วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

 

ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

อาทิตย์

ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์

ปี C

1 ซมอ 1:20-22, 24-28

1 ยน 3:1-2, 21-24

ลก 2:41-52

บทนำ

นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปา ได้เล่าเรื่องเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งมิลาน ขณะไปเยี่ยมอภิบาลตามวัดพระองค์ได้พบหญิงชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ตามลำพัง ทรงถามเธอว่า “สบายดีไหม” เธอตอบว่า “สบายดีตามอัตภาพและไม่ต้องทรมานเพราะความหนาว” พระองค์ตรัสกับเธอว่า “แสดงว่ามีความสุขนะสิ” หญิงชราตอบทันทีว่า “ไม่เลย” และเริ่มร้องไห้ “ลูกชายกับลูกสาวไม่เคยมาเยี่ยมเลย ฉันกำลังจะตายเพราะความโดดเดี่ยว”

เหตุการณ์วันนั้นและคำพูดของหญิงชรา “ฉันกำลังจะตายเพราะความโดดเดี่ยว” รบกวนพระทัยของนักบุญเปาโลที่ 6 เรื่อยมา พระองค์ทรงตระหนักว่า “อาหารและความอบอุ่นยังไม่เพียงพอ คนเรายังต้องการอะไรมากกว่านั้น พวกเขาต้องการการอยู่พร้อมหน้า ต้องการเวลาและต้องการความรักของเรา พวกเขาต้องการการสัมผัสอันอบอุ่นของเรา เพื่อทำให้พวกเขาแน่ใจว่าไม่ถูกทอดทิ้ง”

สัปดาห์สุดท้ายของปี พระศาสนจักรให้เราฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าประกอบด้วยพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอแซฟ วันฉลองนี้เตือนใจเราถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรสากล แต่ละครอบครัวได้รับการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นครอบครัว ทรงประสงค์ให้พระบุตรเกิดมาเป็นมนุษย์ในครอบครัว ในสภาพเหมือนเราทุกอย่างเว้นแต่บาป

1.        ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เป็นการฉลองชีวิตครอบครัวของพระองค์ซึ่งดำเนินชีวิตในความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และเคารพซึ่งกันและกัน เป็นแบบอย่างของการแบ่งปันความยินดี ความรับผิดชอบ และการร่วมทุกข์ร่วมสุขในครอบครัว ซึ่งพระศาสนจักรยกย่องให้เป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์และต้นแบบของครอบครัวทั้งหลาย การฉลองนี้มุ่งความสนใจไปที่ครอบครัวคริสตชนทุกครอบครัว และวอนขอพระพรจากพระเจ้าสำหรับครอบครัวของเราแต่ละคน

พระวรสารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์มากนัก แต่เราเข้าใจว่า นักบุญยอแซฟเป็นคนยำเกรงพระเจ้า ปฏิบัติตามพระประสงค์โดยไม่มีเงื่อนไข มีหัวใจเปิดสู่พระเจ้า เชื่อฟังและพร้อมเผชิญความยากลำบากทุกอย่าง เพื่อปกป้องพระกุมารและพระนางมารีย์ให้ได้รับความปลอดภัย จนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชอบธรรม” มีความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าครอบครัว ขณะที่พระนางมารีย์คู่ชีวิตรับผิดชอบดูแลครอบครัวและมีส่วนในความยากลำบากต่าง ๆ ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเงียบ ๆ

นักบุญลูกาได้เล่าเรื่องการหายไปของพระเยซูเจ้า ขณะเดินทางไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเลมตอนพระชนมายุสิบสองพรรษา สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตครอบครัวซึ่งเผชิญความยากลำบากในแบบคาดไม่ถึง เช่น การพลัดพรากและการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ แม้เมื่อพบพระเยซูแล้วยังไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์ตรัส ที่สุด พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับไปนาซาเร็ธพร้อมกับบิดามารดา ทรงอยู่กับครอบครัวต่อไปอีกสิบแปดปี แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเข้าใจความสำคัญและความจำเป็นลำดับแรกของชีวิตครอบครัว

2.        บทเรียนสำหรับเรา

การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์และพระวาจาของพระเจ้าวันนี้ ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ

ประการแรก เราต้องเลียนแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ พระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟต่างทำงานหนัก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในฐานะของประทานจากพระเจ้า อีกทั้ง ช่วยกันดูแลพระเยซูเจ้าให้เติบโตขึ้นในความเป็นมนุษย์และการเป็นบุตรของพระเจ้า บิดามารดาต้องเป็นครูคนแรกที่สอนบุตรให้เข้าใจและรู้จักพระเจ้า ประการสำคัญ ต้องมีความรับผิดชอบในการเป็นตัวอย่างดีแก่บุตรของตน

ประการที่สอง เราต้องทำให้ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดซึ่งเป็นพื้นฐานของพระศาสนจักรสากล แต่ละครอบครัวได้รับการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลสมรสเพื่ออวยพรคู่บ่าวสาวและครอบครัวของเขาให้ศักดิ์สิทธิ์ สามีภรรยาจะบรรลุความศักดิ์สิทธิ์เมื่อต่างทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ วางใจในพระเจ้า ผ่านทางการอธิษฐานภาวนา การอ่านพระคัมภีร์และการไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ

ประการที่สาม เราต้องเคารพเชื่อฟังและเลี้ยงดูบิดามารดา พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปยังนาซาเร็ธพร้อมกับพระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟ ทรงเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสอง และทรงทำงานช่างไม้สานต่องานของยอแซฟเพื่อเลี้ยงครอบครัว ลูกต้องเคารพเชื่อฟังและให้เกียรติบิดามารดา “บุตรที่ให้เกียรติบิดาจะมีอายุยืน... บุตรที่ละทิ้งบิดาก็เหมือนผู้กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า” (บสร 3:6, 16) เรามีหน้าที่ต่อบิดามารดา ดูแลและเลี้ยงดูท่านยามชรา มิใช่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เป็นโอกาสให้เราได้พิจารณาไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา การอยู่ร่วมกันระหว่างบิดา มารดา บุตร เป็นไปตามแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์มากน้อยเพียงใด เราต้องมีความรักต่อกันตามแบบของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์  สามีภรรยาต้องรักและซื่อสัตย์ต่อกันต่อกันจนวันตาย ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในวันรับศีลสมรส

บิดามารดาต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รับผิดชอบต่อครอบครัวและทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์เพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ “ของขวัญยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งบิดามารดาสามารถให้แก่บุตรได้คือความรักที่พวกเขามีต่อกัน” (Anon) บุตรเช่นเดียวกันต้องเคารพเชื่อฟังบิดามารดา ไม่ทำให้ท่านเสียใจ กตัญญูและดูแลท่านยามแก่เฒ่า ทั้งนี้เพื่อความผาสุกของสังคม ประเทศชาติและพระศาสนจักร ดังคำกล่าวที่ว่า “ครอบครัวดี คนดี สังคมดี”

ขวัญ ถิ่นวัลย์, ของขวัญสุดประเสริฐ ความชื่นชมยินดีแห่งการบังเกิด, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 123-126.

ภาพ : ถ้ำพระกุมาร, วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร; 2021-12-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น