วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บัญญัติเอก


บัญญัติเอก

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา
ปี A
อพย 22:20-26
1 ธส 1:5-10
มธ 22:34-40

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า ในบั้นปลายชีวิตของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ด้วยความที่ชราภาพมากทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง เวลามีการประชุมกลุ่มคริสตชนต้องมีผู้หามท่านไปยังที่ประชุม เนื่องจากสังขารที่อ่อนแรงทำให้ท่านไม่สามารถเทศน์สอนเป็นเวลานานได้ ท่านมักจะพูดซ้ำด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “ลูกรัก จงรักกันและกัน” พวกศิษย์รู้สึกเบื่อหน่ายกับคำพูดเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมานี้ และถามท่านว่าทำไมไม่พูดอย่างอื่นบ้าง ท่านได้ตอบพวกเขาว่า “จงรักกันและกัน แค่นี้เพียงพอแล้ว”

บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ออกกฎเกณฑ์มากมาย เพื่อขยายความบทบัญญัติของพระเจ้า 10 ประการที่ประทานแก่โมเสส ในสมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมบัญญัติมากถึง 613 ข้อ แยกเป็น “ข้อห้าม” 365 ข้อ และ “ข้อปฏิบัติ” 248 ข้อ ในหมู่ชาวยิวจึงมีการถกเถียงกันมาเป็นเวลาช้านานว่า “ธรรมบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด” สำนักของอาจารย์ฮิลเลล (Rabbi Hillel) พูดอย่างหนึ่ง ขณะที่สำนักของอาจารย์กามาลิเอล (Rabbi Gamaliel) อาจารย์ของเปาโลพูดอีกอย่าง ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ผู้คนจึงคาดหวังกันว่าจะมีใครซักคนถามความเห็นของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับชาวฟาริสีและผู้นำทางการเมืองที่รวมตัวกันหมายเล่นงานพระองค์ ต้องเสียภาษีแก่ซีซาร์หรือไม่ (มธ 22:15-22) ต้องเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกายหรือไม่ (มธ 22:23-33) ในพระวรสารวันนี้ชาวฟาริสีได้มาชุมนุมพร้อมกันหมายจะจับผิดพระองค์ให้อยู่หมัด และบัณฑิตทางกฎหมายคนหนึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” (มธ 22:36) คำตอบของพระเยซูเจ้าทำให้ทุกคนตาสว่างและเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทบัญญัติ

1.            บัญญัติเอก

พระเยซูเจ้าไม่เพียงตอบปัญหาของบัณฑิตกฎหมาย แต่ยังทรงทำให้ปัญหาที่ค้างคาใจชาวยิวได้รับความกระจ่าง “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน... ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”  (มธ 22:37-38) นี่คือบทสรุปของพระวรสารหรือหลักคำสอนที่สำคัญของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงสรุปบทบัญญัติของพระเจ้าให้เหลือเพียงสองประการ และทรงยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองข้อนี้

พระเยซูเจ้าทรงวางบทบัญญัติทั้งสองประการเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยทรงขยายความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” ให้กว้างออกไปสู่มนุษย์ทุกคน “ทุกสิ่งที่ท่านทำกับพี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุด ท่านได้ทำต่อเราเอง” ชีวิตมนุษย์ในโลกจึงเป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราสามารถเติบโตในความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของบทบัญญัติและต้องไปด้วยกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

นักบุญยอห์นอัครสาวก เป็นผู้ที่เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบทบัญญัติทั้งสองประการได้ดีที่สุด ท่านได้ยืนยันกับศิษย์ของท่านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “จงรักกันและกัน” เพราะการรักเพื่อนมนุษย์คือหนทางที่นำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า “หากผู้ใดกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่จงเกลียดจงชังพี่น้องของตน ผู้นั้นเป็นคนโกหก เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องผู้ที่เขามองเห็นได้ก็จะไม่สามารถรักพระเจ้าผู้ที่เขามองไม่เห็น (1 ยน 4:20)

2.            บทเรียนสำหรับเรา

คำตอบของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนในการดำเนินชีวิตหลายประการ

ประการแรก จงรักพระเจ้าสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา นี่เป็นบทสรุปธรรมบัญญัติสี่ประการแรกที่ประทานแก่โมเสส พระเยซูเจ้าทรงอ้างข้อความจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 6:5) และหนังสือเลวีนิติ (ลนต 19:18) นั่นหมายความว่า เราจะต้องรักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด พระองค์จะต้องยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตของเราแต่ผู้เดียว ความรักในพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตคริสตชนของเรามีความหมาย และสามารถรักผู้อื่นได้ (เพราะพระเจ้าทรงรักเราก่อนโดยแม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไขและไร้ขีดจำกัด)

ประการที่สอง จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง นี่เป็นบทสรุปธรรมบัญญัติหกประการที่เหลือ บัญญัติประการที่สองนี้พระเยซูเจ้าทรงเน้นย้ำว่า ความรักต่อเพื่อนมนุษย์คือหน้าที่สำคัญต่อพระเจ้า ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าต้องแสดงออกต่อผู้อื่น เป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวที่ออกจากตัวเองและแบ่งปันกับทุกคน มิใช่แต่เพราะพวกพ้อง พี่น้อง เพื่อนฝูงหรือบุคคลที่เรารักเท่านั้น แต่กับทุกคนแม้กระทั่งศัตรู ผ่านทางความรักต่อผู้อื่นนี้เองที่นำเราไปสู่พระเจ้า และทำให้ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม

ประการที่สาม จงรักกันและกันเหมือนเรารักท่าน ความรักเป็นบัญญัติเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงเน้นเป็นพิเศษ “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เราเรารักท่าน” (ยน 15:12) ความรักจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคริสตชน และเป็นเครื่องหมายที่บอกคนอื่นให้รู้ว่าเราเป็นศิษย์ของพระองค์ ดังนั้น ความรักจะต้องเป็นมาตรฐานและเครื่องชี้วัดกิจการทุกอย่างที่เรากระทำ ดังคำกล่าวของนักบุญเอากุสตินที่ว่า “จงรักและกระทำสิ่งที่ความรักบอกให้ทำ”

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับเราในวันนี้ว่า การรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์คือแก่นแท้ของชีวิตคริสตชน ซึ่งไม่เพียงตอบคำถามของชาวฟาริสีเท่านั้น แต่ยังได้ให้หลักปฏิบัติสำหรับเราทุกยุคทุกสมัย การรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์จะต้องเป็นแรงจูงใจและนำทางคริสตชนในคำพูดและการกระทำทุกอย่างของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้อภัย การให้กำลังใจ การร่วมทุกข์ร่วมสุข และการแบ่งปันช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน (น้ำท่วม)

พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)  เราถูกเรียกร้องให้รักตามมาตรฐานของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะได้ใกล้ชิดและเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังนั้น ในแต่ละวันขอให้เราได้เดินในหนทางแห่งความรักของพระเจ้า ด้วยการมองเห็นพระเจ้าในผู้อื่นและปฏิบัติกิจเมตตาต่อเพื่อนพี่น้องที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
21 ตุลาคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น