วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การมีกับการใช้



การมีกับการใช้
อิกนาซิ ปาเดอริวสกี (Ignacy Jan Paderewski, 1860-1941) เป็นนักเปียโนเอกของโลก เป็นผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียง และเป็นนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1919
วันหนึ่ง มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมาทักทายปาเดอริวสกีด้วยความชื่นชมว่า “ท่านมีความพยายามมากนะคะ จึงเล่นเปียโนได้เชี่ยวชาญไพเราะจริงๆ”
ปาเดอริวสกีตอบว่า “ไม่ใช่เช่นนั้นหรอกครับ ความพยายามนั้นผมมีเท่ากับคนอื่นๆ ผิดกันแต่ว่า ผมใช้มันเท่านั้นเอง”
คำตอบอันคมคายนี้มีความจริงอยู่มากทีเดียว คนเรามีความพยายามเท่ากัน แต่บางคนไม่ได้ใช้มัน บางคนใช้มันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราพบความจริงว่าคนที่ใช้ความพยายามมาก มักประสบความสำเร็จเป็นใหญ่เป็นโต เป็นคนร่ำรวย เป็นคนมีชื่อเสียง ส่วนผู้ที่ใช้ความพยายามน้อย ก็ประสบความสำเร็จลดหลั่นลงมา ขณะที่คนที่ไม่ใช้ความพยายามเลย ชีวิตมักตกต่ำมืดมนและไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต
เราทราบไหมว่า กว่าที่โทมัส เอดิสัน (Thomas Alva Adison, 1847-1931) จะคิดประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ ต้องทำการทดลองกว่าหมื่นครั้ง นั่นหมายความว่าได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด เอดิสันเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและยอมรับว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ล้มเหลว...ข้าพเจ้าแค่ค้นพบ 10,000 วิธี ที่มันไม่ได้ผล” ในความคิดของเอดิสัน “ความเป็นอัจฉริยะเกิดจากพรสวรรค์ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เกิดจากพรแสวง 99 เปอร์เซ็นต์” (Genius is one percent inspiration, ninety-nine percent perspiration.)

บ่อยครั้งทีเดียวเรามักได้ยินคนส่วนใหญ่โทษโชควาสนา “ดวงไม่ดี” โทษโอกาส “ไม่มีโอกาสดีเหมือนคนอื่น” โทษฐานะทางสังคม “ยากจนข้นแค้น” หรือ โทษสติปัญญาของตนว่าสู้คนอื่นไม่ได้ ทำให้เรียนไม่รู้เรื่องและตามคนอื่นไม่ทัน
 ในความเป็นจริงเรามีอะไรหลายอย่างเหมือนกันและเท่ากันกับคนอื่น ดังเช่นที่ปาเดอริวสกีพูดนั่นแหละ จะต่างก็อยู่ตรงที่ว่า เราไม่ได้ใช้ความพยายามต่างหาก ความมานะพยายามจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้และประสบผลสำเร็จในชีวิต ดังคำกล่าวที่เรามักได้ยินเสมอว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

อ้างอิง: นายตำรา ณ เมืองใต้. บทเรียนชีวิต. กรุงเทพฯ: ไทวัฒนาพาณิชย์, 2522. หน้า 63-64.
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
สำนักมิสซังฯ สกลนคร
9 กรกฎาคม 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น