วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

อัครสังฆมณฑลเซบู


แสวงบุญประเทศฟิลิปปินส์

ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016

 

อัครสังฆมณฑลเซบู

อัครสังฆมณฑลเซบู หรืออัครสังฆมณฑลพระนามเยซูแห่งเซบู (Archidioecesis Nominis Iesu o Caebuanus) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ ครั้งที่ 51 เป็นอัครสังฆมณฑลนคร (Metropolitan) ที่ครอบคลุมจังหวัดเซบูทั้งหมดที่รวมเกาะมักตัน บันตายัน และกาโมเตส ถือเป็นแหล่งกำเนิดของคริสตศาสนาในภาคตะวันออกไกล และเป็นพระศาสนจักรแม่ของพระศาสนจักรในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นแห่งแรกที่ได้รับแสงสว่างแห่งพระวรสาร โดยการนำของเฟอร์ดินานด์ มาเจลลันในปี ค.ศ. 1521 ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1595

ปัจจุบัน อัครสังฆมณฑลเซบูมีพระอัครสังฆราชโฮเซ่ เอส ปัลมา (José S. Palma D.D., STD.) เป็นประมุข มีคริสตชนจำนวน 4,079,738 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 4,609,590 คน คิดเป็นร้อยละ 88.5 มีพระสงฆ์สังฆมณฑล 336 องค์ และพระสงฆ์นักบวช 277 รวมเป็น 613 องค์ มีวัดทั้งหมด 145 วัด (ข้อมูลปี ค.ศ. 2013) นับเป็นอัครสังฆมณฑลที่มีจำนวนคริสตชนมากที่สุดในฟิลิปปินส์ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแม่พระแห่งกัวดาลูปและนักบุญเปโดร กาลุงสด เป็นองค์อุปถัมภ์

 วัดน้อยนักบุญเปโดร กาลุงสด ในบริเวณบ้านพระอัครสังฆราชเซบู


 เอกสาร ข่าวสาร และข้อมูลในวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี
วัดน้อยนักบุญเปโดร กาลุงสด (San Pedro Calungsod Chapel)

วันที่สามของการแสวงบุญ (27 ม.ค. 2016) ยังคงมีฝนโปรยปรายลงมาแต่ผู้จัดกำหนดการสำหรับพวกเราย้ำว่า นี่คือพระพรของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก่อนจะพาพวกเราไปชมวัดน้อยของนักบุญเปโดร การลุงสด ในบริเวณบ้านพักของพระอัครสังฆราชแห่งเซบู วัดน้อยแห่งนี้สร้างขึ้นโอกาสที่นักบุญกาลุงสดได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี และได้รับการถวายแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2002 เพื่อเก็บรักษาข้อมูล ข่าว และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องเป็นบุญราศี รวมถึงภาพวาดในวันที่ท่านได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นบุญราศี (5 มี.ค. 2000) ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร ประเทศอิตาลี

นอกนั้น วัดน้อยแห่งนี้ยังเป็นบ้านสำหรับการภาวนา มีห้องชั้นบนหลังพระแท่นที่ผู้แสวงบุญสามารถขึ้นไปภาวนาและขอพระจากบุญราศีกาลุงสดได้ ตรงเสาบริเวณทางเข้าพบข้อความที่บอกให้ทราบถึงวันเดือนปีของการถวายวัดหลังนี้แด่พระเจ้า และบทภาวนาสั้นๆ ที่ถอดความได้ว่า “ข้าแต่องค์พระเจ้า ผ่านทางคำเสนอวิงวอนของบุญราศี เปโดร กาลุงสด ขอพระองค์ได้โปรดให้ผู้ที่เข้ามาในบ้านแห่งการภาวนานี้ ได้พบการพักผ่อนที่สงบเงียบดังสวรรค์ ณ สถานที่นี้ ขอให้สันติสุขซึ่งดำรงอยู่ในที่แห่งนี้ ได้เติมเต็มจิตใจ หัวใจ และวิญญาณของพวกเขา อาแมน”


 เตียงนอนของนักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปาที่บ้านพระอัครสังฆราชเซบู

 เก้าอี้ที่ประทับที่ทำจากต้นมะพร้าว
ไม่ไกลจากวัดน้อยนี้เป็นบ้านพักพระสังฆราช ซึ่งนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 เคยเสด็จมาประทับเมื่อครั้งที่เสด็จเยือนประเทศฟิลิปปินส์และเซบู เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981 ซึ่งจากหน้าต่างที่ประทับพระองค์ทรงมองลงมายังสนามหญ้าหน้าบ้าน ทรงเห็นบรรดาเด็กและเยาวชนมารวมกันเต็มสนาม และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พระองค์ประกาศจัดงานชุมนุมเยาวชนโลกในเวลาต่อมา ซึ่งผู้นำทางเล่าตอนนี้ด้วยความภาคภูมิใจเพราะเขาเป็นหนึ่งในบรรดาเยาวชนที่มาพบพระองค์ในวันนั้น

อัครสังฆมณฑลเซบู ยังคงเก็บรักษาห้องพักบนชั้นที่ 2 ที่นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 ได้พำนัก ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างที่พระองค์ทรงใช้ไว้อย่างดีในสภาพเดิม เพราะนี่คือพระธาตุชั้นที่สองของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เตียง โทรทัศน์ ตู้เย็น แม้กระทั่งรองเท้าแตะที่พระองค์ใช้เข้าห้องน้ำ มีการเปิดให้แขกพิเศษเข้าชมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ชั้นล่างยังคงเป็นรักษาเก้าอี้ที่ประทับของพระองค์ที่ทำจากต้นมะพร้าวอย่างประณีต ขณะเป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อครอบครัว ณ สนามบินเก่าลาฮุก (Lahug Airport)

 วัดนักบุญเทเรซาแห่งลีซีเออ สถานที่ถวายมิสซาวันที่สาม



สักการสถานแม่พระแห่งพระวินัย (Our Lady of the Rule)

หลังร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดนักบุญเทเรซาแห่งลีซีเออ และรับประทานอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารปีโนซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก คณะของพวกเราได้มุ่งหน้าไปที่เกาะมักตัน เพื่อขอพรแม่พระแห่งพระวินัยหรือแม่พระฉวีดำที่เมืองลาปูลาปู (Lapu-Lapu) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทางวัดมีพิธีปลงศพ แต่ยังสามารถขึ้นไปภาวนาขอพรจากแม่พระที่ห้องภาวนาหลังพระแท่นได้ เชื่อกันว่าพระรูปแม่พระวินัยองค์แรกนั้นนักบุญเอากุสตินได้แกะสลักขณะร่างพระวินัยคณะ เพื่อให้พระนางเป็นองค์อุปถัมภ์ เมื่อนักบุญเอากุสตินเสียชีวิตในปี ค.ศ. 430 ผู้ติดตามของท่านยังคงมีความศรัทธาต่อแม่พระฉวีดำ

สาเหตุที่เป็นสีดำเพราะทำจากไม้ในแอฟริกาซึ่งเนื้อเป็นสีดำ นัยว่าเพื่อให้กลมกลืนกับชาวแอฟริกันซึ่งผิวดำ เมื่อพวกวัลดัล (Valdals) รุกรานแอฟริกาในปี ค.ศ. 443 และปล้นพระศาสนจักร นักพรตคณะเอากุสตินได้นำพระรูปแม่พระฉวีดำหนีไปประเทศสเปน และมีผู้ได้รับการอัศจรรย์มากมายทำให้ความเชื่อศรัทธาต่อแม่พระฉวีดำกระจายและแพร่หลาย ปี ค.ศ. 711 พวกแขกมัวรุกรานสเปน นักพรตคณะเอากุสติเนียนได้ทำกล่องไม้สีดาบรรจุแม่พระฉวีดำไปซ่อนในถ้ำ ใช้หินปิดปากถ้ำไว้ กระทั่งปี ค.ศ. 1330 เมื่อพวกแขกมัวถูกขับไล่จากสเปนแล้ว นักพรตคนหนึ่งได้ฝันเห็นแม่พระ บอกให้เดินไปหาพระรูปแม่ที่ซ่อนไว้และได้พบอย่างอัศจรรย์

 วัดแม่พระแห่งพระวินัย (แม่พระฉวีดำ)




รูปแม่พระฉวีดำได้รับการวาดและนำมาที่โอปัน (Opon) ในปี ค.ศ. 1735 ส่วนรูปแม่พระฉวีดำที่เห็นในปัจจุบัน เป็นรูปแกะสลักที่ชาวพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้แกะสลักจากภาพวาดต้นฉบับ เพื่อขอบคุณแม่พระที่ช่วยให้เขาให้หายจากโรคในระยะสุดท้าย รูปนี้จึงมีอายุ 281 ปี ในปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นปีแม่พระ อัครสังฆมณฑลเซบูได้จัดประชุมเกี่ยวกับแม่พระขึ้น และในการปิดการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 พระคาร์ดินัลฮูลิโอ โรซาเลส (Card. Julio Rosales) ได้เป็นประธานสวมมงกุฎที่ได้รับการเสกจากพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ให้กับแม่พระและพระเยซูเจ้าที่กาปิตัล ไซท์ (Capitol Site) ท่ามกลางชาวเซบูประมาณ 3 แสนคน

อนุสรณ์มาเจลลันและลาปูลาปู

เราคงคุ้นชื่อ เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) นักสำรวจชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นผู้ค้นพบเกาะเซบูที่ได้กล่าวถึงตั้งแต่ตอนแรก แม้จะเป็นชาวโปรตุเกสมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ แต่ได้เสนอตัวทำงานให้กษัตริย์ชาร์ลส์ ที่ 1 แห่งสเปน เพื่อค้นหาเส้นทางเดินเรือสู่ทิศตะวันตกสู่หมู่เกาะโมโลกู (หมู่เกาะเครื่องเทศ) จึงได้รับสัญชาติสเปนและได้ชื่อว่าเป็นผู้เดินทางรอบโลกคนแรก แต่ตัวมาเจลลันไม่ได้เป็นผู้นำการเดินทางตลอดเส้นทาง เนื่องจากถูกลาปูลาปูฆ่าตายในการสู้รบที่เกาะมักตัน

 อนุสรณ์สถานมาเจลลันและลาปูลาปู ที่เกาะมักตัน



คณะของเราได้มาดูสถานที่ที่มาเจลลันขึ้นบกก่อนถูกกลุ่มของลาปูลาปูชาวพื้นเมืองสังหาร มีอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1866 เพื่อเป็นเกียรติแด่มาเจลลัน และอนุสาวรีย์ของลาปูลาปู หัวหน้าชาวพื้นเมืองบริเวณริมทะเล จากประวัติและบันทึกของผู้รอดชีวิตทำให้ทราบว่ามาเจลลันและคนของเขารวม 49 คนเดินทางจากเกาะเซบูเพื่อมาขึ้นบกที่เกาะมักตันเช้าวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1521 แต่ไม่สามารถนำเรือขึ้นฝั่งได้เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นหิน จึงลงจากเรือเดินลุยน้ำขึ้นฝั่งโดยทิ้งอีก 11 คนให้เฝ้าเรือ เมื่อเข้าใกล้แผ่นดินได้ถูกกองกำลังของลาปูลาปูมากกว่า 1,500 คน กระจายกำลังโจมตี มาเจลลันถูกแทงด้วยหอกไม้ไผ่และฟันด้วยดาบจนเสียชีวิต ดังนั้น ลาปูลาปู จึงเป็นชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ขับไล่และสังหารชาวยุโรปตามที่ปรากฎในแผ่นจารึก

หลังจากนั้น คณะของเราได้เดินทางไปที่วัดแม่พระดวงหทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งแห่งพระนางมารีย์ (Our Lady of the Sacred Heart Parish) เพื่อรับประทานอาหารและชมการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาวเซบู ถือเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารและต้อนรับผู้มาร่วมงานเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ ครั้งที่ 51 จากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปนรวมถึงพวกเราจากประเทศไทยด้วย วัดแห่งนี้สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และได้รับการถวายแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1996

 วัดดวงหทัยศักดิ์สิทธิ์ย่ิงแห่งพระนางมารีย์


Don Daniele


Mango Park Hotel, Cebu City, PHILIPPINES.

January 28, 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น