วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับฉัน

 


พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับฉัน

อาทิตย์

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

ปี B

อสย 50:5-9

ยก 2:14-18

มก 8:27-35

บทนำ

 มีคำถามหนึ่งซึ่งถกเถียงกันมากในศตวรรษที่ 19  “ใครคืออัจฉริยะด้านวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ปรากฏชื่อบุคคลสำคัญ 2 คน ได้แก่ วิลเลียม เชกสเปียร์ กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ กับ พระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ ซึ่งชาร์ลส์ แลมป์ นักเขียนเรื่องสั้นชาวอังกฤษได้ให้ข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสองคือ หากเชกสเปียร์เดินเข้ามาในห้องเวลานี้ เราทั้งหมดจะยืนขึ้นต้อนรับเขา แต่ถ้าพระเยซูเจ้าเสด็จมา เราจะกราบลงและนมัสการพระองค์”

นี่คือความแตกต่างระหว่างพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ กับบุคคลที่เราคิดว่าสำคัญที่สุด พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ขณะที่คนอื่นทั้งหลายเป็นเพียงมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเราให้รู้จักพระองค์เป็นการส่วนตัว ดังนั้น พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราให้ค้นหา รักและรับใช้พระองค์ ด้วยการเปิดหัวใจของเราเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับพระองค์ เพื่อรู้ว่าพระองค์เป็นใครและมีความหมายสำหรับชีวิตของเราอย่างไร

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากยังไม่รู้จักพระเยซูเจ้า เนื่องจากไม่เคยเห็นพระองค์ หรือไม่มีใครพูดถึงพระองค์ให้พวกเขาฟัง คำถามที่ว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร” จึงเป็นคำถามที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด และมีผู้ให้คำตอบมากมายหลายแบบแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน วันนี้พระเยซูเจ้าทรงถามเราแต่ละคน “ท่านละ คิดว่าเราเป็นใคร” (มก 8:29)

1.        พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับฉัน

พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงถามความเห็นบรรดาสาวกว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” (มก 8:27) สมัยนั้นยังไม่มีการสำรวจประชามติ (Poll) วิธีง่ายที่สุดคือถามความเห็นจากคนใกล้ชิด และบรรดาศิษย์ได้สะท้อนคำตอบของประชาชนในลักษณะต่าง ๆ อาทิ ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ประกาศกเอลิยาห์ หรือประกาศกคนใดคนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญสำหรับพระเยซูเจ้ามิใช่ความเห็นของประชาชน แต่เป็นคำตอบของบรรดาศิษย์และเราแต่ละคนว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับฉัน”

เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (มก 8:29) คำว่า “พระคริสต์” ในภาษากรีกมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรูซึ่งหมายถึง “ผู้ได้รับเจิม” หรือพระผู้ช่วยให้รอด ตลอดเวลายาวนานชาวยิวรอคอยพระเมสสิยาห์ มาปลดปล่อยพวกเขาจากการกดขี่ของพวกโรมัน ซึ่งเป็นความเข้าใจทางการเมืองเหมือนอัศวินขี่ม้าขาว พวกเขาไม่คิดว่าพระเมสสิยาห์เป็น “พระคริสตเจ้าผู้รับการทรมาน” เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากบาป

พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้บรรดาศิษย์ทราบเป็นครั้งแรกว่า พระองค์จะต้องรับการทรมาน ถูกประหารชีวิต และกลับคืนชีพในวันที่สาม (ดู มก 8:31) ไม่ใช่ในฐานะผู้นำทางการเมือง แต่เป็นพระคริสตเจ้าผู้รับการทรมาน เปโตรไม่เข้าใจ รับไม่ได้ และได้บทเรียนราคาแพง “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง” (มก 8:33) และทรงท้าทายบรรดาศิษย์ : 1) ให้เลิกนึกถึงตนเอง, 2) แบกไม้กางเขนของตน และ 3) ติดตามพระองค์ นี่คือเงื่อนไขของการเป็นศิษย์และเป็นคริสตชน

2.         บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิต

ประการแรก พระเยซูเจ้าเป็นใครสำหรับฉัน เราสามารถกล่าวได้ไหมว่า พระเยซูเจ้าคือผู้ที่เราเชื่อและรักมากที่สุด ทรงเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต และเป็นทุกอย่างสำหรับชีวิตเรา ปราศจากพระองค์เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย มีเพียงพระองค์เท่านั้นทรงเป็นหลักชัยแห่งชีวิตและทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเรา รักเรา อภัยบาปเรา ช่วยเหลือเราและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา

ประการที่สอง เราต้องเลิกนึกถึงตนเอง ยึดถือพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นลำดับแรกมากกว่าน้ำใจของเรา อีกทั้ง ทำความสะอาดจิตใจและปรับเปลี่ยนชีวิตของเราจากนิสัยไม่ดีต่าง ๆ สวมใส่จิตใจใหม่ของพระเจ้า ให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับพระองค์เพื่อแบ่งปันพระองค์กับผู้อื่น นั่นคือเลิกนึกถึงตนเอง ปฏิเสธตนเอง และตอบรับพระเจ้า

ประการที่สาม เราต้องแบกไม้กางเขนของตน มีประสบการณ์พระคริสตเจ้าผู้รับการทรมาน เปโตรไม่เข้าใจว่า ทำไมพระคริสตเจ้าต้องรับทุกข์ทรมาน หลายครั้งเราเองก็เหมือนเปโตร ไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นกับเรา ความทุกข์ต่าง ๆ ในโลกนี้แม้บางครั้งเราไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อยมีความหมายสำหรับเรา เพราะนี่คือไม้กางเขนที่เราต้องแบกร่วมกับพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นมุมมองใหม่ที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหวังและกำลังใจ

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า” ที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย เราต้องเชื่อและหมั่นมาหาพระองค์ทางศีลศักดิ์สิทธิ์  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ และการอธิษฐานภาวนา เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และเพื่อนมนุษย์ ชีวิตของเราต้องเป็นพยานแห่งพระวรสารและเครื่องหมายที่มองเห็นได้ ซึ่งทำให้คนอื่นได้รู้ว่า พระเยซูเจ้าเป็นใครและมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา

คริสตชนต้องเลิกนึกถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตน และติดตามพระเยซูเจ้า ผู้ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และทรงรับใช้จนถึงที่สุดคือความตายบนไม้กางเขน ศิษย์พระคริสต์ต้องเปิดดวงใจของตนต่อหนทางแห่งไม้กางเขน และพระทรมานของพระเยซูเจ้า เลียนแบบพระองค์บนเส้นทางแห่งการรับใช้ แสวงหาพระประสงค์ของพระบิดาเจ้ามากกว่าน้ำใจของตน และมองเห็นพระองค์ในผู้เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

khuanthinwan@gmail.com

วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร

11 กันยายน 2021

ภาพ : การรับศพคุณพ่อกมล เสมอพิทักษ์, ศาลาปีติมหาการุณ ท่าแร่, สกลนคร; 2021-09-11

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น