EG 27)
คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล SJ.
บทเทศน์เข้าเงียบประจำปีคณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
สำนักอัครสังฆมณฑลฯ สกลนคร
8 พฤศจิกายน 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น