วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระประสงค์ของพระเจ้าในการแต่งงาน

 


พระประสงค์ของพระเจ้าในการแต่งงาน

อาทิตย์

สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา

ปี B

ปฐก 2:18-25

ฮบ 2:9-11

มก 10:2-16

บทนำ

เพอร์ซีและฟลอเรนซ์สองสามีภรรยาชาวอังกฤษ เป็นเจ้าของสถิติโลกการแต่งงานยาวนานที่สุด ทั้งคู่แต่งงานกัน 1 มิถุนายน 1925 และฉลองครบรอบ 80 ปีชีวิตสมรส 1 มิถุนายน 2005 ฟลอเรนซ์วัย 100 ปีได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีว่า “ฉันคิดว่าเราได้รับพระพรมาก เรายังคงรักกันและนั่นคือส่วนสำคัญที่สุด” เมื่อถูกถามถึงความลับในการใช้ชีวิตคู่ ฟลอเรนซ์ตอบว่าต้องไม่กลัวที่จะกล่าวคำว่า “ฉันขอโทษ” “คุณต้องไม่ไปนอนขณะยังมีเรื่องโกรธเคืองกัน” ส่วนความลับของเพอร์ซี สามีวัย 105 ปีมีเพียงสองคำสั้น ๆ “ใช่ครับ ที่รัก”

ปัญหาการหย่าร้างเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ทุกประเทศมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น เช่น 1) ประเทศลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปมีประชากรเพียงครึ่งล้าน แต่มีอัตราการหย่าร้างสูงถึง 87% 2) ประเทศสเปน 65% 3) ประเทศฝรั่งเศส 55% 4) ประเทศรัสเซีย 51% และ 5) ประเทศอเมริกา 46% ส่วนอัตราการหย่าร้างในประเทศไทย การสำรวจและวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ผ่านหน่วยงาน Economic Intelligence Center มีผลสรุปว่า ปี 2560 คนไทยนิยมเป็นโสดมากขึ้น, ความถี่การแต่งงานต่ำลง, และอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเฉลี่ย 1.3 แสนคู่รักต่อปี

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้พูดถึงพันธสัญญาแห่งรักระหว่างชายและหญิง เป็นพันธะที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้มั่นคงถาวร และท้าทายคู่สมรสให้แสดงออกถึงความภักดีต่อพระเจ้า ด้วยการรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตสมรสเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ผู้ทรงประสงค์ให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตศักดิ์สิทธิ์และมั่นคงยาวนานโดยไม่ถูกแบ่งแยก สามีและภรรยาต่างเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่เท่าเสมอกัน การล่มสลายของครอบครัว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม

1.        พระประสงค์ของพระเจ้าในการแต่งงาน

พระวรสารวันนี้ชาวฟาริสีได้ถามพระเยซูเจ้าเพื่อจับผิดว่า เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” (มก 10:2) ทรงใช้โอกาสนี้ประกาศว่า พันธะของการแต่งงานมาจากพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ เป็นพันธสัญญาที่คงอยู่ถาวรและลบล้างไม่ได้ “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:9) ทรงย้อนกลับไปยังพระประสงค์แรกของพระเจ้าที่สร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง พวกเขาไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน

สัมพันธภาพของการแต่งงานจึงเป็นพระประสงค์และพระพรของพระเจ้า ที่รวมชายหนึ่งหญิงหนึ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการสมรส และมนุษย์ไม่สามารถแยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมเข้าด้วยกันได้ (มธ 19:6) ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับธรรมเนียมปฏิบัติของมนุษย์ที่เลิกร้างกันง่าย พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการแต่งงานเป็นสัมพันธภาพที่มั่นคงถาวร การที่โมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้เพราะใจแข็งกระด้างของพวกเขา

พระศาสนจักรสอนเสมอมาว่า การแต่งงานระหว่างคริสตชนเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่แบ่งแยกและหย่าร้างไม่ได้ มีแต่ความตายเท่านั้นทำให้พันธะของการแต่งงานจบสิ้นลง “การหย่าร้างเป็นความผิดหนักต่อกฎธรรมชาติ  เป็นการละเมิดพันธสัญญา ที่คู่สามีภรรยาได้มอบความสมัครใจให้แก่กัน ที่จะเจริญชีวิตเพื่อกันและกันจนวันตาย... การหย่าร้างยังเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมเพราะนำความยุ่งเหยิงมาสู่ครอบครัวและสังคม” (CCC #2384)

2.        บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ประการแรก  สามีภรรยาต้องร่วมมือกับพระเจ้าในการสร้างครอบครัว ด้วยการออกจากตัวเอง มีความจริงใจ ไว้ใจกัน และใส่ใจในความต้องการของกันและกัน ด้วยการมอบตนเอง แบ่งปันชีวิต และให้อภัยกันด้วยใจกว้าง มีความรักที่เสียสละปราศจากความเห็นแก่ตัว รู้จักอดทน และมองข้ามความบกพร่องของกันและกัน ผ่อนหนักผ่อนเบา และเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ประการที่สอง เราต้องให้พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ครอบครัวคริสตชนไม่ได้มีเพียงพ่อ-แม่-ลูก แต่ต้องมีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลาง เช่นเดียวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟ ดังนั้น ครอบครัวในฐานะเป็นพระศาสนจักรระดับบ้านต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา การอธิษฐานภาวนา และการไปร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ พ่อ-แม่ต้องเป็นครูคนแรกที่สอนลูกให้รู้จักพระเจ้าและการอธิษฐานภาวนา

ประการที่สาม เราต้องเห็นใจผู้หย่าร้างและครอบครัวมีปัญหา พระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งครอบครัวที่หย่าร้างและล้มเหลว คริสตชุมชนต้องยอมรับพวกเขา ให้ความเคารพ เห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจ แสดงออกถึงความเป็นพี่น้องในความรัก การสนับสนุนและช่วยเหลือตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ทั้งนี้เพราะการหย่าร้าง หรือแต่งงานใหม่เป็นความเจ็บปวดมากพออยู่แล้ว เราต้องไม่ไปซ้ำเติม หรือตัดพวกเขาออกจากหมู่คณะ หรือชุมชนคริสตชน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเจ้าทรงประสงค์ให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตศักดิ์สิทธิ์และมั่นคงยาวนานโดยไม่ถูกแบ่งแยก ทั้งนี้เพื่อความดีของคู่บ่าว-สาว ซึ่งต่างเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่เท่าเสมอกัน การใช้ชีวิตร่วมกันช่วยส่งเสริมและเติมเต็มชีวิตของกันและกันให้สมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อการให้กำเนิดบุตร การล่มสลายของครอบครัวเพราะการหย่าร้าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม อีกทั้ง การหย่าร้าง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า 

“ครอบครัวดีเริ่มที่บ้าน” พระเยซูเจ้าต้องเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ให้พระองค์ได้เข้ามามีบทบาท นำทาง และทำให้ครอบครัวของเราศักดิ์สิทธิ์  ด้วยการอธิษฐานภาวนาร่วมกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากและภาวะวิกฤต ศิษย์พระคริสต์ต้องร่วมมือกับพระเจ้า ในการสร้างครอบครัวของตนให้เป็นครอบครัวดี บนพื้นฐานแห่งความรักที่ไม่แบ่งแยก การให้อภัย และการไม่จดจำความผิด รู้จักอดทน และมองข้ามความบกพร่องของกันและกัน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

khuanthinwan@gmail.com

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

2 ตุลาคม 2021

ภาพ : การแต่งงานแบบคริสตชน, วัดนักบุญเปโตร ธาตุพนม, นครพนม; 1990-05-04

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น