การเป็นพยานชีวิต
อังคาร สัปดาห์ที่ 2
เทศกาลมหาพรต
|
อสย
1:10,
16-20
มธ
23:1-12
|
พวกธรรมาจารย์
มีอาชีพศึกษาและอธิบายธรรมบัญญัติและธรรมประเพณี รวมถึงออกกฎเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติ เช่น วันสับบาโตห้ามทำการ 39 อย่าง อาทิ
ห้ามเก็บเกี่ยว ห้ามนวดข้าว รวมถึงการเด็ดรวงข้าวและขยี้เมล็ดข้าว (ลก 6:1-2)
มีการกำหนดระยะทางที่เดินได้ในวันสับบาโต (กจ 1:12) คือประมาณ 1 ก.ม.
พวกธรรมาจารย์ยุ่งอยู่กับการรักษาระเบียบหยุมหยิมของธรรมประเพณีเหล่านี้
จนลืมรากฐานสำคัญของบทบัญญัติ (มก 7:1-13, 3:4-5)
ชาวฟาริสี เป็นพวกเคร่งในการรักษาความบริสุทธิ์ทางศาสนา เน้นการรักษาธรรมบัญญัติและธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัด
ทำให้ต้องแยกตัวออกจากคนอื่นและคิดว่า “ฉันบริสุทธิ์กว่าทุกคน” ท่าทีแบบนี้ทำให้ชาวฟาริสีเป็นที่รังเกียจ เพราะเน้นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายนอกมากกว่าความรักและความเมตตาต่อผู้อื่น
มีคำพูดที่สะท้อนตัวตนของฟาริสี “หากโลกนี้มีคนดีเพียงสองคน
คนหนึ่งคือฉันกับลูกชายของฉัน หากโลกนี้มีคนดีเพียงคนเดียว คนนั้นคือฉันเอง”
พระวรสารวันนี้
พระเยซูเจ้าทรงตำหนิพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี
รวมถึงเราแต่ละคนที่ทำทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นเห็นและยกย่องชมเชย เข้าทำนอง “ทำบุญเอาหน้า
ภาวนากันตาย”
ไม่ได้มาจากความรัก หรือความสัมพันธ์แท้จริงต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ “ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด
ท่านจงปฏิบัติตามเถิด แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูดแต่ไม่ปฏิบัติ”
(มธ 23:3) พระองค์ไม่ได้ตำหนิคำสอนของพวกเขา แต่ตำหนิที่พวกเขาหยิ่ง
เย็นชา และขาดความรัก
พระวรสารทุกตอนเขียนขึ้นเพื่อพระศาสนจักร
พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีคือตัวเราแต่ละคนที่ถือตามระเบียบกฎเกณฑ์แต่ภายนอก
แต่ขาดการเป็นพยานชีวิต จัดอยู่ในประเภท “ดีแต่พูด” มิได้นำสิ่งที่เทศน์สอนมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
ขาดความรักและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
บุคลากรของพระศาสนจักรได้แก่ พระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวช
ที่ต้องดำเนินชีวิตเป็นพยานอย่างแท้จริง “จงสอน สิ่งที่ลูกเชื่อ และจงปฏิบัติ
สิ่งที่ลูกสอน”
สังคมทุกวันนี้ต้องการ “การเป็นพยานชีวิต”
ที่ดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่าง เนื่องจากคำพูดและการเทศน์สอนอย่างเดียวไม่พอ
หากผู้พูดมิได้นำมาปฏิบัติจริงในชีวิตให้เห็น ทั้งนี้เพราะ “การกระทำย่อมดังกว่าคำพูด” โดยเฉพาะคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงและมีหน้าที่การงานใหญ่โต
พระเยซูเจ้าทรงสอนให้รับใช้ “ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่
จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:26) นี่คือบทสรุปชีวิตและแบบอย่างของพระองค์ผู้เสด็จมาเพื่อรับใช้ผู้อื่น
(มธ 20:28) และมอบแบบอย่างนี้แก่เราในการล้างเท้าอัครสาวก
(ดู ยน 13:1-15)
พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า ตำแหน่งหมายถึงภาระหน้าที่มิใช่เกียรติยศ
ต้องรับใช้มากกว่าตั้งตนเป็นนาย
สำหรับคริสตชนเพื่อบรรลุถึงชีวิตนิรันดรต้องถ่อมตัวเองลง รับใช้ผู้อื่น เพราะชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่อุทิศตนรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ดังตัวอย่างของนักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตาที่สอนว่า “การรับใช้คือความรักในภาคปฏิบัติ” และนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของ “ข้ารับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลาย”
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 52-53.
ที่มาภาพ : https://www.mid-day.com/articles/sainthood-for-mother-teresa-next-year/16786152
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น