วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

 นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

รูปปั้นนักบุญลูกา ที่สักการสถานแม่พระแห่งนักบุญลูกา ที่โบโลนญา อิตาลี

วันนี้ (18 ตุลาคม) พระศาสนจักรให้เราทำการฉลองนักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้ร่วมงานใกล้ชิดของนักบุญเปาโล และผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวก (ที่เล่าถึงการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวกในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะนักบุญเปโตรและเปาโล) นอกนั้น ลูกายังเป็นองค์อุปถัมภ์ของแพทย์ ศิลปิน และจิตกร อันเนื่องมาจากอาชีพและความสามารถพิเศษของท่าน

ลูกาเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด เกิดที่เมืองอันทิโอก ประเทศซีเรีย ในครอบครัวคนต่างศาสนา ภายหลังได้กลับใจเป็นคริสตชนและกลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของนักบุญเปาโลในการประกาศพระวรสาร ด้วยความที่มีอาชีพเป็นแพทย์จึงเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถพิเศษหลายอย่าง เช่น การวาดภาพ ที่มีชื่อเสียงคือภาพวาดแม่พระ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารแม่พระ (Santa Maria Maggiore)
ภาพวาดแม่พระ ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานของนักบุญลูกา ที่อาสนวิหาร Santa Maria Maggiore
ลูกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพราะได้เขียนพระวรสารฉบับที่สาม (ราวปี ค.ศ. 63) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การใช้คำและเรียบเรียงอย่างประณีต ถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้าในรายละเอียดมากที่สุด โดยรวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งข้อมูลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์สมัยพระเยซูเจ้า โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 5 ประการ:

ประการแรก ต้องการชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์โลก โดยได้ลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าย้อนไปจนถึงอาดัม (ลก 3:23-38) นั่นคือตั้งแต่สร้างโลก เพื่อบอกให้ทราบว่าการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก

ประการที่สอง ต้องการบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ของพระเยซูเจ้า (ลก 2:21-51) ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้

ประการที่สาม ต้องการเน้นให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง และคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยการเสนอภาพความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนบาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจนและประณามคนมั่งมีและเอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53; 6:20-26; 12:13-21) ลูกาได้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาของพระเจ้า โดยเฉพาะต่อหญิงคนบาป (ลก 7:37-38) และคนเก็บภาษี (ลก19:1-10)

ประการที่สี่ ต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิงซึ่งสมัยนั้นถูกมองข้ามและไม่มีบทบาทในสังคม โดยเน้นบทบาทของแม่พระ การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ การเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1:26-56) และการประสูติของพระเยซูเจ้า (ลก 2:1-20) นอกนั้น ลูกายังได้บันทึกเรื่องราวของหญิงม่าย (ลก 7:11-17; 21:1-4) และบทบาทของผู้หญิงที่ติดตามพระเยซูเจ้าและในหมู่สาวกของพระองค์ (ลก  8:1-3; 24:10)

ประการที่ห้า ต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นสากล (ลก 4:43) มาถึงคนทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง (ลก 6:17) โดยเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ซึ่งเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้า

ลูกาได้แสดงให้เราเห็นว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องพร้อมที่จะแบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ในการเป็นเครื่องมือแห่งความรักและความเมตตาของพระองค์ในการประกาศข่าวดี และท่านได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิตของท่าน เราแต่ละคนถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีนี้เช่นเดียวกัน ให้เราวิงวอนท่านนักบุญลูกา เพื่อเราจะสามารถเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
17 ตุลาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น