วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

125 ปี นาโพธิ์ถิ่นภูไท

125 ปี นาโพธิ์ถิ่นภูไท


ชุมชนวัดนักบุญมารีอามักดาเลนา นาโพธิ์ ฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ วันที่ 10 ธันวาคม
 กลุ่มคริสตชนวัดนักบุญมารีอามักดาเลนา นาโพธิ์ เป็นเชื้อสายชาวภูไทที่เคยเป็นทาสอยู่ที่เมืองเว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) พวกเขาได้ติดต่อกับคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสวัดมหาพรหมมีคาแอลแห่งหนองหาร (ชื่อที่เป็นทางการของวัดท่าแร่ในขณะนั้น) คุณพ่อจึงได้ไปรับมาและจัดให้พักอาศัยอยู่บริเวณหนองแฮ่ติดหนองหารด้านทิศตะวันออกของบ้านท่าแร่ในระยะเริ่มแรกเพื่อเรียนคำสอน จากเหตุการณ์ที่คุณพ่อรับเอาพวกทาสเหล่านั้นเข้าเป็นคริสตชน ทำให้รองเจ้าเมืองเรณูนครยื่นฟ้องคุณพ่อโดยกล่าวหาว่าได้กระทำการขโมย คุณพ่อไม่ยอมไปศาลที่เมืองนครพนมและสกลนคร แต่ได้ขอให้ศาลของพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯพิจารณา โดยมอบหมายให้คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดม เป็นผู้ดำเนินเรื่อง ในบรรดาผู้อพยพมานั้นบางคนได้บรรดาศักดิ์เป็นขุน เช่น ขุนชำนาญ ต้นตระกูล “มหัตกุล”, ขุนชำนิ ต้นตระกูล “เนืองทอง” และหมื่นวิเศษ ต้นตระกูล “ผิวตะศาสตร์” ซึ่งเป็นต้นตระกูลสำคัญของนาโพธิ์ในปัจจุบัน

คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ ผู้บุกเบิกและไถ่จากการเป็นทาส
การก่อตั้งหมู่บ้าน

จากคำบอกเล่าของนางสิงห์คำ สูตรสุคล อายุ 84 ปี ที่ได้ยินนายกงจันทร์ เนืองทอง ผู้เป็นบิดาและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อพยพมาในครั้งนั้นเล่าให้ฟังเวลาเป็นเด็กทำให้ทราบว่า คุณพ่อกอมบูริเออ ประสงค์จะให้ชาวนาโพธิ์ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณหนองแฮ่ใกล้ท่าแร่เพื่อความสะดวกในการดูแลและอภิบาล แต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ แม้บริเวณดังกล่าวในสมัยนั้นจะอุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดเนื่องจากอยู่ติดหนองหาร แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ใหม่อันเป็นที่มาของบ้านนาโพธิ์ในปัจจุบัน เพราะบริเวณที่พวกเขาอยู่ในระยะเริ่มแรกไม่มีที่สำหรับทำไร่ทำนา ประกอบกับเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมถึงทำให้ไม่สะดวกในการตั้งหลักแหล่งในบริเวณดังกล่าว

จากหลักฐานทะเบียนศีลล้างบาปที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) คุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาปแก่คริสตชนชาวนาโพธิ์กลุ่มแรกจำนวน 8 คน ที่วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) มีผู้รับศีลล้างบาปเพิ่มอีกรวมจำนวน 11 คน แสดงว่าคริสตชนชาวนาโพธิ์ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณหนองแฮ่ประมาณ 2 ปี ที่สุด คริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 20 ครอบครัว ราว 120 คนได้ย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์กว่า บริเวณลำห้วยโพธิ์ ห้วยลึก และห้วยจับห่างจากบ้านท่าแร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งสมัยนั้นยังคงเป็นป่าทึบมีสัตว์ป่านานาชนิด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยต้นโพธิ์จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “นาโพธิ์” ในชั้นแรกคุณพ่อกอมบูริเออ คงไม่เห็นดีด้วย เห็นได้จากลักษณะการก่อตั้งบ้านเรือนของชาวนาโพธิ์ไม่มีการวางผังที่เป็นระเบียบสวยงามเหมือนวัดท่าแร่ ช้างมิ่ง จันทร์เพ็ญและทุ่งมน ที่คุณพ่อได้ก่อตั้ง

อย่างไรก็ดี บรรพบุรุษชาวนาโพธิ์ก็ได้ตั้งหลักแหล่งในบริเวณดังกล่าวโดยมีขุนชำนาญ เป็นนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านคนแรก ดังปรากฎในเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” ของคุณพ่อกอมบูริเออ ที่บันทึกด้วยอักษรโรมัน (ภาษาวัด) เลขที่ 194 และ 196 ลงวันที่ 4 และ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1898 (พ.ศ.2441) ตามลำดับ อันเป็นหนังสือที่พระวรสิทธิ์ธนานุคุณ เจ้าเมืองกุสุมาลย์ และพระศรีวรบุตร ผู้ช่วย ส่งมายังขุนชำนาญ นายบ้านนาโพธิ์ เพื่อให้เร่งรัดชาวนาโพธิ์เสียเงินค่าภาษีสุรา และขุนชำนาญ ได้ตอบกลับไปว่า ที่บ้านนาโพธิ์ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ต้มสุรา จึงเสียเงินค่าภาษีให้ไม่ได้ แต่ต่อมาภายหลังขุนชำนาญ ถูกจับกุมคุมตัวไปท่าแร่ ด้วยกลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมาจึงได้ยืมเงินคุณพ่อกอมบูริเออ จำนวน 5 บาทจ่ายค่าภาษีแทนชาวนาโพธิ์

 ลักษณะวัดไม้ถาวรหลังที่ 3 ซึ่งยกพื้นสูง สร้างโดยคุณพ่ออองรี โทมิน

การสร้างวัด

หลังจากตั้งบ้านเรือนที่นาโพธิ์ได้ไม่นาน คุณพ่อกอมบูริเออ ได้สร้างวัดหลังแรกขึ้นตรงกลางหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นโรงเรือนหลังคามุงจากฝาขัดแตะขนาด 4 ห้อง โดยมีพิธีเสกและเปิดวัดใหม่พร้อมกับการล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรก ณ ดินแดนใหม่นี้จำนวน 19 คน ซึ่งตรงกับวันฉลองนักบุญมารีอามักดาเลนา วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ดังปรากฏในทะเบียนศีลล้างบาป ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ วัดนี้จึงได้นาม “นักบุญมารีอามักดาเลนา” เป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และคุณพ่อกอมบูริเออ ได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของครูคำสอนคนหนึ่งที่ชื่อ “ครูหยุย”

จากเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” ของคุณพ่อกอมบูริเออ เลขที่ 364 ลงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2453) ความว่า “พระสุนทรธนศักดิ์ ปลัดมณฑลประจำเมืองสกลนคร ตอบอนุญาตมาถึงท่านบาทหลวง เจ กอมบูริเออ ในการที่ขอให้ราษฎรบ้านนาโพธิ์เว้นการโยธาสำหรับจะได้อยู่สร้างวัด และจัดแจงถนนหนทางบ้านนาโพธิ์ให้สะอาดเรียบร้อย” ทำให้เราได้ทราบว่า คุณพ่อกอมบูริเออ ได้นำชาวบ้านสร้างวัดหลังที่ 2 ขึ้น เป็นวัดขนาด 9 ห้องฝาขัดแตะพอกดินเหนียว แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนักเกี่ยวกับวัดหลังที่สองนี้
วัดไม้ชั่วคราวหลังที่ 4 สร้างโดยคุณพ่ออินตา นันสีทอง ที่ใช้งานมานานถึง 24 ปี


ส่วนวัดหลังที่ 3 สร้างในสมัยที่คุณพ่อฮังรี โทมิน เป็นผู้ดูแลขณะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อกอมบูริเออ ที่ท่าแร่ และได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เริ่มลงมือสร้างวัดใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งวัดหลังดังกล่าวมีลักษณะเป็นวัดไม้ชั้นเดียวสร้างด้วยซุงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 50 เซนติเมตร โดยมีนายกง เนืองทอง เป็นนายช่าง เสาตั้งอยู่บนฐานหินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร มีโดมหอระฆังอยู่ด้านหน้า เสียดายที่วัดหลังนั้นได้พังทลายลงเมื่อคราวเกิดพายุใหญ่ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จนใช้การไม่ได้ คุณพ่อยอแซฟ อินตา นันสีทอง เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงรื้อถอนและสร้างวัดไม้ชั่วคราวหลังที่สี่ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรขึ้น โดยมีนายซีมอน ถนอม ถิ่นวัลย์ เป็นนายช่าง วัดชั่วคราวหลังนี้ก็ได้ใช้ในการประกอบศาสนกิจต่อมาเป็นเวลานานจนชำรุดทรุดโทรม และในสมัยคุณพ่อปีโอ ไอศวรรย์ จันทร์ลือชัย เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) มีความพยายามจะสร้างวัดหลังใหม่แต่ไม่สำเร็จ ส่วนบ้านพักพระสงฆ์หลังเก่าซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้นสร้างในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) โดยคุณพ่อมีคาแอล เสนีย์ สกนธวัฒน์ โดยซื้อบ้านของนางพิม ซึมเมฆ แล้วนำไปดัดแปลงทำเป็นสองชั้น พร้อมกับสร้างโรงครัวและฉางข้าวใหญ่เพื่อทำเป็นธนาคารข้าวสำหรับชาวบ้าน

ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ นรินทร์ ศิริวิริยานันท์ ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสคุณพ่อได้ร่วมมือกับชาวบ้านในการปรับปรุงพัฒนาวัด ด้วยการสร้างบ้านพักพระสงฆ์และเตรียมการก่อสร้างวัดหลังใหม่ ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้างวัด พี่น้องสัตบุรุษชาวนาโพธิ์ได้มีโอกาสร่วมโมทนาคุณพระเป็นเจ้าในพิธีบูชามิสซาแรกของ คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ ที่วัดหลังเก่าเมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) โดยมีบรรดาพระสงฆ์และสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของหมู่บ้านตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านมา 105 ปี โดยได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ณ ปะรำพิธีวัดแม่พระไถ่ทาสสองคอน โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
 วัดหลังปัจจุบัน สร้างโดยคุณพ่อนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ เสกเปิดวันที่ 20 เมษายน 1995

ที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ.2537) การสร้างวัดหลังปัจจุบันซึ่งเป็นวัดหลังที่ 5 ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยได้รับเงินสนับสนุนจากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยมีคุณพ่อนรินทร์ เป็นหัวแรงสำคัญในการก่อสร้างและบอกบุญไปยังผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวนาโพธิ์ภายใต้การนำของอาจารย์ศรีสมุทร สวนียานันท์ เลขาธิการสภาอภิบาลวัด การก่อสร้างวัดใหม่ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเสกและเปิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน และใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีทางศาสนาของชาวนาโพธิ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนี้คุณพ่อนรินทร์ ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ใหม่บริเวณด้านข้างวัดทางทิศตะวันตก และโรงคำสอนด้านหลังวัดโดยใช้ไม้ที่รื้อจากวัดเก่าด้วย
 บรรยากาศการฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ วันที่ 10 ธันวาคม 2012
 มีผู้แทนจากคณะอูร์สุลินแห่งสหภาพโรมันมาร่วมความยินดีด้วย
 มีคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช เป็นประธานในพิธีแทนพระสังฆราชที่ไปต่างประเทศ
 บรรดานักฟ้อนรำภูไท โอกาสครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ
ชุดสีฟ้าคาดแดง สไบเฉียงสีขาวเอกลักษณ์เฉพาะของภูไทจากเรณูนคร
คุณพ่อวีระเดช ใจเสรี กำลังเทศน์เตือนใจผู้มาร่วมฉลอง 125 ปี
คุณพ่อชำนาญ บัวขันธ์ เจ้าอาวาส กล่าวรายงานต่อคุณพ่อวีระเดช ใจเสรีและผู้มาร่วมงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น