วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563

บทบัญญัติเอก

 


บทบัญญัติเอก

อาทิตย์

สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

ปี A

อพย 22:20-26

1 ธส 1:5-10

มธ 22:34-40

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่าในบั้นปลายชีวิตของนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร เวลามีประชุมกลุ่มคริสตชน ต้องมีผู้หามท่านไปยังที่ประชุม เนื่องจากสังขารอ่อนแรงทำให้ไม่สามารถเทศน์สอนได้นาน ท่านมักพูดซ้ำคำพูดสั้น ๆ ว่า “ลูกรัก จงรักกันและกัน” บรรดาศิษย์รู้สึกเบื่อหน่ายกับคำพูดเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมานี้ และถามท่านว่า ทำไมไม่พูดอย่างอื่นบ้าง ท่านตอบพวกเขาว่า “จงรักกันและกัน แค่นี้เพียงพอแล้ว”

บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ออกกฎเกณฑ์มากมาย เพื่อขยายความบทบัญญัติของพระเจ้า สมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมบัญญัติมากถึง 613 ข้อ แยกเป็น “ข้อห้าม” 365 ข้อ และ “ข้อปฏิบัติ” 248 ข้อ ในหมู่ชาวยิวมีการถกเถียงกันมาช้านานว่า “ธรรมบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด” สำนักฮิลเลล (Rabbi Hillel) พูดอย่างหนึ่ง สำนักกามาลิเอล (Rabbi Gamaliel) พูดอีกอย่าง บรรยากาศเช่นนี้ทำให้มีผู้คาดหวังใครซักคนถามพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับชาวฟาริสี และผู้นำทางการเมืองที่รวมตัวกันเล่นงานพระองค์ ต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์หรือไม่ (มธ 22:15-22) ต้องเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกายหรือไม่ (มธ 22:23-33) พระวรสารวันนี้ชาวฟาริสีได้มาชุมนุมพร้อมกันหมายจับผิด และบัณฑิตทางกฎหมายคนหนึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” (มธ 22:36) คำตอบของพระเยซูเจ้าทำให้ทุกคนตาสว่าง และเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทบัญญัติ

1.           บทบัญญัติเอก

พระเยซูเจ้าทรงตอบปัญหาของบัณฑิตทางกฎหมาย และทำให้ปัญหาคาใจชาวยิวได้รับความกระจ่าง “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน... ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”  (มธ 22:37-38) นี่คือบทสรุปของพระวรสาร หรือหลักคำสอนของพระเยซูเจ้า ทรงสรุปบทบัญญัติของพระเจ้าให้เหลือเพียงสองประการ และทรงยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีบทบัญญัติข้อใดใหญ่กว่าสองประการนี้

พระเยซูเจ้าทรงวางบทบัญญัติสองประการเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทรงขยายความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” ให้กว้างออกไปสู่ทุกคน “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) ชีวิตมนุษย์เป็นของประทานจากพระเจ้า ทำให้เราสามารถเติบโตในความรักของพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของบทบัญญัติ และต้องไปด้วยกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

นักบุญยอห์น อัครสาวกเป็นผู้ที่เข้าใจ และอธิบายความสัมพันธ์ของบทบัญญัติสองประการได้ดีที่สุด ท่านได้ยืนยันกับศิษย์ของท่านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “จงรักกันและกัน” เพราะการรักเพื่อนมนุษย์เป็นหนทางนำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า “ถ้าผู้ใดพูดว่า ฉันรักพระเจ้า แต่เกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นย่อมเป็นคนพูดเท็จ เพราะผู้ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้ (1 ยน 4:20)

2.           บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิต

ประการแรก เราต้องรักพระเจ้าสุดจิตใจ นี่เป็นบทสรุปบทบัญญัติสามประการแรก พระเยซูเจ้าทรงอ้างข้อความจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 6:5) และหนังสือเลวีนิติ (ลนต 19:18) นั่นหมายความว่า เราต้องรักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ต้องยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ความรักต่อพระเจ้าทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย และสามารถรักผู้อื่นได้ เพราะพระเจ้าทรงรักเราก่อนโดยไม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไข และไร้ขีดจำกัด

ประการที่สอง เราต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง นี่เป็นบทสรุปบทบัญญัติที่เหลือ พระเยซูเจ้าทรงย้ำว่า ความรักต่อเพื่อนมนุษย์เป็นหน้าที่สำคัญต่อพระเจ้า ความรักที่มีต่อพระเจ้าต้องแสดงออกต่อผู้อื่น เป็นความรักไม่เห็นแก่ตัวที่ออกจากตัวเองและแบ่งปันกับทุกคน มิใช่แต่เฉพาะพวกพ้องที่เรารักเท่านั้น แต่กับทุกคนแม้กระทั่งศัตรู ความรักต่อผู้อื่นนำเราไปสู่พระเจ้า และทำให้ความรักต่อพระเจ้าปรากฏเป็นรูปธรรม

ประการที่สาม เราต้องรักกันเหมือนพระเจ้าทรงรักเรา ความรักเป็นบัญญัติเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงเน้นเป็นพิเศษ “นี่คือบทบัญญัติของเราให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) ความรักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคริสตชน และเป็นเครื่องหมายบอกคนอื่นให้รู้ว่า เราเป็นศิษย์พระคริสต์ ความรักต้องเป็นมาตรฐาน และเครื่องชี้วัดกิจการทุกอย่างที่เราทำ ดังคำกล่าวของนักบุญเอากุสตินที่ว่า “จงรักและทำสิ่งที่ความรักบอกให้ทำ”

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าได้ให้คำตอบชัดเจนกับเราวันนี้ว่า การรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เป็นแก่นแท้ของชีวิตคริสตชน ไม่เพียงตอบคำถามของชาวฟาริสี แต่ยังได้ให้หลักปฏิบัติสำหรับเราทุกยุคสมัย การรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ต้องเป็นแรงจูงใจ และนำทางเราในคำพูดและการกระทำทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้อภัย การให้กำลังใจ การร่วมทุกข์ร่วมสุข และการแบ่งปันช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน

พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักบนไม้กางเขน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)  ศิษย์พระคริสต์ถูกเรียกร้องให้รักตามมาตรฐานของพระเยซูเจ้า เดินในหนทางแห่งความรักของพระองค์ทุกวัน มองเห็นพระองค์ในผู้อื่น และปฏิบัติกิจเมตตาต่อพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเห็นแก่ความรักของพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

khuanthinwan@gmail.com

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

23 ตุลาคม 2020

ภาพ : การผูกแขนรับขวัญ, คุมประชาสุขสันต์, ดอนม่วย, สกลนคร; 2020-10-23

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น