วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ครั้งหนึ่งที่บาหลี (2)

ครั้งหนึ่งที่บาหลี (2)
ความเชื่อศรัทธาในเทพเจ้า เป็นรากเหง้าที่สำคัญที่ทำให้คนบาหลียังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีและธรรมชาติไว้ได้อย่างกลมกลืน กลายเป็นความงดงามที่เรียบง่ายและไร้การปรุงแต่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ล้วนได้รับการบูชาด้วยกระทงดอกไม้ (Canang Sari) วางอยู่ทั่วไปตามทางเดิน บนแท่นบูชาในวัดของครอบครัว ชั้นวางของตามตามร้านค้าและสำนักงาน หรือแม้แต่ที่วางของหน้ารถยนต์
กระทงดอกไม้เหล่านี้ทำจากใบมะพร้าว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ตัดและพับเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือวงกลม ใส่ปูน หมาก พลู ข้าวสุก ชิ้นอ้อย หรือกล้วยข้างใน เพื่อเป็นการขอบคุณและสำนักในพระคุณ อีกทั้งเป็นการไหว้ภูตผีเพื่อให้พอใจ ไม่โกรธเกรี้ยว ทำให้มีแต่ความสุข สงบในชีวิตอันแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ คล้ายวิถีชีวิตแบบอีสานโบราณ
จุดชมวิวคินตามณี (Kintamani)
 ป่องภูเขาไฟกุนุงบาตูร์และลาวาสีดำที่เกิดจากการระเบิดครั้งล่าสุด ค.ศ. 2000

 ทัศนียภาพทะเลสาบบาตูร์ที่อยู่ติดกัน
จุดชมวิวแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขาคินตามณีในเขตเบงลี (Bengli) ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพความสวยงามของภูเขาไฟกุนุง บาตูร์ (Gunung Batur) ที่ยังคุกรุ่น มองเห็นลาวาสีดำเป็นบริเวณกว้าง ได้รับการบอกเล่าว่าภูเขาไฟแห่งนี้เกิดระเบิดครั้งหลังสุดเมื่อ ค.ศ. 2000 แต่การระเบิดครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1926 ซึ่งได้ทำลายชีวิตและสร้างความเสียหายแก่หลายหมู่บ้าน
ติดกับภูเขาไฟบาตูร์คือทะเลสาบบาตูร์ ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดในบาหลี มีความยาว 7 กิโลเมตรและกว้าง 2.5 กิโลเมตร ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการทำเกษตรกรรรมของชุมชนที่อยู่รายรอบ คณะของเราได้แวะรับประทานมื้อกลางวันแบบบุฟเฟต์ที่ร้านอาหาร ณ จุดชมวิวแห่งนี้ ซึ่งสามารถมองเห็นป่องภูเขาไฟและทะเลสาบได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบจุดชมวิวมีที่พัก โรงแรมและร้านอาหารเปิดบริการหลายแห่ง
วัดเตียร์ตาอัมปึล (Pura Tirta Empul)
 บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ต่อท่อมาจากน้ำผุศักดิ์สิทธิ์ให้นักท่องเที่ยวได้อาบ


วัดเตียร์ตาอัมปึล หรือ วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ศรวรรษที่ 10 เป็นวัดที่มีน้ำพุใส สะอาดผุดขึ้นมาจากใต้ดินและต่อท่อไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้คนได้อาบได้สะดวก ชาวบาหลีเชื่อว่าพระอินทร์เป็นผู้บันดาลให้เกิดน้ำพุ หากใครได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์จะเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากตัว ทั้งยังสามารถรักษาโรคต่างๆ ให้หายได้ แต่ก่อนลงอาบน้ำต้องทำพิธีบูชาเทพเจ้าก่อนด้วยกระทงดอกไม้
นอกจากบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีบ้านพักรับรองของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สร้างสมัยประธานาธิบดีซูการ์โนซึ่งมีแม่เป็นชาวบาหลี แต่ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม ดูเหมือนคนไทยจะมีความสุขที่ได้มาที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากมีตลาดสินค้าราคาถูกที่เรียกว่า “ตลาดปราบเซียน” ซึ่งสามารถต่อรองราคาได้จนเป็นที่พอใจ และมีสินค้าพื้นเมืองทุกชนิดของบาหลีที่สามารถซื้อหาเป็นของฝากได้
วัดกัวกาจาห์ (Pura Goa Gajah)
 บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และภาพจำลักรูปช้างหรือยักษ์ที่วัดถ้ำช้าง


วัดกัวกาจาห์หรือวัดถ้ำช้าง เป็นโบราณสถานที่ยังคงร่องรอยทางพุทธศาสนาและฮินดู สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวฮอลแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1923 ด้านหน้าเป็นลานจอดรถและร้านขายของที่ระลึกแต่ราคาแพงกว่าตลาดปราบเซียนมาก จากนั้นต้องเดินลงทางลาดชันไปยังตัวถ้ำด้านล่าง ด้านหน้าถ้ำมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำไหลจากปากป่องแกะสลักเป็นรูปสตรี 6 นาง ซึ่งชาวบาหลีเชื่อว่าใครอยากมีลูกต้องมาดื่มและอาบน้ำที่นี่
หน้าถ้ำเป็นรูปสลักขนาดใหญ่คล้ายช้าง บ้างว่าเป็นหน้ายักษ์อาปากกว้าง ภายในถ้ำเป็นรูปตัวทีไม่ลึกนัก มีรูปพระพิฆเนศซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งศิลปวิทยาการของฮินดู นอนนั้นยังมีรูปศิวลึงค์ 3 แท่งแทนเทพเจ้า 3 องค์คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ตามความเชื่อของฮินดู นอกนั้นยังมีรูปเคารพทางพุทธศาสนา สะท้อนให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นมรดกทางศาสนาที่ผสมผสานระหว่างพุทธและฮินดูเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
Don Daniele เรื่อง/ภาพ
khuanthinwan@gmail.com
Bali, Indonesia

July 27, 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น