วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

เซบู แหล่งกำเนิดคริสตศาสนา


แสวงบุญประเทศฟิลิปปินส์

ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016

 สัการสถานนักบุญเปโดร กาลุงสด ที่เมืองเซบู

เซบู แหล่งกำเนิดคริสตศาสนา

เซบูเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่อดีต ยิ่งเมื่อตกเป็นอาณานิคมของสเปนได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาณานิคมใหม่ เซบูจึงเป็นท่าสำคัญที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและความเจริญ จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งแดนใต้ (Queen of the South)” และ “ศูนย์รวมของการเดินทางทางพันเที่ยว (The Gateway to a thousand of journeys)” ถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบกับการเข้ามาของสเปนได้นำคริสตศาสนาเข้ามาด้วย ได้พยายามทำให้ชาวพื้นเมืองกลับใจเป็นคริสตชน เซบูจึงกลายเป็นจุดแรกที่ได้รับแสงสว่างแห่งพระวรสาร และเป็นแหล่งกำเนิดของคริสตศาสนาในประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงศูนย์กลางของคริสตศาสนาในตะวันออกไกลด้วย มีโบสถ์แก่อายุกว่า 400 ปีมากมาย

วันแรกของการแสวงบุญ (25 ม.ค. 2016) คณะของเราเดินทางสู่ชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะเซบู เพื่อชมวัฒนธรรมและความเจริญเติบโตของดินแดนที่เป็นจุดกำเนินของคริสตศาสนาในฟิลิปปินส์ โดยไปขอพรที่ “สักการสถานนักบุญเปโดร กาลุงสด” เป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ในบริเวณด้านหลังห้างสรรพสินค้าเอสเอ็ม (SM Seaside Complex) ก่อนถึงมีลานกว้างซึ่งผู้นำทางบอกว่าเตรียมไว้สำหรับการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพิธีปิดการชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ ครั้งที่ 51

 นักบุญเปโดร กาลุงสด นักบุญองค์แรกของเซบู


สักการสถานนักบุญเปโดร กาลุงสด (Pedro Calungsod Srine)

สักการสถานแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่ถึง 10 เดือน ตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่โดดเด่นด้วยผนังกำแพง 109 ช่องที่มีขนาดไม่เท่ากัน เพื่อแสดงถึง “ความเป็นหนึ่งเดียวในความแตกต่าง” แม้จะมีความแตกต่างกันแต่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เช่นเดียวกับพระศาสนจักรในสังคมปัจจุบันที่มีหลายช่องทางในการนำเราไปหาพระเจ้า สักการสถานฯแห่งนี้ได้รับการถวายแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ก่อนที่จะมีพิธีบูชาขอบพระคุณโมทนาคุณพระเจ้า โอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนานักบุญเปโดร กาลุงสดในวันรุ่งขึ้น (30 พ.ย. 2012) อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความกระฉับกระเฉงและความมั่นคงเข้มแข็งของยุวนักบุญ ที่ได้สละชีวิตเพื่อความเชื่อเมื่อ 400 กว่าปีก่อน

นักบุญเปโดร กาลุงสด เป็นนักบุญองค์แรกที่เป็นชาวเซบู เป็นเด็กหนุ่มจากวิซายัสที่ทำงานรับใช้คณะเยซูอิตที่มาเรียนัส (Marianas) ที่เกาะกวม ในฐานะครูคำสอนและผู้ช่วยของคุณพ่อมิชชันนารี ท่านเป็นเหมือนครูคำสอนทั่วไปที่เงียบและสุภาพ ทำงานตามหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์โดยไม่มีใครรู้จัก ภูมิหลังและครอบครัวไม่เป็นที่รับรู้และบันทึกไว้ ชื่อของท่านปรากฏเพียงในเอกสารการเป็นมรณสักขีของ คุณพ่อดิเอโก หลุยส์ เดอ ซาน วิตอเรส (Fr. Diego Luis de San Vitores) พระสงฆ์ที่ถูกสังหารด้วยหอกและดาบพร้อมกับกาลุงสดที่มารีอานัสที่เกาะกวม เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1672 และร่างของทั้งสองท่านถูกนำไปโยนทิ้งทะเลโดยไม่มีใครพบอีกเลย

 สักการสถานฯที่โดดเด่นด้วยกำแพง 109 ช่องและรูปปั้นนักบุญเปโดร กาลุงสด


ในเอกสารนั้นเน้นว่ากาลุงสดสามารถป้องกันตัวเองได้หากถืออาวุธ แต่ท่านถูกห้ามจากคุณพ่อดิเอโกมิให้ถืออาวุธใดๆ อีกทั้ง สามารถวิ่งหนีเอาตัวรอดได้แต่ท่านไม่ทำ กลับยอมตายพร้อมกับคุณพ่อดิเอโก ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1985 ส่วนกาลุงสดได้รับการแต่งตั้งเป็นมรณสักขีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 วันเดียวกันกันกับบุญราศีนิโคลัส บุญเกิด และได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2012 หลังการภาวนาหน้ารูปปั้นของนักบุญกาลุงสด พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช ได้บอกว่า “วันนี้มาขอนักบุญเปโดร กาลุงสด เพื่อขอให้บุญราศีนิโคลัส บุญเกิดได้เป็นนักบุญเช่นเดียวกับท่าน”

จากนั้นคณะของเราได้เดินทางต่อไปยังเมืองคาร์คาร์ โดยมีเป้าหมายที่วัดนักบุญกาทารีนาแห่งอเล็กซานเดรีย วัดที่เก่าแก่เป็นลำดับที่ 4 ของเกาะเซบู ที่คาร์คาร์คณะของเราได้รับการต้อนรับด้วยการเต้นรำในแบบพื้นเมืองจากบรรดาเยาวชน ก่อนที่มองซิญอร์โพโน (Msgr. Pono) เจ้าอาวาสจะนำพวกเราผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์เข้าชมความเก่าแก่สวยงามภายในวัด และรับฟังประวัติความเป็นมาของวัดจากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชื่อเจอรี่ มาร์ติน (Jerry Martin Noel Alfafara) ที่บอกให้เราทราบว่าวัดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 416 ปี ถือเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ และคณะของเราได้ร่วมถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ วัดแห่งนี้โดย พระคาร์ดินัล เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช

 วัดนักบุญกาทารีนาแห่งอเล็กซานเดรียที่เมืองคาร์คาร์ วัดที่เก่าแก่ลำดับที่ 4 ของเซบู



วัดแม่พระแห่งลินโดกอน(Our Lady of Lindogon Church)

อีกวัดหนึ่งที่คณะของเราได้ไปแสวงบุญคือวัดแม่พระแห่งลินโดกอนที่เมืองสิมาลา(Simala) ที่ตั้งอยู่บนภูเขาในความดูแลของนักพรตคณะแม่พระแห่งความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท (Marian Monks of Eucharistic Adoration) ซึ่งวัดแห่งนี้สร้างได้อย่างยิ่งใหญ่และวิจิตรบรรจงทั้งภายนอกและภายใน มีสิ่งปลูกสร้างหลายอย่างกำลังก่อสร้างซึ่งแสดงถึงแรงศรัทธา คำภาวนามากมายของผู้คนที่หลั่งไหลมาที่นี่ ภายในมีตู้เก็บรถเข็น ไม้ค้ำยัน ป้ายขอบคุณที่แสดงถึงการได้รับพระพรที่น่าอัศจรรย์จากแม่พระ มีตู้เก็บพระรูปแม่พระที่สวมอาภรณ์สวยงามเป็นจำนวนมาก รูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมถึงตู้เก็บอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ของแม่พระตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันที่ผู้จาริกแสวงบุญได้ทำบุญถวาย

ไม่น่าเชื่อว่าความเป็นมาของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ในปี ค.ศ. 1996 นักพรตแห่งแม่พระโดยการนำของภารดามาเรีย มาร์ติน(Fra. Maria Martin) ได้เดินทางจากปัมปังกา(Pampanga) มาเซบูโดยการนำของพระจิตเจ้าเพื่อก่อตั้งอารามสำหรับการดำเนินชีวิตภาวนา ด้วยความช่วยเหลือของคาร์ดินัลริคาร์โด เจ บิดัล ที่อนุญาตให้ไปหาที่ดินบนภูเขาเหนือเมืองคาร์คาร์ทางภายใต้ของเกาะเซบู เนื่องจากผู้คนที่นั่นกำลังกระหายและแสวงหาหมู่คณะนักบวช

 วัดแม่พระแห่งลินโดกอนที่ภูเขาที่เมืองสิมาลา



คณะนักบวชกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงปีแรก เพราะการขาดน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้และสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ถึงขนาดต้องลงไปขอทานจากผู้คนในตลาด ต้องถูกเยาะเย้ย ถากถางสบประมาทสารพัด ทำให้พวกเขายิ่งต้องภาวนามากขึ้น ใช้โทษบาปหนักขึ้น และทำงานอย่างหนักในการปลูกพืชผักผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี ค.ศ. 1998 ต้องเผชิญกับไข้มาลาเรียทำให้ชาวบ้านหลายคนเสียชีวิต แต่สิ่งที่นักบวชคณะนี้ทำคือการสวดสายประคำเพื่อขับไล่ยุง ไม่กี่วันต่อมาความศรัทธานี้ได้ขจัดยุงให้หมดไปอย่างน่าอัศจรรย์ นี่เป็นการเริ่มต้นของปรากฏการณ์ที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งลินโดกอน ที่ผู้คนเริ่มมาขอคำภาวนาและขอความช่วยเหลือต่อแม่พระ ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสวงบุญ และเกิดสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่สวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

และสถานที่สุดท้ายที่คณะของเราไปแสวงบุญคือ วัดอัครเทวดามีคาแอล (St. Michael the Archangel Church) ที่เมืองการ์เกา (Argao) ถือเป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง เพดานทำด้วยไม้เนื้อแข็งมีภาพเขียนเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ ที่ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม รวมถึงพระแท่นไม้เนื้อแข็งดั้งเดิมที่ยังคงเก็บรักษาไว้ และชั้นไม้สำหรับเทศน์สอน ประกาศข่าวดีของพระเจ้า ก่อนจะไปเยี่ยมชมสำนักงานเทศบาลซึ่งทำด้วยไม้ผนังถือปูนอายุเก่าแก่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดเท่าใดนัก และชมการแสดงต้อนรับของชาวเมืองอาร์เกา ก่อนจะเดินทางกลับโรงแรมที่พัก





Don Daniele


Mango Park Hotel, Cebu City PHILIPPINES.

January 26, 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น