วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษี

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา ปี C
บสร 35:12-14, 16-18
2 ทธ 4:6-8; 16-18
ลก 18:9-14

บทนำ

คำอุปมาเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี เป็นคำอุปมาที่งดงามเรื่องหนึ่งของพระเยซูเจ้า ซึ่งมีแต่เฉพาะในพระวรสารของนักบุญลูกาเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าถึงลักษณะที่แตกต่างกันในการภาวนาระหว่างฟาริสีกับคนเก็บภาษี

ฟาริสี หมายถึง “คนที่แยกตัวออกจากผู้อื่น” เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในการรักษาความบริสุทธิ์ทางศาสนา สิ่งที่พวกเขาเน้นมากที่สุดคือ การรักษาธรรมบัญญัติและธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัดทุกกระเบียดนิ้ว ถ้าตัดสินตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว พวกเขาคือแบบอย่างที่ดีของชาวยิวทั้งหลาย (เปาโลเองเคยเป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าที่เบียดเบียนกลุ่มคริสตชน: ดู ฟป 3:5-6) การแยกตัวออกจากคนอื่นเช่นนี้ ทำให้เขาคิดว่า “ฉันบริสุทธิ์กว่าคนอื่น” (ดีกว่าคนอื่น) อย่างช่วยไม่ได้

ในทัศนะของฟาริสี “ถ้าจะมีคนดีสองคนในโลก คนนั้นคือฉันและลูกชายของฉัน แต่ถ้ามีเพียงคนเดียวคนนั้นคือตัวฉันเอง” ท่าทีแบบนี้ทำให้พวกฟาริสีเป็นที่รังเกียจ ความหยิ่งจองหองเกิดจากการทำตามกฎบัญญัติอย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นว่าการปฏิบัติตามกฎสำคัญกว่าความรักและความเมตตาต่อผู้อื่น นี่คือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาขัดแย้งกับพระเยซูเจ้าในพระวรสาร พระองค์ไม่ได้ตำหนิคำสอนของพวกเขา แต่ตำหนิที่พวกเขาหยิ่งจองหอง เย็นชา และขาดความรัก

ส่วน “คนเก็บภาษี” เป็นชาวยิวที่เก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน โรมมีวิธีเก็บภาษีโดยการกำหนดอัตราภาษีตายตัวและให้มีการประมูลราคากันเอง ตราบใดที่คนเก็บภาษีจ่ายเงินให้รัฐบาลโรมันตามที่ตกลงกัน เขาสามารถเก็บส่วนที่เหลือไว้เป็นของตน อาชีพเก็บภาษีจึงสร้างรายได้มหาศาล โดยเฉพาะภาษีการใช้สะพาน การใช้ถนน และการเป็นเจ้าของเกวียน สามารถจะเรียกเก็บที่ไหนก็ได้ (เหมือนส่วยทางหลวงบ้านเรา)

สำหรับคนจนที่ไม่มีเงินจ่าย คนเก็บภาษีจะจ่ายล่วงหน้าให้ก่อน และเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทำให้คนนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของเขา คนเก็บภาษีจึงเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป โดยขนานนามว่าเป็น “พวกขี้ฉ้อ ขูดเลือดขูดเนื้อ และเป็นพวกขายชาติ” เพราะทำงานให้กับรัฐบาลโรมัน คนเก็บภาษีจึงจัดอยู่ในระนาบเดียวกันกับโจร ฆาตกร และหญิงโสเภณี

1. การภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษี

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมาเกี่ยวกับฟาริสีและคนเก็บภาษีที่เข้าไปภาวนาในพระวิหารเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความถ่อมตนในการภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่ภาวนาวันละ 4 ครั้ง ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมง และหกโมงเย็น จากวิธีภาวนาของฟาริสีและคนเก็บภาษีได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์

ฟาริสีได้ยืนขึ้นภาวนากับตนเอง ดูเหมือนเขากำลังขอบคุณพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงเขากำลังขอบคุณตนเอง ที่ไม่ได้เป็นขโมยหรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน (วันจันทร์กับวันพฤหัสบดีซึ่งมีตลาดนัดเพื่อให้คนเห็น) และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด (ทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนด) เขามีเจตนาที่จะเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาจึงไม่ใช่คนที่น่ายกย่อง เขามิได้ภาวนาถึงพระเจ้า แต่กำลังสรรเสริญตนเอง โอ้อวด และดูหมิ่นคนอื่น

ส่วนคนเก็บภาษีซึ่งเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว เขารู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด เขาจึงยืนอยู่ห่างๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาป ด้วยเถิด” (God, have mercy on me, a sinner) นี่คือคำภาวนาที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ และเป็นคำภาวนาที่ลึกซึ้งที่สุดด้วย เพราะคนเก็บภาษีสำนึกในความบาปผิดของตน เขาตระหนักในความรักและความเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระเยซูเจ้าทรงสรุปคำอุปมาของพระองค์ ด้วยการกลับคำตัดสินของทุกคนที่มีต่อคนเก็บภาษี “เราบอกท่านทั้งหลายว่าคนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ เพราะว่าผู้ใดยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น” (ลก 18:14) คำอุปมานี้ให้บทเรียนแก่เราในเรื่องความถ่อมตน และการสำนึกในความผิดที่ตนเองกระทำ

คำอุปมานี้สอนเราว่า ความถ่อมใจนำไปถึงความรู้ หากเราต้องการความรู้เพิ่ม เราต้องถ่อมใจลงเหมือนไม่รู้อะไร คนที่ได้ชื่อว่ารู้ทุกสิ่งแล้วไม่อาจเรียนรู้อะไรได้อีกเลย พลาโต้ (Plato: 427-347 BC) นักปรัชญากรีกโบราณกล่าวว่า “คนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด คือคนที่รู้ว่าตัวเขาเองยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายนัก” ยิ่งรู้มากเท่าใด ยิ่งตระหนักถึงความไม่รู้ของตนเองมากขึ้นเท่านั้น

นอกนั้น คำอุปมานี้ยังสอนเราว่า คนที่สำนึกในความผิดของตนจะได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) เช่นเดียวกับนักบุญฟรังซิส อัสซีซี พูดถึงตัวท่านเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” ตรงข้าม คนหยิ่งจองหองและดูหมิ่นคนอื่นไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้สอนเราถึงท่าทีที่ถูกต้องที่เราควรมีเมื่อภาวนา เราจะต้องมีความถ่อมใจและสำนึกในความผิดของเราเหมือนคนเก็บภาษี ที่มองแต่ความผิดของตนเองโดยไม่เปรียบเทียบ ดูถูก หรือกล่าวโทษคนอื่น อีกทั้งไม่ยกตนและสรรเสริญความดีของตนเองเหมือนฟาริสี เพราะเราแต่ละคนต่างเป็นคนบาปที่ต้องการการให้อภัยจากพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น

คำอุปมาของพระเยซูเจ้าสอนเราว่า เราควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อตนเอง ต่อพระเจ้า และต่อเพื่อนพี่น้อง ความหยิ่งจองหองและความภูมิใจในความชอบธรรมของตนเอง เป็นอุปสรรคขวางกั้นระหว่างเรากับพระเจ้า และระหว่างเรากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีคำกล่าวว่า ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้เรามีความถ่อมตน สำนึกว่าเราเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษหรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น


ต้นจามจุรียักษ์ อายุกว่าร้อยปีที่กล่าวกันว่ามีมาก่อนตั้งหมู่บ้านนาบัว

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
22 ตุลาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น