ในสายตาของศิษย์ที่ทรงรัก
ยอห์น บทที่ 18-19 (ศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) |
ยน 18-19 |
บทนำ
มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่สร้างเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
แต่ที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือเรื่อง “The Passion of the Christ” ที่กำกับและร่วมสร้างโดย เมล กิบสัน โดยเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อพุธรับเถ้า
25 กุมภาพันธ์ 2004 และติดอันดับสี่หนังทำเงินตลอดกาลของสหรัฐทันทีที่เปิดฉายในวันหยุดสุดสัปดาห์
ส่วนในประเทศไทยภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายเมื่อ 22
เมษายน 2004
The Passion of the Christ เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ 12 ชั่วโมงสุดท้ายแห่งชีวิตของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ
โดยเปิดฉากที่สวนเกทเสมนี สถานที่ที่พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาและเข้าตรีทูตจนพระเสโทเป็นโลหิต
จนถึงฉากสุดท้ายบนไม้กางเขนที่ตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า
ข้าพเจ้าขอมอบจิตวิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) เมื่อตรัสดังนี้แล้วก็สิ้นพระชนม์
ทำให้ทองฟ้ามืดมัวม่านในพระวิหารฉีกขาด
ภาพยนตร์เรื่องนี้
ได้พยายามนำเสนอความเป็นจริงเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า โดยเรียบเรียงจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่โดยเฉพาะพระวรสารทั้งสี่
มีการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และธรรมประเพณีในสมัยนั้นอย่างละเอียด
ภาพที่ออกมาจึงสมจริงจนหลายคนทนดูไม่ได้ เพราะความทารุณโหดร้ายที่พระเยซูเจ้าได้รับ
แต่นี่คือภาพยนตร์ที่สะท้อนเหตุการณ์จริงที่เกิดกับพระเยซูเจ้ามากที่สุด
1.
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
เรื่องพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่
ซึ่งมีวิธีเล่าแตกต่างกันเกี่ยวกับพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
ซึ่งรวมเรียกว่า “พระธรรมล้ำลึกปัสกา”
นี่คือหัวใจของคริสต์ศาสนา พระศาสนจักร และชีวิตคริสตชน โดยปกติอาทิตย์พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
หรืออาทิตย์ใบลาน ปี A เราอ่านพระวรสารนักบุญมัทธิว
(บทที่ 26-27), ปี B พระวรสารนักบุญมาระโก
(บทที่ 14-15) และ ปี C พระวรสารนักบุญลูกา
(บทที่ 22-23)
อาทิตย์ใบลาน หรืออาทิตย์พระทรมาน เตือนเราถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าอย่างผู้มีชัย
เพื่อน้อมรับการทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพที่เรียกว่า ธรรมล้ำลึกปัสกา
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและเป็นปัจจุบันทุกครั้งในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกสัปดาห์เหนือสิ่งอื่นใด
เราต้องเลียนแบบพระองค์ในความรักหาที่สุดมิได้ และการให้อภัยไม่สิ้นสุดในครอบครัว หมู่คณะ
และชุมชนวัดของเรา
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุกปี เราได้ฟังพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าโดยพระวรสารนักบุญยอห์น
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นหัวใจสำคัญของความเชื่อคริสตชนและพระศาสนจักร
นักบุญยอห์นศิษย์ที่ทรงรักทำให้เราเห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์ความรักที่มาจากพระเจ้า
และปรากฏอย่างเด่นชัดบนไม้กางเขน ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่า พระองค์ทรงรักเราจนถึงที่สุด คือการสิ้นพระชนมบนไม้กางเขน
1.1
พระเยซูเจ้าทรงถูกจับกุม
(ยน 18:1-11)
หลังการกล่าวคำอำลาบรรดาศิษย์ที่ห้องชั้นบน พระเยซูเจ้าเสด็จข้ามห้วยขิดโรนไปยังสวนแห่งหนึ่งพร้อมกับบรรดาศิษย์
(สวนเกทเสมนี หรือสวนมะกอก) เชื่อกันว่าสวนแห่งนี้เป็นของมารดาของนักบุญมาร์โก
ผู้นิพันธ์พระวรสาร ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามะกอกเทศ
ปัจจุบันยังมีต้นมะกอกเทศอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยของพระเยซูเจ้า
นักบุญยอห์นได้พูดถึงสวนเกทเสมนีซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของห้วยขิดโดรน
เป็นสถานที่พระเยซูเจ้าทรงชื่นชอบเป็นพิเศษ ยูดาสรู้จักสถานที่นี้ดีเพราะพระองค์เสด็จไปอธิษฐานภาวนาบ่อย
ๆ (ลก 22:39)
นี่เป็นสวนที่ทรงทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
ในคืนสุดท้ายก่อนรับทรมานและสิ้นพระชนมบนไม้กางเขน
เป็นความทุกข์ที่นักบุญลูกาผู้เป็นหมอได้บันทึกว่า “พระองค์ทรงอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส...
พระเสโทตกลงพื้นดินประดุจหยดโลหิต” (ลก 22:44)
นี่เป็นอาการของคนที่ทุกข์หนักที่สุด
เพราะเห็นภาพล่วงหน้าของการทรมานและความตาย
เป็นความเจ็บปวดและทุกระทมอย่างที่สุดของพระเยซูเจ้า
มากกว่าการตายจริงบนไม้กางเขนเสียอีก ถึงขนาดที่ทรงร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้พ้นไป
(ลก 22:42) จากนั้นยูดาสได้พาทหารมาจับกุมพระองค์ที่นั่น
ส่วนอัครสาวกคนอื่นได้ละทิ้งพระองค์หนีไป ปล่อยให้พระองค์อยู่เพียงลำพัง
นักบุญยอห์นบันทึกว่า ยูดาสได้นำกองทหารโรมันจากค่ายที่กรุงเยรูซาเล็มและยามรักษาพระวิหาร
พวกเขาถือตะเกียง ไต้ส่องสว่าง และอาวุธมาด้วย
(ยน 18:3)
เพื่อไปพบองค์ความแสงสว่างแท้คือพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า
“ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” เขาตอบว่า “หาเยซู
ชาวนาซาเร็ธ” และพระองค์ตรัสตอบว่า “เราเป็น”
(ยน 18:4-5)
สำนวน “เราเป็น” สะท้อนพระเจ้ายิ่งใหญ่ในพันธสัญญาเดิมที่ตรัสกับโมเสสในหนังสืออพยพ
“เราเป็น” ซึ่งสะท้อนภาพพระเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุดคือพระยาเวห์
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็น”
เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงไปกองกับพื้นดิน (ยน 18:6) เพราะต้องเผชิญกับผู้เป็นแสงสว่างแท้
แม้จะถือตะเกียงและไต้มา พวกเขาไม่อาจต้านทานพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็น” พระเจ้าผู้ทรงชีวิตและผู้เป็นแสงสว่างแท้ นักบุญยอห์นได้ใช้คำ
“เราเป็น” ซ้ำถึงสามครั้ง
เพื่อแสดงให้เห็นว่าสำคัญที่สุด นั่นคือพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า
นักบุญยอห์นบอกเราว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า
เป็นการประกาศก่อนเริ่มพระทรมาน แม้ในห้วงเวลาถูกจับพระองค์ทรงปลดปล่อย “ถ้าท่านเสาะหาเรา ก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไป” (ยน 18:8)
นี่คือพันธกิจของพระเยซูเจ้า พระองค์เสด็จมาเพื่อปลดปล่อย มีการบันทึกว่า
ซีโมนเปโตรใช้ดาบฟันผู้รับใช้ถูกใบหูข้างขวาขาด (ยน 18:10)
มีเพียงยอห์นเท่านั้นบันทึกไว้ “ทำไมจึงเป็นใบหูข้างขวา” เพราะ
ข้างขวาคือด้านของความจริงและความถูกต้อง (Right)
นี่เป็นวิธีพูดแบบประชดประชันว่า มีหูแต่ไม่ยอมฟัง การฟังคือเครื่องหมายของการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า
ต้องฟังพระเจ้า และเครื่องหมายของการฟังพระเจ้าคือการฟังกันและกัน
1.2
พระเยซูเจ้าถูกไต่สวน (ยน
18:12-40)
ทหารและยามรักษาพระวิหารได้จับกุม และนำพระเยซูเจ้าไปหาอันนาส
พ่อตาของคายาฟาสมหาสมณะในปีนั้น ที่แนะนำชาวยิวว่า “จะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าคนเดียวจะตายเพื่อทุกคน”
(ยน 18:14) จากสิ่งที่ขุดพบในสถานที่แห่งนี้สนับสนุนความเชื่อว่า นี่เป็นบ้านของคายาฟาส
บ่อน้ำที่เชื่อกันว่า หลังจากถูกตัดสินพระเยซูเจ้าถูกทรมานและหย่อนลงในบ่อนี้ตลอดทั้งคืน
โดยมีบรรดาทหารคอยเฝ้า ที่ผนังชั้นใต้ดินพบห้องขังและจุดที่ผูกแขนตีตรวนนักโทษ หรือผู้กระทำความผิด
เราเห็นถึงความเข้มแข็งของพระเยซูเจ้าต่อหน้ามหาสมณะและสมาชิกสภาในบ้าน
กับเปโตรที่อ่อนแอซึ่งอยู่นอกบ้าน
เปโตรติดตามไปกับศิษย์อีกผู้หนึ่ง หญิงเฝ้าประตูพูดกับเปโตรว่า
“ท่านไม่เป็นศิษย์ของชายผู้นี้ด้วยหรือ”
เปโตรตอบว่า “ไม่เป็น” (ยน 18:17)
นักบุญยอห์นได้ย้ำการปฏิเสธพระเยซูเจ้าของเปโตรว่า “ไม่เป็น” สามครั้ง “เปโตรปฎิเสธอีกครั้งหนึ่ง
ทันใดนั้น ไก่ก็ขัน” (ยน 18:27)
การยืนยันการเป็นศิษย์เป็นเรื่องสำคัญมาก
เราต้องกล้ายืนยันการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์
เช้าตรู่วันต่อมา พวกเขาได้นำพระเยซูเจ้าไปหาปิลาตผู้สำเร็จราชการที่จวน
(ป้อมอันโตนิโอ) ซึ่งอยู่ติดกับพระวิหาร แต่ไม่ได้เข้าไปในจวนเพราะกลัวเป็นมลทิน
กินปัสกาไม่ได้ ปีลาตจึงออกมาพบข้างนอก ชาวยิวเรียกร้องปีลาตให้ตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า
ปีลาตได้บอกพวกเขาให้นำไปพิพากษาตามกฎหมายของพวกเขา และพวกเขาตอบว่า “พวกเราไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้” (ยน 18:30)
เพราะชาวโรมันได้เพิกถอนอำนาจของสภาซันเฮดรินไม่ให้ตัดสินประหารชีวิตผู้ใดได้
ยอห์นได้นำเสนอความจริงลึกซึ้ง พวกเขาต้องการให้ปีลาตประหารชีวิตพระองค์
แต่ปีลาตกลับประกาศพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”
(ยน 18:33)
ปกติเมื่อโรมันประกาศใครเป็นกษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการจะนำตัวมาประกาศต่อหน้าสาธารณชน
และปีลาตกำลังทำเช่นนั้นกับพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีลาตว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้
ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้
ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว
แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้” (ยน
18:36)
นี่คือการยืนยันอาณาจักรของพระเยซูเจ้าสามครั้งอย่างชัดเจน
ซึ่งไม่เหมือนกับอาณาจักรของโลก พระองค์ผู้เดียวทรงยอมตายเพื่อทุกคน
พระเยซูเจ้าไม่เคยตรัสว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ เมื่อปีลาตถาม “ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม”
และพระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว
เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง
ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” (ยน 18:37) เป็นนัยยะว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์
เพราะคำประกาศของผู้สำเร็จราชการ การอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าคือการอยู่ต่อหน้าองค์ความจริง
การดำเนินชีวิตตามพระวาจาคือการดำเนินชีวิตตามความจริง
ปีลาตถามพระเยซูเจ้าว่า “ความจริงคืออะไร”
(ยน 18:38)
เงียบ ไม่มีคำตอบ เพราะพระเยซูเจ้าคือองค์ความจริง
การอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าคือการอยู่ต่อหน้าองค์ความจริง ไม่ต้องสงสัย ปีลาตได้ออกไปพบชาวยิวข้างนอก
และประกาศอีกครั้งว่า “ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”
(ยน 18:39)
1.3
ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า (ยน 19:1-11)
บทที่ 19 ปีลาตได้สั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน
บรรดาทหารนำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง (ยน 19:1-2)
เป็นภาษาประชดประชัน แต่นี่คือเครื่องทรงของกษัตริย์
และทหารพูดกับพระองค์ว่า “กษัตริย์ของชาวยิว
ขอทรงพระเจริญ” (ยน 19:3) นักบุญยอห์นต้องการสื่อว่า
นี่คือการประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
ปีลาตออกมาและพูดว่า “เราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด” นักบุญยอห์นบอกเราว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นลูกแกะบริสุทธิ์ ไม่มีมลทินใด ๆ
ที่ถูกฆ่าถวายในเทศกาลปัสกา ปีลาตพูดกับประชาชนว่า “นี่คือ คนคนนั้น” (ยน 19:5) นี่คือการประกาศอย่างเป็นทางการว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์
บัลลังก์ของพระองค์คือบนไม้กางเขน เมื่อมหาสมณะและยามรักษาพระวิหารร้องว่า
“เอาไปตรึงกางเขน
เอาไปตรึงกางเขน” (ยน 19:6) เป็นคำทูลเชิญพระองค์ขึ้นบนบัลลังก์
ในการตัดสินประหารชีวิต ปีลาตได้นำพระเยซูเจ้าออกมา “ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลา”
(ยน 19:13)
ใครเป็นคนนั่งบนบัลลังก์ ไม่ใช่ปีลาตแต่เป็นพระเยซูเจ้า “วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองปัสกา
เวลาประมาณเที่ยงวัน ปีลาตบอกชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย”
(ยน 19:14) นี่คือความล้ำลึกของนักบุญยอห์นที่ประกาศว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ เยี่ยงลูกแกะปัสกาที่ถูกนำไปฆ่า
1.4
พระเยซูเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน
(ยน 19:17-18)
บรรดาทหารนำพระเยซูเจ้าไปประหาร
เป็นเครื่องหมายของการเดินไปสู่บัลลังก์ของพระองค์คือไม้กางเขน
ซึ่งเน้นการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า
ดังที่เขียนไว้ในป้ายประกาศที่ปีลาตไม่ยอมแก้ไขตามคำร้องขอของหัวหน้าชาวยิว นักบุญยอห์นเน้นการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าตลอดการเล่าเรื่องพระมหาทรมาน
การแบกไม้กางเขนประดุจเป็นธงประจำพระองค์ (ยน 19:17) การรับทรมานจึงเป็นช่วงเวลาที่ทรงได้รับการยกย่องอย่างแท้จริง
(ยน 3:35)
พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนบนเนินหัวกะโหลกที่ภาษาฮีบรูเรียกว่า
“กลโกธา” (ยน 19:17-18)
ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่นั่นมีหัวกะโหลกมากมาย รวมถึงกะโหลกที่ตำนานเชื่อว่าเป็นกะโหลกของอาดัมด้วย
เพื่อสื่อความหมายว่า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เพื่อความรอดของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่อาดัมมนุษย์คนแรก
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นอาดัมใหม่
ที่วิหารพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ ประเทศอิสราเอล ใต้เนินหัวกะโหลกที่ตั้งไม้กางเขนตรึงพระเยซูเจ้านั้น
มีวัดน้อยชื่อวัดอาดัม มีรอยแตกจากที่ปักกางเขนลงไปจนถึงวัดอาดัมด้านล่าง
ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ฝังศพของอาดัม น้ำและพระโลหิตเมื่อพระองค์ถูกแทงด้วยหอก
ได้ไหลลงมาตามรอยแตกนี้ เพื่อชำระล้างบาปของอาดัมมนุษย์คนแรกให้ได้รับความรอด
นี่เป็นตำนานซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์แห่งความรอดว่า พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปมนุษย์ทุกคน
1.5
กางเขนคือบัลลังก์
(ยน 19:19-22)
ปกตินักโทษประหารจะมีการติดป้ายความผิด
แต่กรณีของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ป้ายบอกความผิด แต่เป็นป้ายประกาศความเป็นกษัตริย์ ปีลาตได้สั่งให้เขียนป้ายประกาศว่า
“เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19)
ในฐานะผู้สำเร็จราชการของจักรพรรดิโรมัน
ปีลาตได้ประกาศความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเป็นภาษาฮีบรู ละติน
และกรีก (ยน 19:20)
ชาวยิวจำนวนมากได้อ่านป้ายประกาศนี้ (ยน 19:20)
เนื่องจากโนนหัวกะโหลกอยู่นอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม
แม้ปัจจุบันจะมีการขยายแนวกำแพงออกไป หัวหน้าสมณะของชาวยิวได้ขอให้แก้ข้อความใหม่
แต่ปีลาตตอบว่า “เขียนแล้วก็แล้วไปเถอะ”
(ยน 19:22) สะท้อนสิ่งที่ผู้สำเร็จราชการประกาศ
ไม่สามารถแก้ไขได้ เท่ากับเป็นการประกาศว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์
และไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้
บรรดาทหารนำฉลองพระองค์ออกเป็นสี่ส่วน (ยน 19:23)
ทำไมต้องเป็นสี่ส่วน เลข 4 หมายถึง 4 ทิศ
หรือทั่วโลก การแบ่งออกเป็นสี่ส่วนหมายถึงความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ ข่าวดีเรื่องพระทรมาน
การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ หรือธรรมล้ำลึกปัสกาต้องถูกนำไปจนสุดปลายแผ่นดิน
หรือป่าวประกาศทั่วโลก พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ส่วนเสื้อยาวของพระองค์ไม่มีตะเข็บ
ทอเป็นผืนเดียวกันตลอด เป็นเสื้อของมหาสมณะที่ไม่มีตะเข็บ เป็นการประกาศว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นมหาสมณะนิรันดร บรรดาทหารจึงนำเสื้อยาวของพระองค์มาจับสลาก
1.6
ความหมายของพระมหาทรมาน
พระเยซูเจ้าทรงเจริญพระชนมชีพในยุคที่มีความรุนแรง
และทรงเป็นเหยื่อของความรุนแรง พระองค์ทรงน้อมรับความความรุนแรงโหดร้ายเหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า
พระมหาทรมานของพระองค์มีความหมายพิเศษสำหรับคริสตชน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังและความเข้มแข็งของผู้คนเป็นจำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์
เมื่อพิจารณาพระมหาทรมานของพระองค์อย่างลึกซึ้ง เราพบความทุกข์ทรมานของพระองค์ใน 3 ลักษณะ
ประการแรก ความทรมานด้านจิตใจ พระเยซูเจ้าทรงถูกยูดาสทรยศและเปโตรปฏิเสธ
เหตุการณ์ที่สวนเกทเสมนีแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงอยู่ในห้วงความทุกข์แสนสาหัส
ทรงเห็นภาพล่วงหน้าถึงพระมหาทรมานที่กำลังจะได้รับ
จนต้องร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไป แต่ที่สุด ทรงขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า
ความทรมานด้านจิตใจส่งผลต่อร่างกายจนพระเสโทเป็นโลหิต นี่คืออาการของคนทุกข์หนักอย่างแสนสาหัส
ประการที่สอง ความทรมานด้านร่างกาย พระเยซูเจ้าทรงถูกทรมานอย่างทารุณโหดร้าย
อาทิการเฆี่ยนด้วยแส้ฟากรัม แส้หนังที่มีปลายร้อยด้วยเหล็กแหลมซึ่งสร้างความเจ็บปวดอย่างที่สุด
การสวมมงกุฎหนาม การตรึงการเขน และการแทงด้วยหอก รอยเลือดที่ปรากฏที่ผ้าตราสังข์แห่งตูริน
มองเห็นได้ชัดเจนว่า เจ้าของร่างที่ปรากฏได้ผ่านการทารุณอย่างโหดเหี้ยม และไร้มนุษยธรรม
ประการที่สาม ความทรมานด้านวิญญาณ พระเยซูเจ้าทรงถูกทอดทิ้งจากบรรดาศิษย์
และขณะถูกตรึงบนไม้กางเขนพระองค์ทรงรู้สึกสิ้นหวัง เพราะดูคล้ายกับว่า พระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ด้วย
“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า
ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ 27:46) คงไม่มีความทุกข์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองถูกทอดทิ้งจากบุคคลอันเป็นที่รัก
โดยเฉพาะในช่วงเวลาของความยากลำบาก
2.
คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
2.1
พระมหาทรมานมีความหมายสำหรับเราอย่างไร
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายแห่งความรักแท้สำหรับมนุษยชาติ
พระองค์ทรงรักและมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) เราต้องทำให้พระมหาทรมานของพระองค์ไม่สูญเปล่า
ด้วยการยอมรับความยากลำบากเพื่อพระองค์
2.2
เราจะทำให้พระมหาทรมานมีความหมายสำหรับสังคมอย่างไร
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นต้นแบบแห่งความรัก ทรงเชื้อเชิญเราให้ดำเนินชีวิตในความรักตามมาตรฐานเดียวกับพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อเพื่อนมนุษย์
“นี่คือบทบัญญัติของเรา
ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เราได้รักท่าน”
(ยน 15:12) พระเยซูเจ้าทรงรักเราอย่างไร เราต้องรักกันและกันอย่างนั้น
บทสรุป
ความทุกข์ทรมานมีความหมายพิเศษสำหรับชีวิตคริสตชน
พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับผู้ที่กำลังทนทุกข์เสมอ
พวกเขาไม่ได้เผชิญความยากลำบากตามลำพัง
ความรักในพระเยซูเจ้าเป็นพลังทำให้เราสามารถสู้ทนกับความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิตได้
และถือเป็นการมีส่วนในงานไถ่กู้มนุษยชาติ
ผ่านทางการทรมานและความตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น เราถึงจะกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์และได้รับชีวิตนิรันดร
ดังนั้น เมื่อเราต้องเผชิญกับความยากลำบาก หรือความทุกข์ทรมานใด
ๆ ในชีวิต เราควรหันมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับความบรรเทาและความช่วยเหลือ ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบพระเยซูเจ้า
ในความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุด พระทรมานของพระองค์ต้องเตือนใจให้สำนึกในบาปที่เราได้กระทำ
และกลับมาหาพระองค์ผ่านทางศีลอภัยบาป เพื่อได้รับการช่วยให้รอดด้วยพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
https://dondaniele.blogspot.com/
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
24 กุมภาพันธ์ 2020
ที่มาภาพ : https://www.pluggedin.com/movie-reviews/passionofthechrist/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น