คิดถึงตู้เถิง มุลสุทธิ
ข่าวการจากไปของเปโตร เถิง มุลสุทธิ หรือตู้เถิง
เมื่อวันที่ 8
ตุลาคม 2016 อยู่ในความคาดหมายล่วงหน้า
แต่เมื่อเหตุการณ์นี้มาถึงก็ยากจะทำใจ การจากไปของตู้เถิงยังความเศร้าโศกเสียใจของลูกหลานและพี่น้องชาวนาบัว
ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของ “ตระกูลมุลสุทธิ” และของบ้านนาบัว หมู่บ้านคริสตชนเก่าแก่อายุร่วม
130 ปีในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ทั้งนี้เพราะตู้เถิงถือเป็นต้นแบบด้านความเชื่อ
และเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญด้านประวัติศาสตร์ จำได้ว่าเคยไปเยี่ยมและสัมภาษณ์ตู้เถิงหลายครั้งทั้งที่บ้านและทุกแห่งที่พบเห็น
ซึ่งตู้เถิงมักจะไปร่วมงานของวัดและของอัครสังฆมณฑลฯ อยู่เสมอมิได้ขาด เพื่อเป็นการรำลึกพระคุณของเปโตร
เถิง มุลสุทธิ จึงขอนำข้อมูลซึ่งท่านเคยให้ไว้เกี่ยวกับ “ตระกูลมุลสุทธิ”
และ “บ่อน้ำช้างแก้ว” ในหนังสือ “125 ปี คริสตชุมชนนาบัว
ค.ศ. 1887-2012” มานำเสนอ
ตระกูลมุลสุทธิ
ตระกูลมุลสุทธิ
เป็นตระกูลที่มาพร้อมกับตระกูลจันทร์สุนีย์ (น่าจะมาจากดอนโดน สปป. ลาว)
ที่พอจะทราบชื่อคือ นายเบี้ยว มุลสุทธิ บิดาของนายเถิง มุลสุทธิ ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของคุณพ่อสุรชาติ
มุลสุทธิ นายเบี้ยวได้แต่งงานกับนางออง (เอิ่ง) มุลสุทธิ มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 6 คน ดังนี้
1)
นายเถิง มุลสุทธิ
(บิดาของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ)
2)
นายบุญล้วน มุลสุทธิ
3)
นางโอรส (แดง) มุลสุทธิ
4)
นายคำจด มุลสุทธิ
5)
นางบุญเพ็ง สายวงศ์ แต่งงานกับนายศรี
สายวงศ์
6)
นางบุญพร มุลสุทธิ
นายเถิง
มุลสุทธิ ได้เป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อแท่ง ยวงบัตรี และได้แต่งงานกับนางสง่า
วินบาเพชร มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 8 คน ดังนี้
1)
นายปราณีต มุลสุทธิ
2)
นางดารา บุญเวิน
3)
นายดำหริ มุลสุทธิ
4)
นายสมสิน มุลสุทธิ
5)
นายนิรันดร์ มุลสุทธิ
6)
คุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ พระสงฆ์สังกัดอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
7)
นายเสนาะ มุลสุทธิ
8) นางกนิษฐา
มุลสุทธิ
บ่อน้ำช้างแก้ว
ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญของภาคอีสานมาช้านานไม่เว้นแม้ที่นาบัว
นอกจากอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว
ยังต้องขุดบ่อลึกลงไปในดินเพื่อจะได้น้ำที่บริสุทธิสำหรับอุปโภคและบริโภค คุณพ่อแท่ง มีความสามารถพิเศษในการหาแหล่งน้ำ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไม้สามง่ามที่ช่วยให้รู้ทันทีว่าบริเวณไหนมีตาน้ำควรขุดบ่อหรือเจาะบาดาล
หลังจากใช้ไม้สามง่ามเดินดูทั่วบริเวณ คุณพ่อได้ชี้จุดสำหรับการขุดบ่อ
ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ 1 เมตรใกล้บ้านคุณพ่อนั่นเอง
ตามคำบอกเล่าของนายเถิง มุลสุทธิ
วัย 86 ปี (บิดาของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ)
ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อแท่งเล่าให้ฟังว่า
ชาวนาบัวได้ร่วมใจกันขุดบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 4 เมตร ใช้เวลาขุดนานหลายเดือน ลึกประมาณ 6-8 เมตร
จึงพบดินดำมีกลิ่นฉุน เมื่อขุดต่อไปก็พบแท่งหินขนาดใหญ่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงช่วยกันขุดต่อไป
จนเห็นรูปช้างหินตัวขนาดย่อม ซึ่งนายเถิงเล่าว่าขนาดพอดีนั่งขี่หลังได้
มีโซ่หินผูกติดกับหลักหิน
ข่าวการพบช้างหินได้รับการเล่าขานบอกต่อกันแบบปากต่อปาก
จึงมีชาวนาบัวเป็นจำนวนมากได้มาดูช้างหินนี้ ซึ่งสามารถมองเห็นจากปากบ่อได้อย่างชัดเจน
เมื่อขุดเลยท้องช้างตัวนี้ไปได้สักพักก็พบตาน้ำที่ไหลไม่หยุด คุณพ่อแท่งจึงให้ทำผนังไม้เรียงสลับซ้อนกันไปมาเพื่อกันดินพัง
ประกอบกับมืดค่ำแล้วการขุดจึงหยุดลง รอมาขุดต่อในวันรุ่งขึ้นให้เสร็จ
แต่เมื่อมาถึงปากบ่อในเช้าวันต่อมา สิ่งที่ทุกคนเห็นคือผนังไม้ที่ทำกั้นดินไว้นั้นได้พังลงจนถมตัวช้าง
คุณพ่อแท่งและชาวนาบัวได้พยายามขุดใหม่และทำผนังไม้กั้นดินที่แข็งแรงกว่าเดิม
แต่พอวันรุ่งขึ้นก็พังลงมาอีกเช่นเดิม
การขุดจึงยุติลงและทำผนังไม้กั้นดินจากจุดที่ดินพังนั่นเอง
เป็นที่เล่าลือกันในหมู่ชาวนาบัวว่า ช้างหินนี้น่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกขอม
(บริเวณที่ตั้งบ้านนาบัวเคยเป็นหมู่บ้านขอมมาก่อน) ดังช้างแก้วคู่บ้านคู่เมือง
จึงเรียกบ่อน้ำนี้ว่า “บ่อน้ำช้างแก้ว”
สาเหตุที่ดินพังมาถมตัวช้างทุกครั้งไป คงเพราะไม่ต้องการให้ใครมารบกวน
เล่ากันว่าเวลามีงานบุญประจำปีต้องใช้เครื่องทำไฟ
(เครื่องปั่นไฟสมัยก่อนเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้)
หากวางเครื่องใกล้บ่อน้ำเครื่องจะไม่ทำงานต้องย้ายไปที่อื่น
แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งผ่านบ่อน้ำนี้เครื่องจะดับทันที
เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก
ในสมัยคุณพ่อปีแอร์ โกลาส์
มีความพยายามที่จะขุดบ่อน้ำนี้อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
คุณพ่อทำได้เพียงเปลี่ยนผนังไม้เป็นท่อคอนกรีตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี
บ่อน้ำแห่งนี้ชาวนาบัวได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคมาเป็นเวลาหลายปี
เพราะน้ำที่ใสแม้จะมีความเป็นด่าง เหนียว ล้างทำความสะอาดออกยากก็ตาม ในสมัยคุณพ่อวีรพงษ์
มังกาย เป็นเจ้าอาวาส มีความพยายามจะขุดเพื่อนำช้างแก้วขึ้นมา
แต่ชาวบ้านหลายคนทัดทานไว้ บ่อน้ำช้างแก้วแห่งนี้จึงยังคงเป็นปริศนา
ที่รอคอยการพิสูจน์อีกต่อไป
ขอขอบพระคุณ เปโตร เถิง มุลสุทธิ
ที่ได้มอบแบบอย่างด้านความเชื่อไว้ให้ลูกหลานและชาวนาบัว
และให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบ้านนาบัวไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และศึกษา อีกทั้งได้มอบบุตรคนหนึ่งให้กับพระเจ้าเพื่อทำงานรับใช้พระองค์ในพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงคือ
คุณพ่อยอห์น
สุรชาติ มุลสุทธิ ขอให้ดวงวิญญาณของเปโตร เถิง มุลสุทธิ
ได้รับการพักผ่อนนิรันดรกับพระเจ้า เทอญ
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
10 ตุลาคม 2016
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น