วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การเปลี่ยนแปลงตนเอง

 

การเปลี่ยนแปลงตนเอง

อาทิตย์

สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

ปี B

ปฐก 22: 1-18

รม 8: 31-34

มก 9: 2-10

บทนำ

คุณพ่อแอนโทนี เดอ เมลโล (Fr. Anthony de Mello) ได้เล่าเรื่องงดงามเรื่องหนึ่งในหนังสือลำนำสกุณา (The Song of Bird) เกี่ยวกับการภาวนาของชายชราคนหนึ่งถึงการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากให้เกิดขึ้น เวลาเป็นเด็กเขาอธิษฐานภาวนาถึงพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่ลูกเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก” เมื่อย่างเข้าวัยกลางคนเขาตระหนักว่า เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย แม้ช่วยวิญญาณสักดวงให้รอดยังไม่สามารถทำได้ เขาได้เปลี่ยนบทภาวนาใหม่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่ลูก เพื่อเปลี่ยนแปลงครอบครัวและมิตรสหายของลูก เพียงเท่านี้ลูกก็พอใจแล้ว”

เวลานี้เขาอยู่ในวัยชราและวันเวลาเหลือน้อยเต็มที เขาตระหนักว่า ตนเองช่างโง่เขลาเหลือเกินที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ คำภาวนาของเขาเวลานี้คือ “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่ลูกเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง หากลูกเริ่มภาวนาแบบนี้ตั้งแต่แรก ลูกคงไม่เสียเวลาทั้งชีวิตโดยเปล่าประโยชน์” เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง สังคมรอบข้างและโลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่เราคาดไม่ถึง

การประจักษ์พระวรกาย (Transfiguration)  หมายถึงพระวรกายที่เปลี่ยนแปลงไปของพระเยซูเจ้า เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงตนเอง กลับใจมาหาพระเจ้า การประจักษ์พระวรกายมีจุดมุ่งหมาย ประการแรก เพื่อให้ความมั่นใจเกี่ยวกับแผนการของพระบิดา ผู้ทรงให้พระบุตรรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ ประการที่สอง เพื่อให้บรรดาศิษย์ได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในฐานะพระเจ้า และมีความเข้มแข็งในห้วงเวลาแห่งการเบียดเบียน

1.        การเปลี่ยนแปลงตนเอง

พระเยซูเจ้าทรงนำเปโตร ยากอบ และยอห์นขึ้นไปบนภูเขา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า และพวกเขาได้เป็นประจักษ์พยานถึงการประจักษ์พระวรกายของพระองค์ การได้เห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เป็นสิทธิพิเศษที่พวกเขาได้รับ และเป็นข้อพิสูจน์ว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและพระผู้ไถ่ การปรากฏมาของโมเสสและเอลียาห์ตัวแทนของธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก ชี้ให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าคือความสมบูรณ์ของพระพันธสัญญาเดิม

ช่วงเวลาสำคัญของการประจักษ์พระวรกายคือ เสียงดังมาจากเมฆบอกให้ทราบว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรสุดที่รักของพระเจ้าและให้พวกเขาฟังพระองค์ นี่คือคำรับรองของพระบิดาเจ้าว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรสุดที่รักของพระองค์และเราต้องฟังพระองค์ แม้ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัส เช่น การถูกปฏิเสธ การทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพจะเป็นสิ่งยากเกินรับได้ เราสามารถเข้าใจและร่วมส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้ผ่านทางหนทางแห่งไม้กางเขน

มีการเปลี่ยนแปลงสามอย่างในชีวิตของเราในการเดินทางมุ่งสู่ชีวิตนิรันดร การเปลี่ยนแปลงแรกเริ่มจากศีลล้างบาป ที่ชำระล้างบาปกำเนิดและเปลี่ยนแปลงตัวเราให้กลายเป็นบุตรของพระเจ้า ทายาทแห่งเมืองสวรรค์ การเปลี่ยนแปลงที่สองเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถเอาชนะการประจญและความยากลำบากในชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่สามเกิดขึ้นเมื่อเราจบชีวิตในโลกนี้ ซึ่งเราต้องผ่านการชำระตนในไฟชำระเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร และบรรลุถึงความสมบูรณ์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า

2.        บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฎิบัติในชีวิตประจำวัน

ประการแรก เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง การประจักษ์พระวรกายเป็นเหตุการณ์ที่พระวรกายของพระเยซูเจ้าเปลี่ยนแปลงไป พระศาสนจักรให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์นี้ในสัปดาห์ที่สองของเทศกาลมหาพรต เพื่อเตือนใจเราให้ตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากในชีวิต ดังนั้น เราควรเปิดใจด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเอง หันกลับมาหาพระเจ้าเพื่อมีประสบการณ์ความรักของพระองค์ ช่วยคนอื่นได้รู้ถึงความรักของพระองค์และพร้อมมอบชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น

ประการที่สอง พิธีบูชาขอบพระคุณคือแหล่งพลังทำให้เราเข้มแข็ง ในพิธีบูชาขอบพระคุณปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนเป็นพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ การประจักษ์พระวรกายของพระองค์ได้ทำให้บรรดาอัครสาวกเข้มแข็ง พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นแหล่งพลังในการต่อสู้การประจญและพื้นฟูชีวิตคริสตชนในเทศกาลมหาพรตนี้ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจเราให้ทำแต่สิ่งดีงาม ในการรับใช้ผู้อื่นโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว

ประการที่สาม เราต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงมอบพระบุตรสุดที่รักของพระองค์โดยไม่ทรงหวงแหน ดังเช่นอับราฮัมพร้อมมอบบุตรชายคืออิสอักแด่พระเจ้า การมอบชีวิตเพื่อไถ่บาปเราของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งมีคุณค่ายิ่งใหญ่ เราต้อเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ด้วยการน้อมรับไม้กางเขนและร่วมส่วนในการแบกกางเขนนี้ในชีวิตประจำวัน จนถึงวาระสุดท้ายที่เราได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการประจักษ์พระวรกายและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เราได้เห็นความรักของบิดาสองคน อับราฮัมที่มีต่ออิสอักและพระบิดาเจ้าที่มีต่อพระเยซูเจ้า บิดาทั้งสองคนได้เตรียมมอบบุตรสุดที่รักของตนเป็นบูชา ต่างก็ตรงที่พระเจ้าบอกให้อับราฮัมฆ่าลูกแกะเป็นบูชาแทนอิสอัก แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็นลูกแกะที่ยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนด้วยพระองค์เอง เพื่อช่วยเราให้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้า

คริสตชนต้องลงจากภูเขาสู่ความเป็นจริงแห่งชีวิต และเดินตามรูปแบบชีวิตพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนทุกวันตลอดชีวิต เราได้ยินพระสุระเสียงของพระบิดาเจ้าตรัสกับเราว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรสุดที่รักของพระองค์ที่เราต้องฟัง ศิษย์พระคริสต์ต้องเชื่อฟังพระเยซูเจ้า มองเห็นการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา และนำพระวาจาของพระองค์ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในความรักและการให้อภัยเพื่อนมนุษย์ด้วยใจกว้าง ซึ่งพระศาสนจักรเรียกร้องเป็นพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

https://dondaniele.blogspot.com/

หนังสือ เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561, หน้า 42-45.

ภาพ : พระอัครสังฆหราชอันตน วีระเดช ใจเสรี, ฉลองวัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร; 2021-02-27

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น