วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

จงตื่นเฝ้าเถิด


 จงตื่นเฝ้าเถิด

อาทิตย์ สัปดาห์ที่

เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

ปี B

อสย 63:16-17; 64:2-7

1 คร 1:3-9

มก 13:33-37

บทนำ

 รายการเกมโชว์รายการหนึ่ง พิธีกรได้ยกสถานการณ์การนอนหลับและฝันว่า สิงโตตัวหนึ่งกำลังไล่ขย้ำ ทำให้เราต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่ต้องเผชิญหน้ากับเสือที่พร้อมตะปบเราด้วยกรงเล็บอันแหลมคมของมัน เข้าทำนอง “หนีเสือปะจระเข้” เรามองหาทางหนีข้างทาง แต่สองข้างทางเต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้ายที่พร้อมทำร้ายเราเช่นกัน ขณะนั้นเราเหมือนจนตรอก หนีไปทางไหนไม่ได้ พิธีกรถามว่า “เราจะหนีเอาตัวรอดอย่างไร” เฉลย “จงตื่นจากฝัน”

การตื่นทำให้เราอยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกของความฝัน ปัญหาใหญ่โตที่เรากำลังเผชิญขณะฝันไม่มีผลต่อชีวิตปัจจุบันของเรา เมื่อตื่นขึ้นเราพบความจริงว่า อันตรายจากสัตว์ร้ายในความฝันไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงความฝัน ไม่ใช่ความจริง เราอาจเปรียบเทียบความฝันและการตื่นนี้กับชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชน การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ ทำให้เราพร้อมเผชิญทุกสิ่ง

สัปดาห์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเชิญชวนเราให้พร้อมต้อนรับองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมา “จงตื่นเฝ้าเถิด” เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบเรากำลังเตรียมพร้อมอยู่ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ไม่เพียงเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า แต่ยังเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง ด้วยการเชิญพระองค์เสด็จเข้ามาในจิตใจ และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเรา

1.        จงตื่นเฝ้าเถิด

พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเตือนและให้กำลังใจผู้ติดตามพระองค์ให้ระวังและตื่นเฝ้าทางจิตใจ พระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป พวกเขาต้องเป็นดังผู้รับใช้ที่ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ดังนั้น ช่วงเวลาที่พระองค์ไม่อยู่เป็นเวลาแห่งการทดสอบความเชื่อ พระองค์ทรงย้ำเตือนพวกเขาให้ระวังและตื่นเฝ้าเพราะไม่มีใครรู้ว่า เจ้าของบ้านจะมาเมื่อไหร่ เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบพวกเขากำลังตื่นเฝ้าด้วยความเชื่อและพร้อมต้อนรับพระองค์

นักบุญมาระโกได้ใช้ภาพพจน์ของผู้รับใช้ที่คอยเปิดประตูให้เจ้าของบ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ณ เมืองเบ็ธเลแฮมพระเยซูเจ้าเสด็จมาในรูปของเด็กทารก แต่ผู้คนจำพระองค์ไม่ได้ อุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายในสัปดาห์สุดท้าย พระองค์เสด็จมาในรูปแบบของคนต่ำต้อยและต้องการความช่วยเหลือ คนมีความเชื่อเท่านั้นที่จำพระองค์ได้และรับใช้พระองค์ การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อช่วยให้เรามองเห็นและจำพระองค์ได้

ชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตแห่งการตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์และรับผิดชอบ การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อเข้าใจความหมายซึ่งพระเจ้าทรงต้องการบอก และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด การตื่นเฝ้าเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ ปฏิบัติตามบทบัญญัติและดำรงตนในฐานะพระหรรษทาน เหมือนผู้รับใช้ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด

2.        บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ประการแรก จงตื่นเฝ้าเถิด การตื่นเฝ้าแสดงถึงลักษณะของผู้เป็นศิษย์ที่มุ่งหวังและรอคอยพระเยซูเจ้าเสด็จมาซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ การตื่นเฝ้าไม่ใช่การอยู่เฉย แต่หมายถึงความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง” (มก 14:38) หรือเลียนแบบพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเจ้าตลอดทั้งคืน (ลก 6:12)

 ประการที่สอง จงเตรียมพร้อม การเสด็จมาครั้งที่สองเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแต่ไม่มีใครรู้ มีแต่พระบิดาเจ้าเท่านั้นที่ทราบ (มก 13:32) ชีวิตของเราต้องเตรียมพร้อมต้อนรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ท้าทายเราด้วยคำถามสำคัญสามข้อ : 1) เราจะทำอะไรขณะนี้เพื่อสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลก, 2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3) เราจะเริ่มทำอะไรบ้าง ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จฯ นี้

ประการที่สาม จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด การเสด็จมาครั้งที่สองเป็นเวลาแห่งการพิพากษาจะเกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่มีใครคาดคิด แต่ละคนต้องดำเนินชีวิตแต่ละวันให้ดีที่สุด “จงพยายามดำเนินชีวิตให้ดีทุกวันราวกับว่า ท่านต้องตายในเย็นวันนั้น” (ชาร์ล เดอ โฟโกลด์) คริสตชนผูกพันตนเองกับปัจจุบันเพราะทุกนาทีเป็นการนัดพบพระเจ้า และวาระสุดท้ายขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยในแต่ละวัน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นช่วงเวลาของการรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระเจ้า เพียรทนในการอธิษฐานภาวนาด้วยความวางใจ และเปิดใจต้อนรับพระองค์ในเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น คนยากจน คนเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือ พระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เป็นช่วงเวลาของการก้าวเดินออกจากความมืดด้วยการกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อเดินในแสงสว่างของพระองค์

        พระศาสนจักรให้เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เพื่อท้าทายและเตือนเราให้คิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต มุ่งหน้าไปพบองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมาและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ศิษย์พระคริสต์ต้องทำให้พระเยซูเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ถอดแบบความรักของพระองค์ต่อเพื่อนมนุษย์ นี่คือการเตรียมพร้อมและตื่นเฝ้าอยู่เสมอที่พระองค์ทรงต้องการจากเรา
            ขวัญ ถิ่นวัลย์, ของขวัญสุดประเสริฐ ควมชื่นชมยินดีแห่งการบังเกิด, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 7-10
ภาพ : ถ้าพระกุมาร, วัดดอนม่วย, สลนคร; 2020-11-28

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น