วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อิตาลีรำลึก 3


กรุงโรม นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมล้ำค่าแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนา มีมหาวิหารที่สำคัญ 4 แห่งที่เป็นเป้าหมายของการแสวงบุญและวอนขอพระคุณการุณย์สำหรับคริสตชนจากทั่วโลก ได้แก่ มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน และมหาวิหารแม่พระ

1.      มหาวิหารนักบุญเปโตร

บริเวณพระแท่นที่สร้างเหนือหลุมศพนักบุญเปโตร พระสันตะปาปาองค์แรก
และหลุมศพบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2 ในวัดน้อยของมหาวิหาร
 
มหาวิหารนักบุญเปโตร (Basilica di San Pietro) มีความสำคัญมากในพระศาสนจักรคาทอลิก ด้วยเหตุผลที่ว่า 1) เป็นสถานที่นักบุญเปโตรได้พลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยการตรึงกางเขนกลับหัว สมัยการเบียดเบียนของจักรพรรดิเนโรในราวปี ค.ศ. 64 นักบุญเปโตรเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระศาสนาจักรคาทอลิก เพราะเป็นผู้แทนของพระเยซูเจ้าบนแผ่นดินนี้และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก, 2) ป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้งทางด้านพิธีกรรม ข้อความเชื่อและการบริหาร อีกทั้งที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปาที่อยู่บริเวณเดียวกัน และ 3) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการแสวงบุญเพื่อรับพระคุณการุณย์
 มหาวิหารหลังแรกที่จักรพรรดิคอนสแตนตินสร้าง และบัลลังก์ของนักบุญเปโตร
มหาวิหารหลังแรก สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ตามความปรารถนาของพระมารดาคือ พระนางเฮเลนาและพระสันตะปาปา ซิลเวสโตร ที่ 1 ในปี ค.ศ. 326 เพื่อคลุมหลุมฝังศพของนักบุญเปโตรบนเนินวาติกันที่เคยเป็นสนามกีฬาของชาวโรมัน สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 349 ส่วนมหาวิหารหลังปัจจุบันเริ่มสร้างในสมัยพระสันตะปาปา จูลีอุส ที่ 2 โดยมอบหมายให้ โดนาโต บรามันเต (Donato Bramante:1444-1514) เป็นผู้ออกแบบและวางแผนการก่อสร้าง มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1506 และเตรียมหาเงินก่อสร้างด้วยการขายพระคุณการุณย์ (ซึ่งมาร์ติน ลูเธอร์ไม่เห็นด้วยและเป็นที่มาของการแยกตัวออกไปเป็นนิกายโปรเตสแตนต์)  การออกแบบมหาวิหารหลังใหม่นี้แบ่งเป็น 4 ส่วน คล้ายรูปกางเขน หมายถึง 4 มุมโลก และโดมใหญ่ (Cupola) ตรงกลางหมายถึง สวรรค์หรือศีรษะ มีผู้รับช่วงงานต่อจากบรามันเตหลายคน รวมถึงไมเกิ้ล อันเจโลด้วย โดมใหญ่นี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 84 ปี
 แนวเสาหินที่เรียกว่า "อ้อมแขนของพระศาสนจักร" ที่เปิดรับทุกคน
ส่วนแนวเสาหินที่เราเรียกกันว่า อ้อมแขนของพระศาสนจักรออกแบบและก่อสร้างโดย เจียน โลเรนโซ แบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini: 1598-1680) ในระหว่างปี ค.ศ. 1656-1667 ทำให้มหาวิหารเป็นดังมารดาของพระศาสนจักรและอ้าแขนต้อนรับทุกคนเข้ามาในพระศาสนจักรนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาคริสตชน พวกเฮเรติ๊ก (ผู้ที่สอนผิดความเชื่อ) หรือผู้ที่ไม่มีความเชื่อเลย หรือคนต่างศาสนา มหาวิหารได้รับการเสกโดยพระสันตะปาปา อูร์บัน ที่ 8 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1626 รวมเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง 120 ปี แต่การก่อสร้างจบสิ้นลงโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1784 รวมเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 278 ปี มหาวิหารนี้จุคนได้ 20,000 คน มีความยาว 220 เมตร กว้าง 150 เมตร ความสูงจนถึงยอดโดมรวม 138 เมตร
 รูปปิเอตา ผลงานชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียงของไมเกิ้ล อันเจโล
รูปปิเอตา (Pietà) เป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียงที่สุดของไมเกิ้ล อันเจโล ที่แกะสลักจากหินอ่อนทั้งแท่งเป็นรูปแม่พระรับพระศพของพระเยซูเจ้าลงจากกางเขน เป็นความทุกข์ของแม่คนหนึ่งกำลังมองลูกชายนอนตายอยู่บนตัก เป็นภาพที่น่าเวทนาและสะเทือนใจอย่างยิ่งจึงเรียกรูปนี้ว่า แม่พระมหาทุกข์ ไมเกิ้ล อันเจโล สลักรูปนี้เสร็จในปี ค.ศ. 1499 ขณะมีอายุเพียง 24 ปี ถือเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวที่ไมเกิ้ล อันเจโล สลักชื่อไว้ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1) เพราะพอใจในผลงานชิ้นนี้มาก และ 2) เพราะกลัวมีคนแอบอ้างว่าเป็นผลงานของตนและกลัวคนไม่เชื่อว่าเด็กหนุ่มอย่างเขาสามารถสลักรูปที่งดงามนี้ได้ โดยสลักชื่อไว้ที่แถบผ้าที่พาดอยู่บริเวณอกของแม่พระ เอกลักษณ์ประการหนึ่งของรูปนี้คือ ใบหน้าของแม่พระและพระเยซูเจ้าอยู่ในวัยใกล้เคียงกันหรือวัยเดียวกัน เพื่อให้ความหมายว่า พระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์และพระนางมารีอาเป็นราชินีแห่งสากลจักรวาล อีกทั้งความสาวของพระนางยังเป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์ของพระนางอีกด้วย
 งานก่อสร้างชิ้นล่าสุด ตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2
 
2.      มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง

จักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างวิหารหลังแรกเหนือหลุมศพของนักบุญเปาโลในปี ค.ศ. 324 ต่อมาในปี ค.ศ. 395 จักรพรรดิโฮโนรีอุส (Honorius) ได้สร้างมหาวิหารใหญ่ขึ้นแทนที เนื่องจากมหาวิหารนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงกรุงโรม จึงได้ชื่อ มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง (Basilica di San Paolo fuori le mura) มีการประดับด้วยเงินทองและเพชรนิลจินดาเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญเปาโล ทำให้เป็นเป้าหมายของการปล้นหลายครั้ง พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 8 (ค.ศ. 872-882) จึงได้สร้างกำแพงล้อมรอบมหาวิหารเพื่อเป็นการป้องกัน
 มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง สร้างคลุมหลุมศพของนักบุญเปาโล
นอกนั้น ทางเข้าสู่ห้องซาคริสเตียมหาวิหารนักบุญเปาโล มีห้องเก็บพระธาตุที่มีชื่อเสียงมาก เช่น พระคัมภีร์โบราณที่เขียนด้วยลายมือของนักบุญเยโรม (ค.ศ. 342-420) พระธาตุของนักบุญสเตฟาโนและนักบุญอันนา กางเขนที่ทำมาจากกางเขนแท้ของพระเยซูเจ้า ฝุ่นกระดูกของบรรดาอัครสาวก โซ่ที่ใช้ล่ามนักบุญเปาโล ชิ้นส่วนไม้เท้าของนักบุญเปาโลและพระธาตุของนักบุญองค์อื่นๆ มหาวิหารหลังปัจจุบัน เป็นหลังที่สร้างขึ้นใหม่โดยพระสันตะปาปา เลโอเน ที่ 12 อันเนื่องมาจากหลังเดิมถูกเพลิงไม้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1823 เสียหายเกือบทั้งหมดไม่สามารถซ่อมแซมได้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9 ได้ทำพิธีเสกมหาวิหารนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1854

ปัจจุบัน มหาวิหารแห่งนี้อยู่ในความดูแลของคณะเบเนดิกติน มีขนาดยาว 150 เมตร กว้าง 80 เมตร สองข้างระหว่างเสาหินภายในมหาวิหาร มีรูปโมเสกของพระสันตะปาปาตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์ปัจจุบัน เล่าขานกันสืบต่อมาว่า เมื่อใดก็ตามที่รูปโมเสกของพระสันตะปาปาเต็มทุกช่อง เมื่อนั้นจะเป็นวันสิ้นโลก บนกำแพงใหญ่ข้างพระแท่นกลางมีรูปวาดของศิลปินคนหนึ่ง เป็นรูปโลงศพของแม่พระล้อมรอบด้วยบรรดาอัครสาวก เป็นเครื่องหมายว่า พระนางมารีอาได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และเมื่อไม่นานมานี้ โอกาสครบรอบ 2,000 ปีของนักบุญเปาโล พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้ประกาศให้ปีนักบุญเปาโล (29 มิถุนายน 2008 ถึง 28 มิถุนายน 2009)

3.      มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน

 มหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน มหาวิหารแม่ของพระศาสนจักร
มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน (Arcibasilica di San Giovanni in Laterano) เดิมชื่อ “มหาวิหารพระผู้ไถ่” (San Salvatore) สร้างขึ้นโดยจักรพรรดิคอนสแตนติน เพื่อให้ยึดถือเป็นเหมือน หัวหน้าและสุดยอดของวัดทั้งหลายในโลกจักรวาลนี้ถือเป็นวัดเอกเหนือวัดทั้งหลายในกรุงโรมและถือเป็นมารดาของพระศาสนจักร (Mater Ecclesiae) ของพระศาสนจักรโรมัน ดังนั้น มหาวิหารแห่งนี้จึงถือเป็นมหาวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดามหาวิหารทั้งสี่แห่ง อีกทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาและคณะบริหารเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1309 เมื่อพระสันตะปาปาย้ายไปพำนักที่อาวียอง ประเทศฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 896 ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้มหาวิหารพังทลาย พระสันตะปาปา แซร์จิอุส ที่ 3 (Sergius III: 904-911) ได้สร้างมหาวิหารขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่มอบถวายแด่ นักบุญยอห์น บัปติสต์และนักบุญยอห์นอัครสาวก พร้อมกับสร้างอาคารสำนักงาน อารามนักบวช โรงพยาบาลและที่พักสำหรับผู้แสวงบุญขึ้นมาด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1192 มีหลักฐานแน่ชัดว่า ที่นี่เป็นสถานที่เลือกตั้งพระสันตะปาปา ปี ค.ศ. 1308 มหาวิหารถูกไฟไหม้เกือบหมด หลังจากซ่อมแซมได้ไม่นานก็ถูกไฟไหม้อีก ในปี ค.ศ. 1361 มหาวิหารได้รับการซ่อมแซม แต่ตัวพระราชวังไม่สามารถใช้เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาได้อีก เมื่อพระสันตะปาปาเสด็จกลับจากอาวียองมาที่กรุงโรม วาติกันและมหาวิหารนักบุญเปโตรในฐานะที่ที่มีเกียรติของนักบุญเปโตร จึงได้รับเกียรติเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา
 สร้างถวายแด่นักบุญยอห์น บัปติสต์และนักบุญยอห์น อัครสาวก
มีการถกเถียงกันว่าระหว่างมหาวิหารลาเตรันกับมหาวิหารนักบุญเปโตรที่ใดสำคัญกว่ากัน พระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 11 จากอาวียองได้ออกกฤษฎีกา (Bull) และประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลาเตรัน ยังคงเป็นสำนักเอกและเป็นที่หนึ่งเหนือวัดทุกแห่งของกรุงโรมและจักรวาล และเป็นที่หนึ่งเหนือมหาวิหารทั้งหลาย รวมถึงมหาวิหารนักบุญเปโตร ในสมัยพระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 ได้สร้างมหาวิหารใหม่ทั้งหมด สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือวัดน้อยของพระสันตะปาปาที่เรียกว่า “ศักดิ์สิทธิ์สถาน” (Sancta Sanctorum) ที่บรรจุพระธาตุนักบุญต่างๆ และ “บันไดศักดิ์สิทธิ์”  (Scala Santa) ที่ย้ายมาอยู่ที่อาคารซึ่งสร้างและออกแบบโดย โดเมนิโก ฟอนตานา (Domenico Fontana: 1543-1607)

บันไดศักดิ์สิทธิ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บันไดปีลาโต (Scala Pilati) เป็นบันไดที่ทำด้วยหินอ่อน มีทั้งหมด 28 ขั้น ซึ่งนักบุญเฮเลนา (ค.ศ. 255-330) พระมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินนำมาจากกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อครั้งไปจาริกแสวงบุญแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 326 และเป็นผู้ค้นพบไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูเจ้าด้วย ปัจจุบันได้ทำบันไดไม้คลุมทับไว้ เล่ากันว่า พระเยซูเจ้าหลังจากถูกตัดสินประหารชีวิต ได้เดินลงมาทางบันไดนี้ ดังนั้น สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ ผู้จาริกแสวงบุญจะคุกเข่าขึ้นไปบนบันได และบนยอดของบันไดนี้เป็นที่ตั้งของศักดิ์สิทธิ์สถานที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1278
 บันไดศักดิ์สิทธิ์ที่นักบุญเฮเลนานำมาจากกรุงเยรูซาเล็ม
มหาวิหารหลังปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมและต่อเติมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1362 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1737 โดยใช้สถาปนิกที่มีชื่อเสียงหลายคนเป็นผู้ออกแบบ และยังถือเป็นวิหารแม่ของอัครสังฆมณฑลโรมและของพระศาสนจักร ดังนั้น หลังจากได้รับเลือกตั้ง พระสันตะปาปาจำเป็นต้องมาทำพิธีรับเป็นเจ้าของมหาวิหารและประทับบนบัลลังก์ ณ มหาวิหารนี้ ในฐานะที่เป็นพระสังฆราชแห่งโรม และตามธรรมเนียมเก่าแก่ พระสันตะปาปาจะต้องล้างเท้าอัครสาวก 12 องค์ ในพิธีวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาวิหารนี้ ก่อนจะย้ายไปทำที่มหาวิหารนักบุญเปโตรในปี ค.ศ. 1834 เป็นต้นมา

4.      มหาวิหารแม่พระ

 มหาวิหารแม่พระที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม ถวายแด่แม่พระในฐานะมารดาของพระเจ้า
มหาวิหารแม่พระ (Basilica di Sancta Maria Maggiore) ตั้งอยู่บนเนินเอสควิลีเน ก่อสร้างโดยพระสันตะปาปา ลิแบรีโอ (ค.ศ. 352-366) ในปี ค.ศ. 352 มหาวิหารแห่งนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มหาวิหารลิเบริอานา (Basilica Liberiana) มีตำนานเล่าว่า แม่พระต้องการให้สร้างวัดถวายแด่พระนางบนเนินแห่งนี้ โดยให้เครื่องหมายคือรอยเท้าของพระนางบนหิมะที่ตกมาในฤดูร้อนบนเนินแห่งนี้ ตำนานเรื่องนี้ทำให้เกิดมีวันฉลองแม่พระแห่งหิมะ (La Madonna della Neve) ทุกวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี และยังถือเป็นวันฉลองมหาวิหารแห่งนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

มหาวิหารหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่โดยพระสันตะปาปา ซีกตุส ที่ 3 (ค.ศ. 432-440) และยกถวายให้แด่แม่พระในฐานะที่เป็น “มารดาของพระเจ้า” หลังสังคายนาที่เอเฟซัส ปี ค.ศ. 431 ที่ยืนยันข้อความเชื่อนี้ต่อต้านพวกเนสตอเรียนที่สอนว่า “แม่พระเป็นมารดาของพระเยซู มิใช่มารดาของพระเจ้า” ได้รับการซ่อมแซมและตกแต่งให้สวยงามขึ้นมาหลายสมัย อาทิ มุขที่ยื่นออกไปด้านหลังพระแท่นกลางสมัยพระสันตะปาปา นิคโคโล ที่ 4 (ค.ศ. 1288-1292) ด้านหน้าของมหาวิหารสมัยพระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 10 (ค.ศ. 1670-1676)  
 รางหญ้าของพระกุมารเยซูที่นำมาจากเบธเลแฮม
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1400 เป็นต้นมา มหาวิหารแห่งนี้ได้รับสิทธิ์ให้เป็นหนึ่งในสี่ของมหาวิหารที่จำเป็นเพื่อรับพระคุณการุณย์ในปีศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีนิยมในสมัยกลาง แม้ว่าจะเป็นมหาวิหารที่เล็กกว่ามหาวิหารอีก 3 แห่ง แต่เป็นวัดที่ยกถวายแด่แม่พระที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม สมบัติที่ล้ำค่าของมหาวิหารแห่งนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1) รางหญ้าพระกุมาร ภายหลังที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้ ซึ่งพระสันตะปาปา เทโอโดโร ที่ 1 นำมาจากเบธเลเฮมในปี ค.ศ. 642 และ 2) รูปวาดแม่พระ ที่เชื่อกันว่าเป็นผลงานของนักบุญลูกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น