วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ในสายตาของศิษย์ที่ทรงรัก

 

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า

ในสายตาของศิษย์ที่ทรงรัก

ยอห์น บทที่ 19 (ศุกร์ศักดิ์สิทธิ์)

ยน 19:25-42

บทนำ

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เราระลึกถึงพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า พิธีกรรมวันนี้มีสามภาคคือ ภาควจนพิธีกรรม ภาคนมัสการกางเขน และภาครับศีลมหาสนิท เนื้อหาสำคัญของพิธีกรรมวันนี้คือ “การปลดปล่อย” เราได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระเพราะความรักของพระเยซูเจ้าที่มีต่อเรา พระทรมานของพระองค์นำมาซึ่งอิสรภาพยิ่งใหญ่ การมอบตนของพระองค์บนไม้กางเขน ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและมีส่วนในความชื่นชมยินดีนิรันดร

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ทำให้ชีวิตและกิจการดีทั้งหลายที่เรากระทำตลอดชีวิตมีความหมาย และบรรลุถึงความสมบูรณ์ในวันสุดท้าย ไม่ตกเป็นทาสของข้อจำกัดของมนุษย์คือความตายอีกต่อไป แต่มีอิสระอย่างแท้จริงและมีเป้าหมายสุดท้ายที่ชัดเจน ดังนั้น ทุกถ้อยคำและเครื่องหมายในพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการฉลองอิสรภาพของมนุษยชาติ เรียนรู้จักองค์แห่งความรัก ซึ่งได้มอบชีวิตทั้งครบของพระองค์เพื่ออิสรภาพของเรามนุษย์

1.        การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า

นักบุญยอห์นอัครสาวกได้ติดตามพระเยซูเจ้าไปจนถึงเชิงกางเขน ได้เป็นพยานและเขียนพระวรสารที่เราใช้อ่านในพิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ยอห์นต้องการบอกเราด้วยว่า “ทำไม” พระเยซูเจ้าต้องรับทรมานและสิ้นพระชนม์ พระเยซูเจ้าทรงล่วงรู้เหตุการณ์ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ และทรงน้อมรับมันด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบิดาเจ้าอย่างสุขสงบ

1.1     พระมารดาของพระเยซูเจ้าแทบเชิงกางเขน (ยน 19:25-27)

มีเพียงพระวรสารนักบุญยอห์นที่บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ พระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่ทรงรักยืนอยู่ใกล้ ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า หญิงเอ๋ย นี่คือลูกของท่าน (ยน 19:26) พระเยซูเจ้าเคยตรัสเช่นนี้แล้วครั้งหนึ่งในพระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 2 เรื่องการแต่งงานที่เมืองคานา คำว่า หญิง ในวรรณกรรมยอห์น หมายถึงนคร หรืออาณาจักร เช่น ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย ธิดาเยรูซาเล็มเอ๋ย หมายถึงนครเยรูซาเล็ม

คำพูด หญิงเอ๋ย ในที่นี้บอกให้เราทราบว่า พระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับพระศาสนจักร เป็นการมอบฝากบรรดาศิษย์ของพระองค์ไว้กับพระศาสนจักร และตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า นี่คือแม่ของท่าน (ยน 19:27)  พระเยซูเจ้าไม่เพียงฝากพระมารดาไว้กับศิษย์ที่ทรงรักเท่านั้น แต่ทรงประกาศว่า พระนางมารีย์ทรงเป็นเอวาคนใหม่ ทรงเป็นพระมารดาในจิตใจของทุกคนที่มีความเชื่อ โดยมีศิษย์ที่ทรงรักเป็นตัวแทน (เทียบ 15:10-15)

พระเยซูเจ้าทรงประกาศความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับศิษย์ของพระองค์ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวต่อหน้าไม้กางเขนในพระศาสนจักร การเป็นศิษย์พระคริสต์ถือกำเนิดขึ้นที่เชิงกางเขน ดังนั้น ศูนย์กลางของวัดต้องเป็นไม้กางเขนที่มีพระเยซูทรงถูกตรึงอยู่ การมาชุมนุมกันรอบพระแท่นเพื่อร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณทุกเช้า สืบเนื่องมาจากการสิ้นพระชนม์ เป็นหนึ่งเดียวกับการสิ้นพระชนม์ และเป็นปัจจุบันเสมอ นี่เป็นธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขน

1.2     พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์ (ยน 19:28-30)

เมื่อเห็นว่า ทุกอย่างสำเร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า เรากระหาย นักบุญยอห์นต้องการเน้นว่า ไม่ใช่การกระหายน้ำ แต่เป็นการกระหายพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า ในบทเทศน์บนภูเขาเรื่องบุญลาภ หรือความสุขแท้ พระเยซูเจ้าตรัสถึงการกระหายความชอบธรรม หรือการปกครองของพระเจ้า พระเยซูเจ้าผู้รับใช้ของพระยาเวห์ทรงยอมทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ทหารจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งหุสบ ยื่นถึงพระโอษฐ์” (ยน 19:29)

กิ่งหุสบ เป็นไม้เลื้อย ชาวยิวใช้กิ่งของมันในการประพรม (ลนต 14:4; สดด 51:9) บางคนคิดว่า ไม้นี้ไม่แข็งพอที่จะส่งฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวให้พระเยซูเจ้า จึงแก้คำนี้เป็นหอก หรือไม้อ้อ (เทียบ มธ 27:48) มหาสมณะใช้กิ่งหุสบชุบเลือดทาวงกบประตูในหนังสืออพยพ หรือใช้ประพรมประชาชนในวันชดเชยใช้โทษบาป นักบุญยอห์นต้องการบอกว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นมหาสมณะ ทรงใช้กิ่งหุสบชุบเลือกของพระองค์เพื่อชดเชยบาปของมนุษยชาติ

หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” หมายถึงภารกิจที่พระบิดาเจ้าทรงมอบให้พระองค์กระทำ คือการถวายตนเป็นบูชาเพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น นักบุญยอห์นไม่ได้กล่าวถึงการเรียกหาพระบิดาเหมือนในพระวรสารนักบุญมัทธิวและมาระโก (มธ 27:46 และ มก 15:34) แต่เน้นการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงเอนพระเศียรและสิ้นพระชนม์ แต่ยอห์นใช้คำว่า “พระองค์ทรงส่งพระจิตของพระองค์ออกไป” สำหรับยอห์นการสิ้นพระชนม์เป็นการส่งพระจิตแก่มนุษยชาติ (ดู เชิงอรรถ) ทรงสิ้นลมและมอบลมแห่งชีวิตคือพระจิตเจ้า

1.3               ทหารแทงด้านข้างพระวรกาย (ยน 19:31-37)

ทหารได้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์เพื่อเร่งให้นักโทษตายเร็วขึ้น แต่พวกทหารไม่ได้ทุบขาพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว สำหรับนักบุญยอห์นพระเยซูเจ้าทรงเป็นลูกแกะปัสกาไร้มลทิน ไม่มีตำหนิใด ๆ อีกทั้ง ในห้วงเวลาสิ้นพระชนม์ไม่มีม่านในพระวิหารฉีกขาด แต่ด้านข้างพระวรกายถูกแทงด้วยหอก เพื่อบอกให้ทราบว่า พระองค์ทรงเป็นพระวิหาร “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (ยน 2:19)

เมื่อทหารแทงด้านข้างพระวรกาย “โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:34) พระวรกายของพระเยซูเจ้าในฐานะพระวิหารของพระเจ้าถูกแทงด้านข้าง  “พระโลหิต” แสดงว่า ลูกแกะได้ถูกฆ่าเป็นบูชาแล้วจริง ๆ เพื่อความรอดพ้นของโลก (ยน 6:51) ส่วน “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระจิตเจ้า แสดงว่า การถวายบูชาของพระเยซูเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งพระหรรษทานอันอุดม

บรรดาปิตาจารย์หลายท่านอธิบายว่า “พระโลหิตและน้ำ” เป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท อีกทั้งยังหมายถึงพระศาสนจักร ในฐานะเอวาคนใหม่ซึ่งเกิดจากสีข้างของอาดัมคนใหม่ (เทียบ อฟ 5:23-32) โลหิตและน้ำได้ไหลจากพระวรกายเพื่อชดเชยบาป สอดคล้องกับคำพูดของยอห์นบัปติสต์เมื่อเห็นพระเยซูเจ้า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29)

พระโลหิตและน้ำยังสะท้อน ชีวิตที่มีเพื่อให้ หัวใจมีเพื่อรักของพระเยซูเจ้า ทรงให้มนุษย์ทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิตและเลือดหยดสุดท้าย ไม่เก็บสิ่งใดไว้สำหรับพระองค์ ยกเว้นสิ่งที่ไม่มีใครอยากได้ ได้แก่ มงกุฎหนามและไม้กางเขน ทุกครั้งที่เรามองไม้กางเขนและรำพึงถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ต้องเตือนเราถึงความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ “ทรงรักเราถึงเพียงนี้” (Sic nos amamtem) ชีวิตที่มีเพื่อให้และหัวใจมีเพื่อรักซึ่งเราต้องเลียนแบบ

1.4               ความหมายของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า

การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเป็นที่เข้าใจเฉพาะผู้ที่พร้อมติดตามพระองค์ และพร้อมเลียนแบบพระองค์ในการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า พระองค์ทรงทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าจนถึงที่สุดคือความตายบนไม้กางเขน การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ได้มอบแบบอย่างแก่เราและเตือนใจเราให้ระลึกว่า :

1)       การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเป็นรูปแบบของความตายทั้งหลาย สรรพสิ่งในโลกอยู่ในกาลเวลาและมีวันสูญสลาย แต่สำหรับพระเยซูเจ้าผ่านทางความตายนำมาซึ่งชีวิตใหม่ เมล็ดข้าวถ้าไม่ตกลงดินและเปื่อยเน่าไปก็จะคงอยู่เพียงเมล็ดเดียว (ยน 12:24)

2)       การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้านำมาซึ่งความหวังในการตายต่อตัวเอง อิสรภาพแท้จริงออกมาจากการมอบชีวิตทั้งครบเพื่อผู้อื่น การแบ่งปันความทุกข์กับคนที่กำลังมีทุกข์ทำให้ความทุกข์นั้นเบาลง เข้าทำนอง ร่วมทุกข์ ทุกข์ลด ร่วมสุข สุขเพิ่ม

3)       การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าแสดงถึงความรักมากล้น ทรงรักเราจนถึงที่สุดคือความตายบนไม้กางเขน ทรงปลดปล่อยเราจากบาปและความตาย ด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้การดำเนินชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย และทำให้กิจการดีทั้งหลายที่เราทำไม่ไร้ค่า

2.        คำถามเพื่อการไตร่ตรอง

2.1   การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไรสำหรับเรา

บนไม้กางเขนพระเยซูเจ้าทรงมอบแบบอย่างของความรักแท้ พระองค์ไม่เพียงสอน แต่ทำให้เป็นจริงด้วยชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน อิสรภาพแท้จริงออกมาจากการมอบชีวิตทั้งครบเพื่อผู้อื่น การแบ่งปันความทุกข์กับคนกำลังมีทุกข์ทำให้ความทุกข์นั้นเบาลง เข้าทำนอง “ร่วมทุกข์ ทุกข์ลด ร่วมสุข สุขเพิ่ม”

2.2     เราได้ตระหนักถึงความรักยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าต่อเราอย่างไร

พระเยซูเจ้าทรงปลดปล่อยเราจากบาปและความตาย ด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนไม้กางเขน ทำให้การดำเนินชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย และทำให้กิจการดีทุกอย่างที่เราทำไม่ไร้ค่า เราต้องตระหนักในความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ เลียนแบบความรักนี้ ที่รักทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้ไม่มีเงื่อนไข และไร้ขีดจำกัด

บทสรุป

พิธีกรรมวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เชิญชวนเราให้มีส่วนในพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ด้วยความทุกข์โศกเศร้า แต่ด้วยความหวังในการกลับคืนชีพ พระวาจาของพระเจ้าได้กระตุ้นเตือนและเปิดเผยให้เราเห็นถึง การยอมรับการทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าผู้บริสุทธิ์ นี่คือความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงรักเราจนถึงที่สุด “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)

คริสตชนต้องวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้า เพื่อดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ศิษย์พระคริสต์ต้องติดตามและเลียนแบบพระเยซูเจ้า ในความรักหาที่สุดมิได้เยี่ยงพระองค์ต่อเพื่อนมนุษย์ แสวงหาและมอบตนเองต่อพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าในชีวิตประจำวัน เพื่อรับชีวิตใหม่และกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

https://dondaniele.blogspot.com/

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

26 กุมภาพันธ์ 2020

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Theophile_Lybaert_-_Jesus%27_body_is_removed_from_the_cross.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น