ครั้งหนึ่งที่บาหลี
“บาหลี” (Bali) ได้ชื่อว่าเป็นเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักและอยากมาเยือนสักครั้ง เพื่อชื่นชมความสวยงามทางธรรมชาติที่ผสมผสานความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม
ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างลงตัว กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ทุกคนที่มาเยือนหลงใหล
จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อัญมณีแห่งทะเลใต้”
อะไรที่ทำให้บาหลีกลายเป็นเป้าหมายของการเดินทาง ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมปักหมุดในแผนที่การเดินทางเสมอมา นี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้
เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและความงดงามของสถานที่สำคัญต่างๆ ของบาหลีที่ได้ไปเห็นด้วยตาตนเอง
ในห้วงเวลาที่ได้มีโอกาสอยู่ที่บาหลีระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคม
2016 ซึ่งเป็นครั้งหนึ่งของชีวิตที่บาหลี
1. บาหลี
อัญมณีแห่งทะเลใต้
บาหลี เริ่มเป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลกราวต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อนักเดินทางจากยุโรปมาเกาะบาหลี
ได้เห็นถึงความงดงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันตื่นตา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรมและข้อเขียนส่งกลับไปเผยแพร่
ทำให้ทั่วโลกได้รับรู้และผู้คนใฝ่ฝันอยากมาเยือนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกหลั่งไหลสู่บาหลีมากกว่า
1 ล้านคน
บาหลี เป็นเกาะหนึ่งในบรรดาเกาะน้อยใหญ่จำนวน 17,508 เกาะของประเทศอินโดนีเซีย
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวาที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีภูเขาไฟที่คุกรุ่น
ผืนป่า สัตว์ป่านานาชนิด และหาดทรายสีขาวทอดยาวริมทะเล แต่สิ่งที่ทำให้บาหลีดำรงอยู่ได้จากอดีตถึงปัจจุบันคือ
ความเชื่อศรัทธาในเทพเจ้าตามหลักศาสนาฮินดูที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ผสานเข้ากับความเชื่อในพลังจักรวาลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลอมรวมอยู่ในวิถีชีวิต
วัฒนธรรมและประเพณีของคนบาหลี
บาหลีปัจจุบันเป็นหนึ่งใน 33 จังหวัดของอินโดนีเซีย มีเมือง “เดนปาซาร์”
(Denpasar) เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางสำคัญด้านการปกครองและเศรษฐกิจ
มีพื้นที่ทั้งหมด 5,634.40 ตารางกิโลเมตร มีประชาการ 4,225,000
คน (ค.ศ. 2014) ภาษาที่ใช้คือภาษาอินโดนีเซียและภาษาบาหลี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ที่เชื่อในธรรมชาติว่ามีพลังและจิตวิญญาณ
ทุกสรรพสิ่งล้วนมีวิญญาณอยู่ ทำให้ศาสนาฮินดูที่บาหลีต่างจากที่อินเดียมาก
สาเหตุที่บาหลีมีคนนับถือศาสนาฮินดูอยู่มาก
ต่างจากพื้นที่อื่นของอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากเมื่อพวกมุสลิมมีอำนาจเหนือเกาะชวาราวศตวรรษที่
15 ชาวฮินดูชั้นสูงได้อพยพข้ามมายังบาหลี
พร้อมกับนำศิลปวัตถุ ช่างศิลป์และนาฏศิลป์ประจำราชสำนักมาด้วย ตามมาด้วยการอพยพครั้งใหญ่ของชาวฮินดูจากเกาะชวา
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อคนบาหลี ทั้งทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
2. สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
นอกเหนือจากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและความเชื่อในศาสนา
ที่คนบาหลีสืบทอดและรักษาไว้ไม่เสื่อมคลายจนกลายเป็นมนต์เสน่ห์แล้ว บาหลียังคงมีความงดงามของธรรมชาติที่ดึงดูดใจผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยือน
ที่น่าชมคือบาหลีมีกฎหมายห้ามปลูกสร้างอาคารสูงที่แปลกปลอมจากธรรมชาติ อาคารที่จะสร้างต้องมีความสูงไม่เกินยอดมะพร้าวคือ
15 เมตร
เราจึงไม่พบอาคาร โรงแรมหรือตึกระฟ้าเหมือนเมืองท่องเที่ยวทั่วไป
วันนี้จึงใคร่ขอนำสถานที่สำคัญของบาหลีที่ได้ไปเห็นมา ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงจนถึงวันสุดท้ายที่บาหลี
วัดอูลูวาตู
เป็นสถานที่แรกที่ได้ไปชม
ถือเป็นวัดสำคัญหนึ่งในเก้าแห่งที่คนบาหลีให้ความเคารพบูชาอย่างสูง
สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11 เพื่อเป็นศาสนสถานริมทะเล
ตัววัดตั้งอยู่สุดปลายหน้าผาหินสูงชันกว่า 200 เมตร
บรรยากาศรอบวัดรายล้อมด้วยสวนป่าร่มรื่นและมีฝูงลิงอาศัยอยู่
ซึ่งมักคุเทศก์ผู้นำทางได้เตือนให้ระวังทรัพย์สิน และของใช้อื่นๆ ที่อาจถูกลิงฉกฉวยเอาไปขณะเดินเที่ยวชมทัศนียภาพภายในบริเวณวัดได้
วัดอูลูวาตูแบ่งเป็นสามชั้น
ได้แก่ บริเวณชั้นนอก ตรงประตูทางเข้าวัดแกะสลักหินเป็นรูปครุฑสวยงามวิจิตร
ด้านบนประตูสลักรูปหน้ายักษ์ดุดัน เมื่อเดินเข้าสู่ลานวัดชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของพระพิฆเนศขนาดใหญ่
และส่วนชั้นบนสุดเป็นสถานที่หวงห้าม เข้าได้เฉพาะชาวบาหลีที่มาสวดมนต์
จากระเบียงวัดด้านขวามือมีทางเดินลงไปเชื่อมกับจุดชมวิวอีกมุมหนึ่งที่ทอดยาวไปกับหน้าผาสูง
มองเห็นวัดและคลื่นขนาดใหญ่ซัดกระแทกโขดหิน
สวนวิษณุ
(GWK Cultural Park)
จากนั้นได้เดินทางไปที่สวนวิษณุ
(Garuda Wisnu Kencana Cultural Park)
ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสวนวัฒนธรรมของบาหลี บนเนื้อที่กว่า 6
แสนตารางเมตร นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ของทางการอินโดนีเซียที่ตั้งใจจะสร้างเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของที่นี่
โดยตัดภูเขาทั้งลูกให้เป็นลานขนาดใหญ่ ตรงปลายลานมีบันไดขึ้นไปยังรูปพญาครุฑ (Garuda) พาหนะของพระวิษณุ เหนือขึ้นไปด้านซ้ายมือเห็นรูปปั้นพระวิษณุ
เทพเจ้าสำคัญทางศาสนาฮินดู มีลักษณะเป็นรูปปั้นขนาดครึ่งท่อนความสูง 23 เมตร
จากด้านหลังรูปปั้นพระวิษณุมองไปจะเห็นการก่อสร้างพระวิษณุทรงครุฑ
บนตึกที่มีความสูง 11 ชั้น ส่วนปีกของครุฑจะกว้างถึง 64 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะมีขนาดใหญ่กว่าเทพีเสรีภาพที่สหรัฐอเมริกา
และจะกลายเป็นประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งจะเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือกฎหมายของบาหลีที่ห้ามก่อสร้างเกิน
15 เมตร ซึ่งมองดูแล้วขัดแย้งกับธรรมชาติที่สวยงามของบาหลีไม่น้อย
หาดจิมบารัน
(Jimbaran)
สถานีสุดท้ายของการเดินทางวันแรกคือหาดจิมบารัน
ซึ่งเป็นชายหาดที่เลื่องชื่อด้านความสวยงามไร้ที่ติ
มีลักษณะเป็นเวิ้งหาดรูปพระจันทร์เสี้ยว เม็ดทรายขาวละเอียด เงียบสงบมีวามเป็นส่วนตัว
จึงกลายเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตและโรงแรมหรูระดับห้าดาวตลอดโค้งหาดทราย
อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารทะเลที่มีให้เลือกหลากหลาย
ที่หาดจิมบารันนี้เอง
นอกจากได้รับประทานอาหารเย็นแบบบาหลีแล้ว ยังได้ชื่นชมพระอาทิตย์ตกดินเป็นครั้งแรกที่บาหลี
ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่มาชมพระอาทิตย์ตกดินเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มาแรงและแซงหน้านักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย
ที่เคยครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวบาหลีเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่
ค.ศ. 2015
Don Daniele เรื่อง/ภาพ
khuanthinwan@gmail.com
Bali, Indonesia
July 26, 2016
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น