อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
ปี A
|
กจ 2:14ก,
36-41
1 ปต 2:20ข, 25
ยน 10:1-10
|
บทนำ
ระหว่างสงครามเกาหลี
มีทหารคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บใกล้ตาย เขาได้ร้องหาพระสงฆ์
แต่แพทย์สนามหาพระสงฆ์ไม่พบ ทหารบาดเจ็บอีกคนหนึ่งได้ยินเสียงร้องจึงพูดว่า “ผมเป็นพระสงฆ์”
แพทย์สนามหันไปทางเสียงนั้นพบว่า เขาได้รับบาดเจ็บยิ่งกว่าอีกและเตือนว่า “อย่าขยับเขยื้อน
เพราะอาจทำให้คุณตายได้” แต่พระสงฆ์ตอบว่า “วิญญาณของมนุษย์คนหนึ่ง
มีค่ายิ่งกว่าเวลาแห่งชีวิตของผม” จากนั้น ได้คลานไปยังทหารบาดเจ็บ
ฟังคำสารภาพบาปและยกบาปให้ ก่อนทั้งคู่จับมือกันแน่นและสิ้นใจ
สัปดาห์นี้เราฉลองพระเยซูเจ้าผู้เลี้ยงแกะที่ดี
พระศาสนจักรเรียกเราให้ไตร่ตรองความหมายแห่งการเรียกของพระเจ้า
และอธิษฐานภาวนาเพื่อกระแสเรียกเป็นพิเศษ อีกทั้งเตือนใจเราว่า ในฐานะคริสตชน
เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมกระแสเรียก พระคัมภีร์ได้ใช้ภาพพจน์ของ “ผู้เลี้ยงแกะ”
เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระเจ้ากับประชากรอิสราแอล
อาชีพเลี้ยงแกะเป็นอาชีพหลักและสำคัญอาชีพหนึ่งในปาเลสไตน์
ชาวยิวเลี้ยงแกะเพื่อตัดขนมากกว่าเป็นอาหาร
แกะแต่ละตัวมีอายุยืนและอยู่กับคนเลี้ยงนานจนจำชื่อได้ทุกตัว
ปกติคนเลี้ยงเดินนำหน้าฝูงแกะเพื่อให้แน่ใจว่า ทางข้างหน้าปลอดภัย
และคอยส่งเสียงเป็นครั้งคราวให้แกะรู้ตำแหน่งที่อยู่ของตน
ลักษณะพิเศษของแกะคือฟังเสียงและติดตามคนเลี้ยงเสมอ หากได้ยินเสียงไม่คุ้นเคยจะหยุด และหันหลังวิ่งหนีทันทีหากได้ยินเสียงนั้นอีกครั้ง
1.
พระเยซูเจ้า ผู้เลี้ยงแกะที่ดี
ภาพพจน์เรื่องผู้เลี้ยงแกะและฝูงแกะรู้จักแพร่หลายในพระคัมภีร์
ตั้งแต่แรกเริ่มชาวยิวมองว่า พระเจ้าคือผู้เลี้ยงทรงเลี้ยงดูพวกเขาดุจลูกแกะ
(สดด 23) ต่อมาคำว่า “ผู้เลี้ยงแกะ”
ได้ใช้หมายถึงผู้นำชาวยิว ซึ่งเป็นตัวแทนของพระยาห์เวห์ในโลก แต่ในความเป็นจริง
ผู้เลี้ยงแกะเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้เลี้ยงที่ดีสมกับเป็นตัวแทนของพระองค์ ในพันธสัญญาใหม่พระเยซูเจ้าทรงเรียกผู้ติดตามและฟังพระองค์ว่า
“ฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง” (มก 6:34) และได้เปิดเผยว่า พระองค์เป็น “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11)
พระวรสารวันนี้
พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่าทรงเป็นทั้ง “ผู้เลี้ยงแกะ” และ “ประตูคอกแกะ”
การเป็นผู้เลี้ยงแกะแสดงความเป็นเจ้าของแกะซึ่งต่างจากคนรับจ้างทั่วไป
ทรงเรียกชื่อแกะแต่ละตัว แกะเหล่านั้นจำเสียงพระองค์ได้ ประการสำคัญ
พระองค์ทรงยอมตายเพื่อฝูงแกะ ส่วนการเป็น “ประตูคอกแกะ”
แสดงถึงความเป็นผู้นำของพระองค์ในการนำฝูงแกะมาหาพระบิดาเจ้า
และปกป้องคุ้มครองแกะให้ปลอดภัย
“เราเป็นประตู
ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น” (ยน 10:9) นั่นหมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนทาง
เป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์และทรงเชิญเราให้เดินตรงไปยังพระองค์
ผ่านทางพระองค์เราได้รับการช่วยให้รอด
เพราะพระองค์คือหนทางนำไปสู่ชีวิตสมบูรณ์ครบครัน
ผ่านทางพระองค์เท่านั้นทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับฝูงแกะคือพระศาสนจักร และได้รับการพิทักษ์คุ้มครองให้ได้รับความรอด
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องเป็นผู้เลี้ยงและผู้นำที่ดี เราสามารถเป็นผู้เลี้ยงที่ดีได้ในความรักต่อเพื่อนมนุษย์ อธิษฐานภาวนาเพื่อเขา ให้เวลาและใช้พระพรพิเศษที่มีเพื่อผู้อื่น
ดูแลและปกป้องเขาให้ได้รับความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ บิดามารดาต้องดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่างดีแก่บุตรหลานและเลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตในความเชื่อคริสตชน
ส่งเสริมความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในครอบครัว สังคม หรือหมู่คณะ
ประการที่สอง เราต้องเป็นแกะดีในฝูงของพระเยซูเจ้า ด้วยการฟังเสียงผู้เลี้ยงของเรา อย่างบิดามารดา ครูบาอาจารย์
เจ้าอาวาส หรือพระสังฆราช
ปฏิบัติตามคำแนะนำและร่วมมือกับท่านในงานหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความรับผิดชอบ
ไม่หลงไปตามเสียงอื่น เช่น เสียงของความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง ความมักได้เห็นแก่ตัว
หรือความสะดวกสบายฝ่ายโลก
ประการที่สาม เราต้องอธิษฐานภาวนาเพื่อกระแสเรียกและชีวิตผู้อภิบาล
พระศาสนจักรกำหนดให้สัปดาห์นี้เป็นเวลาของการอธิษฐานภาวนาเพื่อกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์
และชีวิตแห่งการอุทิศตนเพื่อพระเจ้า
คริสตชนแต่ละคนมีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนกระแสเรียก “แม้เราเป็นนักบวช หรือพระสงฆ์ไม่ได้
แต่เราสามารถสนับสนุนใครบางคนให้เป็นนักบวช หรือพระสงฆ์ที่ดีได้”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก
พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ทรงรักและรู้จักแกะทุกตัว
ทรงดูแลเอาใจใส่แกะแต่ละตัวอย่างดี
และทรงปกป้องฝูงแกะจากสุนัขป่าและอันตรายด้วยชีวิตของพระองค์ ไม่ทิ้งฝูงแกะหนีไป
ปล่อยให้แกะอยู่ตามยถากรรม หรือเผชิญอันตรายตามลำพังเหมือนผู้รับจ้างทั่วไป
แต่ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้แกะทุกตัวปลอดภัยและไม่กระจัดกระจายไป เพื่อว่า “จะมีแกะเพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว” (ยน
10:16)
คริสตชนต้องมีชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและฟังเสียงของพระองค์
ผ่านทางการอธิษฐานภาวนา การอ่านพระคัมภีร์ และการร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบความรักของผู้เลี้ยงแกะที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้อื่น
ดำรงตนในความรักของพระองค์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักซึ่งกันและกัน “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน
ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:35)
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลปัสกา การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 68-71.
ที่มาภาพ : https://achristianpilgrim.files.wordpress.com/2015/04/jesus-good-shepherd-15.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น