วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ลาวพวน บรรพชนของเรา



ความรู้ใหม่เกี่ยวกับบรรพชน
ในการเข้าเงียบประจำปีของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2014 ณ สำนักอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เทศน์โดย พระสังฆราชยวง มารี เวียเนย์ ปรีดา อินทิราช ประมุขสังฆมณฑลท่าแขก-สะหวันนะเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พระคุณเจ้าปรีดาได้นำเสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการเผยแพร่คริสตศาสนาในประเทศลาวและภาคอีสาน โดยชี้ให้เห็นว่ามีความพยามยามในการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารในประเทศลาวก่อนแล้ว ในหมู่บ้านแถวเมืองพวน เขตหัวพัน แขวงซำเหนือ โดยพระสงฆ์มิชชันนารีจากเวียดนาม


เนื่องจากเกิดสงครามปราบฮ่อ ซึ่งเป็นกองกำลังชาวจีนที่ก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์แมนจู แต่พ่ายแพ้แล้วหลบหนีมาสร้างอิทธิพลและปล้นสะดมชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ที่ขณะนั้นถือเป็นอาณาเขตของฝ่ายไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ส่งกองทัพไปปราบปราม 4 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นต้องเผชิญกับภาวะสงครามและอพยพหนีภัยสงครามไปยังที่ต่างๆ
ชาวบ้านเหล่านี้เป็นไทแดงหรือลาวพวน หลายคนได้ถูกกวาดต้อนและถูกพวกกุลา (พ่อค้า) จับตัวไปขายเป็นทาสตามหัวเมืองต่างๆ เช่น หนองคาย นครพนม ธาตุพนม มุกดาหารและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดมกับคุณพ่อฟรังซิสซาเวียร์ เกโก ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ให้มาแพร่ธรรมในภาคอีสาน โดยยึดเอาอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลาง


เมื่อย้อนกลับไปอ่านหนังสือ ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว เขียนโดยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ก็พบความจริงว่าชาวบ้านกลุ่มแรกจำนวน 18 คนที่คุณพ่อโปรดมได้ช่วยไถ่จากการถูกขายเป็นทาสคือชาวลาวพวนจากแคว้นซำเหนือ และพวกเหล่านี้ได้มาขออยู่ในความคุ้มครองจากพวกคุณพ่อ และได้สมัครเรียนคำสอนเป็นพวกแรกที่บุ่งกะแทว
ข่าวการช่วยทาสให้เป็นอิสระในครั้งนั้น ได้แพร่สะพัดไปทั่วภาคอีสานอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในท้องถิ่นนั้นได้ขอให้คุณพ่อเป็นทนายแก้ต่างให้ศาลปล่อยตัวเป็นอิสระเสมอ เช่น ในการเดินทางไปสำรวจเส้นทางแพร่ธรรมถึงหนองคายของคุณพ่อโปรดมกับคุณพ่ออันเฟร็ด มารี รองแดล ในปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) ตอนเดินทางกลับคุณพ่อได้ช่วยไถ่ทาสที่นครพนมจำนวน 5 คน ที่ธาตุพนม18 คนและอีก 20 คนที่มุกดาหาร รวมเป็น 43 คน ทั้งหมดเป็นลาวพวนเช่นกันและได้ติดตามคุณพ่อไปอยู่ที่บุ่งกะแทว


ในการเดินทางจากอุบลราชธานีของคุณพ่อโปรดมในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) เพื่อพาคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออมาดูแลกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ คริสตชนที่บุ่งกะแทวจำนวน 60 คน ได้ติดตามคุณพ่อโปรดมมาด้วย เพราะคิดว่าการทำนาที่ท่าแร่กับคำเกิ้มซึ่งคุณพ่อเกโกได้ตั้งขึ้น จะได้ผลมากกว่าที่อุบลฯ นอกนั้น ยังหวังจะได้พบญาติพี่น้องที่ถูกขายเป็นทาสกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางตอนเหนือของภาคอีสาน
เมื่อเดินทางมาถึงมุกดาหาร คุณพ่อโปรดมได้ช่วยไถ่ชาวลาวพวนให้พ้นจากการเป็นทาสอีกเป็นจำนวนมาก รวมแล้วมีจำนวนถึง 30 ครอบครัว จำนวนกว่า 150 คน พวกเหล่านี้ได้ได้เดินทางติดตามคุณพ่อไปรวมกับกลุ่มคริสตชนใหม่ที่ท่าแร่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีครอบครัวใหม่มาตั้งหลักแหล่งที่ท่าแร่และคำเกิ้มเป็นเป็นจำนวนมาก


ในระหว่างปี ค.ศ. 1885-1889 (พ.ศ. 2428-2432) ที่คำเกิ้มมีผู้สมัครเรียนคำสอนมากกว่า 1,000 คน จนคุณพ่อเกโกต้องขยายไปตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่หลายแห่งในเขตนครพนมและประเทศลาว เช่นที่ดอนโดนและเชียงยืน ผู้สมัครเรียนคำสอนเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวภูเทิง (ลาวพวน) ที่ถูกนำมาขายเป็นทาสและคุณพ่อได้ไถ่ให้เป็นอิสระแล้ว
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจึงยืนยันได้ว่า บรรพชนของมิสซังลาวหรืออัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นลาวพวนหรือไทแดงจากเขตหัวพัน แขวงซำเหนือ (ประเทศลาว) ที่หนีภัยสงครามปราบฮ่อ ถูกขายมาเป็นทาสและได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระจากบรรดามิชชันนารี โดยเฉพาะที่ท่าแร่ คำเกิ้ม เชียงยืน ทุ่งมน ฯลฯ รวมถึงชาวผู้ไทที่อพยพมาอยู่ฝั่งไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 (นาคำ ช้างมิ่ง หนองเดิ่น ดอนม่วย และนาโพธิ์)


ข้อมูลที่น่าสนในอีกเรื่องหนึ่งที่พระคุณเจ้าปรีดาได้เล่า คือเรื่องครูบาพิม ซึ่งเป็นพระภิกษุจากเขตหัวพัน แขวงซำเหนือ ได้ออกเดินทางตามหาญาติพี่น้องที่ถูกขายมาเป็นทาสทางฝั่งไทย ครูบาพิมได้ช่วยเหลือไถ่ญาติพี่น้องตามกำลังเงินที่มี แต่ไม่พอจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากมิชชันนารี การได้เห็นการอุทิศตนช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนของบรรดามิชชันนารี ทำให้คูบาพิมเกิดความประทับใจ
ต่อมา คูบาพิมได้สึกจากเพศบรรพชิต มาเรียนคำสอนและกลับใจเป็นคริสตชน อีกทั้งได้อุทิศตนรับใช้คุณพ่อมิชชันนารีในการสอนคำสอนแก่ผู้กลับใจใหม่ตามหมู่บ้านต่างๆ ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียกคูบาพิมว่า “จานพิม” หมู่บ้านที่จานพิมถูกส่งตัวไปสอนคำสอนและมีบันทึกไว้ชัดเจนคือ บ้านนาบัวกับบ้านกุดจอก


จานพิมได้ออกเดินทางไปนาบัวและกุดจอกในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) บันทึกศีลล้างบาปแรกที่กุดจอกลงวันที่ 14-15 สิงหาคม ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ส่วนการล้างบาปครั้งแรกที่นาบัวลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) ต่อมาจานพิมได้ไปอยู่ที่ดอนโดนและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองท่าแขกในเวลาต่อมา ก่อนจะถึงแก่กรรมเยี่ยงนักบุญห้อมล้อมด้วยลูกๆ หลานๆ ในปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465)
ข้อมูลตอนนี้ พระคุณเจ้าปรีดาบอกว่าน่าจะเป็นเจ้าเมืองหินปูนมากกว่า ไม่ใช่ท่าแขก เพราะลูกของจานพิมคนหนึ่งยังคงรักษาตราของเจ้าเมืองไว้อยู่ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าลูกสาวของจานพิมสองคนได้แต่งงานกับชาวท่าแร่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีชาวลาวพวนกลุ่มใหญ่กว่า 150 คนได้ติดตามคุณพ่อโปรดมมาอยู่ที่ท่าแร่ และคงได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ดอนโดน และลูกสาวของจานพิมคนหนึ่งได้แต่งงานกับปู่ของพระคุณเจ้า ทำให้พระคุณเจ้ามีศักดิ์เป็นเหลนของจานพิม


แต่หลานของจานพิมที่พวกเรารู้จักดีคือ คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี เกิดเมื่อปี ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) ที่ดอนโดน ประเทศลาว ได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่อาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสงเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) พร้อมกับคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล โดยพระสังฆราชอังเยโล มารีย์  แกวง  หลังบวชได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยคุณพ่อลอกอล์มที่วัดช้างมิ่ง  พร้อมกับทำหน้าที่ดูแลวัดนาบัวและโพนสูง  ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่และวัดนิรมัยตามลำดับ และถึงแก่มรณภาพที่นิรมัยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506)  
ขอบคุณพระคุณเจ้าปรีดา อินทิราช ที่ทำให้เราได้ทราบว่า บรรพชนของเราเป็นลาวพวนหรือไทแดงที่ถูกขายมาเป็นทาสและได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระจากบรรดามิชชันนารี เราต่างเป็นพี่น้องที่มีรากเหง้าเดียวกัน นี่เป็นแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า เหนือสิ่งอื่นใดคือความเป็นพี่น้องในพระคริสตเจ้า ที่พระคุณเจ้าย้ำเสมอ พวกเราจะภาวนาเพื่อพระคุณเจ้า พี่น้องคริสตชนลาวและพระศาสนจักรใน สปป. ลาว




คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
สำนักมิสซัง, สกลนคร
12 กันยายน 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น