วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บุญราศีลาวชาวไทย อุทัย พองพูม

บุญราศีลาวชาวไทย อุทัย พองพูม
1.        บทนำ
นับเป็นความชื่นชมยินดีอย่างใหญ่หลวงของพระศาสนจักรลาวที่มีบุญราศีใหม่ 17 องค์ ซึ่งได้รับการประกาศแต่งตั้งและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ณ อาสนวิหารพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) โดยมี พระคาร์ดินัลเกเวโด โอแลนโด แบลทรัม คณะธรรมทูตแห่งมารีย์นิรมล (OMI)  ชาวฟิลิปปินส์ ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณและอ่านจดหมายแต่งตั้งอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ประกาศให้ ยอแซฟ เตียนและเพื่อนมรณสักขีอีก 16 องค์ เป็น “บุญราศี” ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)
 พิธีประกาศแต่งตั้งบุญราศีแห่งเมืองลาวโดยพระคาร์ดินัลเกเวโด โอแลนโด แบลทรัม
ณ อาสนวิหารพระหฤทัย เวียงจันทน์ 11 ธันวาคม 2016
พระศาสนจักรลาวกับพระศาสนจักรไทยมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันมายาวนาน โดยเฉพาะมิสซังลาวในอดีตซึ่งแยกออกมาจากมิสซังสยามเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) “มิสซังลาว” หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและประเทศลาว แต่ไม่รวมแขวงซำเหนือ แขวงไทนินตะวันออกและแขวงอัตตาปือทางภาคใต้ โดยแต่งตั้ง คุณพ่อยัง มารีย์ กืออ๊าส เป็นพระสังฆราชปกครององค์แรก ก่อนที่จะแยกมิสซังเวียงจันทน์และหลวงพระบางจากมิสซังลาวในสมัยพระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) มอบให้คณะธรรมทูตแห่งมารีย์นิรมลดูแลและปกครอง (ภาคเหนือของประเทศลาว)
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวยังอยู่ในความดูแลของมิสซังลาว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หนองแสง นครพนม ภายใต้การดูแลของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) อีกทั้ง คริสตชนในมิสซังลาวล้วนแต่เป็นพี่น้องกัน ซึ่งบรรดาธรรมทูตรุ่นบุกเบิกภายใต้การนำของ คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้ให้ความช่วยเหลือ ไถ่จากการเป็นทาส และก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาว ก่อนที่สันตะสำนักจะแยกมิสซังลาวออกเป็น 2 มิสซังตามเขตประเทศ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) คือ “มิสซังท่าแขก” และ “มิสซังท่าแร่” ในสมัยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์
2.        บุญราศีลาวชาวไทย อุทัย พองพูม
เป็นที่น่ายินดีว่าในบรรดาบุญราศีแห่งเมืองลาว 17 องค์นั้นมีคนไทยอยู่ด้วยหนึ่งคนคือ บุญราศียอแซฟ อุทัย พองพูม ซึ่งเป็นชาวคำเกิ้ม จากวัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ยอแซฟอุทัย พองพูม เป็นครูคำสอนและเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของคุณพ่อโนแอล เตอโน ในการสอนคำสอน เยี่ยมเยียนให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือคริสตชนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่คุณพ่อมอบหมายให้ดูแล อีกทั้ง ได้ช่วยเตรียมครูคำสอนที่ท่าแขก ก่อนที่จะพลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยกันใกล้เมืองพะลานในการไปเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนเขตเซโปน  แขวงสะหวันนะเขต และได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีในคราวเดียวกัน
 วัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้ม นครพนม บ้านเกิดของบุญราศีอุทัย พองพูม
2.1  กำเนิดและชีวิตวัยเด็ก
อุทัย พองพูม เกิดที่บ้านคำเกิ้ม หมู่บ้านคริสตชนเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยคุณพ่อซาเวียร์ เกโก เมื่อ ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) และเคยเป็นศูนย์กลางของการแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมไปทางเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร เราไม่ทราบแน่ชัดว่าอุทัย พองพูมเกิดเมื่อไหร่ เนื่องจากไม่มีพบหลักฐานเกี่ยวกับตัวท่าน หลักฐานเดียวที่พบมีเพียงเอกสารศีลสมรสที่อ้างถึงวันที่ท่านได้รับศีลล้างบาปวันพระคริสตสมภพ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476)  ที่วัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้ม ในความเป็นจริงท่านน่าจะเกิดมาก่อนหน้านั้น โดยเป็นบุตรของเปาโล เครือกับอันนา ผาน พองพูม
จากคำบอกเล่าของนางบัวผัน วงษ์ษา (ยายคำแสน) วัย 79 ปี น้องสาวคนเล็กของบุญราศีอุทัย พองพูม ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เราทราบว่าบุญราศีอุทัย พองพูม เป็นลูกคนที่ 10 ในจำนวนพี่น้อง 22 คน แต่ว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่เป็นเด็ก บิดาของท่านคือ เปาโล เครือ พองพูม เคยเป็นเณรที่บ้านเณรบางช้าง ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม รุ่นใกล้กับพระสังฆราชมิแชล มงคล ประคองจิต เพราะคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เมื่อกลับมาบ้านได้พบรักกับอันนาผานและได้แต่งงานกันไม่กลับเข้าบ้านเณรอีก แต่ได้สร้างครอบครัวและใช้วิชาความรู้ที่เคยเรียนที่บ้านเณร ทำหน้าที่ครูคำสอนที่วัดคำเกิ้มและช่วยงานพระศาสนจักรอย่างเต็มกำลังความสามารถ 
 นางบัวผัน วงษ์ษา (ยายคำแสน) น้องสาวของบุญราศีอุทัย พองพูม
และบริเวณที่เคยเป็นบ้านพักของครูเครือ-นางผาน พองพูม บิดามารดา
2.2  กระแสเรียกและแผนการของพระเจ้า
เนื่องจากบุตรธิดาของครูเครือกับอันนาผาน พองพูม ส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้น เมื่อให้กำเนิดเด็กชายอุทัย พองพูม เดือนธันวาคม ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476)  ครูเครือ พองพูมได้นำบุตรชายไปล้างบาปที่วัดกับคุณพ่อโนแอล เตอโน เจ้าอาวาสในขณะนั้นและมอบให้เป็นลูก โดยคุณพ่อได้มอบให้ซิสเตอร์เวโรนิกาจากอารามเชียงหวาง ประเทศลาวซึ่งประจำที่วัดคำเกิ้มเป็นคนเลี้ยง ในห้วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และกรณีพิพาทอินโดจีน วันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) บรรดาธรรมทูตชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกนอกประเทศ วัดวาอารามถูกปิดและเกิดการเบียดเบียนศาสนา เด็กชายอุทัย พองพูม ซึ่งอายุได้ 7 ปีรับรู้ถึงบรรยากาศแห่งความยากลำบากนั้นเคียงข้างบิดาที่คอยให้กำลังใจและเสริมสร้างความเชื่อชาวคำเกิ้ม
เมื่อสงครามและการเบียดเบียนศาสนาสิ้นสุดลง ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) เด็กชายอุทัย พองพูมมีอายุได้ 12 ปี ด้วยความที่เป็นคนฉลาด มีความเชื่อศรัทธาและความประพฤติเรียบร้อยเป็นแบบอย่างที่ดีจึงถูกส่งเข้าบ้านเณรเล็ก ซึ่งน้องสาว (ยายคำแสน) ยืนยันว่าเป็นบ้านเณรบางนกแขวก โดยเรียนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 6 ปีจนจบชั้นมัธยม แต่ข้อมูลช่วงนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานที่บ้านเณรบางนกแขก อีกทั้งสามเณรที่เคยเรียนที่บ้านเณรบางนกแขกในช่วงเวลาดังกล่าว (ค.ศ. 1945-1953) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หลายคน อาทิ คุณพ่อสมบูรณ์ แสงประสิทธิ์, คุณพ่ออาทร พัฒนภิรมย์  และอาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล ไม่มีใครรู้จักชื่อ “อุทัย พองพูม” เลย
หลักฐานศีลสมรสของยอแซฟอุทัย พองพูมกับมารีอา คำตัน ทองคำ
2.3  ชีวิตครอบครัว
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมอุทัย พองพูมได้กลับบ้านคำเกิ้ม ไม่ได้ไปเรียนต่อที่ไหนอีก แต่ได้ช่วยงานครอบครัว ดูแลน้องๆ อีก 4 คนช่วยบิดามารดา โดยเฉพาะการช่วยงานพระศาสนจักรที่วัดคำเกิ้มอย่างแข็งขัน ด้วยการเป็นครูคำสอน  ผู้นำภาวนา ร้องเพลงในวัด อ่านบทอ่านและสอนคำสอน ต่อมาอุทัย พองพูมได้พบรักและแต่งงานกับมารีอา คำตัน ทองคำ ซึ่งอายุมากกว่า 5 ปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496)  โดยมีคุณพ่อเปาโล คำจวน ศรีวรกุล เป็นผู้ประกอบพิธี ตามเอกสารทะเบียนศีลสมรสวัดคำเกิ้ม เลขที่ 20 หลังจากนั้นภรรยาได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรสาว แต่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจและเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อภรรยาสุดที่รักของท่านได้เสียชีวิตขณะให้กำเนิด และในอีก 3 เดือนต่อมาบุตรสาวได้เสียชีวิตอีก 
หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี คุณพ่อโนแอล เตอโน อดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นอุปสังฆราชของมิสซังท่าแขกที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ได้กลับไปเยี่ยมสัตบุรุษที่วัดคำเกิ้ม คุณพ่อกำลังมองหาและต้องการบุคลากรมาช่วยงานแพร่ธรรมในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของมิสซังใหม่ คุณพ่อได้ชักชวนครูอุทัย พองพูมไปเป็นครูคำสอนที่ประเทศลาวด้วย ซึ่งท่านยินดีที่จะไปกับคุณพ่อ อีกทั้ง บิดามารดาผู้ชราก็ยินดีมอบลูกชายให้กับพระศาสนจักร
 คุณพ่อโนแอล เตอโน ผู้ซึ่งบุญราศีอุทัย พองพูมให้ความเคารพและติดตามไปช่่วยงาน
2.4  ชีวิตครูคำสอนและผู้แพร่ธรรม
ครูอุทัย พอมพูมได้เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของคุณพ่อโนแอล เตอโน ในการสอนคำสอน เยี่ยมเยียนชาวบ้าน และให้ความช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนและเจ็บป่วยตามหมู่บ้านต่างๆ โดยเฉพาะที่บ้านป่งกิ่ว เมืองหนองบก แขวงคำม่วน ซึ่งบ้านป่งกิ่ว บึงหัวนาและดงหมากบ้าเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าโส้ ที่ได้รับแสงสว่างแห่งพระวรสารจากการแพร่ธรรมของคุณพ่อซาเวียร เกโก เมื่อ ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) นับเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่และกำลังเตรียมฉลองครบรอบ 130 ปีของการความเชื่อและการแพร่ธรรม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560)
บ้านป่งกิ่วตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองท่าแขกไปทางใต้ประมาณ 45 กิโลเมตร อยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ 13 กิโลเมตร ยังคงปรากฏร่องรอยของการเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางป่าลึกตามบันทึกของคุณพ่อซาเวียร์ เกโก เห็นได้จากต้นยางขนาดใหญ่ในบริเวณสุสาน บ้านพักพระสงฆ์ซึ่งเคยเป็นที่พักของคุณพ่อโนแอล เตอโนและครูอทัย พองพูม ตามคำยืนยันของท้าวอรหันต์ วรจักร ครูคำสอนวัย 77 ปี (ซึ่งเคยได้รับการอบรมจากครูอุทัย) ยังคงอยู่ในสภาพดี เพียงแต่เวลานี้กลายเป็นที่พักของซิสเตอร์คณะชาลิเต
 หลักฐานบันทึกศีลล้างบาปของคุณพ่อโนแอล เตอโนที่วัดป่งกิ่ว เมืองหนองบก สปป ลาว
จากหลักฐานบันทึกศีลล้างบาปของวัดนักบุญยอห์น บัปติสต์ ป่งกิ่ว แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อโนแอล เตอโนทำหน้าที่ดูแลวัดแห่งนี้ในช่วง ค.ศ. 1949-1958 (พ.ศ. 2492-2501) มีบางช่วงที่ปรากฏลายมือชื่อของพระสงฆ์องค์อื่น (รวมถึงพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์) ครูอุทัย พองพูมน่าจะได้อยู่กับคุณพ่อโนแอล เตอโนในช่วง ค.ศ. 1954-1958 (พ.ศ. 2497-2501)  เป็นเวลา 4 ปีตามคำบอกเล่าของน้องสาว (ยายคำแสน) ทุกปีครูอุทัย พองพูมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัว รวมถึงไปร่วมงานปลงศพอันนาผาน พองพูม มารดาในวันที่ถึงแก่กรรม
ประมาณเดือนเมษายน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) คุณพ่อโนแอล เตอโนได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 ปี การจากไปของคุณพ่อเตอโน ถือเป็นห้วงเวลาแห่งการทดลองของครูอุทัย พองพูม ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและสิ้นหวังทำให้ท่านตัดสินใจเดินทางกลับคำเกิ้มบ้านเกิด เป็นเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ไปถวายมิสซาที่วัดคำเกิ้ม คุณพ่อมีความชื่นชอบและประทับใจในตัวครูอุทัย พองพูม ดังนั้น เมื่อได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังท่าแร่ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ได้ชักชวนครูอุทัย พองพูมไปอยู่ด้วย โดยมุ่งหวังให้เป็นกำลังสำคัญในการตั้งทีมแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ
 บ้านพักและโต๊ะทำงานที่วัดป่งกิ่วซึ่งคุณพ่อโนแอล เตอโนและอุทัย พองพูมเคยพักและใช้
2.5  ชีวิตแห่งการเป็นพยานและมรณสักขี
ครูอุทัย พองพูม อยู่กับพระสังฆราชเกี้ยน เสมอพิทักษ์ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อคุณพ่อโนแอล เตอโนกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส และได้รับมอบพันธกิจใหม่ในการบุกเบิกเขตแพร่ธรรมแห่งใหม่ที่สะหวันนะเขต ตามเส้นทางหมายเลข 9 ตั้งแต่เมืองเซโปนจนถึงชายแดนประเทศเวียดนามระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร คุณพ่อได้ไปขอครูอุทัย พองพูมจากพระสังฆราชเกี้ยน เสมอพิทักษ์ เพื่อจะได้ช่วยกันประกาศข่าวดีในเขตแพร่ธรรมใหม่นี้ เมื่อพ่อลูกเจอหน้ากันต่างร้องไห้กอดกันกลม คุณพ่อโนแอล เตอโนได้พูดกับครูอุทัย พองพูมว่า “เราต้องไม่ทิ้งกัน หากต้องตาย เราจะตายด้วยกันและไปสวรรค์ด้วยกัน” เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าทั้งสองจะเป็นมรณสักขีด้วยกัน
ที่สุด ครูอุทัย พองพูมได้ติดตามคุณพ่อโนแอล เตอโนไปประเทศลาวอีกครั้ง และเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณพ่อในงานการแพร่ธรรมทุกที่ทุกแห่ง โดยตั้งฐานที่เมืองเชโปนซึ่งไม่มีคริสตชนแม้แต่คนเดียว นานๆ จะมีคนรู้จักมาเยี่ยมสักครั้ง เดือนเมษายน ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ครูอุทัย พองพูม คุณพ่อโนแอล เตอโนและเยาวชนจากบ้านป่งกิ่วคนหนึ่งได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านคริสตชนสำรอง ทั้งสามคนนั่งรถยนต์จากสะหวันนะเขตมุ่งหน้าไปเขตเซโปน เมื่อเห็นว่าสถานที่บริเวณนั้นไม่มีความปลอดภัยจึงคิดจะกลับไปสะหวันนะเขต  แต่เส้นทางขากลับถูกกองทหารลาวอิสระยึดครองแล้ว
พวกท่านได้ไปหลบในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้แจ้งจับพวกท่าน ทหารลาวอิสระได้พาพวกท่านไปยังเขตเมืองพะลาน (ชื่อใหม่เมืองพะลานไช) ขณะที่กำลังเดินทางไปได้ถูกกลุ่มคนถืออาวุธดักซุ่มยิงจนได้รับบาดเจ็บ หลังจากรักษาตัวหายดีแล้วพวกเขาได้พาท่านทั้งสองไปโดยไม่ทราบชะตากรรม ไม่มีใครทราบข่าวอีกเลย สันนิษฐานว่าทั้งครูอุทัย พองพูมและคุณพ่อโนแอล เตอโน เสียชีวิตวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)
 ต้นยางขนาดใหญ่ที่บริเวณสุสานและถนนเข้าสู่หมู่บ้านป่งกิ่วซึ่งลึกจากถนนใหญ่ 13 ก.ม.
3.        บทส่งท้าย
บุญราศียอแซฟ อุทัย พองพูม ได้ดำเนินชีวิตซื่อสัตย์ต่อความเชื่อคริสตชน รับใช้ประชากรของพระเจ้าอย่างกล้าหาญและสละชีวิตเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้า เพื่อทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้าและข่าวดีแห่งสันติสุข ความยุติธรรม ความรักเมตตาและการให้อภัยที่พระเยซูเจ้าทรงสอน ท่านได้เลียนแบบพระอาจารย์เจ้าจนถึงที่สุดคือความตายบนไม้กางเขน และได้แสดงให้เห็นว่าความตายมิใช่สิ่งที่น่ากลัวและสูญเปล่า แต่ได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่ทำให้พระศาสนจักรเติบโตและเกิดผล
แม้เราจะพบข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับยอแซฟ อุทัย พองพูมน้อยมาก แต่บัดนี้เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าท่านและเพื่อนมรณสักขีอีก 16 ท่านได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสให้เป็น “บุญราศี” อันเป็นวีรกรรมที่ควรยกย่องและเป็นความชื่นชมยินดีของพระศาสนจักรทั้งมวล โดยเฉพาะต่อคริสตชนวัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้มและคริสตชนในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่จะเลียนแบบวีรกรรมของท่านอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญ อีกทั้ง วอนขอพระพรจากพระเจ้าผ่านทางคำเสนอวิงวอนของท่าน ให้สามารถสานต่อมรดกทางความเชื่อนี้สืบไป
ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ: คุณพ่อเด่น ช่วยสุข เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟคำเกิ้ม, นางบัวผัน วงษ์ษา น้องสาวของบุญราศี, นางกงตา ทองคำ ญาติใกล้ชิดของบุญราศี, คุณนิทัศกร ชีวเรืองโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบ้านเณร, ท้าวอุดร บุญมี เลขาหน่วย พรรคคอมมิวนิสต์ บ้านป่งกิ่ว, ท้าวอรหันต์ วรจักร ครูคำสอนวัดนักบุญยอห์น บัปติสต์ ป่งกิ่ว และซิสเตอร์คณะชาลิเตท่าแขก ที่อำนวยความสะดวก ให้ข้อมูล และให้ความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ที่สงสัย ที่สุด ขอบุญราศียอแซฟ อุทัย พองพูม และเพื่อนบุญราศีแห่งเมืองลาวทั้ง 16 องค์ ได้อวยพรทุกท่าน
 นางกงตา ทองคำ มารดาของคุณพ่อพนศรี-คุณพ่อเด่นชัย ทองคำชี้จุดที่เคยเป็นบ้านพัก
และคุณพ่อเด่น ช่วยสุข เจ้าอาวาสวัดคำเกิ้มกำลังถือแผ่นดินเผามุงหลังคาบ้านของบุญราศี
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
16 ธันวาคม 2016, วันระลึกถึงบุญราศีแห่งเมืองลาวและบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งสองคอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น