วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ย้อนรอยธรรมทูตในภาคอีสานและประเทศลาว



ย้อนรอยธรรมทูต
ในภาคอีสานและประเทศลาว
บทนำ
มีคนเขาพูดกันว่า เวลาใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งเริ่มชอบของขม ชมของเก่า เล่าความหลัง  แสดงว่าแก่แล้ว   คนเราเมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มชอบอะไรที่มีรสขม   คุณพ่อหลายท่านอาจจะอยู่ในข่ายแล้วเพราะชอบสะสมของเก่า สิ่งที่พวกผมสองคนได้รับมอบหมายให้พูด คงเป็นคำตอบในตัวเอง คุณพ่อธีรพล (กอบวิทยากุล) อาจจะยังไม่แก่เพราะผมยังดกดำ ส่วนผมนั้นล้ำหน้าไปมากแล้ว ดูเหมือนจะมากกว่าทุกคนในรุ่น
ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า “ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์” เพราะไม่ได้เรียนมาด้านนี้ แต่ผมสนใจข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผมได้สรุปเนื้อหาและข้อมูลสืบค้นเกี่ยวกับ “การประกาศข่าวดีในภาคอีสานและประเทศลาว” ซึ่งพระคุณเจ้าและพี่น้องสงฆ์สามารถอ่านและศึกษาเพิ่มเติมได้ ผมจะไม่พูดในรายละเอียด ประเด็นที่ผมจะพูดวันนี้คือ เรื่องชีวิตของบรรดาธรรมทูต ซึ่งผมมีข้อสังเกตหลายประการ
1.           ประการแรก เรื่องอายุ
บรรดาธรรมทูตที่ไปทำงานในภาคอีสานและประเทศลาวล้วนอยู่ในวัยหนุ่ม คุณพ่อโปรดม อายุ 27 ปี ในปี ค.ศ. 1876 ที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชเวย์ ให้ไปช่วยคุณพ่อแปร์โรที่อยุธยา เพื่อหาลู่ทางไปแพร่ธรรมที่ภาคอีสาน คุณพ่อซาเวียร์ เกโก เพื่อนผู้ร่วมงานของท่านในปี ค.ศ. 1881 อายุเพียง 26 ปี คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ ในวันที่เดินทางมาถึงท่าแร่และได้รับแต่งตั้งให้ดูแลกลุ่มคริสตชนท่าแร่ อายุเพียง 24 ปีเศษ นับเป็นเจ้าอาวาสที่หนุ่มที่สุด บรรดาธรรมทูตส่วนใหญ่บวชเสร็จแล้วก็เดินทางมาอีสาน อายุจึงอยู่ระหว่าง 24-27 ปี
เมื่อมองดูครูคำสอนที่นำไปด้วยในแต่ละปี รวมแล้วประมาณ 15 คน (ก่อนตั้งโรงเรียนครูคำสอนที่ดอนโดนในปี ค.ศ. 1891) ทั้งหมดเป็นเณรใหญ่ที่อยู่ในช่วงพักทดลอง อายุจึงอยู่ระหว่าง 20 ต้นๆ ความเป็นคนหนุ่มทำให้มีฝัน ร้อนรน อดทนสูง ปรับตัวง่าย ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก แค่การเดินทาง ต้องนับว่าหฤโหดและเสี่ยงภัยเอามากๆ คุณพ่อโปรดมและคณะใช้เวลา 102 วัน กว่าจะเดินทางถึงอุบลฯซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง
เราต้องนึกภาพว่าเมื่อ 134 ปีก่อน ไม่มีเส้นทางไปอีสานแม้ทางเกวียน มีแต่ทางควายของพวกพ่อค้าที่ต้อนฝูงควายมาขายภาคกลาง เราคงเคยได้ดูละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” ที่นายฮ้อยเคนต้อนฝูงควาย 300-500 ตัว จากสว่างแดนดินมาขายภาคกลาง คุณพ่อโปรดมใช้เส้นทางนั้น เริ่มจากล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาไปถึงอยุธยา และใช้ลำน้ำป่าศักดิ์ต่อไปหัวแก่ง จากหัวแก่งต้องข้ามดงพญาเย็นหรือ “ดงพญาไฟ” ซื้อม้า 4 ตัวและเช่าวัวหลายตัวบรรทุกสัมภาระข้ามดงพญาเย็นไปคลองท่าเกวียน จากคลองท่าเกวียนจึงสามารถซื้อเกวียนเดินทางได้ แต่วันหนึ่งเดินทางได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตร เกินกว่านี้วัวลากไม่ไหว จึงไม่แปลกที่ต้องใช้เวลาถึง 102 วัน
แง่คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เราต้องเตรียมพระสงฆ์หนุ่มสำหรับงานแพร่ธรรม เพราะเขาจะเรียนรู้ ปรับตัวง่าย และไม่กลัวการเริ่มต้นใหม่ แม้กระทั่งในวัดของเราและต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับเยาวชน คนหนุ่ม คนสาว เพราะนี่คืออนาคตของพระศาสนจักร ถึงแม้พวกเขาอาจจะผิดพลาดบ้างก็ต้องให้อภัย เพราะ “ความผิดพลาดของคนหนุ่ม ย่อมดีกว่าความสำเร็จของคนแก่”
2.           ประการที่สอง เรื่องการฟังซึ่งกันและกัน
ทุกปีช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม คุณพ่อโปรดมต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่อพระสังฆราชเวย์ รับฟังคำแนะนำ นำธรรมทูตใหม่และสัมภาระที่จำเป็นสำหรับการทำงาน 1 ปี ที่ต้องเดินทางช่วงนี้เพราะเป็นช่วงที่ลำห้วยต่างๆ แห้ง การเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-อุบลฯเร็วขึ้น แต่อย่างน้อยต้องใช้เวลา 3 เดือน ไปเดือนหนึ่ง ให้ม้า วัวและคนพักเอาแรงเดือนหนึ่ง และอีกหนึ่งเดือนสำหรับเดินทางกลับช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ต้องรีบกลับเพราะหากช้าจะเป็นฤดูแล้ง หญ้าจะหายากสำหรับสัตว์ และน้ำจะหายากสำหรับทั้งคนและสัตว์ ที่สำคัญ ต้องหาคนขับเกวียนที่ชำนาญและเก่งในการปลดและถอดเกวียนเมื่อไปถึงที่ยากลำบาก เช่น ข้ามลำห้วย
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) คุณพ่อโปรดมได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ครั้งนั้นพระสังฆราชเวย์ได้ปรารภกับคุณพ่อด้วยความห่วงใยว่า ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี พ่อกลุ้มใจมาก เพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวัน ก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์ ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอๆ เอาอย่างนี้เป็นไง คือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกันพร้อมกับเสนอให้หาที่ทำกินสำหรับทุกคนใกล้วัดหัวไผ่ จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดมว่า คิดอย่างไรกับแผนการนี้
นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรในภาคอีสานและประเทศลาว ที่คุณพ่อโปรดมไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์ ไม่เช่นนั้นการแพร่ธรรมในภาคอีสานคงหยุดเพียงแค่นั้น คุณพ่อโปรดมได้ตอบพระสังฆราชเวย์ด้วยความสุภาพว่า “การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง” และพระสังฆราชเวย์ฟังความเห็นของคุณพ่อโปรดม การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมา
การฟังซึ่งกันและกัน” ระหว่างพระสังฆราชผู้ปกครองกับพระสงฆ์ผู้ร่วมงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ พระสังฆราชควรฟังพระสงฆ์บ้าง และพระสงฆ์ก็ต้องเคารพเชื่อฟังพระสังฆราช งานถึงจะไปได้ดี ประวัติศาสตร์บอกให้เราทราบว่า “มิใช่ความคิดของผู้นำพระศาสนจักรจะถูกทุกอย่าง” เราจึงได้เห็นพระสันตะปาปาขอโทษสำหรับความผิดพลาดในอดีต
3.           ประการที่สาม เรื่องความนอบน้อมเชื่อฟัง
ในการสัมมนาสงฆ์อีสานที่สังฆมณฑลอุบลฯครั้งหนึ่ง คุณพ่อโรแบต์ โกสเต ได้เปิดเผยจดหมายของคุณพ่ออัลแทลม์ แอกกอฟฟอง ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดเชียงยืน คุณพ่อแอกกอฟฟองได้เขียนระบายความรู้สึกเมื่อจะต้องจากเชียงยืน ภายหลังที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชกืออ๊าส ให้ไปเปิดวัดใหม่ที่นครราชสีมาในปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448)  เพราะเวลานั้นรถไฟมาถึงโคราชแล้ว มิสซังจะได้มีศูนย์สำหรับรับสัมภาระจากกรุงเทพฯเพื่องานแพร่ธรรม ในจดหมายฉบับนั้นคุณพ่อแอกกอฟฟองเขียนว่า
ถึงแม้ผมจะอ้อนวอนพระคุณเจ้าไม่ให้ส่งผมไปนครราชสีมา ท่านก็ไม่ยอมฟัง ท่านได้ตั้งใจจะส่งผมไปเปิดวัดใหม่ที่นั่น เป็นยาขมที่กลืนยาก ลาก่อนเชียงยืน ลาวัดที่ผมได้สร้างด้วยความลำบาก และยังไม่เสร็จกับบ้านพ่อเจ้าวัด ลาก่อนคริสตชนที่ผมรัก ผมได้สร้างสิ่งเหล่านี้ให้ผู้อื่นใช้ ต่อไปผมจะไม่มีวัด ผมไม่ทราบว่าต่อไปนี้ผมจะมีวัดหรือเปล่า และจะมีคริสตชนหรือไม่ ผมจะเป็นนายชุมพาโดยปราศจากฝูงชุมพา จะเป็นธรรมทูตที่ไม่มีวัด ผมต้องเสียสละโดยเห็นแก่ความรักของพระเป็นเจ้า เพราะผมได้มาก็เพื่อแต่การนี้
นี่คือแบบอย่างความเชื่อและความนอบน้อมเชื่อฟังพระสังฆราช เมื่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเริ่มงานในที่ใหม่ที่ไม่มีอะไรเลย ต้องเริ่มใหม่ทุกอย่าง ทำให้ไม่อยากไปตามประสามนุษย์ แต่ที่สุด ได้นบนอบพระสังฆราช ตัดสละน้ำใจตนเอง ไม่ติดยึดกับบุคคลหรือสถานที่ที่เคยอยู่ เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเราพระสงฆ์ในปัจจุบันมากทีเดียว เราอาจได้รับแต่งตั้งให้ไปอยู่วัดเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรพร้อม ไม่สะดวกสบาย เราต้องนบนอบเหมือนคุณพ่อแอกกอฟฟอง ความนบนอบของท่านทำให้มีศูนย์คาทอลิกเกิดขึ้นที่โคราช มีที่ดินผืนงามติดสถานีรถไฟสำหรับสร้างวัด สร้างโรงเรียน สังฆมณฑลนครราชสีมา ต้องขอบคุณและคิดถึงคุณพ่อให้มาก
4.           ประการที่สี่  เรื่องการบันทึกและเก็บรักษา
เราคงเคยได้ยินสุภาษิตภาษาลาติน “คำพูดมีปีกบิน แต่ข้อเขียนยังอยู่” (Verba volant, Scripta manent) หรือคำกล่าวที่ว่า หมึกเลือนๆ หยดหนึ่ง  ยังดีกว่าความจำที่ดีที่สุด พระสงฆ์ธรรมทูตเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องการบันทึก ทั้งๆ ที่สมัยนั้นมีอุปสรรคมาก  ปากกาไม่มี ต้องใช้ปากกาคอแร้ง ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนเช่นทุกวันนี้ คุณพ่อกอมบูริเออ ได้บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า และบันทึกหนังสือออกและคดีความไว้ทั้งหมด
รวมถึง บันทึกของพระสังฆราชกืออ๊าส ของคุณพ่อปิแอร์ แอกกองฟอง ของคุณพ่อซาเวีย เกโก และของคุณพ่อยอร์ช ดาแบงเกี่ยวกับการก่อตั้งมิสซัง นับว่ามีประโยชน์มาก ซึ่งทั้งพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยและคุณพ่อโรแบต์ โกสเต ได้รวบรวมและเขียนเป็นเล่มให้เราได้อ่านและศึกษา เวลาที่ผมรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนประวัติวัดและสังฆมณฑล เชื่อหรือไม่ว่าข้อมูลที่หายากที่สุดคือข้อมูลในช่วง 50 ปีหลัง เนื่องจากไม่ได้บันทึกเอาไว้
นอกจากการบันทึกแล้ว “การเก็บรักษา” เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาที่ผมเผยแพร่รูปหอระฆังอาสนวิหารนักบุญอันนาหนองแสง ที่ถูกระเบิดทำลายในช่วงกรณีพิพาทอินโดจีน หรือรูปวัดเก่าท่าแร่ หลายคนบอกว่า “เสียดายที่เราไม่ได้เก็บเอาไว้” เพราะหากเรารักษาเอาไว้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่ง ที่บอกเล่าเรื่องราวในตัวมันเอง อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และดึงดูดนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้ชาวท่าแร่จึงได้แค่ภูมิใจที่มีอาคารเก่าแบบฝรั่งเศส นั่นเป็นสมบัติส่วนตัวของคหบดีชาวท่าแร่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความเชื่อเลย
เมื่อพูดถึงวัดหลังแรกของภาคอีสานที่บุ่งกะแทวซึ่งคุณพ่อโปรดมสร้าง เรานึกภาพไม่ออก ตอนนี้วัดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานยังหลงเหลืออยู่ที่คำเกิ้ม นครพนม  เปิดเสกวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1907 เสียดายที่ปัจจุบันปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้มีการบูรณะหรือเห็นคุณค่า นี่เป็นร่องรอยที่เก่าแก่ที่สุดของธรรมทูตในภาคอีสานที่เหลืออยู่  ผมไม่ได้ตำหนิคนที่ทุบทำหลายวัดเหล่านี้ แต่ละคนต่างมีเหตุผลของตน แต่สิ่งที่ผมมองคือ พระศาสนจักรไทยให้ความสำคัญกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์น้อยไป เราจึงต้องมาย้อนรอย ในขณะที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรให้ย้อนแล้ว
ผมได้มีโอกาสไปช่วยงานในอัครสังฆมณฑลตูริน ที่เมือง Cercenasco กับ Vigone ที่เคยมีพระสงฆ์ประจำ 12 องค์และ 4 องค์ ตามลำดับ แต่ตอนที่ผมไปช่วยงานสองเมืองนี้มีเจ้าวัดองค์เดียว ที่น่าชมคือเขายังคงเก็บรักษาวัดทุกหลังเอาไว้ ทั้งๆ ที่เขามีพื้นที่จำกัด ไม่ได้ทุบทำลายเหมือนบ้านเรา โดยเฉพาะวัดหลังแรก ถึงขวบปีของการก่อตั้งพากันไปร่วมฉลอง ความจริงวัดเหล่านั้นไม่ได้มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมอะไรเลย แต่มีคุณค่าทางจิตใจ

5. ประการที่ห้า เรื่องแบบอย่างชีวิต

บรรดาธรรมทูตในอดีตได้ทำงานแพร่ธรรมด้วยความ ทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตน บนพื้นฐานของความรักตามแบบอย่างพระคริสตเจ้า ที่แสดงให้เห็นใน ความใจดี มีเมตตา เห็นอกเห็นใจ และยื่นมือช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ควบคู่ไปกับการประกาศข่าวดี สภาพของคนอีสานและลาวสมัยนั้นเหมือนกันคือ นับถือผีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกนั้นยังถูกจับตัวขายเป็นทาส หรือประสบความเดือดร้อนทั้งจากอำนาจรัฐและสังคม บทบาทของธรรมทูตได้เข้าไปมีส่วนในการไถ่ให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของนายเงินและอำนาจของผี
เริ่มแรกคุณพ่อโปรดมได้ช่วยไถ่ชาวลาวพวน 18 คนที่ถูกพวกกุลาจับตัวมาขายเป็นทาส  โดยยื่นฟ้องพวกกุลาและศาลได้ตัดสินปล่อยทาสทั้ง 18 คนเป็นอิสระ มาอาศัยอยู่กับคุณพ่อและเป็นกลุ่มแรกที่ได้เรียนศาสนา ข่าวการชนะคดีและปลดปล่อยทาสครั้งนั้นแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว และสร้างชื่อเสียงให้กับคุณพ่อ เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย ขอให้ศาลปล่อยเป็นอิสระเสมอ  เมื่อได้รับอิสรภาพได้มาอยู่กับคุณพ่อ เพราะกลัวถูกจับไปเป็นทาสอีก 
โดยมากเราจะเข้าใจว่าคริสตชนในภาคอีสานประกอบด้วย 2 กลุ่มนี้คือ พวกที่ถูกขายตัวเป็นทาส กับพวกนับถือผีที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ความจริงยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกผู้ร้าย ไอ้ขโมย ที่หลบหนีอาญาแผ่นดิน เช่นที่ท่าแร่จะเห็นชัดมาก จากบันทึกหนังสือเข้าของคุณพ่อกอมบูริเออ 400 กว่าฉบับ มีเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวกับการขอตัวนักโทษไปดำเนินคดี เช่น หนังสือเลขที่ 12 เดือนกรกฎาคม ปี ค.. 1887
เรื่อง อุปฮาด ผู้ว่าราชการเมือง คราวก่อน มีหนังสือมาหาคุณพ่อ เกณฑ์ให้ส่งตัวเพี้ยสิงห์,ไอ้ช้าง,ไอ้เสน,ไอ้จันทา,ไอ้อำคา,ไอ้พ่อไหม,ไอ้แก้ว ไปยังศาลเมืองสกลฯ คุณพ่อตอบว่า บาทหลวงเป็นชาวต่างประเทศ ไม่ใช่บ่าวอุปฮาด อุปฮาดจึงจะมีหมายเรียกมายังบาทหลวง…”
หนังสือในลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก  เพราะฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจที่บ้านท่าแร่ มีเจ้าพ่อ มือปืน นักเลง พ่อค้ายาเสพติดให้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เพราะเถือกเถาเหล่ากอเคยเป็นมาก่อน เข้าตำรา ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หรือ เชื้อไม่ทิ้งแถว ในหมู่บ้านคริสตชนที่ก่อตั้งเมื่อร้อยปีก่อนจะประกอบด้วยคน 3 กลุ่มนี้  มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป  นี่คือรากเหง้าและที่มาของบรรพชนของเราที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น และบรรดาธรรมทูตได้เป็นที่พึ่งของผู้เดือนร้อนเหล่านี้ภายใต้คติที่ว่า ปลดปล่อย เมตตา และยุติธรรม  
บทสรุป
ประการสำคัญ บรรดาธรรมทูตได้ดำเนินชีวิตใกล้ชิดชาวบ้าน กินอยู่และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขา เป็นการแพร่ธรรมที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ผลจากการทำงานด้วยความร้อนรน เสียสละ และกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทำให้เกิดคริสตชุมชนขึ้นใน 3 จุดใหญ่คือ อุบลราชธานี  สกลนคร และนครพนม ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของ มิสซังลาว ก่อนจะแยกเป็น 3 มิสซังในเวลาต่อมาคือ มิสซังเวียงจันทน์กับมิสซังท่าแขกในประเทศลาว และมิสซังท่าแร่ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมด จากเดิมที่ไม่มีคริสตชนเลยก่อนปี ค.ศ. 1881 จนถึงปี ค.ศ. 1950 จำนวนคริสตชนได้เพิ่มเป็น 25,466 คน
พระคุณเจ้าและพี่น้องสงฆ์ที่เคารพครับ เราต้องยอมรับความจริงว่า ทุกสิ่งที่เรามี เราเป็นเวลานี้ คือสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าเราได้สร้างเอาไว้ทั้งสิ้น บรรดาธรรมทูตคือผู้บุกเบิกและสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อเรา เราเป็นหนี้บุญพวกท่านเหล่านี้ เวลานี้ร่างของพวกท่านยังคงฝังอยู่ในผืนดินอีสานและประเทศลาว นี่คือนักบุญที่ได้เป็นพยานถึงความเชื่อด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และอดทนเยี่ยงวีระบุรุษ ควรที่เราพระสงฆ์ซึ่งเป็นชนรุ่นหลัง จะได้สำนึกในพระคุณและสานต่อต่อพันธกิจนี้ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตน  
สุดท้าย ขอขอบคุณพระคุณเจ้าและพี่น้องสงฆ์ที่ตั้งใจฟัง ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่านให้ “มั่นคงเข้มแข็งในความเชื่อ และเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
บ้านผู้หว่าน สามพราน นครปฐม
14 กรกฎาคม 2015

1 ความคิดเห็น:

  1. ซาบซึ้งในความเชื่อของบรรดาธรรมทูตที่มาบุกเบิกก่อนหน้าเรา...

    ตอบลบ