วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก

 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก


บทนำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เรามี เราเป็นเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนก่อนหน้าเราได้สร้างไว้ทั้งสิ้น ข่าวดีแห่งพระวรสารได้รับการประกาศในแผ่นดินอีสานและประเทศลาว เป็นผลมาจากความร้อนรน ทุ่มเทเสียสละ และอุทิศตนประกาศข่าวดีของ สองธรรมทูตผู้บุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) นาม “พระสังฆราชกองส์ตัง ยอห์น บัปติสต์ โปรดม” (Mgr. Constant Jean Baptiste PRODHOMME) ต่อไปเรียกว่า “ยอห์น บัปติสต์ โปรดม” และ “คุณพ่อฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก” (P. François Marie Xavier GUÉGO) ต่อไปเรียกว่า “ซาเวียร์ เกโก”

คุณพ่อซาเวียร์ เกโก มรณภาพวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) สิริอายุ 63 ปี รวมชีวิตธรรมทูตในภาคอีสานและลาว 37 ปี และ พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม มรณภาพวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) สิริอายุ 71 ปี รวมชีวิตธรรมทูตในภาคอีสานและลาว 39 ปี ร่างของธรรมทูตทั้งสองได้ฝังไว้บนแผ่นดินอีสาน ณ สุสานศักดิ์สิทธิ์รองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ที่เคยเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในอดีต

การฉลอง 100 ปี มรณกรรมของสองธรรมทูตผู้บุกเบิก มีที่มาและความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องจัดฉลอง การฉลองนี้เกิดผลดีต่อพระศาสนจักรในภาคอีสานและลาวปัจจุบันอย่างไร ทำอย่างไรให้บุคลากรของพระศาสนจักรทุกระดับ ได้สำนึกกตัญญูและสานต่อมรดกทางความเชื่อนี้ต่อไปและเกิดผล นี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและวีรกรรมของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสอง ที่ฝากไว้ในแผ่นดินอีสานและลาว

คุณพ่อกองส์ตัง ยอห์น บัปติสต โปรดม หลังบวชเป็นพระสงฆ์ปี 1874 และได้รับเลือกให้ไปบุกเบิกงานแพร่ธรรมภาคอีสาน ในวัย 32 ปี (รูปต้นฉบับ M.E.P.)

1.         ความเป็นมา

การฉลอง 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก เกิดจากดำริของคุณพ่อโรแบรต์ กอสเต (M.E.P.) ที่เขียนจดหมาย ลงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ถึงพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงขณะนั้น อ้างถึงสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย กำหนดจัดการฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม และฉลองพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ประมุของค์แรกของมิสซังสยาม ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) และเรียนถามว่า “พระศาสนจักรอีสานและลาวภาคใต้มีโครงการที่จะฉลองพระคุณเจ้ากองส์ตัง ฌอง บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก หรือเปล่า”

คุณพ่อโรแบรต์ กอสเต ได้ย้ำกับพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ในฐานะที่พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก เป็นธรรมทูตรุ่นแรกผู้บุกเบิกการแพร่ธรรมในภาคอีสานและลาว ซึ่งคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ครบ 100 ปี มรณกรรมวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) และพระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม ครบ 100 ปี มรณกรรมวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2063) อีกทั้งได้ให้คำแนะนำด้วยว่า “หากมีการฉลองสำหรับท่านทั้งสอง ควรจะจัดที่วัดนักบุญอันนา หนองแสง นครพนม เพราะเป็นสำนักมิสซังเดิม ที่สำคัญร่างกายของท่านทั้งสองถูกฝังที่สุสานของวัดแห่งนี้”

นี่คือที่มาของการจัดงาน 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก” และนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการเตรียมงานฉลอง 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก” ซึ่งประกอบด้วย อุปสังฆราช และตัวแทนพระสงฆ์จากสี่สังฆมณฑลอีสาน, สังฆมณฑลสะหวันนะเขด-คำม่วน, สปป. ลาว, มหาธิการริณี และตัวแทนคณะรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี, คณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ และคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ซึ่งพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้เดินทางไปพบคุณพ่อโรแบรต์ กอสเต นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการเตรียมงานฯและการประชุมครั้งแรก ที่บ้านศูนย์กลางคณะรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี ก่อนคุณพ่อโรแบรต์ กอสเต มอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้า (1 มกราคม 2019)

ดังนั้น งานฉลอง 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก จึงเป็นความปรารถนาและเจตจำนงสุดท้ายของคุณพ่อโรแบรต์ กอสเต ธรรมทูตนักประวัติศาสตร์ ผู้มุ่งหวังให้การฉลองนี้ได้เกิดประโยชน์ด้านประวัติศาสตร์แห่งความเชื่อ และเป็นการปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษมีความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีในท้องถิ่นของตนเอง ได้รู้ภูมิหลังของบรรพชนที่เป็นคริสตชุมชนรุ่นแรกของภูมิภาคนี้ ได้เห็นการทำงานประกาศข่าวดีของบรรดาธรรมทูตและครูคำสอน ที่ทุ่มเททำงานอย่างซื่อสัตย์และเสียสละ

คุณพ่อฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก หลังบวชเป็นพระสงฆ์ปี 1879 และไปบุกเบิกงานแพร่ธรรมภาคอีสาน ในวัย 26 ปี (รูปต้นฉบับ  M.E.P.)

2.         ผ่านความทุกข์ทรมานสู่แสงสว่าง

นับเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่พระศาสนจักรในประเทศไทย โดยเฉพาะพระศาสนจักรในภาคอีสานและลาว ที่ต้องสำนึกกตัญญูต่อธรรมทูตทั้งสองเป็นพิเศษ ในฐานะที่พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้บุกเบิก สร้าง และวางรากฐานพระศาสนจักรสำหรับเราในปัจจุบันด้วยความยากลำบาก ในดินแดนที่ได้ชื่อว่าทุรกันดารและยากจนที่สุด ห่างไกลความศรีวิไลซ์อย่างดินแดนที่พวกท่านคุ้นเคยและจากมา แต่เบื้องหลังความยากลำบากที่เผชิญพวกท่านกลับมีกำลังใจ เพราะมองเห็นแสงสว่างแห่งความรอดของผู้คนจำนวนมาก ดังสุภาษิตละติน Per Crucem Ad Lucem “ผ่านความทุกข์ทรมานสู่แสงสว่าง”

2.1        ความยากลำบากของการเดินทาง

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดมและคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ออกเดินทางจากวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ถึงอุบลราชธานีซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) รวมระยะเวลาในการเดินทาง 102 วัน ความยาวนานของการเดินทางเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความยากลำบาก เนื่องจาก ณ ปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ยังไม่มีถนนมาภาคอีสาน นอกจากเส้นทางควายซึ่งบรรดานายฮ้อย (พ่อค้า) จากภาคอีสานต้อนฝูงวัวฝูงควาย 300-500 ตัวจากสว่างแดนดิน (อำเภอหนึ่งของจังหวัดสกลนคร) ไปขายภาคกลาง ซึ่งคำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์ได้นำไปเขียนเป็นนวนิยายชื่อ “นายฮ้อยทมิฬ”

เส้นทางที่ถือว่าหฤโหดที่สุดคือการข้ามดงพญาไฟ เวลานั้นยังคงเรียก “ดงพญาไฟ” เพราะต้องเผชิญกับไฟจากไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย) โจรผู้ร้าย สัตว์ป่าดุร้าย และสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน ดงพญาไฟเริ่มเย็นลงกลายเป็น “ดงพญาเย็น” เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช สายแรกของประเทศ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) นั่นคือ 19 ปีหลังจากธรรมทูตทั้งสองเริ่มงานแพร่ธรรมในอีสาน ในกาลต่อมาทำให้บรรดาธรรมทูตสามารถเดินทางไปมาได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ในการเดินทางครั้งแรกเพื่อข้ามดงพญาไฟ ธรรมทูตทั้งสองต้องใช้ม้าและวัวต่างบรรทุกสัมภาระ บางพื้นที่ต้องเช่าช้างขนสัมภาระดังที่เมืองชนบท (อำเภอหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์) แม้แต่เกวียนยังใช้ไม่ได้ จนกระทั่งเดินทางถึงเมืองกมลาไสยจึงสามารถซื้อเกวียนบรรทุกสัมภาระได้ แม้สามารถใช้เกวียนได้ แต่ต้องตัดทางเพื่อให้เกวียนผ่านไปได้ ซึ่งชั่วโมงหนึ่งเดินทางได้ 4 กิโลเมตร วันหนึ่งเดินทางได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตร สิ่งสำคัญต้องหาคนขับเกวียนชำนาญทาง รู้จักปลด และถอดเกวียนเมื่อต้องข้ามห้วย หากเกวียนหักต้องรู้วิธีซ่อม

ค่ำลงต้องหยุดพัก หากเดินทางถึงหมู่บ้านคนก่อนตะวันตกดินถือว่าโชคดี แต่ส่วนใหญ่หมู่บ้านอยู่ห่างไกลกัน ต้องหาป่าโปร่ง หรือตัดต้นไม้ให้โล่งเตียน วางเกวียนเข้าหากันเป็นวงกลม ให้คนและสัตว์อยู่ภายใน ก่อกองไฟโดยรอบตลอดคืนเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ขโมย และโจรผู้ร้าย นับเป็นการผจญภัยดี ๆ นี่เองซึ่งธรรมทูตทั้งสองยอมลำบาก อดทนเยี่ยงวีระบุรุษ และกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เพื่อนำข่าวดีแห่งพระวรสารไปประกาศในแผ่นดินอีสานและลาว

2.2        ปัญหาด้านสังคม

สังคมอีสานเมื่อธรรมทูตทั้งสองเริ่มงานแพร่ธรรม ยังเป็นสภาพสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย มีทาส มีไพร่ คริสตชนหลายหมู่บ้านแม้ไม่ใช่ทาสโดยกำเนิด แต่ถูกจับตัวไปขายเป็นทาส บางคนกำลังทำงานในไร่นาของตนและถูกจับตัวไปขาย แต่ส่วนใหญ่หนีภัยสงครามจากการปราบฮ่อ กบฏชาวจีนที่พ่ายแพ้ต่อราชวงศ์จีน ต้องล่าถอยหนีการกวาดล้างลงมาแผ่อิทธิพลทางตอนใต้ บริเวณเขตซำเหนือ แขวงหัวพัน และเมืองพวนในเขตประเทศลาว ซึ่งขณะนั้นอยู่ในปกครองของราชอาณาจักรสยาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (ตำแหน่งขณะนั้น) นำทัพไปปราบ 3 ครั้ง โดยตั้งฐานที่มั่นที่เมืองหนองคาย การไปปราบแต่ละครั้งกินเวลานานหลายเดือน ทำให้ชาวลาวพวน ภูเทิง ผู้ไท ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้นไม่สามารถทำไร่ทำนาได้ ประสบภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องอพยพหนีภัยลงมาทางใต้ และถูกผู้แสวงหาประโยชน์จับตัวไปขายเป็นทาสตามหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองหนองคาย นครพนม ธาตุพนม มุกดาหาร เขมราฐ และอุบลราชธานี อีกกลุ่มหนึ่งถูกรัฐบาลสยามกวาดต้อนข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานเพื่อง่ายแก่การปกครอง

เมื่อธรรมทูตทั้งสองพักอยู่ที่อุบลราชธานีได้ไถ่ทาสกลุ่มแรกจำนวน 18 คนให้เป็นอิสระ ทั้งหมดเป็นลาวพวนซึ่งถูกพวกกุลาจับตัวไปขายเป็นทาสใกล้บริเวณวัดป่าใหญ่ คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม ได้ยื่นคำร้องต่อศาล โดยให้เหตุผลว่า พวกกุลาเป็นโจรขโมยคนมาขาย และพวกกุลาประกาศว่าพวกเขาเป็นผู้แทนของธรรมทูตในการจับคนมาขาย ซึ่งไม่เป็นความจริง ข่าวการไถ่ทาสครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงของบรรดาธรรมทูตขจรขจายไปทั่ว “เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย ขอให้ศาลปล่อยตัวเป็นอิสระเสมอ”

2.3        ปัญหาด้านการเมือง

ในทางการเมืองการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครอง ปี ค.ศ.1892 (พ.ศ. 2435) แยกเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนภูมิภาคได้รวมหัวเมืองต่าง ๆ (ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี) เป็นมณฑลเทศาภิบาล มีเชื้อพระวงศ์เป็นข้าหลวงทำหน้าที่ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ ภาคอีสานและลาวที่ธรรมทูตทั้งสองทำงานอยู่ แบ่งออกเป็น มณฑล ได้แก่ มณฑลลาวกาว (นครจำปาศักดิ์ ต่อมาเป็นอุบลราชธานี), มณฑลลาวกลาง (โคราช) และมณฑลลาวพวน (หนองคาย ต่อมาเป็นอุดรธานี)

แต่ละมณฑลยังคงปกครองตามแบบหัวเมืองลาวในอดีต ภายใต้การนำของคณะอาญาสี่ ประกอบด้วย 1) เจ้าเมือง ผู้เป็นใหญ่สุดแห่งเมือง, 2) อุปฮาด ผู้จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองในอนาคต, 3) ราชวงศ์ ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมือง เป็นผู้แทนของอุปฮาด และ 4) ราชบุตร เป็นบุตรของเจ้าเมืองเอง ธรรมทูตทั้งสองต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหล่านี้ เพื่อปกป้องและช่วยเหลือผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น ตั้งแต่ปีแรกที่มาถึงมีผู้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า “พวกเราเป็นคนมีเงิน ภายในสองสามปี พวกที่เข้าศาสนาจะถูกนำไปขายที่ฝรั่งเศส” (คุณพ่อซาเวียร์ เกโก)

ธรรมทูตทั้งสองถูกกล่าวหาสารพัด คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้บันทึกไว้ว่า “พวกบาทหลวงเป็นสายลับมาสำรวจและสืบเสาะประเทศลาวเพื่อหาทางยึดเอาในระยะต่อไป แล้วต่อไปจะเอาชาวสยามไปขายในยุโรป” โดยเฉพาะที่นครพนม ผู้ว่าราชการประกาศอย่างเปิดเผยว่า “ใครขายอะไรให้ฝรั่ง จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินยี่สิบบาท และถูกโบยด้วยหวายสามสิบที” ขณะนั้นคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ประจำที่คำเกิ้ม ประสบภาวะขาดแคลนข้าว แต่หาซื้อไม่ได้ที่นครพนมเพราะประกาศดังกล่าว ต้องส่งเรือไปขอข้าวจากคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ และชาวท่าแร่

นอกนั้น บรรดาผู้ปกครองและเจ้านายสมัยนั้นยังมีการบังคับชาวบ้านให้สาบานตัว เพื่อมิให้ไปอยู่กับธรรมทูต หรือกลับใจเป็นคริสตชน ตัวอย่าง คำสาบานตัวที่คุณพ่อซาเวียร์ เกโก บันทึกไว้ “ถ้าตัวข้าฯ หนีไปอยู่กับบาทหลวง ขอให้ข้าฯ ตาย ถ้าข้าฯ หนีไปทางบก ขอให้เสือขบกินตัวข้าฯ ถ้าตัวข้าฯ ไปทางน้ำ ขอให้จระเข้กินตัวข้าฯ ถ้าข้าหนีไปทางเรือแจว ขอให้นางพรายดูดเลือดตัวข้าฯ” ทำให้เท้าเพียราษฎรมีความหวาดกลัว ไม่กล้าไปอยู่กับธรรมทูต

บรรดาคริสตชนและธรรมทูตยังถูกกล่าวหาและข่มขู่ต่าง ๆ นานา เช่น “ไอ้ทรยศพระมหากษัตริย์ ข้าฯ รู้อะไรเป็นอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รายงานไปทูลพระมหากษัตริย์แล้วว่า หมู่บ้านนี้และอีกหลายหมู่บ้านไม่ยอมจ่ายภาษี ไม่ยอมไปทำงานเกณฑ์ เพราะเหตุนี้พระอนุชาของพระมหากษัตริย์จึงทรงส่งข้าฯ มาเพื่อจดชื่อไอ้พวกทรยศทั้งหมด ถ้าแกและพวกแกไม่ออกจากศาสนาของพวกฝรั่ง จะไม่มีแม้แต่คนเดียวรอดชีวิตจากการประหาร...” (คุณพ่อซาเวียร์ เกโก)

การขี่ม้าเป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุดของธรรมทูต ในการแพร่ธรรมและเยี่ยมเยียนคริสตชน

3.         คุณูปการของธรรมทูตทั้งสอง

ธรรมทูตทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้าและพระศาสนจักร ภายใต้คติพจน์ “ปลดปล่อย เมตตา และยุติธรรม” ได้ช่วยปลดปล่อยทาสและผู้ถูกจับตัวมาขายให้เป็นอิสระจากนายเงิน แสดงความเมตตาต่อทุกคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เลี้ยงดูผู้อยากไร้ ตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและอยู่ข้างคนจน ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีถูกใช้ไปเพื่อเลี้ยงชีพและช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้มีชีวิตดีขึ้น และได้คืนความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกดขี่ ละเมิดสิทธิ์ และถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการชำระความและเป็นทนายแก้ต่างให้ได้รับความเป็นธรรม สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ซึ่งเท่าเสมอกันและเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม ได้เขียนในจดหมายฉบับหนึ่งถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณที่มณฑลลาวพวนที่ตั้งอยู่ที่เมืองหนองคาย ในบันทึก “สำเนาหนังสือสำคัญและคดีความ” เลขที่ 13 ซึ่งบันทึกเป็นภาษาวัด (การเขียนภาษาไทยด้วยอักษรโรมัน) ใจความว่า ได้ช่วยคนทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยการช่วยชำระความทั้งกลางวันและกลางคืนนับสิบวัน ทั้งที่เมืองสกลนครและนครพนมเพื่อช่วยผู้มาขอพึ่งกว่า 200 ราย

อีกทั้งยังเปิดเผยให้ทราบด้วยว่าได้ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยคนเหล่านี้ “แต่สิบปีมาแล้ว ข้าพเจ้าและพวกบาทหลวงได้เสียเงินสำหรับช่วยคนซาพาแยกของพระองค์ ซึ่งพวกเจ้านาย กรมการเมืองสกลนคร เมืองนครพนมเบียดเบียนกดขี่ข่มแหงเอาไว้เป็นทาสเสียเปล่า ข้าพเจ้าได้ซื้อข้าวเลี้ยงซาพาแยกของพระองค์ และซื้อกระบือให้คนพวกนี้ทำนาเป็นเงินตรากว่า 3 หาบแล้ว” (คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม) เงินหนึ่งหาบเท่ากับสี่พันบาท สามหาบเท่ากับหนึ่งหมื่นสองพันบาท ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับค่าเงินสมัยนั้น เพราะวัวสามตัวซื้อขายกันในราคา 10 บาท

ทาส หรือผู้ที่ถูกจับตัวมาขายเป็นทาสคือกลุ่มแรกที่ธรรมทูตได้ไถ่ให้เป็นอิสระ และกลับใจเป็นคริสตชน

4.         แบบอย่างชีวิต

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้ทิ้งทุกสิ่งติดตามพระเยซูเจ้าเยี่ยงบรรดาอัครสาวก เลียนแบบพระเยซูเจ้าใน ความรัก ความใจดีมีเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และพร้อมยื่นมือช่วยเหลือทุกคนโดยไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะคนทุกข์จน คนอดอยาก คนถูกกดขี่ และไร้ที่พึ่ง ด้วยความร้อนรน ทุ่มเทเสียสละ และอุทิศตนทั้งครบเพื่อการประกาศข่าวดี ทำให้แสงสว่างแห่งพระวรสารได้รับการเปิดเผยในแผ่นดินอีสานและลาว

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปัญหานานัปการของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสอง ทำให้แผ่นดินอีสานและลาวได้รับข่าวดีแห่งพระวรสาร เกิดกลุ่มคริสตชนขึ้นตามที่ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งกลายมาเป็นพระศาสนจักรที่เป็นผู้ใหญ่ และเป็นปึกแผ่นมั่นคงอย่างในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1 อัครสังฆมณฑล และ 3 สังฆมณฑลในภาคอีสานของประเทศไทย และอีก 4 สังฆมณฑลในสาธารณรัฐประชาธิปไตรประชาชนลาว เพราะธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสองเราจึงมีวันนี้

บรรดาคริสตชนในภาคอีสานและลาว ล้วนได้รับข่าวดีแห่งพระวรสารจากธรรมทูตทั้งสอง ซึ่งคริสตชนเหล่านี้ได้พิสูจน์ความเชื่อของตน และผ่านช่วงเวลาแห่งการเบียดเบียนศาสนาอย่างน่าสรรเสริญ มีน้อยคนที่ทิ้งความเชื่อไป ประการสำคัญ มีกลุ่มคนยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อและข่าวดีแห่งพระวรสาร ทำให้พระศาสนจักรมีบุญราศีมรณสักขี 7 องค์ที่หมู่บ้านสองคอน อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร (ได้รับแต่งตั้ง 22 ตุลาคม 1989) และบุญราศีมรณสักขี 17 องค์ที่ประเทศลาว (ได้รับแต่งตั้ง 11 ธันวาคม 2016) นับเป็นวีรกรรมที่ควรยกย่องเพราะ “เลือดของมรณสักขีคือเมล็ดพันธุ์ชั้นดีของพระศาสนจักร”

 สภาพวัดในระยะะเริ่มแรก ซึ่งสร้างจากวัสดุที่มี หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ

5.         การสานต่อมรดกทางความเชื่อ

โอกาสครบ 100 ปี มรณกรรมของคุณพ่อซาเวียร์ เกโก วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) พระศาสนจักรสี่สังฆมณฑลอีสานและลาวได้มีพิธีเปิดการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ณ รองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง นครพนม มีการอธิษฐานภาวนาหน้าหลุมศพของธรรมทูตทั้งสอง พิธีบูชาขอบพระคุณโดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ และการประกาศ “ปีแห่งการแพร่ธรรม 2018-2020 เพื่อฟื้นฟูความเชื่อคริสตชนทุกระดับให้เป็นศิษย์แท้จริงของพระเยซูเจ้า และกล้าออกไปประกาศข่าวดี

ในห้วงเวลาดังกล่าวทุกสังฆมณฑลและวัดต่าง ๆ ได้จัดอบรมและฟื้นฟูความเชื่อคริสตชนอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อปลุกจิตสำนึกคริสตชนให้ทราบถึงชีวิตและงานของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสอง การจัดแสวงบุญย้อนรอยประวัติศาสตร์ เพื่อซึมซับแนวคิดและวิธีปฏิบัติของธรรมทูตตามจุดต่าง ๆ ที่เคยบุกเบิกและวางรากฐานไว้ โดยเฉพาะที่หลุมศพของธรรมทูตทั้งสอง ณ สุสานรองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง นครพนม

ชุมชนศิษย์พระคริสตต้องมุ่งอุทิศตนเป็นศิษย์พระคริสต์ และเป็นศิษย์ธรรมทูต เพื่อการประกาศข่าวดีใหม่ ผ่านทาง :

1)         การรู้จักรักและเจริญชีวิตศักดิ์สิทธิ์สนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าอาศัยพระวาจา การอธิษฐานภาวนา ศีลศักดิ์สิทธิ์ พร้อมเป็นประจักษ์พยานถึงการประกาศข่าวดีใหม่ด้วยชีวิต

2)         การเป็นชุมชนที่เคารพคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รักและรับใช้ทุกคน โดยเน้นผู้ยากไร้

3)         การรักษ์สิ่งสร้าง มีความพอเพียง ลด ละ เลิกความโลภ เปิดขอบฟ้าแห่งคุณค่าพระวรสาร

4)         การร่วมสืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดีงาม เสวนากับพี่น้องต่างความเชื่อ เพื่อร่วมเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้า อาณาจักรแห่งความยุติธรรม ความรัก และสันติสุข

อีกทั้ง กำหนดจัดงานปิดการเฉลิมฉลอง 100 ปี มรณกรรมของพระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม (20 สิงหาคม 2020) และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (29 มีนาคม 2018) ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) โดยมีการจัดทำอนุสาวรีย์ นิทรรศการชีวิตและงานของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสอง พิธีบูชาขอบพระคุณ  และการแสดง “ตามเส้นทางแห่งดวงดาว” ย้อนรอยประวัติศาสตร์การประกาศข่าวดีของธรรมทูตทั้งสอง ณ รองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง นครพนม

พระสังฆราชมารีย์ ยอแซฟ กืออัส และบรรดาธรรมทูต ปี 1903 ที่หนองแสง นครพนม

บทสรุป

การฉลอง 100 ปี มรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก ต้องไม่เป็นเพียงพิธีการที่จัดให้มีขึ้นและผ่านไป แต่ต้องกลายเป็นชีวิตของคริสตชนและบุคลากรของพระศาสนจักรทุกระดับ ในการมุ่งสืบสานมรดกทางความเชื่อและฟื้นฟูชีวิตคริสตชนในทุกมิติให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุทิศตนเป็น ศิษย์พระคริสต์ และศิษย์ธรรมทูต เพื่อประกาศข่าวดีใหม่” ให้ปรากฏเป็นจริงในชีวิต ครอบครัว หมู่คณะ และชุมชนวัดของตน

คริสตชนและบุคลากรของพระศาสนจักรทุกระดับ ต้องดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานตามแบบอย่างของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสอง ในการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารด้วยชีวิตของตน โดยเริ่มจากในครอบครัว หมู่คณะ และชุมชนวัดของตนให้ยั่งยืนสืบไป และสามารถกล่าวได้อย่างคุณพ่อซาเวียร์ เกโกว่า “ผมขอถวายงานทั้งหมดของผมแด่พระเจ้า ขออุทิศความเป็นอยู่ทั้งสิ้นของผม เพื่อประกาศให้ทุกคนได้รู้จัก รักพระองค์ และรับใช้พระองค์ ผู้ทรงส่งผมมาให้ทำงานในพระเมตตายิ่งใหญ่ของพระองค์”

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

https://dondaniele.blogspot.com/

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

1 ตุลาคม 2020

ฉลองนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู องค์อุปถัมภ์ของงานแพร่ธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น