วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

พระนางมารีย์ในงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า


 พระนางมารีย์ในงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า 

8 กันยายน ฉลองแม่พระบังเกิด
ตรีวารคืนที่สองที่อารามรักกางเขนแห่งท่าแร่
รม 8:28-30
มธ 1:18-23

บทนำ

วันนี้พระศาสนจักรให้เราฉลอง “แม่พระบังเกิด” เวลาที่มีใครคนหนึ่งเกิดมา เรามีความชื่นชมยินดี และเมื่อถึงวันครบรอบวันเกิดบุคคลที่เรารักและเคารพนับถือ เรามีการจัดงานให้ จัดหาของขวัญที่บุคคลนั้นชื่นชอบไปมอบให้ เราจะให้อะไรเป็นของขวัญสำหรับแม่พระ แม่อันเป็นที่รักยิ่งของเรา โอกาสวันเกิดของพระนางในปีนี้

แม่พระถือเป็นของขวัญสุดประเสริฐที่พระเจ้าประทานแก่มนุษยชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับเราในด้านความเชื่อ ความหวัง ความรักและการภาวนา ด้วยการนอบน้อมเชื่อฟังต่อแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า ในการเป็นมารดาของพระเจ้า ทำให้โลกของเรามีองค์พระผู้ช่วยให้รอด ที่ทรงเป็น “อิมมานูแอล” พระเจ้าประทับท่ามกลางเรา


1.  พระนางมารีย์ในงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า

บทบาทของแม่พระในงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า เป็นที่เข้าใจดีในหมู่คริสตชนและในพระศาสนจักรตั้งแต่แรกเริ่ม ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรอย่างนักบุญอีเรเนอุส (Irenaeus) ถือว่าแม่พระเป็นสาเหตุแห่งความรอด (Causa Salutis) จากคำตอบของพระนางที่ให้กับทูตสวรรค์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ความคิดเรื่อง “พระนางมารีย์ ผู้ร่วมงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า” (Co-Redemptrix) ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในหมู่นักเทววิทยาและคริสตชนทั่วโลก มีการตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “เสียงประชาชนของแม่พระคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์” (Vox Populi Mariae Mediatrici) เพื่อเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้ “พระนางมารีย์ ผู้รวมงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า” เป็นข้อความเชื่อข้อที่ 5 เกี่ยวกับแม่พระ (Marian Dogma)

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พระศาสนจักรได้ประกาศข้อความเชื่อเกี่ยวกับแม่พระมาแล้ว 4 ข้อ ซึ่งเราทราบเป็นอย่างดี ได้แก่

1)            พระนางมารีย์มารดาของพระเจ้า (Theotokos) ถือเป็นข้อความเชื่อที่เป็นศูนย์กลางของความเชื่อทุกอย่างเกี่ยวกับแม่พระ ที่ได้รับการประกาศอย่างชัดเจนจากสภาสังคายนาสากลที่เมืองเอเฟซัส ปี ค.ศ. 431 และพระศาสนจักรให้เราทำการสมโภชในวันแรกของปี วันที่ 1 มกราคม

2)            พระนางมารีย์เป็นพรหมจารีเสมอ ทั้งก่อนและหลังการให้กำเนิดพระเยซูเจ้า ซึ่งได้รับการประกาศจากสภาสังคายนาลาเตรัน ปี ค.ศ. 649

3)            พระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ซึ่งพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ประกาศเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854 และพระศาสนจักรให้เราทำการสมโภชในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี

4)            พระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 และพระศาสนจักรให้เราสมโภชในวันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี

กลุ่ม Vox Populi Mariae Mediatrici ถือเป็นแนวหน้าที่กระตือรือร้นในการผลักดันคำสอนเรื่อง “พระนางมารีย์ ผู้ร่วมงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า” ให้ได้รับการประกาศเป็นข้อความเชื่อ โดยรวบรวมรายชื่อ พระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชและคริสตชนกว่า 6 ล้านชื่อ จาก 157 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เพื่อสนับสนุนการประกาศข้อความเชื่อนี้ แม้คำสอนนี้จะยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร แต่คริสตชนเชื่อและถือเสมอมาว่า แม่พระเป็นผู้ร่วมงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่แรกที่พระนางได้รับแจ้งข่าวจากเทวดาคาเบรียลว่าจะเป็นมารดาของพระผู้ไถ่

คำตอบรับของแม่พระได้ทำให้พระวจนาตถ์ทรงรับเอากายในครรภ์ของพระนาง และทำให้พระนางได้ร่วมส่วนและเป็นหนึ่งเดียวในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า บุตรสุดที่รักของพระนางตั้งแต่วันนั้น การตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน การถูกตามล่าจากกษัตริย์เฮโรดในคืนที่ให้กำเนิดพระกุมารจนต้องหนีไปอียิปต์ หรือเหตุการณ์พระกุมารหายไปตอนอายุ 12 ปีขณะไปฉลองปัสกาที่เยรูซาเล็ม เหล่านี้คือความทุกข์แสนสาหัสที่แม่พระได้รับ

ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การพบกับพระเยซูเจ้าขณะแบกกางเขนสู่เขากัลวารีโอ โดยที่พระนางไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ นอกจากการให้กำลังใจด้วยสายตา มีซิสเตอร์ท่านหนึ่งถามเด็กคำสอนในชั้นเรียนว่า “พวกเธอคิดว่าแม่พระและพระเยซูเจ้าสื่อสารกันว่าอะไร” เด็กคนหนึ่งสะท้อนคำพูดของแม่พระว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ไม่ยุติธรรมเลย” อีกคนบอกว่า “ควรเป็นแม่ที่แบกกางเขนนี้” ที่สุด มีเด็กหญิงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “หนูแน่ใจว่า แม่พระบอกพระเยซูเจ้าว่า จงแบกกางเขนต่อไป แม่จะแบกไปพร้อมกับลูก!”

คำพูดนี้สะท้อนชีวิตของแม่พระที่เข้าใจดีว่า “ไม่มีกางเขน ไม่มีมงกุฎ” พระเยซูเจ้าได้เลือกหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ ผ่านทางกางเขนพระองค์จึงได้รับชัยชนะ และ ณ เชิงกางเขนนี่เอง แม่พระได้ร่วมส่วนในงานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า พระนางได้รับทรมานพร้อมกับบุตรของพระนาง สำหรับแม่คนหนึ่งคงไม่มีความทุกข์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการเห็นลูกสุดที่รักกำลังตายต่อหน้าต่อตา คำทำนายของผู้เฒ่าซีเมออนที่บอกแม่พระว่า ความทุกข์นั้นจะเป็นเหมือนดาบคมกริบ ทำลายดวงจิตของท่านให้แตกสลายไป (ลก 2:35) ปรากฏเป็นจริงตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงเชิงกางเขน

สิ่งที่เราต้องเข้าใจเป็นลำดับแรกเมื่อพูดถึงการเป็นผู้ร่วมงานไถ่กู้ของแม่พระคือ บทบาทของแม่พระไม่ได้ เท่าเสมอ” (Equal) กับพระเยซูเจ้าในงานไถ่กู้ แต่ร่วมส่วน “กับ” (Cum) พระเยซูเจ้า บทบาทของแม่พระขึ้นอยู่กับงานของพระเยซูเจ้า หากไม่มีพระเยซูเจ้าก็ไม่มีการไถ่กู้ ความทุกข์ทรมานของแม่พระไม่สามารถไถ่กู้มนุษยชาติได้ แต่เพราะแม่พระเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า ทำให้ความทุกข์ทรมานของแม่พระมีคุณค่า ชีวิตของแม่พระเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับงานไถ่กู้มนุษย์ให้รอดของพระเยซูเจ้า

สังคายนาวาติกันที่ 2 ในพระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร ยืนยันว่า “พระนางได้ปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้า (เทียบ ยน 19:25) รับทนทรมานอย่างแสนสาหัสกับบุตรสุดที่รักของพระนาง เป็นหนึ่งเดียวกับพระทรมานของพระองค์ด้วยหัวใจของความเป็นแม่ และยินยอมด้วยความรักให้ผู้ที่พระนางได้ให้กำเนิด เป็นเหยื่อของการทรมาน” (LG 58) สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันถึง การเป็นผู้ร่วมงานไถ่กู้ของแม่พระกับพระเยซูเจ้า ในพระสมณสาส์น “มารดาพระผู้ไถ่” ในความรักและความเป็นแม่คนใหม่ ซึ่งบรรลุถึงความสมบูรณ์ ณ เชิงกางเขน (Cf. RM  23)


2.  บทเรียนสำหรับเรา

โอกาสวันเกิดของแม่พระ มารดาของพระศาสนจักรที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เป็นแม่ของชาวเรา ณ เชิงกางเขนก่อนจะสิ้นพระชนม์ โดยมีนักบุญยอห์นเป็นตัวแทน เราจะให้อะไรเป็นของขวัญวันเกิดแก่แม่อันเป็นที่รักยิ่งของเรา คงไม่มีของขวัญใดที่ดีไปกว่าการเลียนแบบอย่างของพระนาง ในการตอบรับต่อแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า ในการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในการแบกกางเขน และในการรักและให้อภัยความผิดของกันและกัน

ประการแรก การตอบรับต่อแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า แม่พระได้แสดงให้เราได้เห็นถึงความไว้ใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ที่มอบทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ ความยิ่งใหญ่ของแม่พระ ไม่ใช่อยู่ที่การเป็นมารดาของพระเจ้า ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งหรือชื่อใดๆ ที่เราเรียกขานพระนาง แต่อยู่ที่ชีวิตของพระนางในการทำทุกอย่างตามแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า ความยิ่งใหญ่ของพระนางอยู่ตรงนี้

คำตอบสั้นๆ ของแม่พระในภาษาลาตินที่ว่า Fiat “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) ได้ทำให้แผนการของพระเจ้าในการไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จไป ขอให้เราได้เลียนแบบอย่างของพระนาง ในการตอบรับต่อแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเราเช่นกัน มิใช่ทำตามน้ำใจของเรา

ประการที่สอง การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในการแบกกางเขน แม่พระได้ร่วมแบกกางเขนและเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ตั้งแต่เริ่มแรกของการเป็นแม่ของพระผู้ไถ่จนถึงเชิงกางเขน แม่พระได้แสดงถึงความเชื่อที่เข้มแข็ง ความอดทนเยี่ยงวีรสตรีและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในหัวใจของความเป็นแม่ ทำให้แม่พระสามารถทนความไม่เข้าใจ ความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดต่างๆ ในชีวิตได้

ขอให้เราได้แบกกางเขนของเราในแต่ละวัน ในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อร่วมส่วนในพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ร่วมแบกกางเขนติดตามพระองค์สู่เขากัลวารีโอด้วยหัวใจทั้งครบเช่นเดียวกับแม่พระ ไม่ท้อแท้สิ้นหวังเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก เพราะหากไม่มีกางเขนก็ไม่มีมงกุฎ (No cross, no crown) ผ่านทางกางเขนเท่านั้น เราถึงจะได้รับมงกุฎอันรุ่งเรือง

ประการที่สาม การรักและให้อภัยซึ่งกันและกัน ความศรัทธาทุกอย่างเกี่ยวกับแม่พระนำไปสู่พระเยซูเจ้าเสมอ ของขวัญที่พระนางต้องการมากที่สุดคือ การที่เราคริสตชนดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า โดยเฉพาะในความรักต่อกันและการให้อภัยความผิดซึ่งกันและกัน หากเราดูพระเยซูเจ้าบนกางเขนพระองค์ได้รักและให้อภัยจนถึงที่สุด ทรงอภัยผู้ที่ประหารพระองค์  “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) ดังนั้น ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระองค์ในความรักและการให้อภัย

ในดินแดนที่มีความขัดแย้งรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างอินเดีย มีสงครามระหว่างฮินดูกับมุสลิมไม่เว้นแต่ละวัน วันหนึ่งลูกชายชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งถูกมุสลิมฆ่าตาย หลังจากจัดงานศพเป็นที่เรียบร้อยครอบครัวนี้ได้ไปหา มหาตะมะ คานธี และถามว่าจะให้ทำอย่างไร คานธีก็บอกว่า ให้ไปหาเด็กหนุ่มมุสลิมอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับบุตรชายที่ตายไป

“ดี! เราจะฆ่ามันให้ตาย” สองสามี-ภรรยาพูดด้วยความแค้น “ไม่ใช่ให้แก้แค้น” คานธีกล่าว “แต่พวกท่านจะต้องเลี้ยงดูเขาเหมือนลูกของพวกท่านเอง” นี่คือตัวอย่างของคนที่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า การให้อภัยสำหรับเราคริสตชน หมายถึง การลืม ไม่จดจำความผิดและยกโทษด้วยใจจริง การลืมคือการรักผู้ที่ทำผิดต่อเรามากกว่าเดิม  และปฏิบัติต่อเขาเหมือนไม่เคยทำผิดต่อเรามาก่อน


บทสรุป

พี่น้องที่รัก ให้เราได้เป็นหนึ่งเดียวกับแม่พระในบูชามิสซานี้ เพื่อวอนขอพระพรจากพระเจ้าสำหรับตัวเรา ครอบครัว และหมู่คณะของเรา เพื่อเราจะได้เรียนรู้จักพระเยซูเจ้า รักพระองค์ และรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ตามบทบาทและฐานะของเรา เหมือนอย่างที่แม่พระได้กระทำเสมอตลอดชีวิตของพระนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความวางใจพระเจ้า และกระทำทุกอย่างตามแผนการและน้ำพระทัยของพระองค์

ให้เราได้มองไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายที่จะทำตามหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในการร่วมแบกกางเขนกับพระเยซูเจ้าจนสุดความสามารถ ขอให้กางเขนของพระเยซูเจ้า ได้เป็นพลังชีวิตและเครื่องนำทางเราในการดำเนินชีวิตประจำวัน In hoc signo vinces อาศัยเครื่องหมายนี้ เราจะชนะเช่นเดียวกัน ที่สุด ขอพระนางมารีย์ที่เราฉลองการบังเกิดในวันนี้ และพระเยซูเจ้า พระเจ้าผู้ถูกตรึงบนกางเขน ได้โปรดอวยพรอาราม สมาชิกทุกคนในคณะและเราทุกคนตลอดไป

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
5 กันยายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น