วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การขอบพระคุณพระเจ้า

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา ปี C
2 พกษ 5:14-17
2 ทธ 2:8-13
ลก 17:11-19

บทนำ

อาจารย์ชาวยิว (Rabbi) คนหนึ่งถามประกาศกว่า “ฉันจะพบพระแมสซิยาห์ได้ที่ไหน” ประกาศกตอบว่า “ที่ประตูเมืองท่ามกลางคนโรคเรื้อน” อาจารย์ชาวยิวถามต่อว่า “พระองค์ไปทำอะไรที่นั่น” ประกาศกตอบว่า “พระองค์ทรงเปลี่ยนผ้าพันแผลให้พวกเขา” นี่คือมุมมองเกี่ยวกับพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในทัศนะของ ลอเรนซ์ คุสชเนอร์ (Laurence Kushner) นักเขียนและอาจารย์ชาวยิวในอเมริกา ซึ่งเราเห็นภาพพจน์นี้อย่างชัดเจนในตัวพระเยซูเจ้า พระองค์เสด็จมาเพื่อตามหาคนบาป เป็นเพื่อนกับคนที่ถูกทอดทิ้ง และที่ถูกตัดขาดจากสังคม

สมัยก่อน โรคเรื้อนถือเป็นติดต่อที่ร้ายแรงมาก เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ (ยิ่งกว่าโรคเอดส์ หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในสมัยนี้เสียอีก) คนเป็นโรคเรื้อนเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เหมือนตายทั้งเป็น เพราะต้องตัดขาดจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ต้องแยกตัวออกไปอยู่ในที่เฉพาะ (เช่น ป่าขี้ทูตที่ท่าแร่ หรือนิคมโรคเรื้อนที่โนนสมบูรณ์ จ.ขอนแก่น) กฎหมายของโมเสสกำหนดว่า “ให้บุคคลที่เป็นโรคเรื้อนสวมเสื้อผ้าที่ขาด และให้ปล่อยผม... แล้วร้องว่า “มีมลทิน มีมลทิน” (ลนต 13:45) เพื่อให้คนอื่นรู้ และ “ต้องแยกไปอยู่นอกค่าย” (ลนต 13:46; กดว 5:3) เพื่อป้องกันคนอื่นติดเชื้อ

คำว่า “โรคเรื้อน” ในพระคัมภีร์หมายถึงโรคผิวหนังทุกชนิดที่มีอาการพุพอง ในพันธสัญญาเดิมถือว่านี่คือการลงโทษของพระเจ้า อันเนื่องมาจากบาปที่เขาทำ ในสมัยพระเยซูเจ้า คนโรคเรื้อนยังอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เห็นได้จากเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเยซูเจ้า พวกเขายังต้อง “ยืนอยู่ห่างพระองค์” (ลก 17:12) เพราะอาจารย์ชาวยิวห้ามคนโรคเรื้อนเข้าใกล้เกินกว่า 6 ฟุต

ที่น่าสังเกตคือ ในบรรดาคนโรคเรื้อนสิบคนที่มาหาพระเยซูเจ้า มีอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นชาวสะมาเรีย (ลก 17:16) โดยทั่วไปชาวยิวจะไม่คบค้ากับชาวสะมาเรีย เพราะถือว่าชาวสะมาเรียเป็นยิวที่ไม่บริสุทธิ์เนื่องจากแต่งงานกับคนต่างศาสนา นอกนั้น คำว่า “ชาวสะมาเรีย” ยังเป็นคำที่ใช้แสดงความเกลียดชังและเหยียดหยามคนที่ละเมิดบทบัญญัติ ใครก็ตามที่ไม่รักษาธรรมบัญญัติจะถูกตราหน้าว่าเป็น “ชาวสะมาเรีย” แต่เมื่อเป็นโรคร้ายเหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติเช่นว่านี้ สิ่งเดียวที่ทุกคนต้องการคือการรักษาให้หาย

1. การขอบพระคุณพระเจ้า

เรื่องราวที่เราได้ยินในพระคัมภีร์วันนี้ พูดถึงคนโรคเรื้อน 11 คนที่ได้รับการรักษาให้หาย คนหนึ่งคือนาอามานชาวซีเรียในหนังสือพงษ์กษัตริย์ และอีกสิบคนในพระวรสาร แต่มีเพียง “นาอามาน” และ “ชาวสะมาเรีย” ที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า ทั้งสองเป็นชาวต่างชาติที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาป บ่อยครั้งคนที่เรามองว่าเป็นคนไม่ดี กลับสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้ามากกว่าคนที่ถือว่าเป็นคนชอบธรรม

พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกยินดีที่ได้ยินชาวสะมาเรียคนนี้ สรรเสริญพระเจ้าสำหรับสิ่งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา แต่พระองค์ก็คาดหวังว่าอีกเก้าคนจะทำเช่นเดียวกัน ไมสเตอร์ เอ็คคาร์ต (Meister Eckhart) นักเทววิทยาชาวเยอรมัน เขียนว่า “คำภาวนาที่สำคัญที่สุดในโลกยาวเพียงสองพยางค์คือคำว่า ‘ขอบคุณ’ แต่ดูเหมือนในสังคมที่เราอยู่จะใช้คำนี้น้อยมาก ไม่ใช่แต่กับพระเจ้าเท่านั้นแต่กับคนอื่นด้วย” บรรดาปิตาจารย์สอนว่า “พระเจ้ามีที่ประทับอยู่สองแห่ง คือในสวรรค์และในใจคนที่สำนึกพระคุณ”

เราคริสตชนจึงควรขอบพระคุณพระเจ้า เราภาวนาถึงพระเจ้าทุกวันเพราะเราตระหนักว่า เราได้รับพระพรจากพระเจ้ามากมาย ทุกสิ่งในชีวิตที่เรามีและทุกอย่างที่เราเป็น ล้วนแล้วแต่เป็นของประทานจากพระเจ้าทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงขอบคุณพระเจ้าสำหรับความรักอันยิ่งใหญ่สุดพรรณนาของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองดูกางเขนของพระเยซูเจ้า เราเห็นถึงความรักอันหาที่สุดมิได้ของพระเจ้าที่มีต่อเราแต่ละคน เราไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เลยโดยลำพัง “เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5)

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระเยซูเจ้าทรงรักษาเราจากโรคร้ายของบาปครั้งแล้วครั้งเล่า เราจะไม่สามารถเป็นคริสตชนที่ดีได้หากเราไม่เปลี่ยนแปลงจิตใจของเราให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้า การมาวัดวันอาทิตย์คงไม่ใช่เพราะต้องการถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า หรือต้องการวอนขอสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการ หรือต้องการความบรรเทาใจจากพระเจ้าสำหรับความทุกข์ที่เรากำลังเผชิญ หรือต้องการให้เหมือนคนอื่น “เฮ็ดให้มันคือบ้านคือเมือง” หรือด้วยจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เหตุผลแท้จริงที่ผลักดันเราให้มาวัดคือ เราต้องการมาขอบพระคุณพระเจ้า สำหรับความรักมากมายที่ทรงมีต่อเราเป็นการเฉพาะ สำหรับการให้อภัยบาปครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับพระพรแห่งความเชื่อที่นำเรามาหาพระเยซูเจ้า และสำหรับการนำทางของพระจิต ที่ทำให้เราพบหนทางสู่เมืองสวรรค์ เราจึงมาเพื่อสรรเสริญพระองค์ ผู้ทรงความดีบริบูรณ์และความรักหาที่สุดมิได้

ในการมาร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ หรือการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท (Eucharist) ความหมายที่แท้จริงของศีลมหาสนิทคือ “การขอบพระคุณ” (Thanksgiving) พิธีมิสซาจึงเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า ขอบพระคุณความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา “ทรงหยิบขนมปัง... ทรงหยิบถ้วยเหล้าองุ่น... ทรงขอบพระคุณ และตรัสว่า นี่คือกายของเรา... นี่คือโลหิตของเรา...” ดังนั้น เราจึงต้องขอบพระคุณพระเจ้าทุกเวลา ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม เพราะนี่คือเครื่องหมายแห่งการเป็นคริสตชนที่แท้จริง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เราได้ยินเรื่องราวของคนโรคเรื้อน และการได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ สาระสำคัญของพระวาจาของพระเจ้าในสัปดาห์นี้คือ “การขอบพระคุณ” ข้อที่น่าสังเกตคือ มีเพียงชาวต่างชาติที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและขอบพระคุณพระเจ้า นั่นคือ นาอามานชาวซีเรียที่สำนึกว่าพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราแอลคือพระเจ้าแท้ และชาวสะมาเรียที่สำนึกพระคุณพระเจ้า ขณะที่คนโรคเรื้อนอีก 9 คนไม่ได้มาขอบพระคุณพระองค์

พระเจ้าทรงรักเรา เหตุผลที่ทรงรักเราไม่ใช่เพราะสิ่งที่เรากระทำ แต่เพราะสิ่งที่เราเป็น “ค่าของคน อยู่ที่การเป็นคนของพระเจ้า” พระองค์ทรงรักและดูแลเอาใจใส่เราแต่ละคนจนตลอดนิรันดร์ สิ่งเดียวที่เราจะตอบสนองความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าที่มีต่อเราได้ก็คือ การสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เช่นเดียวกับนาอามานชาวซีเรียและชาวสะมาเรียคนนั้น เราจะต้องขอบพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอ สำหรับการประทับอยู่ของพระองค์ในชีวิตของเรา

ให้เราพร้อมที่จะแสดงออกถึงความขอบพระคุณพระเจ้า ด้วยการประกาศถึงการให้อภัยไม่สิ้นสุดของพระองค์ และความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ ในท่ามกลางเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในสังคม และในหมู่บ้านของเรา เช่นนี้เอง “เราก็จะเป็นน้ำดีหยดหนึ่งในมหาสมุทร ที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรดีขึ้น” (บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา)
ป้ายวัดและถนนเข้าสู่วัดหลังปัจจุบันที่สร้างโดย คุณพ่อสมยศ พาพรหมฤทธิ์ ปี ค.ศ. 2000
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
8 ตุลาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น