วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ในสายตาของศิษย์ที่ทรงรัก

 

การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

ในสายตาของศิษย์ที่ทรงรัก

ยอห์น บทที่ 20 (สมโภชปัสกา)

ยน 20:1-31

บทนำ

ปิรามิดแห่งอียิปต์ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ทุกคนรู้จักดี แต่ในความเป็นจริง ปิรามิดคือสุสานขนาดใหญ่ที่ใช้ฝังร่างของกษัตริย์ฟาโรห์แห่งอียิปต์ในลักษณะแบบมัมมี เช่นเดียวกับสุสานเวสมินสเตอร์แห่งอังกฤษ ที่ใช้ฝังร่างของบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างนักเขียน นักปรัชญา และนักการเมือง มีผู้คนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากไปเยี่ยมชม เพื่อคารวะหลุมศพของบุคคลที่พวกเขาเคารพนับถือ

ต่างจากวิหารสุสานศักดิ์สิทธิ์แห่งเยรูซาเล็ม ซึ่งผู้แสวงบุญจากทั่วโลกพากันไปคารวะหลุมศพว่างเปล่า ที่มีเพียงข้อความสั้น ๆ ตรงทางเข้าว่า “พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่” สิ่งที่ทำให้สุสานแห่งนี้มีชื่อเสียงเพราะเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งสุสานแห่งนี้เคยฝังพระศพของพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพคูหาจึงว่างเปล่า พระองค์ได้ทรงกระทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ ทรงฝืนกฎธรรมชาติและพิสูจน์ว่า พระองค์เป็นพระเจ้า

ปัสกาคือการสมโภชการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ปัสกาเป็นการฉลองสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคริสตชน ด้วยเหตุผลที่ว่า :

1) การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นความเชื่อพื้นฐานของเราคริสตชน ถือเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมและการฉลองทั้งหมดตลอดปี ความเชื่อ ความหวังและความหมายแห่งชีวิตคริสตชนอยู่ที่การกลับคืนพระชนมชีพนี้ ดังที่นักบุญเปาโลเขียนเอาไว้ว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน” (1 คร 15:14)

2)        ปัสกาเป็นหลักประกันแห่งการกลับคืนชีพของเรา พระเยซูเจ้าได้ให้ความมั่นใจกับมาร์ธา ณ ที่ฝังศพของลาซารัสว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย...” (ยน 11:25-26)  อีกทั้งเป็นการฉลองที่ให้ความหวังและกำลังใจในโลกที่เจ็บปวดและโศกเศร้า เพราะพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและประทับท่ามกลางเรา

1.        การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

พระธรรมล้ำลึกปัสกาจะไม่มีความหมายและเป็นจริง หากพระเยซูเจ้าผู้ได้สิ้นพระชม์มิได้กลับคืนพระชนมชีพ พระเจ้าทรงเป็นองค์ความรัก ความตายไม่อาจหยุดยั้งความรักของพระองค์ได้ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นชัยชนะเหนือความตาย

1.1               พระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:1-10)

วันต้นสัปดาห์หมายถึงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือวันอาทิตย์ของคริสตชน พระเยซูเจ้าทรงเป็นรุ่งอรุณใหม่แห่งชีวิต มารีย์ชาวมักดาลาศิษย์ใกล้ชิด ติดตาม และรักพระเยซูเจ้าได้ออกไปที่พระคูหาขณะที่ยังมืด เห็นหินที่ปิดพระคูหาเคลื่อนออกไป ความตายที่โอบรัดพระเยซูเจ้าถูกเปิดออก นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตรและศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน” (ยน 20:2) ใช้สรรพนาม “พวกเรา” ขณะที่มารีย์พูดคนเดียว

นักบุญยอห์นแสดงให้เห็นว่า มารีย์ชาวมักดาลาเป็นตัวแทนของประชากรอิสราเอล หรือพระศาสนจักรกำลังรอคอยพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ จึงใช้คำว่า “พวกเรา” เปโตรกับศิษย์ที่ทรงรักวิ่งไปด้วยกัน “แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน” (ยน 20:4) เราพบคำว่า “วิ่ง” สามครั้ง การวิ่งไปหาพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ เราต้องเป็นหมู่คณะ หรือพระศาสนจักรที่กระตือรือร้น วิ่งไปด้วยกันสู่พระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ

ทำไมศิษย์ที่ทรงรักมาถึงก่อน ก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพ แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน เปโตรเป็นเสาหลักแห่งความเชื่อ ส่วนยอห์นเป็นตัวแทนแห่งความรัก ไม่แปลกที่ความรักจะวิ่งเร็วกว่าความเชื่อ การวิ่งของพระศาสนจักรเป็นการวิ่งของความรัก บนหลักประกันแห่งความเชื่อที่มั่นคง เปโตรเมื่อมาถึงพระคูหาได้เข้าไปข้างในเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น และผ้าพันพระเศียรพับแยกไว้ต่างหาก (ดู ยน 20:6-7) แสดงว่า ไม่มีการขโมยพระศพ ตามที่ชาวยิวเล่าขาน ผ้าพันพระเศียรถูกพับแยกไว้ แสดงว่า ไม่มีการเร่งรีบ ยอห์นได้เข้าไปข้างในด้วย “เขาได้เห็นและมีความเชื่อ” (ยน 20:8) หลักฐานสำคัญคือพระคูหาว่างเปล่า

1.2               พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาลา (ยน 20:11-18)

นักบุญยอห์นทำให้เราทราบว่า มารีย์ชาวมักดาลาเป็นศิษย์ที่รักและซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าที่สุด เธอติดตามพระองค์ไปทุกที่ก่อนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและถูกฝังที่พระคูหา ความรักเป็นพลังผลักดันให้เธอรีบรุดไปที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพ มีเพียงสิ่งเดียวที่เธอแสวงหาและต้องการที่สุดคือพระเยซูเจ้า มารีย์เป็นเครื่องหมายของพระศาสนจักรที่แสวงหาพระเยซูเจ้า กระตือรือร้นและว่องไว เราได้รักและแสวงหาพระเยซูเจ้ามากเพียงใดในชีวิต โดยเฉพาะในคนทุกข์จนและคนชายขอบของสังคม

มารีย์ชาวมักดาลาเสียใจร้องไห้เมื่อพบพระคูหาว่างเปล่า มารีย์เป็นตัวแทนของพระศาสนจักรที่โหยหาพระเยซูเจ้า มารีย์เห็นทูตสวรรค์สององค์ตรงที่วางพระศพ องค์หนึ่งนั่งอยู่เบื้องพระเศียรและองค์หนึ่งเบื้องพระบาท นักบุญยอห์นบอกให้ทราบว่า พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริง ๆ มารีย์เห็นพระเยซูเจ้าแต่ไม่รู้ว่าเป็นพระองค์ (ยน 20:14) ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเมื่อกลับคืนพระชนมชีพพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในสภาพใหม่ ศิษย์สองคนที่เอมาอูสเป็นเช่นเดียวกัน จำพระองค์ไม่ได้ มาจำได้ตอนพระองค์บิขนมปัง

แม้พระเยซูเจ้าทรงสนทนาด้วย มารีย์ยังจำพระองค์ไม่ได้ คิดว่าเป็นคนสวน เราไม่สามารถเห็นอะไรได้ชัดเจนขณะกำลังร้องไห้ หรืออยู่ในความทุกข์ กระทั่งพระเยซูเจ้าตรัสเรียกชื่อ “มารีย์” มารีย์จำได้ทันที พระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 10 บอกเราว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี จำชื่อมารีย์ได้ และมารีย์ก็จำพระองค์ได้ทันที และทูลพระองค์ว่า “รับโบนี” เป็นคำเรียกอาจารย์ที่สง่ากว่าคำว่า “รับบี” มักใช้เมื่อกราบทูลพระเจ้าและประกาศยืนยันความเชื่ออย่างโทมัส (ยน 20:28)

พระเยซูเจ้าตรัสกับมารีย์ว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเรา” (ยน 20:17) นักบุญยอห์นได้ประกาศว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าเป็นพี่น้องของพระองค์ ใครที่มีความเชื่อในพระเยซูเจ้าเป็นพี่น้องของพระองค์ นี่เป็นธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระศาสนจักร (Ecclesiology) เราทุกคนกลายเป็นพี่น้องของพระเยซูเจ้าและเป็นพี่น้องกัน นี่คือแก่นแท้ของพระศาสนจักร

พระดำรัสที่ว่า “เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลาย”  บอกให้เราทราบว่า ทุกคนเป็นลูกของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน และยังตรัสอีกว่า “ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17) นี่เป็นการประกาศว่า พระเจ้าของพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของเรา

นี่เป็นสัจธรรมสามประการที่นักบุญยอห์นบอกให้เราทราบ ได้แก่ 1) ทุกคนเป็นพี่น้องกัน 2) ทุกคนเป็นลูกของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน และ 3) ทุกคนมีพระเจ้าองค์เดียวกัน เรื่องราวของมารีย์ชาวมักดาลาทำให้เราตระหนักว่า ต้องแสวงหาพระเยซูเจ้า เปิดตาใจของตน และเชื่อในพระองค์ เพื่อจำพระองค์ได้ในคนต่ำต้อยและต้องการความช่วยเหลือ

1.3               พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์กับบรรดาศิษย์ (ยน 20:19-23)

บรรดาศิษย์ยังอยู่ในบรรยากาศของความวิตกและหวาดกลัว พวกเขาชุมนุมกันในห้องที่ปิดประตูแน่นหนาเพราะกลัวชาวยิว ท่ามกลางความสับสนพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลางแม้ว่าประตูปิด และตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” (ยน 20:19) เป็นคำทักทายแบบชาวยิว Shalom นักบุญยอห์นเปิดเผยว่า พระวาจา หรือพระวจนาตถ์คือคำตอบ พระวาจาคือชีวิตและความรอด พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวจนาตถ์ แสงสว่าง และสันติสุขผ่านทางพระวาจาที่พระองค์ตรัส

บรรดาศิษย์พบสันติสุขเมื่อพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลาง หากมีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ ที่นั่นมีสันติสุข ชีวิตที่มีพระเจ้าคือชีวิตที่มีสันติสุข พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูรอยแผลที่พระหัตถ์และสีข้าง รอยแผลเหล่านี้สะท้อนความรักมนุษย์หาที่สุดมิได้จนยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ทรงชนะความตายอย่างเด็ดขาด เป็นรอยระลึกที่บอกให้ทราบว่า พระองค์ทรงเป็นองค์เดียวกันที่พวกเขาต้องจดจำความรักของพระองค์ตลอดไป

พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจแก่บรรดาศิษย์ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) การส่ง หรือการมอบเป็นเครื่องหมายของสันติสุขและความรักที่พระเจ้าประทานให้ จากนั้นทรงเป่าลมเหนือบรรดาศิษย์เป็นสัญลักษณ์ของการมอบพระจิตเจ้า พระเจ้าไม่เคยห่างจากมนุษย์ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่มีบทบาทสำคัญ ทำให้พระศาสนจักรเติบโต

สิ่งที่ทำให้เรามีสันติสุขแท้คือการให้อภัย “ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย” (ยน 20:24) การให้อภัยเป็นอำนาจเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้กับบรรดาศิษย์ พระศาสนจักรมีอำนาจยิ่งใหญ่นี้ การให้อภัยจึงเป็นชัยชนะเหนือตนเอง ความโกรธ ความเกลียดชัง น้ำใจตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุข  เพราะการให้อภัยเป็นผลที่มาจากความรัก “ไม่ให้อภัยไม่ได้ไปสวรรค์”

1.4               ความเชื่อและการประกาศความเชื่อของโทมัส (ยน 20:24-29)

นักบุญโทมัสเป็นเครื่องหมายของความสงสัย ความกระตือรือร้น และความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว โทมัสไม่ได้อยู่เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา บ่อยครั้งความเชื่อสัมพันธ์กับการสัมผัส “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” (ยน 20:25)

แปดวันต่อมา พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง และตรัสเป็นครั้งที่สาม “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” (ยน 20:26) ถ้ามีพระเยซูเจ้าต้องมีสันติสุข เครื่องหมายยืนยันความเชื่อของเราคือความสุขของคนรอบข้าง บนไม้กางเขนแม้พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ แต่สันติสุขได้ปรากฏบนแผ่นดิน ชีวิตคริสตชนหากมีพระเยซูเจ้า ต้องมีสันติสุข เราต้องนำสันติสุขไปสู่ผู้อื่น นำความแตกแยกไม่ได้

พระเยซูเจ้าตรัสกับโทมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่และดูมือของเรา จงเอามือมาที่นี่คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป จงเชื่อเถิด” (ยน 20:27) นี่เป็นการเรียกให้มาสัมผัสประสบการณ์พระทรมานของพระเยซูเจ้า เราสามารถสัมผัสพระเยซูเจ้าได้ผ่านทางพระวาจา การอธิษฐานภาวนา การร่วมพิธีกรรม และการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธรรมล้ำลึกปัสกา

ที่สุด โทมัสได้ประกาศความเชื่อว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) เป็นคำสารภาพเมื่อได้รู้จักพระเยซูเจ้า เป็นการประกาศความเชื่อในพระเยซูเจ้า ผู้เป็นพระเจ้าและเจ้านายสูงสุดแห่งชีวิตของเรา (My Lord and My God) ยอมศิโรราบให้กับองค์ความดีสูงสุด ความจริงยิ่งใหญ่ ความรักหาที่สุดมิได้ ผู้ทรงรักเราถึงเพียงนี้ และคำสารภาพนี้ได้นำมาใช้ในพิธีบูชาขอบพระคุณ

พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับโทมัสว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข” (ยน 20:29) เป็นเหมือนบุญลาภ “ความสุขแท้แก่ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่เห็น” นักบุญยอห์นได้แสดงให้เห็นว่า  ความสงสัยของโทมัสเป็นแบบอย่างของคนแสวงหาความจริงและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง คริสตชนแม้ไม่ได้เห็นพระองค์ด้วยตา แต่เชื่อเพราะสิ่งที่ได้ยิน อย่างที่นักบุญเปาโลบอก “ความเชื่อมาจากการฟัง” (รม 10:17) และมีประสบการณ์ส่วนตัวกับพระองค์ ซึ่งนักบุญยอห์นได้พูดถึงตั้งแต่แรก “ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ประทานอำนาจให้ผู้นั้นกลายเป็นบุตรของพระเจ้า” (ยน 1:12)

1.5               บทสรุปครั้งแรก (ยน 20:30-31)

ในบทสรุปครั้งแรกได้ย้ำว่า พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายหลายประการ แต่ไม่ได้บันทึกไว้ พระวรสารนักบุญยอห์นเป็นพระวรสารแห่งเครื่องหมาย จุดประสงค์ที่บันทึกไว้คือท่านทั้งหลายจะได้เชื่อในพระเยซูเจ้าว่า 1) เป็นพระคริสต์เจ้า ผู้รับเจิมและผู้ช่วยให้รอด และ 2) เป็นพระบุตรของพระเจ้า เจ้านายสูงสุด นี่คือจุดประสงค์สำคัญของนักบุญยอห์น ซึ่งเป็นสองประการที่จำเป็นสำหรับการได้รับความรอด

1.6               ข่าวดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ

พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว นี่คือ “ข่าวดีแห่งปัสกา” ที่เราเฉลิมฉลองในวันปัสกา ซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจหลายประการ

ประการแรก พระเยซูเจ้าได้ทำนายล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ถือเป็นเครื่องหมายที่บอกให้เราได้ทราบถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ “จงทำลายพระวิหารนี้แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (ยน 2:19)

ประการที่สอง ไม่มีศาสดาคนใดที่หลุมฝังศพว่างเปล่าเหมือนพระเยซูเจ้า เราได้เห็นการทำให้พระสัญญาของพระองค์บรรลุความสมบูรณ์บนไม้กางเขนและพระคูหาว่างเปล่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน” (1 คร 15:14)

ประการที่สาม พระเยซูเจ้าได้ปรากฏมาให้บรรดาศิษย์ได้เห็นหลายครั้ง นี่คือเครื่องพิสูจน์เรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ  พวกเขาได้เห็น เป็นพยาน และประกาศการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยชีวิตของตน

2.        คำถามเพื่อการไตร่ตรอง

2.1               เราจะสะท้อนภาพพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพอย่างไร

คริสตชนแต่ละคนได้รับการเรียกให้ฉายแสงแห่งความรัก ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ และการอุทิศตนรับใช้ตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า ดำเนินชีวิตเป็นพยานให้คนอื่นได้เห็นการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ ทุกวันต้องเป็นวันปัสกาที่เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า ผู้กลับคืนพระชนมชีพ

2.2               เราจะเป็นผู้นำข่าวดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพไปสู่ผู้อื่นอย่างไร

เราต้องนำข่าวดีแห่งความรัก  ความหวัง และสันติสุขที่พระเยซูเจ้านำมาไปสู่ผู้อื่นในทุกที่ที่เราอยู่ อีกทั้ง การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าต้องช่วยเราให้ยอมรับสิ่งต่าง ๆ บุคคล และความเป็นจริงแห่งชีวิตด้วยแสงสว่างใหม่ ความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ที่เราได้รับ นำไปสู่การกลับคืนชีพและความชื่นชมยินดีพร้อมกับพระเยซูเจ้าเสมอ

บทสรุป

การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเตือนใจเราว่า เราได้รับมอบพันธกิจเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวกและมารีย์ชาวมักดาลา ในการนำข่าวดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพไปสู่ผู้อื่น ดำเนินชีวิตในความรักต่อกันตามแบบอย่างพระองค์ เป็นพยานถึงข่าวดีด้วยชีวิตของตน กลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ละทิ้งชีวิตเก่า และตายต่อตัวเอง เพื่อกลับคืนชีพและมีชีวิตใหม่พร้อมกับพระองค์

ความเชื่อเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ความรักในพระองค์ และความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องเป็นเหมือนตะเกียงส่องสว่างและนำบุคคลอื่นมาพบพระเยซูเจ้า ศิษย์พระคริสต์ต้องนำข่าวดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพไปสู่ผู้อื่น และแสดงออกให้เห็นในชีวิตของตน ในความรักไม่มีเงื่อนไข ความใจดีมีเมตตา การให้อภัยไม่สิ้นสุด และการรับใช้ด้วยใจยินดี ขอให้เรามีความสุขในความเชื่อ และเจริญชีวิตในพระนามของพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

https://dondaniele.blogspot.com/

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

26 กุมภาพันธ์ 2020

ที่มาภาพ : https://scotscollege.org/christ-is-risen-alleluia-alleluia/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น