วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

แม่พระ: ทุกข์ที่เป็นแบบอย่าง

วันที่ 15 กันยายน ระลึกถึงแม่พระมหาทุกข์ ความจริงตั้งใจจะเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแม่พระ เมื่อวานได้รับความทุกข์มาแบบคาดไม่ถึง (จักรยานล้ม หัวเข่าแตก ข้อมือซ้น) ทำให้พิมพ์งานได้ลำบาก จึงขอนำข้อเขียนของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เขียนลง "อุดมศานต์" เมื่อยี่สิบเอ็ดปีก่อนมาลงแทน เห็นว่ามีแง่คิดบางอย่างที่น่าสนใจและยังใช้ได้ในปัจจุบัน
พ่อขวัญ

รูปปั้นจำลอง "แม่พระมหาทุกข์" (La Pietà) ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน, นครรัฐวาติกัน

แม่พระ: ทุกข์ที่เป็นแบบอย่าง

โดย ดานีแอล

นับเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวที่จะกล่าวถึงชีวิตของแม่พระต่อคริสตชนในสมัยปัจจุบัน บรรดานักบุญและคริสตชนที่ยิ่งใหญ่ทั้งชายและหญิงล้วนได้รับพระพรและความช่วยเหลือจากแม่พระ และคริสตชนทุกคนต่างก็ตระหนักในความสำคัญข้อนี้ดี

เราทุกคนต่างทราบดีว่า แม่พระเป็นแม่ของพระเยซูเจ้า เป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างให้มีเลือดเนื้อและชีวิตที่แท้จริง ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่มีความศรัทธาแรงกล้าและถูกกำหนดให้เป็นแม่ของพระผู้ไถ่ และที่สำคัญก็คือแม่พระเป็นแม่ของชาวเราทุกคน ที่คอยดูแลช่วยเหลือลูกๆ ของพระนางเช่นเดียวกับแม่ที่รักและห่วงใยลูกทั้งหลาย เป็นแม่พระเองที่ค้ำจุนพระศาสนจักรและทำให้พระศาสนจักรเข้มแข็ง

บทมักนีฟิกัตของแม่พระ แม้ในสมัยของเรานี้ยังเป็นการประกาศถึงเหตุการณ์อันน่าชื่นชมยินดีสำหรับมวลมนุษย์

“พระองค์ทรงยกพระหัตถ์แสดงฤทธานุภาพ ทรงขจัดผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจายไป พระองค์ทรงผลักไสบรรดาผู้ทรงอำนาจออกจากบัลลังก์ และทรงยกย่องคนใจสุภาพ พระองค์ทรงชุบเลี้ยงคนอดอยากให้อิ่มหนำด้วยโภคทรัพย์ และทรงขับเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า” (ลก 1:51-53)

เหตุการณ์ในชีวิตของแม่พระเมื่อ 2000 ปีก่อนก็เหมือนกับเหตุการณ์ของโลกในสมัยของเรานี้ จากข้อความในพระคัมภีร์เราพบว่า ครอบครัวของแม่พระถูกทหารตามฆ่า พระกุมารเยซูถูกหมายปองชีวิต เพราะความหลงอำนาจของเฮโรด และต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกันดารอาหาร หรือโรคระบาด เช่นเดียวกับหลาย ๆ ครอบครัวในโลกปัจจุบันนี้

ชีวิตครอบครัวของแม่พระกับนักบุญยอแซฟ ก็ใช่ว่าจะราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบปราศจากปัญหาความวิตกทุกข์ร้อน หรือการดิ้นรนต่อสู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เหมือนดังเช่นครอบครัวในสมัยปัจจุบัน ตรงข้าม แม่พระและนักบุญยอแซฟต่างรู้ดีถึงความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ในชีวิตครอบครัว แม่พระและนักบุญยอแซฟรู้ดีถึงความเจ็บปวดของการพลัดพรากจากลูกสุดที่รักของหลายๆ ครอบครัว เมื่อพระกุมารเยซูบุตรของพระนางหายไประหว่างการไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งสองคงจะทำใจและเตรียมพร้อมสำหรับเผชิญกับเหตุร้ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพระกุมาร เช่นเดียวกับพ่อแม่ทั้งหลายที่ลูกถูกลักพาตัวโดยกลุ่มก่อการร้าย หรือผู้นิยมความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งพบเป็นข่าวเสมอตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกส่วนของโลกไม่เว้นแต่ละวัน

“พระกุมารเยซูยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือว่าพระองค์ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมที่น่าสยดสยองไปแล้ว” “จะได้พบพระองค์อีกไหม” คำถามเหล่านี้คงจะดังก้องอยู่ในจิตใจของท่านทั้งสอง แน่นอนว่า แม่พระเข้าใจดีถึงความยากลำบากและทุกข์ใจเหล่านี้ และในระหว่างที่พระเยซูเจ้าโต้เถียงกับพวกนักปราชญ์ในพระวิหาร บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านของพระองค์ที่พบเห็นพระองค์คงจะห้ามปรามพระองค์หลายครั้ง เพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวโต้เถียงกับพวกนักปราชญ์ และคงจะพาลโกรธแม่พระที่ไม่ดูแลเอาใจใส่ ที่สุดเรื่องนี้ก็คงจะกลายเป็นเรื่องซิบซิบนินทากันสนุกปากในระหว่างพวกเขา

ในพระวรสารโดยนักบุญมาระโก บทที่ 3 เราพบว่า พวกเพื่อนและญาติพี่น้องของพระองค์ต่างพากันหมายจะจับพระองค์ เพราะเข้าใจว่าพระองค์เสียสติแล้ว เหตุการณ์ตอนนี้คงจะนำความเจ็บปวดมาสู่แม่พระและนักบุญยอแซฟเป็นอย่างมาก และอีกหลายต่อหลายครั้งที่แม่พระต้องเผชิญกับความยากลำบากและความเจ็บปวดในชีวิต

เราทราบว่าเมื่อแม่พระและนักบุญยอแซฟถวายพระกุมารในพระวิหาร ผู้เฒ่าซีเมออนได้บอกกับแม่พระว่า “พระเจ้าทรงเลือกสรรกุมารนี้ เพื่อเป็นเหตุให้หลายคนในชาติยิวถึงแก่หายนะ และให้อีกหลายคนรอด ทั้งจะเป็นเครื่องหมายสำคัญจากพระเจ้าซึ่งคนเป็นอันมากจะต่อต้าน แล้วเปิดเผยความในใจของเขา ส่วนท่านความทุกข์นั้นจะเป็นเหมือนดาบคมกริบ ทำลายดวงจิตของท่านให้แตกสลายไป” (ลก 2:34-35)

นี่เป็นคำทำนายถึงเหตุการณ์และความทุกข์ซึ่งแม่พระจะได้รับ และแม่พระก็ได้รับความทุกข์ทรมานที่ยิ่งใหญ่นั้นจริงๆ ตั้งแต่แรกเริ่มที่แม่พระรู้ว่าจะเป็นแม่ของพระผู้ไถ่ แต่แม่พระก็มีความเชื่อที่เข้มแข็ง มีความอดทนเยี่ยงวีรสตรีและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ซึ่งทำให้แม่พระสามารถทนความไม่เข้าใจ และความเจ็บปวดดังกล่าวได้

แม่พระเป็นแบบอย่างแก่เราคริสตชนอย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นมารดาของพระศาสนจักรและของมนุษยชาติ ฉะนั้นควรอย่างยิ่งที่เราซึ่งเป็นคริสตชนจะได้ยึดพระนางเป็นแบบอย่าง และพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับความลำบากในชีวิตเยี่ยงพระนาง… แม่สุดที่รักยิ่งของเรา

อุดมศานต์, ปีที่ 69 ฉบับที่ 8, (สิงหาคม, 2532). หน้า 19-21.
La Pietà (ของจริง) ผลงานชิ้นเอกของไมเกิ้ล อัลเจโล ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น