วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทเรียนจากเรือไททานิก



บทเรียนจากเรือไททานิก
บทนำ
คุรุผู้หนึ่ง ถามลูกศิษย์ว่า พวกเขาสามารถบอกได้ไหมว่า เมื่อไรกลางคืนจะสิ้นสุดลง และเมื่อไรวันใหม่จะเริ่มต้นขึ้น
       คนหนึ่งตอบว่า  เมื่อเราแลเห็นสัตว์ในระยะทางไกลๆ และสามารถบอกได้ว่า มันเป็นวัวหรือควาย  ไม่ใช่คุรุกล่าว
       เมื่อเราเห็นต้นไม้ในระยะทางไกลๆ และเราสามารถบอกได้ว่า มันเป็นต้นมะม่วงหรือต้นมะยม ก็ไม่ใช่อีก คุรุกล่าว
       ถ้าเช่นนั้นเป็นอย่างไรครับ ลูกศิษย์ถาม  คุรุตอบว่า
       เมื่อเจ้ามองหน้าผู้ใดก็ตาม และเจ้าระลึกได้ว่าเขาเป็นพี่น้องของเจ้า  ถ้าเจ้าทำไม่ได้แล้วไซ้  เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ยังคงเป็นกลางคืนอยู่นั่นเอง
การอยู่ด้วยกันในครอบครัวหรือในโรงเรียน อาจยังคงเป็นกลางคืนอยู่สำหรับเรา  ถ้าเราไม่ยอมรับหรือมองไม่เห็นคนอื่นเป็นพี่น้อง เป็นพระเยซูเจ้าอีกองค์หนึ่ง  เราต้องรักและยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น  เราคงไม่สามารถเปลี่ยนตัวเขาได้ และไม่สามารถจะเปลี่ยนโลกทั้งโลก  แต่เวลาใดก็ตามที่เราพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเรา ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป  ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะเราพยายามที่จะเปลี่ยนตัวเขา  ทำไมไม่ทำอย่างโน้น อย่างนี้  บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไม่ยอมรับรู้ รับฟังหรือสนใจความเดือดร้อนของคนที่อยู่รอบข้างเรา
บทเรียนจากเรือไททานิก
เมื่อกลางเดือนที่แล้วเราได้ดูข่าวที่เกิดขึ้นกับเรือเซวอลของเกาหลีใต้ ทำให้หลายคนนึกถึงเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเรือ ไททานิก เรือไททานิกเป็นเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 3 สนามนำมาต่อกัน สร้างโดยบริษัทไวท์สตาร์ ของอังกฤษในปี ค.. 1912 และได้รับการยืนยันว่าไม่มีวันจมน้ำ  แต่ปรากฏว่าเมื่อเรือลำนี้แล่นข้ามมหาสมุทรแอตลันติกในเที่ยวแรกเพียงครึ่งทาง ได้ชนภูเขาน้ำแข็งและจมลง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,517 คน จากจำนวนผู้โดยสารกว่าสองพันคน
ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับการสูญเสียครั้งนั้น มีการสืบสวนครั้งใหญ่ ผลสรุปออกมาว่าสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีหลายประการ นั่นคือ เรือลำนี้แล่นเร็วเกินไป เรือช่วยชีวิตมีน้อยและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และที่แทบไม่น่าเชื่อคือผู้เดินเรือไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลยเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งเลย 
นอกนั้น การสืบสวนครั้งนั้นยังได้พบรายละเอียดที่แทบไม่น่าเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ นั่นคือขณะที่เรือ ไททานิก กำลังจะจมอยู่นั้นมีเรืออีกลำหนึ่งชื่อ แคลิฟอร์เนีย อยู่ห่างจากเรือ ไททานิก เพียงสามสิบไมล์เท่านั้น  ในสมัยนั้นการติดต่อส่งข่าวทางวิทยุยังไม่มีประสิทธิภาพ และบังเอิญที่พนักงานวิทยุของเรือ แคลิฟอร์เนีย หยุดทำงานพอดี เวลาที่พนักงานวิทยุของเรือ ไททานิก ติดต่อขอความช่วยเหลืออย่างรีบด่วนไปยังเรือ แคลิฟอร์เนีย จึงไม่ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือใดๆ
เรือ ไททานิก ต้องจมลงขณะที่มีเรืออีกลำหนึ่งอยู่ใกล้ๆ และสามารถแล่นไปช่วยเหลือได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง  แต่เรือ แคลิฟอร์เนีย ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเลย นี่คือโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรือ ไททานิก  ความจริงคือ เราสามารถขอความช่วยเหลือได้และน่าจะมีคนได้รับความช่วยเหลือและรอดตาย แต่นี่ไม่มีใครรู้ว่ามีผู้ต้องการความช่วยเหลือเลย
เราทุกคนได้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่จากเรื่องราวเรือ ไททานิก ขณะทีเราแล่นเรือไปในทะเลชีวิตหรือขณะดำเนินชีวิตอยู่ บางคนอาจประสบปัญหาใหญ่หลวงเหมือนเรือที่กำลังชนภูเขาน้ำแข็งลอยอยู่กลางทะเล พวกเขาอาจกำลังร้องขอความช่วยเหลือ บางทีเขาอาจไม่พูดออกมาตรงๆ ว่า ช่วยฉันด้วย ฉันต้องการความช่วยเหลือ แต่อากับกิริยาภายนอกที่เราเห็น เช่น ความเครียด ความโกรธ ความท้อแท้สิ้นหวัง ล้วนเป็นสัญญาณบอกอย่างหนึ่งว่า เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว 
เราต้องไม่ลืมที่จะให้เวลาและฟังเสียงร้องขอความช่วยเหลือแบบเดียวกันนี้ ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในโรงเรียนของเรา  อย่าทำตัวเป็นเหมือนเรือ แคลิฟอร์เนีย ในขณะที่มีคนที่มีสภาพเหมือนเรือ ไททานิก อยู่รอบๆ ตัวเรา  และเราต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทำได้เพื่อเป็นการเยียวยาผู้อื่น คือการฟังเรื่องราวของกันและกัน  (Rebecca Falls)
ความรักเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานและการอยู่ร่วมกัน  เราคงจะทำงานหรืออยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราไม่รักซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจและพร้อมจะช่วยเหลือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของเหตุผล” แต่เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” เราถามทุกสิ่งด้วย “เหตุผล” ได้ แต่สำหรับ “ความรัก” เราต้องถามด้วย “หัวใจ” และตอบด้วย “หัวใจ” เท่านั้น และเมื่อมีความรักแล้ว ย่อมสามารถเปลี่ยนกระท่อมธรรมดาให้กลายเป็นราชสำนักได้
“ความรัก” จึงเป็นหลักการพื้นฐานและคำสอนที่สำคัญของพระเยซูเจ้า ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น และพระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)  เราจะต้องดำเนินชีวิตตามแบบอย่างความรักที่พระเยซูเจ้าสอน นั่นคือ
1)           ความรักที่เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ อยากให้คนอื่นมีความสุขแม้ตนเองจะลำบากก็ไม่เป็นไร เช่น ความรักของพ่อแม่ที่ยอมลำบากและทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกสบาย
2)           ความรักที่พร้อมจะยอมรับซึ่งกันและกัน  ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องเข้าใจ ในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์พร้อม แต่ละคนย่อมมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ดังนั้น เราจึงต้องยอมรับซึ่งกันและกัน
3)           ความรักที่พร้อมจะให้อภัย  นี่คือมาตรฐานของความรักแบบคริสตชน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของพระเจ้า ที่ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไขและไร้ขีดจำกัด เราจะต้องยกโทษและให้อภัยด้วยใจกว้าง แม้จะเป็นเรื่องยากลำบากในการรักตอบ แต่อย่างน้อยเราต้องไม่ถือโทษโกรธเคืองหรือผูกพยาบาท นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงท้าทายเราคริสตชน
บทสรุป
พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเราให้รักเพื่อนมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ต้องรักแบบไร้ข้อจำกัดและไม่มีกรณียกเว้น มาตรฐานความรักแบบคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดและทำให้เห็นด้วยชีวิตของพระองค์คือ การรักและการให้อภัยศัตรู ให้เราได้รักและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเราด้วยใจกว้าง ตอบแทนความชั่วด้วยความดี แม้เป็นสิ่งที่ทำได้อยาก แต่อย่างน้อยเราต้องภาวนาเพื่อเขา
หากในชีวิตครอบครัวของเราหรือในโรงเรียนของเรามีความรักที่เสียสละ รู้จักยอมรับและให้อภัย  และทุกคนพยายามที่จะดำเนินชีวิตในความรักแบบนี้ในชีวิตประจำวัน เชื่อแน่ว่า ครอบครัวของเรา หมู่คณะของเราจะเป็นครอบครัวและหมู่คณะที่มีความสุข การทำงานทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุผลสำเร็จอย่างแน่นอน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
09 พฤษภาคม 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น