วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

บ่อน้ำช้างแก้ว

125 ปี คริสตชุมชนนาบัว (3)

ปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) พระสังฆราชอังเยโล-มารีย์  แกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง  ยวงบัตรี ซึ่งเพิ่งได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์มาเป็นผู้ช่วยคุณพ่อลากอล์ม ที่วัดพระตรีเอกานุภาพ ช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม โดยมอบหมายให้ดูแลวัดนบัวด้วย ที่สุด พระสังฆราชแกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวอย่างเป็นทางการ ตลอดเวลา 18 ปีที่อยู่นาบัวคุณพ่อได้พัฒนาวัดและหมู่บ้านหลายอย่างให้เจริญก้าวหน้า เช่น ตัดถนนและวางผังหมู่บ้านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางด้านศาสนาคุณพ่อได้ตั้งกลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มเยาวชนชาย-หญิง

1.4  บ่อน้ำช้างแก้ว

ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญของภาคอีสานมาช้านานไม่เว้นแม้ที่นาบัว นอกจากอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องขุดบ่อลึกลงไปในดินเพื่อจะได้น้ำที่บริสุทธิสำหรับอุปโภคและบริโภค คุณพ่อแท่ง มีความสามารถพิเศษในการหาแหล่งน้ำ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไม้สามง่ามที่ช่วยให้รู้ทันทีว่าบริเวณไหนมีตาน้ำควรขุดบ่อหรือเจาะบาดาล หลังจากใช้ไม้สามง่ามเดินดูทั่วบริเวณ คุณพ่อได้ชี้จุดสำหรับการขุดบ่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ 1 เมตรใกล้บ้านคุณพ่อนั่นเอง

ตามคำบอกเล่าของนายบุญเถิง มุลสุทธิ วัย 86 ปี (บิดาของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ) ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อแท่งเล่าให้ฟังว่า ชาวนาบัวได้ร่วมใจกันขุดบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 2-3 เมตร ใช้เวลาขุดนานหลายเดือน ลึกประมาณ 6-8 เมตร จึงพบดินดำมีกลิ่นฉุน เมื่อขุดต่อไปก็พบแท่งหินขนาดใหญ่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงช่วยกันขุดต่อไป จนเห็นรูปช้างหินตัวขนาดย่อม ซึ่งนายบุญเถิงเล่าว่าขนาดพอดีนั่งขี่หลังได้ มีโซ่หินผูกติดกับหลักหิน

ข่าวการพบช้างหินได้รับการเล่าขานบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จึงมีชาวนาบัวเป็นจำนวนมากได้มาดูช้างหินนี้ ซึ่งสามารถมองเห็นจากปากบ่อได้อย่างชัดเจน เมื่อขุดเลยท้องช้างตัวนี้ไปได้สักพักก็พบตาน้ำที่ไหลไม่หยุด คุณพ่อแท่งจึงให้ทำผนังไม้เรียงสลับซ้อนกันไปมาเพื่อกันดินพัง ประกอบกับมืดค่ำแล้วการขุดจึงหยุดลง รอมาขุดต่อในวันรุ่งขึ้นให้เสร็จ แต่เมื่อมาถึงปากบ่อในเช้าวันต่อมา สิ่งที่ทุกคนเห็นคือผนังไม้ที่ทำกั้นดินไว้นั้นได้พังลงจนถมตัวช้าง คุณพ่อแท่งและชาวนาบัวได้พยายามขุดใหม่และทำผนังไม้กั้นดินที่แข็งแรงกว่าเดิม แต่พอวันรุ่งขึ้นก็พังลงมาอีกเช่นเดิม การขุดจึงยุติลงและทำผนังไม้กั้นดินจากจุดที่ดินพังนั่นเอง

เป็นที่เล่าลือกันในหมู่ชาวนาบัวว่า ช้างหินนี้น่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกขอม (บริเวณที่ตั้งบ้านนาบัวเคยเป็นหมู่บ้านขอมมาก่อน) ดังช้างแก้วคู่บ้านคู่เมือง จึงเรียกบ่อน้ำนี้ว่า “บ่อน้ำช้างแก้ว” สาเหตุที่ดินพังมาถมตัวช้างทุกครั้งไป คงเพราะไม่ต้องการให้ใครมารบกวน เล่ากันว่าเวลามีงานบุญประจำปีต้องใช้เครื่องทำไฟ (เครื่องปั่นไฟสมัยก่อนเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้) หากวางเครื่องใกล้บ่อน้ำเครื่องจะไม่ทำงานต้องย้ายไปที่อื่น แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งผ่านบ่อน้ำนี้เครื่องจะดับทันที เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก

ในสมัยคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ มีความพยายามที่จะขุดบ่อน้ำนี้อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ คุณพ่อทำได้เพียงเปลี่ยนผนังไม้เป็นท่อคอนกรีตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี บ่อน้ำแห่งนี้ชาวนาบัวได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคมาเป็นเวลาหลายปี เพราะน้ำที่ใสแม้จะมีความเป็นด่าง เหนียว ล้างทำความสะอาดออกยากก็ตาม ในสมัยคุณพ่อวีรพงษ์ มังกาย เป็นเจ้าอาวาส มีความพยายามจะขุดเพื่อนำช้างแก้วขึ้นมา แต่ชาวบ้านหลายคนทัดทานไว้ บ่อน้ำช้างแก้วแห่งนี้จึงยังคงเป็นปริศนา ที่รอคอยการพิสูจน์อีกต่อไป

มรดกของคุณพ่อแท่ง อย่างหนึ่งที่ยังคงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ “ระฆัง” ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า ระฆังใบนี้ชาวนาบัวได้มีส่วนในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ด้วยการบริจาคทรัพย์สินที่มีค่าที่ตนเองมี เช่นทองคำ กล่าวกันว่าชาวนาบัวได้บริจาคสร้อยคอ แหวน ต่างหู กำไร ได้ทองคำหลายกิโลเพื่อสนับสนุนในการสร้างระฆังใบนี้ ซึ่งสั่งหล่อจากประเทศฝรั่งเศส ในระฆังจึงพบคำจารึกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า A MARIE REINE DELA PAIX HOMMAGE DE SES FIES DE NABUA, MAIO 1939, J.B.THENG RETTORE, GOUIN EPISCOPALIS” (พระนางมารีย์ราชินีแห่งสันติภาพ ซึ่งเป็นที่เคารพของลูกๆ ชาวนาบัว, พฤษภาคม 1939, คุณพ่อ ย.บ. แท่ง เจ้าอาวาส, พระสังฆราชแกวง) ดังนั้น ระฆังใบนี้จึงเก่าแก่และอยู่คู่วัดนาบัวมากว่า 70 ปี

นอกจากนั้น คุณพ่อแท่งยังมีพรพิเศษในการรักษาคนป่วยด้วยยาเซียงเมี่ยง ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมารับการรักษาจากคุณพ่อที่วัด บางรายเมื่อหายจากโรคแล้วได้เรียนคำสอนกลับใจ เช่น นายเทพ ขันละ  ในระหว่างเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน คุณพ่อได้ถูกทางราชการจับกุมและขังคุกหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งคุณพ่อถูกจับขณะขุดเจาะบ่อบาดาลที่บ้านโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในข้อหาขุดค้นวัตถุโบราณและนำไปขังคุกที่อุดรธานี  ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติคุณพ่อได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวต่ออีก 2 ปี จากนั้นได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น