กางเขน
บันไดสู่สวรรค์
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
ปี A
|
ยรม 20:7-9
รม 12:1-2
มธ 16:21-27
|
บทนำ
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนักบุญเปโตร
ในห้วงเวลาที่จักรพรรดิ์เนโรเบียดเบียนศาสนาอย่างรุนแรงในกรุงโรม บรรดาคริสตชนได้ขอร้องให้เปโตรหนี
“ท่านสำคัญและมีค่ามาก ขอท่านได้หนีไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อจะได้ประกาศพระวรสารต่อไป”
เปโตรปฏิบัติตามทันที โดยเดินทางอย่างรีบเร่งจากกรุงโรมไปตามเส้นทางสายอับเพียน และได้พบกับชายคนหนึ่งซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าไปในเมือง
เปโตรถามชายนั้นว่า
“ท่านกำลังไปไหน” (Quo vadis, Domine?) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า
“เรากำลังไปกรุงโรมเพื่อให้เขาตรึงกางเขนกับประชาชนของเรา แล้วท่านละเปโตรกำลังไปไหน”
เปโตรสำนึกได้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า ร้องไห้เสียใจและรีบเดินทางกลับไปยังกรุงโรม ที่สุด
ได้ถูกตรึงกางเขนแบบเอาหัวลงที่เนินวาติกัน เพราะสำนึกว่าตนเองไม่คู่ควรตายแบบเดียวกับพระอาจารย์
พระเยซูเจ้าทรงถามเราด้วยเช่นกันว่า
“ท่านกำลังไปไหน” เรากำลังติดตามพระองค์อยู่ หรือกำลังหนีพระองค์และไม้กางเขนของพระองค์
พระองค์ได้เลือกหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ ผ่านทางกางเขนทรงได้รับชัยชนะ
เราคริสตชนไม่สามารถได้รับเกียรติรุ่งโรจน์หากไม่ผ่านหนทางแห่งไม้กางเขน “ผ่านทางกางเขนสู่สว่าง” (Per Crucem ad Lucem) ทำให้ความยากลำบากต่างๆ
ในชีวิตมีความหมาย
1.
กางเขน บันไดสู่สวรรค์
“ไม้กางเขนเป็นบันไดสู่สวรรค์” (The cross is a ladder
leads to heaven) เป้าหมายของพระเยซูเจ้าในการเสด็จมาในโลกคือหนทางแห่งไม้กางเขน
ทรงตรัสกับบรรดาศิษย์ว่าจะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับทรมานจากผู้มีอำนาจ “จะถูกประหารชีวิต
แต่จะทรงกลับคืนชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจและรับไม่ได้
เพราะต่างมุ่งหวังตำแหน่งทางการเมือง ไม่เข้าใจถึงหนทางแห่งไม้กางเขนและความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพระองค์
บ่อยครั้งในชีวิตเรามักเข้าใจว่ากางเขนเป็นอุปสรรค ที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือขจัดทิ้งไป
เหมือนเปโตรที่พยายามขัดขวางพระเยซูเจ้า “ขอเถิด พระเจ้าข้า
เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” (มธ 16:22) เพราะหวังว่าพระองค์จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมากอบกู้ชาติ
แต่ภายหลัง เปโตรได้เข้าใจว่ากางเขนเป็นหนทางสู่ชีวิตนิรันดร และท่านได้เลือกหนทางนี้
ถูกตรึงกางเขนแบบกลับหัวเป็นมรณสักขี
พระเยซูเจ้าทรงตรัสชัดเจนและทรงอำนาจ “ถ้าผู้ใดอยากตามเรามา
ก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24) บนไม้กางเขนพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นถึงธรรมชาติพระเจ้าและมนุษย์ของพระองค์
ในความรักยิ่งใหญ่ที่มีต่อมนุษยชาติ ทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายและการประหารอันน่าสะพรึงกลัว
เป็นเครื่องหมายแห่งความรักและการให้อภัย “พระบิดาเจ้าข้า
โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนหลายอย่างสำหรับเราคริสตชน
ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก จงเลิกนึกถึงตนเอง เราต้องปฏิเสธตัวเองและตอบรับต่อพระเจ้า ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้งหรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง
แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด
“พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3:30) เมื่อเปรียบเทียบกับพระเจ้าแล้วเราไม่มีอะไรที่ต้องอวดตัว
นอกจากกล่าวเหมือนเปโตรว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า
เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)
ประการที่สอง จงแบกไม้กางเขนของตน เราแต่ละคนมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องแบกในชีวิต
นี่คือกางเขนที่เราต้องแบกในแต่ละวัน ต้องละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว สิทธิพิเศษ และเกียรติยศชื่อเสียงเพื่อเห็นแก่พระคริสตเจ้า
เราต้องติดตามพระองค์ด้วยหัวใจทั้งครบ บนหนทางแห่งไม้กางเขนในทุกสถานการณ์แห่งชีวิต
เพราะหากไม่มีกางเขนย่อมไม่มีมงกุฎ ผ่านทางไม้กางเขนเท่านั้น เราถึงได้รับเกียรติรุ่งโรจน์
ประการที่สาม จงให้อภัยซึ่งกันและกัน บนไม้กางเขนพระเยซูเจ้าได้ให้อภัยผู้ที่กำลังประหารพระองค์ ทุกครั้งที่เรามองดูไม้กางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน
ต้องเตือนเราให้เลียนแบบพระองค์ในการให้ภัยความผิดของกันและกัน เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของสันติสุข
ดังสุภาษิตแอฟริกาที่ว่า “ผู้ที่ให้อภัยยุติความขัดแย้ง” (He, who forgives, ends
the quarrel.) สำหรับเราคริสตชน การให้อภัย หมายถึง การลืม
ไม่จดจำความผิด และยกโทษด้วยใจจริง
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ไม้กางเขนเป็นบันไดสู่สวรรค์
เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้า ผ่านทางการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า
ที่ทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก การให้อภัย
และความรอดนิรันดร คริสตชนถูกเรียกร้องให้ดำเนินชีวิตซื่อสัตย์ มีความปรารถนาร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า
และพร้อมติดตามพระองค์ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งความรัก
เราได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวก
เราต้องไม่เป็นเครื่องกีดขวางหนทางของพระเยซูเจ้า แต่เป็นพยานถึงพระองค์ในการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน
ไม่คิดถึงตนเอง และแบกไม้กางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ประการสำคัญ เราต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์บนไม้กางเขน
ที่ทรงวอนขอพระบิดาได้ให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ ทั้งนี้เพราะ การให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso, วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์
2 กันยายน 2017ภาพประกอบ: เดินรูป 14 ภาค, ลูร์ด ฝรั่งเศส; 2012-09-29
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น