วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แบบอย่างชีวิตของมิชชันนารี

ภาพพิธีส่งมิชชันนารีไปแพร่ธรรม ณ วัดน้อยคณะ MEP. ในปี ค.ศ. 1923
 
แบบอย่างชีวิตของมิชชันนารี
บทนำ

อย่างที่เราทราบว่าปีนี้เป็นปีแห่งความเชื่อ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เพิ่งประกาศปีแห่งความเชื่อเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ที่ผ่านมา และพระคุณเจ้า (จำเนียร สันติสุขนิรันดร์) ของเราได้รับเชิญให้ไปร่วมในพิธีดังกล่าว อีกอย่างหลายวัดในสังฆมณฑลของเราก็อยู่ในบรรยากาศของการฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานแพร่ธรรมด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวและอดทนเยี่ยงวีรบุรุษของบรรดามิชชันนารีในอดีต

ดังนั้น วันนี้จึงขอพูดถึงบางแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตและงานของมิชชันนารีบางท่าน ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละและอุทิศตน เพื่อปลูกฝังความเชื่อในแผ่นดินอีสานและสังฆมณฑลของเรา กล่าวได้ว่าท่านเหล่านี้คือนักบุญ แม้จะไม่ได้รับการประกาศในสาระบบนักบุญของพระศาสนจักรก็ตาม  น่าจะเป็นสิ่งดีที่เรายกย่องพวกท่านเหล่านี้ในปีแห่งความเชื่อ และในโอกาสที่หลายหมู่บ้านฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ
 วัดน้อยของคณะ MEP ในปัจจุบันที่ยังคงเหมือนเดิม (วัดนี้สร้างปี ค.ศ. 1683)

1.           พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม

พระสังฆราชโปรดม เกิดที่เมืองโกนอง (Gonon) แคว้นมาเยน (Mayenne) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.. 1849 (.. 2392) ต่อมาได้เดินทางมาประเทศสยามถึงกรุงเทพฯในเดือนสิงหาคม ค.. 1874 (.. 2417) ในฐานะเป็นอธิการของกลุ่มมิชชันนารี   ภายหลังได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ให้เดินทางไปสำรวจและบุกเบิกงานแพร่ธรรมที่ภาคอีสานเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.. 1881 (.. 2424) พร้อมกับคุณพ่อซาเวียร เกโก โดยถือเอาเมืองอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางของการแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก นับเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานสำหรับการก่อตั้งมิสซังใหม่ 
พระสังฆราช ยอห์น บัปติสต์ โปรดม
 
คุณพ่อทั้งสองได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.. 1881 (.. 2424) พร้อมกับครูเณรคนหนึ่งและคนรับใช้อีก 2-3 คน มุ่งสู่อุบลฯ ผ่านแก่งคอยมาถึงนครราชสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และพักอยู่ที่บ้านพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งเป็นเวลา 12 วันก่อนออกจากนครราชสีมามุ่งหน้าสู่ขอนแก่นผ่านอำเภอชนบทถึงที่นั่นวันที่ 16 มีนาคม และไปถึงกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน  ออกจากกาฬสินธุ์วันที่ 1 เมษายน มุ่งหน้าไปทางกมลาไสยถึงร้อยเอ็ดวันที่ 4 และวันที่ 11 ได้มาถึงยโสธร  เนื่องจากอยู่ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จึงหยุดพักทำสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และฉลองปัสกาในเต็นท์ที่นั่น นับเป็นการฉลองปัสกาครั้งแรกในภาคอีสาน  ที่สุดได้มาถึงอุบลฯ ในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน  รวมระยะเวลาในการเดินทางครั้งนั้น 102 วัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีที่เดินทางมาถึงแผ่นดินอีสาน คุณพ่อทั้งสองอยู่ในวัยหนุ่มแน่น คุณพ่อโปรดม อายุ 32 ปี และคุณพ่อเกโก อายุ 26 ปี หลังตั้งสำนักถาวรที่บุ่งกะแทวในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ซึ่งเป็นปลายฝนต้นหนาว คุณพ่อโปรดมก็ต้องเตรียมเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานสถานการณ์ต่อพระสังฆราช รับฟังคำแนะนำของท่านและรับสัมภาระที่จำเป็นกลับมาสำหรับการทำงาน

การเดินทางไปกลับอุบลฯ-กรุงเทพฯ เมื่อ 131 ปีก่อนเป็นการเดินทางที่เสี่ยงภัยจริงๆ เพราะไม่มีหนทางอื่นนอกจากทางบก ผ่านป่าดงพญาไฟที่ชื้นแฉะมีความยากลำบากมาก ต้องเผชิญกับไข้ป่าและหนทางที่เปลี่ยนทุกฤดูกาล ทางที่เคยผ่านมากลายเป็นป่าไป คณะของคุณพ่อต้องเอาขวาน พร้า จอบและเสียมไปด้วยทุกครั้งเพื่อซ่อมทางหรือตัดทางใหม่ เสบียงสำหรับการเดินทางต้องเตรียมให้พอสำหรับหนึ่งเดือน ตลอดเส้นทางไม่มีโรงแรม ไม่มีร้านอาหาร ไม่มีสถานที่พัก จึงจำเป็นต้องใช้วัวลากเกวียนเดินทางไปเรื่อยๆ ชั่วโมงละ 4 กิโลเมตร หากต้องเดินทางติดต่อกันวันหนึ่งไม่สามารถใช้วัวเดินทางเกิน 30 กิโลเมตร

ที่ต้องออกจากอุบลฯหลังฤดูฝนช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่ลำห้วยต่างๆ แห้งแล้ว การเดินทางไปกลับอย่างน้อยต้องใช้เวลา 3 เดือน คือไปเดือนหนึ่ง ให้ม้า วัวและคนพักเอาแรงเดือนหนึ่ง และอีกเดือนหนึ่งสำหรับการเดินทางกลับ จำเป็นต้องรีบกลับเหมือนกัน (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์อย่างช้าเดือนมีนาคม) เพราะหากช้าไปจะเป็นฤดูแล้ง หญ้าจะหายากสำหรับสัตว์และน้ำจะหายากสำหรับทั้งคนและสัตว์ ที่สำคัญต้องหาคนขับเกวียนที่ชำนาญและเก่งในการปลดและถอดเกวียนเมื่อไปถึงที่ยากลำบาก เช่นข้ามห้วยแล้วใส่ใหม่ คนขับต้องรู้จักซ่อมเกวียนและมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการซ่อม

เดือนธันวาคม ค.. 1882 (.. 2425) คุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ขณะที่คุณพ่อเกโก ไปแพร่ธรรมที่อำนาจเจริญแต่ไม่เป็นผลจึงกลับบุ่งกะแทว  ที่กรุงเทพฯพระสังฆราชเวย์ ได้ปรารภกับคุณพ่อโปรดม ด้วยความห่วงใยว่า ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี พ่อกลุ้มใจมากเพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวันก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์ ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอๆ เอาอย่างนี้เป็นไงคือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกัน พร้อมกับเสนอให้หาที่ทำกินสำหรับทุกคนใกล้กับวัดหัวไผ่  จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดม ว่าคิดอย่างไรกับแผนการนั้น

นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรในภาคอีสานที่คุณพ่อโปรดม ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์  ไม่เช่นนั้นการแพร่ธรรมในภาคอีสานคงจะหยุดเพียงแค่นั้น  ตรงข้ามคุณพ่อโปรดม ได้ตอบพระสังฆราชเวย์ ด้วยความสุภาพว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง  และพระสังฆราชเวย์ก็ฟังความเห็นของคุณพ่อโปรดม การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมาและเจริญเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงอย่างในปัจจุบัน การฟังซึ่งกันและกันระหว่างพระสังฆราชผู้ปกครองกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

พระสังฆราชโปรดม ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชปกครองขณะอายุ 64 ปี แม้จะยังคงมีความกล้าหาญร้อนรนเหมือนเดิม แต่สุขภาพเสื่อมทรุดลงเพราะเวลาหนุ่มเดินทางมาก ขี่ม้าตากแดดหลายพันกิโลเมตรภายใต้แสงแดดอันร้อนระอุของภาคอีสาน ต้องเดินทางไปรับสิ่งของจำเป็นที่กรุงเทพฯ หลายสิบเที่ยว เมื่อเป็นสังฆราชยังมีเหตุการณ์ทำให้หนักใจมาก เพราะพระสงฆ์หนุ่มถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 21 องค์ เหลืออยู่ทำงานเพียง 14 องค์และยังสูญเสียพระสงฆ์ 2 องค์ในสนามรบ แต่ที่นำความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ มรณกรรมของคุณพ่อเกโก เพื่อนร่วมงานแพร่ธรรมคู่ใจ

ในการเข้าเงียบประจำปี เดือนพฤศจิกายน ค.. 1918 (.. 2461) บรรดาพระสงฆ์สังเกตเห็นพระสังฆราชโปรดม มีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ แต่หลังเข้าเงียบยังขี่ม้าไปเยี่ยมหมู่บ้านคริสตชนทางตอนใต้เมื่อกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.. 1919 (.. 2462) จึงหมดเรี่ยวแรงต้องไปรักษาตัวที่ไซ่ง่อนเป็นเวลา 2 เดือน และวันที่ 18 กันยายน ค.. 1919 (.. 2462) ได้ป่วยเป็นโรคสมองอัมพาตปกครองมิสซังไม่ได้  ที่สุดพระสังฆราชโปรดม ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.. 1920 (.. 2463) สิริอายุ 71 ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของมิสซัง เหลือไว้แต่เพียงผลงาน และแบบอย่างชีวิตที่เข้มแข็งอดทนและร้อนรนในการแพร่ธรรม โดยไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคและความยากลำบากใดๆ

2.           คุณพ่อซาเวียร์ เกโก
คุณพ่อซาเวียร์ เกโก
 
คุณพ่อเกโก เกิดที่เมืองลังแฟงส์ (Lanfains) แคว้นโคต์ดือนอร์ด (Cotes du Nord) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.. 1855 (.. 2398) ต่อมาได้เดินทางมาประเทศสยามถึงกรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม ค.. 1879 (.. 2422) ได้พบกับคุณพ่อโปรดม ขณะไปพักรักษาหัวเข่าที่จันทบุรีและได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชเวย์ ให้ไปแพร่ธรรมที่ภาคอีสานพร้อมกับคุณพ่อโปรดม

คุณพ่อเกโก เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการแพร่ธรรมในมิสซังลาวเคียงบ่าเคียงไหล่คุณพ่อโปรดม  โดยเฉพาะการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่และคำเกิ้ม ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของมิสซังและนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ที่ดอนโดน เชียงยืน หนองแสง และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกหลายแห่ง  ต่อมาเมื่อ คุณพ่อโปรดม แยกดอนโดนออกจากคำเกิ้มเป็นอีกเขตหนึ่งต่างหาก  คุณพ่อเกโก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนโดนและทำหน้าที่แพร่ธรรมในหมู่บ้านต่างๆ ในประเทศลาว  โดยเฉพาะกับชาวโส้ที่บ้านโป่งกิ้ว บึงหัวนาและดงหมากบ้า ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ยากจนที่สุด มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง 

คุณพ่อเกโก เป็นคนที่มีความสุภาพมาก  ไม่เคยไว้ใจตนเองเลยแต่มอบความไว้ใจในพระเป็นเจ้า  ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำอะไร ลำบากแค่ไหนไม่เคยปริปากบ่นหรือยอมแพ้อะไรง่ายๆ ด้วยความเชื่อศรัทธาในพระเป็นเจ้า ความร้อนรนในการแพร่ธรรม และแบบอย่างชีวิตที่เรียบง่าย ที่เต็มไปด้วยความสุภาพ ใจดีมีเมตตาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคุณพ่อ ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวลาวที่พบเห็น นำไปสู่ความสนใจและสมัครเรียนคำสอน  ทำให้เกิดกลุ่มคริสตชนขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศลาว 

อย่างไรก็ดี ความยากลำบากในการเดินทาง และชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำให้สุขภาพของคุณพ่อเกโก ย่ำแย่ลง ประกอบกับอายุมากทำให้ป่วยเป็นโรคปอดบวมจนต้องเดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่หนองแสง  แต่อาการไม่ดีขึ้น  ที่สุด คุณพ่อเกโก ได้มอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.. 1918 (.. 2461) สิริอายุ 63 ปี ร่างของคุณพ่อเกโก ได้รับการบรรจุที่สุสานวัดหนองแสง

3.           คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ
คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออและกรรมการวัดท่านแร่ ปี ค.ศ. 1927
 
คุณพ่อกอมบูริเออ เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.. 1861 (.. 2404) ที่ มูล เดอ บาเรส สังฆมณฑลโรแดส์ แคว้นอาเวรอง ประเทศฝรั่งเศสในครอบครัวของชาวนา ก่อนที่จะย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่โรยัก สังฆมณฑลแซงฟลูร์ แคว้นกังตาล และเข้าบ้านเณรใหญ่ที่นั่นในปี ค.. 1879 (.. 2422) ต่อมาได้เข้าบ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1882 (.. 2425) จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.. 1884 (.. 2427) และได้รับมอบหมายให้เดินทางมาประเทศสยาม โดยออกจากบ้านเณรที่ถนนดือบักเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.. 1884 (.. 2427)

เมื่อคุณพ่อกอมบูริเออ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อโปรดม เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อรับสิ่งจำเป็นสำหรับงานแพร่ธรรมและขอมิชชันนารีไปช่วยงาน  พระสังฆราชเวย์ จึงให้คุณพ่อกอมบูริเออ เดินทางไปพร้อมกับคุณพ่อโปรดม โดยขี่ม้ามาจนถึงนครราชสีมาและป่วยเป็นไข้ป่า อาศัยยาของคุณพ่อโปรดมทำให้อาการทุเลาลงได้บ้าง และต้องนั่งเกวียนต่อไปถึงอุบลราชธานี 

ที่สุด ได้เดินทางมาถึงท่าแร่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.. 1885 (.. 2428) ขณะนั้นกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ตั้งได้ประมาณ 7 เดือน มีคริสตชน 147 คนและผู้สมัครเรียนคำสอน 692 คน   คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งคุณพ่อกอมบูริเออ ให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก นับเป็นเจ้าอาวาสที่หนุ่มที่สุด มีอายุเพียง 24 ปี และต้องรับผิดชอบคริสตชนที่ท่าแร่ตามลำพัง โดยมีคุณพ่อเกโก จากวัดคำเกิ้มแวะเวียนมาเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว

คุณพ่อกอมบูริเออ ได้ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) รวมระยะเวลา 52 ปีกว่า คุณพ่อได้เอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มความสามารถในการอบรมชาวท่าแร่ให้ก้าวหน้าและมั่นคงในความเชื่อคาทอลิกอย่างแท้จริง ดังปรากฏในคราวที่มีการเบียดเบียนศาสนาตลอดเวลากว่า 5 ปี มีคริสตชนน้อยคนที่มีจิตใจโลเลไปบ้าง และได้สร้างคุณประโยชน์มากมายสำหรับชาวท่าแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งโรงเรียนมหาพรหมมีคาแอล เพื่อให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวท่าแร่ให้มีความรู้ และจัดตั้งอารามภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ เพื่อช่วยงานพระสงฆ์ตามวัด

คุณพ่อกอมบูริเออ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพียงครั้งเดียว นับว่าเป็นผู้ที่เสียสละอย่างมาก หลังจากได้ลาออกจากการเป็นผู้รับผิดชอบมิสซังและเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ คุณพ่อกอมบูริเออ ได้รับหน้าที่เป็นจิตตาธิการภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ที่คุณพ่อได้ตั้งขึ้น  จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.. 1939 (.. 2482) คุณพ่อได้ล้มป่วยลง และได้ถวายดวงวิญญาณคืนแด่พระเจ้าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.. 1939 (.. 2482) ขณะอายุได้ 78 ปี ในฐานะที่คุณพ่อเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก คุณพ่อไม่ได้ด้อยกว่าท่านทั้งสองในด้านการงานแต่ประการใด คุณพ่อได้ทิ้งผลงานมากมายให้มิสซังและบ้านท่าแร่ 
 อาวุธประจำตัวที่คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออนำติดตัวมาจากฝรั่งเศส

4.           คุณพ่ออัลเฟรด รองแดล

คุณพ่อรองแดล เกิดที่บาร์เซ เมืองกูตังส์ แขวงมางซ์ ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาทางนิติศาสตร์ที่เมืองกัง ภายหลังได้ละอาชีพนักกฎหมายมาเข้าบ้านเณรได้บวชเป็นพระสงฆ์และออกเดินทางมามิสซังสยาม ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชเวย์ ให้ไปช่วยงานแพร่ธรรม คุณพ่อโปรดม ที่ภาคอีสานครั้งแรก ปีต่อมาได้รับมอบหมายจากคุณพ่อโปรดม ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯกับคุณพ่อเกโก และเป็นไข้ป่าระหว่างการเดินทางที่ยากลำบากจน ไม่สามารถกลับไปแพร่ธรรมที่อีสานได้อีก เมื่ออาการดีขึ้นได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดบ้านแป้ง สิงห์บุรีและเป็นไข้ป่าอีกครั้ง จึงต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส  ได้รับการรักษาจากเพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์จนหายขาดจึงเดินทางกลับประเทศสยาม และได้รับมอบหมายให้ไปช่วยคุณพ่อโปรดม ที่อีสานอีกครั้ง  โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคำเกิ้ม

คุณพ่อรองแดล มาถึงคำเกิ้มพร้อมกับจดหมายของคุณพ่อโปรดม ที่สั่งให้แยกคำเกิ้มออกจากดอนโดนโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขต  เขตคำเกิ้มจึงประกอบด้วย บ้านคำเกิ้ม เชียงยืนและหนองแสง  ส่วนหมู่บ้านที่ยังถือเป็นคริสตชนสำรอง ได้แก่ บ้านขามเฒ่า นาราชควายใหญ่ บ้านซอง กุดจอกและนาบัว  นอกนั้น คุณพ่อรองแดล ได้บุกเบิกและก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นอีกหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านนาราชควายน้อย นาใน นาโพธิ์-นามน นาถ่อน นาหลุบ กุดสิม ดอนหญ้านาง บ้านแมดและหนองคา รวมถึงบ้านแก้งสะดอกในประเทศลาว  แต่คริสตชนใหม่ในหมู่บ้านต่างๆ เหล่านั้นไม่มั่นคงในความเชื่อเท่าทีควรจึงละทิ้งไป 

เดือนพฤษภาคม ค..1894  คุณพ่อรองแดล ได้รับแต่งตั้งให้ไปก่อตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ที่หนองคายและเวียงจันทน์ พร้อมกับคุณพ่ออาทานาซีโอ ผาย กล่าวได้ว่าตั้งแต่ปี ค.. 1888-1897 คุณพ่อรองแดล ต้องเดินทางไกลมาก ทรัพย์สินส่วนตัวจำนวนมากหมดไปในการสร้างวัดเล็กตามหมู่บ้านต่างๆ จ้างครูคำสอนสำหรับดูแลและสอนคำสอนตามหมู่บ้านเหล่านั้น  และซื้อที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่คริสตชนใหม่ที่ยากจน  รวมถึงการซื้อเครื่องมือทุกอย่าง เช่น ขวาน เลื่อย ระดับน้ำ วงเวียน เข็มทิศ แม้แต่โรงตีเหล็กที่สมบูรณ์แบบโรงหนึ่งเพื่อจะได้สร้างวัดถวายพระเป็นเจ้าและบ้านพักสำหรับเพื่อนพระสงฆ์  นอกนั้นยังรับเลี้ยงลูกของคนต่างศาสนาและช่วยเหลือคริสตชนใหม่เป็นจำนวนมากในทุกแห่งที่ไปแพร่ธรรม  จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่คุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระเจ้าในขบวนรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดินทางถึงอยุธยาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.. 1927 (พ.ศ. 2470)
 บรรยากาศการเข้าเงียบ วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน

5.           คุณพ่ออัลแทล์ม แอกกอฟฟอง

คุณพ่ออัลแทลม์ แอกกอฟฟอง เป็นน้องชายของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดเชียงยืน  จากจดหมายที่คุณพ่อเขียนระบายความรู้สึกเมื่อจะต้องจากเชียงยืนภายหลังที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชยอแซฟมารีย์ กืออ๊าส ให้ไปเปิดวัดที่นครราชสีมาในปี ค.. 1905 (.. 2448) ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราในปัจจุบันได้มากทีเดียว

ถึงแม้ผมจะอ้อนวอนพระคุณเจ้าไม่ให้ส่งผมไปนครราชสีมา ท่านก็ไม่ยอมฟัง ท่านได้ตั้งใจจะส่งผมไปเปิดวัดใหม่ที่นั่น เป็นยาขมที่กลืนยาก ลาก่อนเชียงยืน ลาวัดที่ผมได้สร้างด้วยความลำบากและยังไม่เสร็จกับบ้านพ่อเจ้าวัด ลาก่อนคริสตชนที่ผมรัก ผมได้สร้างสิ่งเหล่านี้ให้ผู้อื่นใช้ต่อไปผมจะไม่มีวัด ผมไม่ทราบว่าต่อไปนี้ผมจะมีวัดหรือเปล่า และจะมีคริสตชนหรือ? ผมจะเป็นนายชุมพาบาลโดยปราศจากฝูงชุมพา จะเป็นธรรมทูตที่ไม่มีวัด ผมต้องเสียสละโดยเห็นแก่ความรักของพระเป็นเจ้า เพราะผมได้มาก็เพื่อแต่การนี้

นี่คือแบบอย่างแห่งความเชื่อและความนบนอบเชื่อฟังพระสังฆราช เมื่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเริ่มงานใหม่ในสถานที่ใหม่ที่ยังไม่มีอะไรพร้อมหรือไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่อยากไปตามประสามนุษย์ แต่ที่สุด ได้นบนอบเชื่อฟังพระสังฆราช ได้ตัดสละน้ำใจตนเอง ไม่ติดยึดกับบุคคลหรือสถานที่ที่ตนเองเคยอยู่ ควรที่เรารุ่นหลังจะเอาเยี่ยงอย่าง
 พิธีขอบคุณผู้เทศน์ทั้ง 7 ท่าน วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน

บทสรุป

แบบอย่างชีวิตแห่งการแพร่ธรรมของบรรดามิชชันนารีที่กล่าวมา ได้แสดงให้เราได้เห็นถึงความทุมเท เสียสละและอุทิศตน ในการสานต่องานของพระเยซูเจ้าในภูมิภาคแห่งนี้  จะเห็นได้ว่า พระเจ้าได้ทรงหลั่งพระหรรษทาน ความรักและความเมตตาของพระองค์มายังอัครสังฆมณฑลของเราอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ควรที่เราซึ่งเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้าจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมมือกับพระหรรษทานของพระองค์  ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตน เพื่อรักษามรดกทางความเชื่ออันล้ำค่าให้วัฒนาถาวรสืบไป 

ในพิธีบูชาขอบพระคุณเปิดปีแห่งความเชื่อ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงอ้างพระดำรัสของบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ที่ตรัสโอกาสเปิดการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 เมื่อ 50 ปีก่อน เรียกร้องให้ช่วยกันปกป้องคำสอนอันเป็นข้อความเชื่อของคริสตชน เป็นข้อความเชื่อที่เราต้องเคารพ ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ และตอบสนองตามบริบทของยุคสมัย ดังนั้น ปีแห่งความเชื่อควรเป็นปีที่คริสตชนทุกคน พยายามค้นพบความสวยงามของความเชื่อและความรักของพระเจ้าในทุกวันของชีวิต มีความสัมพันธ์ที่ชิดสนิทกับพระเยซูเจ้า และช่วยกันประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นและความรักแก่พระเจ้าทุกคน

ขอบรรดามิชชันนารีที่ได้ทุ่มเท เสียสละและอุทิศตน เพื่อการประกาศความเชื่อในแผ่นดินอีสานและสังฆมณฑลของเรา ซึ่งร่างของพวกท่านยังคงฝังอยู่ในสังฆมณฑลของเราตามวัดต่างๆ นี่คือนักบุญที่ได้เป็นพยานถึงความเชื่อด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวและอดทนเยี่ยงวีระบุรุษ ขอให้บรรดามิชชันนารีเหล่านี้ ช่วยวิงวอนพระเจ้าผู้ซึ่งได้ส่งพวกท่านมาแพร่ธรรม โปรดให้เราทั้งหลายมีความเชื่อมั่นคงในพระเจ้า และมีความวางใจในความช่วยเหลือของพระนางพรหมจารีมารีย์ ในอันที่จะช่วยกันสานต่องานประกาศความเชื่อ ด้วยความทุ่มเท เสียสละและอุทิศตนเช่นเดียวกับพวกท่าน
สมบัติส่วนตัว(เพียงชิ้นเดียว)ของคุณพ่อกอมบูริเออที่ตกทอดถึงปัจจุบัน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดน้อยสำนักมิสซัง, สกลนคร
เข้าเงียบประจำปี; 15 พฤศจิกายน 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น