วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้า

การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้า

อาทิตย์มหาทรมาน

แห่ใบลาน

ปี B

อสย 50:4-7

ฟป 2:6-11

มก 11:1-10; 14:1-15:47

บทนำ

ต้นศตวรรษที่แล้ว พระสังฆราชแห่งปารีสได้เล่าเรื่องหนุ่มคนหนึ่งตระโกนด่าแช่งและเยาะเย้ยคนที่มาเข้าวัดแห่งกรุงปารีส (Notre Dame)  หลายคนเพิกเฉยไม่สนใจ คุณพ่อเจ้าอาวาสเห็นว่า เขาทำเกินไปได้ว่ากล่าวตักเตือน แต่เขายังคงดื้อดึงไม่ยอมฟัง ที่สุด คุณพ่อเจ้าอาวาสได้ท้าทายว่า หากเขาแน่จริงกล้าเข้าไปในวัด จ้องมองพระรูปพระเยซูเจ้าและพูดกับพระองค์ว่า พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อผม และผมไม่รู้สึกอะไร”

เด็กหนุ่มคนนั้นรับคำท้าเข้าไปในวัด ยืนต่อหน้าพระรูปพระเยซูเจ้าและพูดว่า พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อผม และผมไม่รู้สึกอะไร” คุณพ่อเจ้าอาวาสพูดว่า “ดี ลองพูดอีกครั้งซิ” เด็กหนุ่มพยายามพูดประโยคเดิมอีกครั้งแต่พูดไม่ได้ ได้แต่ยืนนิ่งจ้องมองรูปปั้นนั้น และพระสังฆราชได้กล่าวตอนท้ายว่า “เด็กหนุ่มที่พูดจาลบหลู่พระเจ้าวันนั้นคือพ่อเองที่คิดว่า ตนเองไม่ต้องการพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงไม่อาจปฏิเสธพระองค์ได้”

อาทิตย์ใบลาน หรืออาทิตย์พระทรมานบอกเราว่า กำลังเข้าสู่สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรามองดูกางเขนของพระเยซูเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า พิธีกรรมตลอดสัปดาห์นี้เน้น ความสำคัญของความรอด นำเราให้ตระหนักว่า พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเราแต่ละคน และยังคงทนทรมานเพื่อเราต่อไป เพื่อนำเราให้ตระหนักถึงการกลับคืนพระชนมชีพแห่งปัสกาที่กำลังมาถึง

1.        การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้า

พิธีกรรมวันนี้ได้แสดงภาพแห่งชัยชนะเพื่อเตรียมเราสำหรับพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เปิดเผยให้เราได้ทราบถึง ความรักมากล้นของพระเจ้าสำหรับเราแต่ละคน เราเริ่มต้นด้วยชัยชนะของพระคริสตเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ ด้วยการเสกใบลานและแห่แหนด้วยความยินดี และเราได้ฟังเรื่องราวพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าทรงถูกเฆี่ยนตี สบประมาท สวมมงกุฎหนาม และถูกตรึงบนไม้กางเขน

การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มที่เราระลึกถึงวันนี้ทำให้เราพบความจริงว่า พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในฐานะกษัตริย์ พระเมสสิยาห์ และลูกแกะของพระเจ้า

ในฐานะกษัตริย์ การประทับบนหลังลาของพระเยซูเจ้าและบรรดาประชาชนต้อนรับพระองค์ด้วยกิ่งปาล์มและกิ่งไม้ เป็นการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในฐานะกษัตริย์ (1 มคบ 13:51) เพราะลาเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและความสุภาพ ปกติกษัตริย์ทรงม้านำทหารสู้ศึกสงคราม แต่เมื่อได้รับชัยชนะ นำความสงบสุขสู่บ้านเมืองจะประทับบนหลังลาเข้าเมืองอย่างผู้มีชัย แต่พระองค์มิใช่กษัตริย์ที่มาปลดปล่อยพวกเขาจากการกดขี่ทางการเมือง ทรงเป็นองค์สันติราชา

ในฐานะพระเมสสิยาห์ ตามประเพณีโบราณสัตว์ที่ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต้องไม่มีตำหนิ (กดว 19:2; ฉธบ 21:3; 1 ซมอ 6:7) พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้สาวกไปนำลาที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน และลาตามคำกล่าวของประกาศกเศคาริยาห์เป็นสัตว์แห่งพระเมสสิยาห์ (ศคย 9:9) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าประทับบนหลังลาเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม จึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกประชาชนว่า พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์

ในฐานะลูกแกะพระเจ้า พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา ทรงเป็นลูกแกะปัสกาที่ถูกประหารบนเขากัลวารีโอ ดังที่ยอห์นบัปติสต์ชี้บอกศิษย์ว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ทรงมอบชีวิตของพระองค์เหมือนดังลูกแกะ ที่ถูกประหารอย่างอยุติธรรมและไร้ความผิดเพื่อเห็นแก่เราผู้เป็นคนบาป การสิ้นพระชนม์และพระโลหิตของพระองค์ที่หลั่งออกเพื่อบาปของเรา ช่วยเราให้พ้นจากความผิดต่อหน้าพระเจ้า

พระเยซูเจ้าทรงเจ็บปวดทางด้านร่างกาย อันเนื่องมาจากการทรมานอย่างทารุณไร้มนุษยธรรม ทรงเจ็บปวดด้านจิตวิทยา อันเนื่องมาจากการถูกศิษย์ทรยศ และทรงเจ็บปวดด้านจิตใจ อันเนื่องมาจากการถูกทอดทิ้ง บรรดาศิษย์ได้ทิ้งพระองค์หนีไป แม้กระทั่งจากพระบิดา “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มก 15:34) คงไม่มีความทุกข์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองถูกทอดทิ้งจากบุคคลอันเป็นที่รัก

2.        บทเรียนสำหรับเรา

พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นที่มาแห่งความรอดพ้นของมนุษยชาติ ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราด้วยชีวิตและแบบอย่างของพระองค์

ประการแรก พระทรมานเป็นเครื่องหมายแห่งความรักแท้สำหรับมนุษยชาติ พระองค์ทรงรักและมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย (ยน 15:13) ให้เราดำเนินชีวิตในความรักตามมาตรฐานเดียวกันกับพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน (ยน 15:12)

ประการที่สอง เราต้องต้อนรับพระเยซูเจ้าเข้ามาในดวงใจของเรา วันนี้เราได้รับใบลานที่ได้รับการเสกเพื่อนำกลับบ้านไว้ในที่เหมาะสม ใบลานเตือนใจเราว่า พระคริสต์เจ้าทรงเป็นกษัตริย์แห่งครอบครัวและดวงใจของเรา เราต้องพร้อมมอบชีวิตของเราแด่พระเยซูเจ้าตลอดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้เวลาสำหรับพระองค์มากขึ้นในการอธิษฐานภาวนา การอ่านพระคัมภีร์ การแบ่งปันสิ่งที่มีกับผู้อื่น

ประการที่สาม เราต้องติดตามและเลียนแบบพระเยซูเจ้าผู้รับใช้ที่สุภาพของพระเจ้า เราถูกเรียกให้ติดตามและเลียนแบบพระเยซูเจ้า เราต้องพร้อมยอมรับทุกสถานการณ์ ทั้งการต้อนรับ การต่อต้าน การทรมาน และกางเขนเหมือนพระเยซูเจ้า ประการสำคัญ การเป็นผู้ติดตามพระเยซูเจ้า ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหนทางแห่งไม้กางเขน ชีวิตของเราต้องช่วยให้คนอื่นได้เห็นถึงความรักยิ่งใหญ่ การให้อภัยไม่สิ้นสุด และการอุทิศตนรับใช้ของพระเยซูเจ้า

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ความทุกข์ทรมานมีความหมายพิเศษสำหรับชีวิตคริสตชน พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับผู้กำลังทนทุกข์เสมอ พวกเขาไม่ได้เผชิญความลำบากตามลำพัง ความรักในพระคริสตเจ้าเป็นพลังทำให้เราสามารถสู้ทนความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิตได้ และถือเป็นการมีส่วนในงานไถ่กู้มนุษยชาติ ผ่านทางการทรมานและความตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น เราถึงได้รับชีวิตนิรันดร

พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าต้องเตือนใจเราให้สำนึกในบาปที่ได้กระทำ และกลับมาหาพระองค์ผ่านทางศีลอภัยบาปเพื่อได้รับการช่วยให้รอดนิรันดร เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก หรือความทุกข์ทรมานใด ๆ ในชีวิต ศิษย์พระคริสต์ต้องหันมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับความบรรเทาและความช่วยเหลือ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเลียนแบบพระองค์ในความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุด

ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 140-144.

ภาพ : รูปปั้นพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม, เบธฟายี, ภูเขามะกอก, อิสราเอล; 2018-04-20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น