วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การลำดับความสำคัญก่อนหลัง


การลำดับความสำคัญก่อนหลัง

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
ปี C
ปฐก 18:1-1
คส 1:24-28
ลก10:38-42

บทนำ

ดร. เจมส์ รว๊บ (Dr. James Rueb) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้กล่าวถึงเรื่องการลำดับความสำคัญก่อนหลังว่า หากแบ่งสิ่งที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์ออกเป็น ลำดับ 1-2-3 คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาทั้งหมดในชีวิตกับสิ่งสำคัญลำดับที่สาม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ อย่างแรกเลย ลำดับที่สามง่ายที่จะทำให้สำเร็จ และอย่างที่สอง สร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเองว่ากำลังทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จจริงๆ

ในความเป็นจริง เราสรวลอยู่กับสิ่งที่เป็นความสำคัญระดับรองตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้สาระ หาแก่นสารไม่ได้ และไม่เคยใส่ใจหรือไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า นี่คือบทเรียนสำคัญที่เราได้จากเรื่องราวของมารีย์และมารธา “อย่าปล่อยให้สิ่งที่ดี (ลำดับรอง) เข้ามาแทนที่สิ่งที่ดีที่สุด (ลำดับแรก)” ซึ่งสิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียวและมารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด

หัวเรื่องสำคัญของบทอ่านวันนี้คือ การลำดับความสำคัญก่อนหลัง ชีวิตคริสตชนจะต้องแยกให้ได้ว่า “อะไรควรมาก่อน อะไรควรมาหลัง” ซึ่งกุญแจสำคัญของการลำดับความสำคัญก่อนหลังในชีวิตคริสตชนคือ พระคริสตเจ้าต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด วิธีเดียวที่เราจะเข้าใจบทเรียนนี้คือการใช้เวลาทุกวันเฉพาะพระพักตร์พระองค์ ต้อนรับและฟังพระองค์ก่อนการลงมือทำอย่างอื่น

1.  การลำดับความสำคัญก่อนหลัง

พระวรสารบอกให้เราทราบอย่างชัดเจนว่า มารธาเป็นหญิงที่เอาใจใส่เรื่องการบ้านการเรือน คงไม่ใช่งานง่ายนักที่จะจัดเตรียมอาหารสำหรับคน 13 คน ที่ประกอบด้วยพระเยซูเจ้าและอัครสาวกทั้งสิบสอง มารธากระวนกระวายในการเตรียมสำรับกับข้าว ขณะที่มารีย์นั่งอยู่แทบเท้าพระเยซูเจ้า คอยฟังพระองค์ตรัสสอน มารธาจึงบ่นกับพระองค์ถึงความประพฤติไม่เหมาะสม 2 อย่างของน้องสาว อย่างแรก ตามธรรมเนียมยิวผู้หญิงจะไม่ไปนั่งฟังคำเทศน์สอนของอาจารย์ชาวยิว (รับบี) และอย่างที่สอง งานของผู้หญิงคืองานบ้าน เตรียมอาหารอยู่ในครัว

พระเยซูเจ้าได้ใช้โอกาสดังกล่าว บอกให้เราทราบถึงสิ่งที่สำคัญโดยตรัสกับมารธาว่า “สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว” (ลก 10:42) พระเยซูเจ้ามิได้ตำหนิมารธาถึงสิ่งที่เธอทำ เพราะหากไม่มีใครเตรียมอาหาร พระองค์และบรรดาสาวกคงหิวโซ แต่พระองค์ทรงเตือนมารธาและช่วยให้เธอได้ค้นพบความหมายของชีวิตว่า เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์คือ การเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น” (ลก 4:4) “อาหารของเราคือ การทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 4:34)

“มารธา” เปรียบได้กับคริสตชนที่มากด้วยพลัง  ชอบทำกิจกรรมทุกอย่าง เช่น การอบรม สัมมนา หรือจาริกแสวงบุญที่โน่นที่นี่ ไม่ชอบชีวิตสงบเงียบและภาวนาอยู่ที่บ้าน ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ พวกเขาไม่เข้าใจและรับไม่ได้ที่เห็นคนอีกกลุ่มเอาแต่รำพึงภาวนาอยู่ในอาราม หรือเฝ้าศีลอยู่ในวัด ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่สังคม “มารีย์” เปรียบได้กับคนกลุ่มนี้

พระดำรัสที่ว่า มารีย์ได้เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด (ลก 10:42) มิได้หมายความว่าพระเยซูเจ้าทรงตัดสินว่ามารีย์เป็นฝ่ายถูก พระองค์เพียงต้องการบอกว่า มารีย์รู้และเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ในชีวิตประจำวันของเราจะต้องหลอมรวมกิจกรรมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งงานหน้าที่ความรับผิดชอบภายนอก และการมาวัดวันอาทิตย์ ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติตาม ดังคำกล่าวของนักบุญเบอร์นาร์ดที่ว่า “คนที่ทำงานก็เหมือนคนที่ภาวนายกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าด้วยแขนทั้งสองของเขา”

2.  บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชน ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันหลายประการ

ประการแรก เราต้องเติมพลังชีวิตฝ่ายจิตของเราทุกวัน ให้เวลากับพระเจ้าเป็นลำดับแรก ในการภาวนาส่วนตัวหรือหมู่คณะ การอ่านพระคัมภีร์และฟังพระวาจาของพระองค์ และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา เป็นต้นในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกอาทิตย์ มารธาและมารีย์มีความยินดีในการเสด็จมาเยี่ยมของพระเยซูเจ้า คนหนึ่งแสดงออกด้วยการเตรียมอาหารต้อนรับ อีกคนแสดงออกด้วยการฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสสอน ทั้งสองต่างแสดงให้เห็นถึงความรักของตนที่มีต่อพระองค์

ประการที่สอง การงานและการภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสตชนที่ขาดไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องมีที่สำหรับพระเจ้าในงานของเรา มีเวลาทำงานและมีเวลาภาวนามาหาพระ หากเราจัดลำดับสองสิ่งนี้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างเหมาะสม ก็เท่ากับว่าเราได้แปลเปลี่ยนพระวาจาของพระเจ้าให้เป็นกิจการ เรากำลังเขียนพระวรสารของแต่ละวันด้วยชีวิตและกิจการที่เรากระทำ วัดและหมู่คณะของเราต้องการคนที่มีพลังเช่นนี้ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม

ประการที่สาม เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีเช่นเดียวกับมารีย์ สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาและความขัดแย้งเพราะไม่มีใครฟังใคร เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มารธาคือตัวแทนของคนที่กระตือรือร้นทำโน่นทำนี่จนไม่มีเวลาว่างที่จะเงียบและฟังพระเจ้า คู่ชีวิต เพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่บุตรหลานของตน บางทีฟังแต่ได้ยิน จึงมีคำพูดที่ว่า “ความรักเริ่มที่บ้านและเริ่มจากการฟัง” ยิ่งเราฟังใครคนหนึ่งมากเท่าใด ความรักยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่านั้น

ประการสุดท้าย เราต้องรับใช้พระเจ้าด้วยความเพียรพยายามเช่นเดียวกับมารธา บุคคลสำคัญและยิ่งใหญ่ของโลกมาจากคนที่ตระหนักว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ: โทมัส อัลวา เอดิสัน ต้องทำการทดลองกว่าพันครั้งกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟได้เป็นครั้งแรกของโลก, โนอา เว็บสเตอร์ ต้องทำงานด้วยความเพียรอดทนกว่า 36 ปีจึงสามารถพิมพ์พจนานุกรมเว็บสเตอร์ได้เป็นฉบับแรก, ชิเชโรต้องฝึกพูดกับเพื่อนทุกวันเป็นเวลา 30 ปีจึงกลายเป็นนักพูดฝีปากกล้า ในการทำงานรับใช้พระเจ้าเราต้องทุ่มเท กระตือรือร้นและเพียรพยายามเช่นเดียวกัน

บทสรุป      

พี่น้องที่รัก พระคริสเจ้าคือศูนย์กลางแห่งชีวิตคริสตชน พระองค์ปรารถนาจะเป็นแขกของกลุ่มคริสตชน ของครอบครัวและของเราแต่ละคน เราจะต้องเชื้อเชิญพระองค์ทุกวัน เพื่อว่าพระองค์จะได้ประทับอยู่กับเราเสมอ ทั้งในเวลาของความยินดีและความยากลำบาก ไม่มีสิ่งไหนที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตคริสตชนของเราเท่ากับการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา

“สิ่งที่จำเป็นมีเพียงสิ่งเดียว” นั่นคือ การอยู่กับพระคริสตเจ้า ฟังพระองค์ทุกวัน ผ่านทางพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกวันอาทิตย์ ในการภาวนาร่วมกัน ทั้งในกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน หมู่คณะและครอบครัวของเรา ให้เราช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเราอีกครั้ง โดยเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวและหมู่คณะของเรา ในความรักต่อกันและทัศนคติเชิงบวกที่มองเห็นพระคริสตเจ้าในผู้อื่น เช่นนี้เอง สันติสุขของพระคริสตเจ้าจะบังเกิดขึ้นในใจเรา ครอบครัวและหมู่คณะของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
19 กรกฎาคม 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น