วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

กลุ่มคริสตชนหนองห้าง



กลุ่มคริสตชนหนองห้าง
กลุ่มคริสตชนวัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ หนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่เป็นแผนการของพระเจ้า เมื่อนายคำกาว ภูศรีฐาน ชาวหนองห้างซึ่งไปตัดไม้ที่หน้าเขื่อนน้ำพุง โดยพักอยู่กับญาติที่บ้านต้อน ในตอนกลางคืนญาติคนดังกล่าวได้ชวนไปฟังคำสอนกับคุณพ่อที่บ้านโนนหัวช้าง  นายคำกาวเมื่อได้ฟังข่าวดีก็รู้สึกสนใจ พอกลับถึงบ้านหนองห้างจึงบอกกล่าวข่าวดีนั้นให้เพื่อนพ้องชาวหนองห้างได้รู้จัก ได้แก่ นายสอน จันศิริสา, นายดี จิตปรีดา นายซอน โสภาคะยัง, นายยศ สุระเสียง, นายเคน  ชมศิริ, นายฟอง จิตปรีดา, นายป่อน ศรีจำพลัง และนายแดง ศิริปะกะ 
ข่าวดีที่ได้ยินในวันนั้นเป็นเหมือนกับเชื้อแป้งที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นอยากรู้จักมากขึ้น และนำไปสู่การประชุมปรึกษาหารือกัน จนกระทั่งที่ประชุมมีมติให้นายสอน จันศิริสากับนายดี จิตปรีดา ไปติดต่อและนำ ศาสนาเยซู มา  เดิมทีเดียวทั้งสองตั้งใจจะเดินทางไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะทราบมาว่ามีผู้นับถือ ศาสนาเยซู ที่นั่น (คริสเตียน) แต่เมื่อไปถึงอำเภอสมเด็จก็ได้รับคำแนะนำให้ไปที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร   ทั้งสองจึงมุ่งหน้าไปบ้านท่าแร่โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านท่าแร่อยู่ที่ไหน ทราบเพียงว่าอยู่ในจังหวัดสกลนคร  แต่คงจะเป็นแผนการณ์ของพระเป็นเจ้าเมื่อไปถึงตัวเมืองสกลนครทั้งสองได้พบกับคนขับรถโดยสารที่ไปท่าแร่ทำให้สามารถเดินทางไปบ้านท่าแร่ได้ตามที่มุ่งหวัง 
เมื่อไปถึงบ้านท่าแร่ทั้งสองได้ไปหาหัวหน้าชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับสภาอภิบาลวัดในปัจจุบัน ตามคำบอกกล่าวของคนขับรถแต่ไม่มีใครอยู่เลย อย่างไรก็ดีทั้งสองก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนที่อยู่บริเวณนั้นเป็นอย่างดี โดยได้พาไปพักอยู่ที่บ้านของกงตาบาและได้พูดคุยกันถึงจุดมุ่งหมายของการมาครั้งนั้นคือต้องการรู้จัก ศาสนาเยซู  วันรุ่งขึ้นกงตาบาก็ปลุกให้ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อพาไปวัด เมื่อไปถึงทั้งสองก็อดแปลกใจไม่ได้ที่ไม่เห็นใครเลยแต่พอเข้าวัดก็เห็นคนเต็มวัด ทุกคนอยู่ในอาการเงียบสงบเหมือนกับไม่มีคนอยู่เลย จำได้ว่าวันนั้นตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.. 1962 (.. 2505) ซึ่งทราบภายหลังว่าวันนั้นเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย 
เมื่อได้เห็นพิธีที่ชวนศรัทธา อีกทั้งความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คนในวัดจึงเกิดความประทับใจ  หลังพิธีก๋งตาบาจึงพาไปพบคุณพ่อยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ขณะนั้น และได้พูดคุยกันถึงจุดมุ่งหมายของการมาครั้งนั้นกับคุณพ่อ  ด้วยคำพูดที่ซื่อๆและแบบอย่างชีวิตที่เรียบง่ายของคุณพ่อนำมาซึ่งความประทับใจแก่นายสอนและนายดี อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อและความสัมพันธ์ในเวลาต่อมา 
นายสอนและนายดีได้พักค้างคืนที่ท่าแร่เพื่อสนทนากับคุณพ่ออีกหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นจึงได้เดินทางกลับหนองห้างพร้อมกับคุณพ่อและคณะ เมื่อมาถึงคุณพ่อได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่สนใจและได้ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าทำให้มีผู้สนใจเพิ่มจำนวนมากขึ้น  คุณพ่อได้ใช้โอกาสนั้นในการอธิบายคำสอนและชี้แจงถึงขั้นตอนของการเข้าเป็นคริสตชน พร้อมทั้งวิธีการดำเนินชีวิตคริสตชนให้กับผู้สนใจเหล่านั้น  เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเป็น คริสตชนได้ผ่านทางการภาวนาร่วมกัน การรักใคร่ปรองดองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน  นี่คือเมล็ดพันธ์แห่งพระวรสารที่คุณพ่อได้หว่านลงในจิตใจของชาวหนองห้างในการพบปะและเยี่ยมเยียนครั้งแรก ซึ่งต้องถือว่าเป็นข่าวดี เป็นสิ่งใหม่สำหรับชาวหนองห้างจริงๆ
  ภายหลังที่คุณพ่อได้เดินทางกลับท่าแร่ไปแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารที่คุณพ่อได้หว่านไว้ในจิตใจของชาวหนองห้างก็เริ่มงอก แม้จะเป็นเพียงต้นกล้าเล็ก ๆ แต่ก็เป็นต้นกล้าที่พร้อมจะเติบโต ต้องการปุ๋ยและการดูแลเอาใจใส่พรวนดินรดน้ำอย่างใกล้ชิด  นับว่าข่าวดีของพระเป็นเจ้าได้เกิดผลในจิตใจของชาวหนองห้างแล้ว และทำให้จิตใจของพวกเขาเกิดร้อนรนเกินกว่าที่จะนิ่งเฉยอยู่ได้ พวกเขาจึงได้ปรึกษาหารือกันและแต่งตั้งตัวแทนไปตามคุณพ่อที่บ้านท่าแร่อีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งประกอบด้วย นายสอน จันศิริสา, นายดี จิตปรีดา, นายเคน  ชมศิริ, นายฟอง จิตปรีดา และนายแดง ศิริปะกะ
เมื่อเดินทางไปถึงบ้านท่าแร่ทั้งหมดได้พบปะพูดคุยกับคุณพ่ออีกครั้ง และขอตัวคุณพ่อไปเผยแพร่ศาสนาที่บ้านหนองห้าง เพราะพวกเขาปรารถนาจะฟังข่าวดีอีกและต้องการการอธิบายข่าวดีนั้นให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น  คุณพ่อได้นำเรื่องเรียนพระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เมื่อได้รับความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพระคุณเจ้า ซึ่งต้องการนำแสงสว่างแห่งพระวรสารมาเผยแพร่ในเขตกาฬสินธุ์อยู่แล้วดังคติพจน์พระคุณเจ้าที่ว่า แสงสว่างในความมืด” (Lux in tenebris) คุณพ่อกับคณะครูคำสอนจึงเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านหนองห้างอีกครั้ง  เมื่อเดินทางมาถึงคุณพ่อได้พักที่บ้าน นายแดง ศิริปะกะและเริ่มสอนคำสอน 

เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้สนใจเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อก็มองเห็นว่าจำเป็นต้องมีที่ดินสำหรับสร้างวัดและทำสุสานฝังศพ คุณพ่อจึงได้จัดซื้อที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านซึ่งเป็นบ้านหนองกะตันในปัจจุบันจำนวน 2 แปลง แปลงหนึ่งสำหรับสร้างวัดและอีกแปลงสำหรับทำสุสาน คุณพ่อพร้อมกับชาวบ้านได้ลงมือสร้างวัดชั่วคราวขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่สอนคำสอนและประกอบพิธีทางศาสนา  วัดหลังแรกนี้มีลักษณะเป็นวัดไม้ยกพื้นสูงพอประมาณ และดัดแปลงด้านหลังเป็นห้องพักและห้องทำงานสำหรับคุณพ่อเพื่อใช้เป็นที่พักเวลามาหนองห้าง ซึ่งในระยะแรกนี้คุณพ่อต้องเดินทางไปมาระหว่างหนองห้างกับท่าแร่ยังไม่ได้มาอยู่ประจำที่หนองห้าง    
ปี ค.. 1964 (.. 2507) คุณพ่อกับชาวบ้านได้จัดงานฉลองวัดชั่วคราวเป็นครั้งแรก โดยพระสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นประธาน  ต่อมาหลังจากที่คุณพ่อและคณะครูคำสอนได้สอนคำสอนผู้กลับใจเป็นคริสตชนเป็นเวลา 3 ปี จึงได้โปรดศีลล้างบาปให้พร้อมกันรวม 35 ครอบครัว โดยคุณพ่อเป็นผู้โปรดเอง ซึ่งต้องใช้เวลาโปรดถึง 4 วันคือระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ ค.. 1967 (.. 2510) รวมจำนวนผู้รับศีลล้างบาปกลุ่มแรกนี้ทั้งสิ้น 177 คน 

กลุ่มคริสตชนหนองห้างจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากนั้นกลุ่มคริสตชนชาวหนองห้างได้พากันปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาและเพิ่มจำนวนมากขึ้น  แต่ด้วยสภาพความยากจนบางครอบครัวจึงอพยพไปอยู่ที่อื่น  คุณพ่อเข้าใจดีว่าคริสตชนใหม่เหล่านี้ต้องมีนายชุมพาบาลที่คอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คุณพ่อจึงแต่งตั้งครูผามาเป็นครูคำสอนประจำคนแรก จากนั้นจึงส่งครูทาระดี ต้นปรึกษา, ครูลู รวมทรัพย์, ครูธรรมมาและครูสงบมาสมทบทำให้มีผู้กลับใจเพิ่มมากขึ้น  และได้ขอภคินีมาประจำด้วยคือแม่กาลิกซ์และแม่อนัตตาซีอา
ปี ค.. 1972 (.. 2515) เมื่อคุณพ่ออินทร์ พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ก็ได้มาประจำที่บ้านหนองห้าง และเริ่มงานแพร่ธรรมอย่างเต็มตัว มีผู้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชนเพิ่มมากขึ้น   เมื่อเห็นว่ากลุ่มคริสตชนชาวหนองห้างเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นแล้ว จึงได้ขยายเขตแพร่ธรรมไปยังบ้านอื่นในละแวกใกล้เคียง คือบ้านกุดบอด, บ้านปลาขาว, บ้านหนองอีบุตร, บ้านหนองแสง, บ้านนาโก บ้านน้ำคำ บ้านดอนอุ่มรัว  และนิคมคำสร้อย บ้านหนองห้างจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการแพร่ธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
29 เมษายน 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น