นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร
18 ตุลาคม ฉลอง น.ลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร |
2 ทธ 4:10-17 ลก 10:1-9 |
นักบุญลูกา
ผู้นิพนธ์พระวรสาร และหนังสือกิจการอัครสาวก ที่เล่าการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวกในระยะเริ่มแรก
ลูกาเป็นคนมีความรู้สูงเนื่องจากมีอาชีพเป็นนายแพทย์ และมีความสามารถหลายอย่าง
เช่น การวาดภาพ ที่มีชื่อเสียงคือภาพวาดพระนางมารีย์
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารพระนางมารีย์ (Santa Maria Maggiore) กรุงโรม ลูกาเป็นองค์อุปถัมภ์ของนายแพทย์ ศิลปิน และจิตกร
ลูกาเกิดที่เมืองอันทิโอก (กจ 11:19-21) ในครอบครัวคนต่างศาสนา
ได้กลับใจเป็นคริสตชนเป็นพวกแรก และกลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของเปาโลในการประกาศข่าวดี
(กจ 16:10) ได้ร่วมในการเดินทางไปแพร่ธรรมครั้งที่สาม
(กจ 20:5-21:16) อีกทั้งได้อยู่กับเปาโลตอนถูกส่งตัวไปกรุงโรมในฐานะนักโทษ และต้องเผชิญกับเรือแตกที่มอลต้า (กจ 27:1-28:14) เชื่อกันว่า ลูกาได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่โบเอโอเทีย
(Boeotia) มีวันฉลอง 18 ตุลาคม
ลูกาได้เขียนพระวรสารฉบับที่สาม ระหว่างปี 70-80 ใกล้กับเมืองอาเคอา
(Achea) ใกล้กรุงเอเธนส์ โดยรับรู้เรื่องราวของพระเยซูเจ้าจากเปโตรและประสบการณ์งานอภิบาลจากเปาโล
พระวรสารของลูกามีลักษณะเด่นที่การใช้คำและเรียบเรียงอย่างประณีต
ถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้าในรายละเอียดมากที่สุด
โดยรวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งข้อมูลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง โดยมีจุดประสงค์สำคัญ
5 ประการ
ประการแรก ต้องการเน้นคำสอนของพระเยซูเจ้า เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าเป็น “ความรอดของมนุษยชาติ” (Salvation of mankind) และเป็นบุคคลสำคัญของโลก
โดยได้ลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าย้อนไปจนถึงอาดัม บรรพบุรุษของมนุษยชาติ (ลก
3:23-38) เพื่อบอกให้ทราบว่า การเสด็จมาของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก
ประการที่สอง ต้องการบันทึกเรื่องราววัยเยาว์ของพระเยซูเจ้า (ลก 2:21-51) ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้เพื่อย้ำว่า การบังเกิดมาของพระองค์มิใช่นำสันติมาให้ชาวยิวเท่านั้น
แต่สำหรับมนุษยชาติ ดังบทเพลงที่สิเมโอนกล่าว “เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น
ผู้ซึ่งพระองค์ได้จัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” (ลก 2:30-31)
ประการที่สาม ต้องการเน้นการเสด็จมาช่วยคนยากจน คนถูกกดขี่ และคนไม่ได้รับความเป็นธรรม
โดยรเสนอภาพความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนปาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจน
และประณามคนมั่งมีที่เอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53;
6:20-26; 12:13-21) และคนเก็บภาษี (ลก 19:1-10)
ประการที่สี่ ต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิง ซึ่งถูกมองข้ามและไม่มีบทบาทในสังคม
โดยเน้นบทบาทของพระนางมารีย์ การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ การเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1:26-56) และการประสูติของพระเยซูเจ้า (ลก 2:1-20) นอกนั้น ยังได้บันทึกเรื่องราวของหญิงม่าย
(ลก 7:11-17; 21:1-4) และบทบาทของผู้หญิงที่ติดตามพระเยซูเจ้า
(ลก 8:1-3)
ประการที่ห้า ต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นสากล (ลก 4:43) มาถึงคนทุกชาติไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง (ลก 6:17) โดยเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ซึ่งเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้า
พระวรสารของนักบุญลูกามีความหมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งลูกาได้แสดงพระเยซูเจ้าเป็นความรอดและแสงสว่างสำหรับนานาชาติ
โดยอ้างประกาศกอิสยาห์มากกว่าที่มัทธิวและมาระโกอ้าง “แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า” (ลก 3:6) อีกทั้งได้ย้ำคำแนะนำสุดท้ายของพระเยซูเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก “จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์
ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47)
นักบุญลูกาได้แสดงให้เห็นว่า คริสตชนต้องพร้อมแบกกางเขนของตนติดตามพระเยซูเจ้าทุกวัน
เป็นเครื่องมือแห่งความรักและความเมตตาของพระองค์ในการประกาศข่าวดี และลูกาได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิตของตน ศิษย์พระคริสต์ต้องประกาศข่าวดี และดำเนินชีวิตเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน
ในการช่วยเหลือคนยากจน คนถูกกดขี่และไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
ID LINE : dondaniele
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย-หนองสนุก, สกลนคร
16
ตุลาคม 2023
ที่มาภาพ : https://themiscellany.org/luke
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น